Secrets of Sand Hill Road: Venture Capital and How to Get It
by Scott Kupor
“If you make one thousand times your money on one investment, you could be wrong on everything else and still have a top-performing fund.”
หาก Silicon Valley คือ “ศูนย์กลาง” ของการสร้างความมั่งคั่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบัน ย่าน Sand Hill Road อันเป็นที่ตั้งของกองทุนร่วมลงทุน (venture capital หรือ VC) ที่มีชื่อเสียงมากมายนั้นก็เปรียบได้ดั่ง “เครื่องยนต์” ที่คอยขับเคลื่อนให้กองทัพ startup ทั้งเล็กและใหญ่ ณ Silicon Valley สามารถเติบโตขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างต่อเนื่อง
Secrets of Sand Hill Road คือ หนังสือที่หยิบเอาโมเดลธุรกิจที่เข้าใจยากมากที่สุดธุรกิจหนึ่งของโลกอย่าง venture capital มาตีแผ่อย่างละเอียดแบบเล่มเดียวจบโดยฝีมือของ Scott Kupor ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานในตำแหน่ง managing partner ของ Andreessen Horowitz กองทุน VC อันแสนโด่งดังมายาวนานกว่า 10 ปี เพื่อให้เจ้าของกิจการ startup หรือผู้ที่สนใจเข้าใจกลไกการทำงานและแรงจูงใจของกองทุน VC อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ขอเชิญทุกท่านอ่าน [สรุปหนังสือ] Secrets of Sand Hill Road ได้เลยครับ
ผู้เขียน Scott Kupor (ขอบคุณภาพจาก The Mercury News)
Born in the Bubble
จุดเริ่มต้นของการระดมทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อหวังผลตอบแทนมหาศาลแบบกองทุน VC ในปัจจุบันนั้นสามารถย้อนกลับไปได้ไกลถึงในปี 1489 เมื่อ Queen Isabella แห่งสเปนได้สนับสนุนทุนในรูปของเงิน เรือและลูกเรือให้แก่ Christopher Columbus ในภารกิจเดินทางข้ามมหาสมุทธจนนำไปสู่การค้นพบอันแสนยิ่งใหญ่อย่างทวีปอเมริกาในอีก 3 ปีต่อมา
ตัดภาพมาสู่ยุคสมัยใหม่ กองทุนร่วมลงทุน (venture capital หรือ VC) นั้นเริ่มเบ่งบานในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการถือกำเนิดขึ้นของ Silicon Valley ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970s เพื่อทำหน้าที่ “ให้เงินทุน” แก่ธุรกิจ startup ที่ต้องอาศัยเงินตั้งต้นจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ยุคแรกเริ่มของกองทุน VC นั้นมีลักษณะเด่นอยู่ตรงที่จำนวนกองทุน VC ที่ประสบความสำเร็จนั้นมีเพียงแค่หยิบมือเดียวและนั่นก็ทำให้อำนาจในการต่อรองของกองทุน VC ที่มีชื่อเสียงเหล่านั้นต่อบรรดา startup ที่พยายามเข้ามาขอเงินทุนนั้นมีสูงมาก
แต่แล้วการเติบโตแบบก้าวกระโดดและการแตกดับของฟองสบู่ dot com ก็เริ่มนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ของวงการ startup เมื่อโลกาภิวัฒน์และเทคโนโลยีมากมาย อาทิ cloud computing และ smartphone ได้ทำให้ต้นทุนตั้งต้นของการก่อตั้ง startup นั้นลดต่ำลงไปอย่างมาก ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินที่ต้องการลงทุนในบริษัท startup และการเกิดขึ้นของโมเดลการระดมทุนรูปแบบใหม่อย่าง “incubator (แหล่งฟูมฟักผู้ประกอบการในช่วงแรกเริ่ม)” ที่เริ่มต้นจาก Y Combinator ที่นำมาสู่การสร้างชุมชนที่เผยแพร่ความรู้เรื่องการก่อตั้งธุรกิจและการระดมทุนตั้งแต่ระดับเริ่มต้นกิจการ (seed stage) รวมถึงรูปแบบการระดมทุนจากคนทั่วไป (crowdfunding) และการระดมทุนผ่าน cryptocurrency (ICO) จนทำให้ปัจจุบัน อำนาจต่อรองของ startup ต่อกองทุน VC นั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ กองทุน VC ต่างต้องแข่งกันนำเสนอ “คุณค่า” ที่พวกเขาสามารถสร้างให้แก่บริษัท startup เหล่านั้นให้ได้มากกว่ากองทุน VC อื่นๆเพื่อแย่งชิงโอกาสในการลงทุนใน startup ชั้นดีที่มีอยู่ไม่มากนัก
กองทุน Andreessen Horowitz หรือ A16Z ของ Marc Andreessen และ Ben Horowitz นั้นก็เริ่มต้นขึ้นจากการมองเห็นโอกาสในการสร้าง “คุณค่าที่มากกว่า” ให้กับเหล่า startup สายเทคโนโลยีด้วยการสร้างโครงข่ายของนักธุรกิจและนักลงทุนมืออาชีพเพื่อสนับสนุนให้ผู้ก่อตั้งของ startup ที่พวกเขาเลือกลงทุนสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็น CEO ที่มีทั้งวิสัยทัศน์และฝีมือด้านการบริหารที่รอบด้าน ซึ่งผู้เขียน Scott Kupor นั้นได้เข้าร่วมทำงานในกองทุน A16Z ในฐานะพนักงานคนแรกของบริษัทที่ขณะนั้นมีเงินลงทุนเริ่มต้นเพียงแค่ 300 ล้านดอลลาร์ในปี 2009 ก่อนที่จะเติบโตสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการทั้งหมดมาสู่หลัก 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเวลาเพียง 10 ปี พร้อมกับเรื่องราวความสำเร็จในการลงทุนในบริษัท startup ที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Airbnb, Pinterest, Oculus VR, Slack, Skype, Lyft และ GitHub
ภาพวาดจำลองการขอระดมทุนของ Christopher Columbus ในปี 1489 (ขอบคุณภาพจาก Wikimedia)
So Really, What Is Venture Capital ?
ก่อนที่จะลงลึกถึงกระบวนการแต่ละขั้นตอนของกองทุน VC อย่างละเอียด เรามาทำความเข้าใจกองทุน VC ให้มากขึ้นอีกนิดกับคำตอบของคำถามสำคัญ 4 ข้อด้านล่างกันก่อนดีกว่าครับ
ทำไมถึงต้องระดมทุนกับ VC : ธุรกิจ startup นั้นมีสองทางเลือกหลักในการระดมทุนก่อสร้างธุรกิจ ได้แก่ การกู้เงินจากธนาคาร (debt financing) และการขายหุ้นของบริษัทให้กับกลุ่มนักลงทุน (equity financing) ซึ่งช่องทางการระดมทุนผ่านกองทุน VC นั้นเหมาะสำหรับธุรกิจที่ไม่มีความสามารถในการกู้เงินจากธนาคารได้ อาทิ ธุรกิจที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเป็นระยะเวลานานในช่วงเริ่มต้นจนไม่สามารถสร้างรายได้ระยะสั้นเพื่อนำมาชำระดอกเบี้ยจากการกู้เงินของธนาคารได้ หรือ ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงจนธนาคารไม่ยอมให้กู้เงิน [ธุรกิจ startup ส่วนใหญ่อยู่ในสองกลุ่มนี้] แต่การระดมทุนผ่านกองทุน VC นั้นก็ต้องแลกกับการสูญเสียอำนาจการควบคุมบริษัทที่ต้องขายหุ้นบางส่วนให้กับกองทุน VC เหล่านั้นไป
ทำไมผลตอบแทนของ VC แต่ละแห่งถึงไม่เท่าเทียมกัน : ผลตอบแทนการลงทุนของสินทรัพย์กลุ่มกองทุน VC ในอดีตโดยเฉลี่ยนั้น “แยกว่า” การลงทุนในตลาดหุ้นอย่าง NASDAQ มากๆ ทั้งจากสัดส่วนผลตอบแทนในรอบ 10 ปีที่ต่ำกว่าถึง 1.6% ต่อปีและการไร้ซึ่งสภาพคล่องที่นักลงทุนไม่สามารถถอนเงินออกจากการลงทุนในกองทุน VC ได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าผลตอบแทนของกองทุน VC นั้นมีการกระจายตัวแบบ power-law curve ที่ผลตอบแทนระดับสูงนั้นกระจุกตัวอยู่กับกองทุน VC ระดับท็อปเพียงไม่กี่แห่งที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่าธรรมชาติของอุตสาหกรรมกองทุน VC นั้นให้อำนาจอันมหาศาลแก่ “กองทุนผู้ชนะ” ที่ประสบความสำเร็จในอดีต [ผู้ประกอบการ startup มักเลือกที่จะขอระดมทุนจากกองทุน VC ชื่อดังที่เคยลงทุนใน startup ชื่อดังอย่าง Facebook, Google และ Uber มาจนประสบความสำเร็จก่อนกองทุน VC เกิดใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเสียงเสมอ แถมการมีกองทุน VC ชื่อดังเป็นนักลงทุนยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท startup ทั้งต่อลูกค้า นักลงทุนรายอื่นและพนักงานอีก]
อะไรคือตัวตัดสินความสำเร็จของ VC : หากเปรียบเทียบกองทุน VC เป็นเหมือนนักเบสบอล กองทุน VC ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีระดับท็อปนั้นไม่ใช่กองทุนที่มีอัตรา hit rate หรืออัตราการเลือกลงทุนในบริษัทที่ได้ผลกำไรเป็นบวกสูง ซึ่งเปรียบดั่งนักเบสบอลที่มีอัตราการตีลูกเบสบอลได้อย่างแม่นยำ แต่กลับเป็นกองทุนที่มีอัตราการสร้างผลตอบแทนระดับหลายเท่าตัวสูง [เป็นบวกไม่พอ ต้องบวกแบบ 10 ถึง 1,000 เท่า !!] เปรียบดั่งนักเบสบอลที่มีอัตราการทำโฮมรันบ่อยโดยไม่จำเป็นต้องตีได้อย่างแม่นยำเสมอไป สาเหตุก็เป็นเพราะว่าการลงทุนส่วนใหญ่ของกองทุน VC นั้นมีอัตราการล้มเหลวที่หมายถึงการสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดสูง การได้ผลตอบแทนเป็นบวกแบบไม่สูงมากนักนั้นไม่สามารถทดแทนการขาดทุนเหล่านั้นได้ กองทุน VC จึงต้องพึ่งการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนแบบ “โฮมรัน” เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าให้กับนักลงทุน [คิดง่ายๆว่าถ้ากองทุนนำเงิน 1% ไปลงทุนกับ Facebook แล้วได้ผลตอบแทนมา 1000 เท่าโดยที่เงินลงทุนอีก 99% ที่เหลือนั้นสูญเปล่า กองทุนแห่งนี้ยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 10 เท่าจากเงินต้น !!]
อุตสาหกรรม VC นั้นมีขนาดใหญ่แค่ไหน : การลงทุนในกองทุน VC นั้นมีสัดส่วนเพียงแค่ 0.4% ของ GDP สหรัฐอเมริกาซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับสินทรัพย์รูปแบบอื่นๆ อาทิ กองทุน hedge fund แต่ กองทุน VC นั้นกลับส่งอิทธิพลมหาศาลต่อเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบันที่ถูกปกครองโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ Apple, Microsoft, Amazon, Google และ Facebook ที่ล้วนแล้วแต่ได้รับการฟูมฟักมาจากอุตสาหกรรม VC กันทั้งนั้น
How Do Early-Stage VCs Decide Where to Invest ?
อุปสรรคสำคัญของการเลือกลงทุนในธุรกิจ startup ในช่วงเริ่มต้นกิจการนั้นก็คือ “การขาดแคลนข้อมูลเชิงปริมาณ” ที่ธุรกิจใหม่ๆเหล่านั้นยังไม่ได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองในตลาดแบบเต็มรูปแบบ ทำให้การตัดสินใจเลือกลงทุนของกองทุน VC ในธุรกิจ startup ที่พึ่งเริ่มต้นกิจการนั้นจึงให้ความสำคัญไปที่ “ข้อมูลเชิงคุณภาพ” อันประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบต่อไปนี้
Whar Are LPs and Why Should You Care ?
Limited partner หรือ LP คือ “นักลงทุน” ผู้นำสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการมาลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกองทุน VC ที่ถือเป็นสินทรัพย์กลุ่ม “alpha” ที่มีผลตอบแทนคาดหวังในระดับที่สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐทั่วไป
ความหมายของ LP ถ้าแปลตรงตัวก็คือ “หุ้นส่วนจำกัด” ที่มีข้อจำกัดทั้งอำนาจการตัดสินใจต่อการลงทุนของกองทุนที่ยกให้เป็นหน้าที่ของหุ้นส่วนบริหารหรือ general partner (GP) และข้อจำกัดด้านหนี้สินที่ LP ได้รับการยกเว้นหากกองทุน VC เกิดปัญหาขาดทุน โดยประเภทของ LP นั้นมีอยู่มากมายและ LP แต่ละประเภทนั้นก็มีจุดประสงค์ในการลงทุนที่แตกต่างกันไป อาทิ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ LP ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากไม่แพ้กับผลตอบแทนระดับโฮมรันเลยก็คือ “สภาพคล่อง” ที่กองทุน VC ต้องมีให้เมื่อใกล้ครบกำหนดการลงทุน บริษัท startup ที่ต้องการลงทุนผ่านกองทุน VC จึงต้องคำนึงถึงอายุของกองทุน VC แต่ละกองเพื่อประเมินระยะเวลาที่กองทุนเหล่านั้นจะต้องนำเงินกลับไปให้ LP ของตัวเองด้วย [หากกองทุน VC มีอายุเกิน 3-4 ปีขึ้นไป โอกาสที่กองทุนจะมีเงินมาลงทุนในบริษัท startup ในรอบถัดไปก็จะลดลง ซึ่งไม่เป็นผลดีเลยเพราะนักลงทุนรอบถัดไปมักต้องการเห็นกองทุน VC ที่ลงทุนในรอบก่อนหน้าแสดงความมั่นใจต่อบริษัทด้วยการลงทุนเพิ่ม]
The “Limited” Edition – How LPs Team Up with VCs
การทำความเข้าใจกลไกการทำงานร่วมกันของ LP และ GP ผู้เป็นทั้งนักลงทุน [ประมาณ 1% ถึง 5% ของเงินทุนทั้งหมด] และผู้บริหารกองทุน VC นั้นต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการในการแบ่งผลกำไรระหว่าง LP และ GP ได้แก่
ถึงแม้ว่าองค์ประกอบของผลตอบแทนของ GP จะดูเหมือนมีความเสี่ยงน้อยกว่า LP ที่ถูกเก็บ management fee ต่อเนื่องทุกปี แต่การอยู่รอดของกองทุน VC นั้นขึ้นอยู่กับการสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้กับ LP เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะระดมทุนสำหรับกองทุนลำดับถัดๆไปได้ ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงมีเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กันและกัน
ทั้งนี้ LP ยังมีอำนาจบางส่วนในการบริหารจัดการที่สามารถตกลงกันได้ตั้งแต่ตอนแรกเริ่มระดมทุน อาทิ การกำหนดแนวทางการลงทุนของกองทุน VC และการกำหนดข้อตกลงในการยกเลิกกองทุนด้วยจำนวนเสียงข้างมากของ LP หากการดำเนินงานหรือผลตอบแทนของกองทุน VC ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
Forming Your Startup
ในฐานะของกองทุน VC ที่ต้องการมองหาธุรกิจ startup ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับกับการเติบโตในอนาคต สิ่งที่ผู้เขียนแนะนำให้เจ้าของ startup ต้องคิดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรก็คือ “การจัดการปกครอง (Governance)” ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งระบบการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงและมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาในอนาคตต่ำที่สุด ซึ่งมีเทคนิคมากมาย อาทิ การกำหนดสิทธิ์การถือครองหุ้นของผู้ร่วมก่อตั้งให้ค่อยๆทยอยได้รับหุ้นภายในระยะเวลาประมาณ 4-6 ปีเพื่อสร้างแรงจูงใจระยะยาวให้กับผู้ร่วมก่อตั้งทุกคน การวางแผนพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) ที่รัดกุมและสามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจากภายในองค์กรจริงๆเพื่อป้องกันการฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและการกำหนดสัดส่วนการให้สิทธ์ซื้อหุ้นบริษัท (stock option) แบบระยะยาวให้กับพนักงานให้สอดคล้องกับสภาพตลาดทุนในปัจจุบันที่ระยะเวลาในการทำ IPO นั้นยาวนานมากยิ่งขึ้น อาทิ Tesla ที่ให้ stock option แก่พนักงานในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นตามผลงาน
สรุปสั้นๆคือ อย่าลืมปรึกษากับ “ทนาย” ก่อนก่อตั้งธุรกิจ startup นะครับ
Raising Money from a VC
คำถามสำคัญ 3 ประการของการเลือกระดมทุนผ่านกองทุน VC ที่ผู้ประกอบกิจการ startup ทุกคนต้องคำนึงถึง มีดังต่อไปนี้
ธุรกิจของเราเหมาะสมกับกองทุน VC หรือไม่ : วัตถุประสงค์หลักของกองทุน VC ก็คือ การพยายามค้นหาและลงทุนในธุรกิจที่มีตลาดขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการสร้างผลตอบแทนแบบ “โฮมรัน” ในอนาคตเพื่อนำผลกำไรเหล่านั้นไปจ่ายคืนให้กับ LP เพื่อเตรียมขอระดมทุนจากพวกเขาเหล่านั้นอีกครั้งในกองทุนลำดับถัดไป ดังนั้น ธุรกิจ startup ที่กองทุน VC ให้ความสนใจจึงต้องเป็นธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตได้สูงมากในอนาคตเท่านั้น
เราควรระดมทุนเป็นจำนวนเท่าไหร่ : คำตอบที่ดีที่สุดของคำถามข้อนี้ก็คือ “ธุรกิจ startup ควรระดมทุนให้เพียงพอสำหรับการดำเนินการสร้างความสำเร็จลำดับถัดไป (milestone) ที่เพียงพอสำหรับการระดุมในรอบถัดไป” ดังนั้น การระดมทุนในแต่ละครั้งควรคำนึงถึงการระดมทุนครั้งต่อไปว่าธุรกิจของเราควรต้องมีความคืบหน้าหรือรายได้เท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมสำหรับการระดมทุนในรอบถัดไปที่มักให้มูลค่าของธุรกิจที่สูงกว่าเดิมจากความเสี่ยงที่ลดลง แล้วจึงค่อยคำนวนว่าเงินทุนที่จะช่วยทำให้ไปถึงจุดนั้นอย่างปลอดภัยนั้นมูลค่าประมาณเท่าไหร่ ผู้เขียนยังแนะนำว่าการระดมทุนที่มากเกินไปอาจนำไปสู่ผลเสียมากมายทั้งจากจำวนหุ้นที่ต้องเสียไปมากกว่าความจำเป็นและการลดลงของความหิวโหยที่ธุรกิจที่มีเงินน้อยมักจะสามารถดิ้นรนได้มีประสิทธิภาพมากกว่า
เราควรระดมทุนด้วยมูลค่าของบริษัท (valuation) เท่าไหร่ : การกำหนดมูลค่าของบริษัทนั้นเป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสตร์และศิลป์ที่ทางผู้เขียนแนะนำว่าบริษัทควรวางแผนให้การระดมทุนในแต่ละครั้งนั้นจะต้องมีการพัฒนาของมูลค่าบริษัทอย่างชัดเจนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อทั้งนักลงทุนและพนักงาน ดังนั้น การระดมทุนในรอบแรกๆไม่จำเป็นที่จะต้องให้มูลค่าของบริษัทสูงเกินจริงมากเกินไปจนทำให้ไม่สามารถระดมทุนที่มูลค่าที่ดีกว่าเดิมในรอบถัดไป
The Art of the Pitch
การ pitch หรือ “การนำเสนอธุรกิจ” เพื่อดึงดูดให้กองทุน VC ตัดสินใจลงทุนในธุรกิจ startup นั้นต้องเริ่มต้นจากการมีโอกาสที่จะได้เข้าไปทำการ pitch ให้กับกองทุน VC เหล่านั้นก่อน ซึ่งถึงแม้ว่าทุกกองทุนจะมีช่องทางการติดต่ออย่างเป็นทางการอยู่แล้ว เช่น อีเมล์ แต่ช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดนั้นก็คือช่องทางจากเครือข่าย networking ต่างๆ อาทิ กลุ่มนักลงทุน angel investor ที่ลงทุนให้กับบริษัท startup ในรอบแรก กลุ่มบริษัททนายความที่ให้คำปรึกษา ไปจนถึง การพยายามหาคนที่ส่วนเกี่ยวข้องกับวงการกองทุน VC นี้จากช่องทางต่างๆมากมาย ซึ่งกองทุน VC ก็มักให้ความสำคัญกับความพยายามของผู้ก่อตั้งบริษัท startup ในการเข้าถึงตัวกองทุน VC ในลักษณะนี้ด้วย [ถ้าหาทางติดต่อกองทุน VC ไม่ได้ จะหาทางติดต่อลูกค้ารายใหญ่ๆได้อย่างไร]
ส่วนแนวทางในการ pitch ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ผู้เขียนแนะนำศิลปะของการนำเสนอหัวสำคัญๆของธุรกิจ ดังต่อไปนี้
#1 Market Size : จงจำไว้เลยว่ากองทุน VC ต้องการลงทุนในบริษัทที่สามารถสร้างผลตอบแทนแบบ “โฮมรัน” ได้เท่านั้น ดังนั้น ผู้ก่อตั้ง startup จึงต้องสามารถอธิบายถึงตลาดขนาดใหญ่และส่วนแบ่งทางการตลาดชิ้นโตที่พวกเขาวางแผนจะคว้าให้ได้ ซึ่งการนำเสนอขนาดตลาดนั้นควรต้องนำเอามุมมองต่อตลาดในอนาคตที่ได้รับผลกระทบจากเมกะเทรนด์ต่างๆที่สอดรับกับโมเดลธุรกิจของบริษัท รวมไปถึง ขนาดตลาดส่วนเพิ่มที่จะเกิดขึ้นจากตัวธุรกิจของบริษัทเองได้ อาทิ บริษัท Okta ที่มองเห็นการเติบโตของการบริการ software-as-a-service ที่หน่วยงานต่างๆในองค์กรเริ่มนำเอาซอฟท์แวร์ของบริษัทเล็กๆที่ไม่จำเป็นต้องมีทีม IT ขององค์กรเองมาคอยบริหารมาใช้งาน จนทำให้ Okta คิดค้นโมเดลระบบการยืนยันตัวตนของพนักงานที่สามารถเชื่อมต่อกับซอฟท์แวร์ทั้งหมดของผู้ผลิตหลายๆเจ้าเข้าด้วยกันได้ในระบบเดียว
#2 People : หากกองทุน VC พอใจในขนาดตลาดแล้ว คำถามที่จะตามมาอันดับแรกเลยก็คือ “แล้วทำไมต้องเป็นบริษัทของคุณ” ดังนั้น ผู้ก่อตั้ง startup จึงต้องสามารถนำเสนอ “ตัวเอง” เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทของตนนั้นเหมาะสมที่สุดสำหรับการเข้าไปคว้าโอกาสในตลาดแห่งนี้ (founder-market fit) ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้ก่อตั้งที่มีประสบการณ์ตรงทั้งจากการศึกษา การทำงานหรือการพบเจอปัญหาอย่างละเอียดนั้นได้เปรียบในกรณีนี้ แต่นอกจากด้านประสบการณ์แล้ว ความสามารถในการสร้างทีมและการเป็น “นักเล่าเรื่อง” ของผู้ก่อตั้งบริษัทนั้นยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตด้วย
#3 Product : กองทุน VC นั้นให้ความสำคัญกับ “กระบวนการคิดค้นผลิตภัณฑ์” ของบริษัท startup มากกว่าตัวผลิตภัณฑ์ปัจจุบันเพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างต่อเนื่องตามการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ก่อตั้ง startup ควรนำเสนอขั้นตอนการคิดค้นและเรียนรู้จากตลาดจนนำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างละเอียด
#4 Go-to-Market : เช่นเดียวกับเรื่อง Product กองทุน VC นั้นต้องการเรียนรู้ถึงกระบวนการคิดในการสร้างฐานลูกค้าและรายได้ของโมเดลธุรกิจของบริษัท startup ทั้งๆที่โอกาสในการปรับเปลี่ยนแผนในอนาคตนั้นมีอยู่สูงมาก ผู้ก่อตั้งบริษัท startup จึงควรเตรียมแผนการสร้างรายได้แบบภาพกว้างๆที่มีความสมเหตุสมผลและคิดวิเคราะห์มาแล้วอย่างดี
#5 Planning for the Next Round of Fund-Raising : ผู้ก่อตั้ง startup ต้องมีแผนการระดมทุนในรอบถัดไปและเป้าหมายของการระดมทุนในรอบนี้อย่างชัดเจนและเป็นไปได้เพื่อให้กองทุน VC มั่นใจว่าการลงทุนในครั้งนี้สามารถนำไปสู่การระดมทุนในรอบถัดไปที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้
The Alphabet Soup of Term Sheets
ข้ามช็อตมายังเวลาที่กองทุน VC ตัดสินใจลงทุนในบริษัท startup เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดมาที่สำคัญมากก็คือ “การเจรจา” สัญญาร่วมลงทุนที่มีรายละเอียดมากมาย ซึ่งผู้เขียนแนะนำว่าผู้ก่อตั้งควรเข้าใจอย่างถ่องแท้ ต้องมองผลกระทบของข้อกำหนดของสัญญาไปยังอนาคตข้างหน้าให้ดีที่สุดและอย่าลืมปรึกษาทนาย [ถ้าใครสนใจรายละเอียดควรหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านแบบเต็มๆเป็นอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้เงื่อนไขหลายๆข้ออาจจะไม่สามารถนำมาปรับใช้กับกฎหมายไทยได้โดยตรง]
โดยหัวข้อเรื่องใหญ่ๆที่เจ้าของธุรกิจ startup ต้องคำนึงถึงเลยนั้นมีได้แก่
Board Members and the Good Housekeeping Seal of Approval
เมื่อบริษัท startup เริ่มสามารถระดมทุนจากกองทุน VC ได้แล้วนั้น บริษัทก็ต้องคำนึงถึงการก่อตั้งกรรมการบริษัทที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการสร้างคุณค่าที่มากที่สุดให้กับผู้ถือหุ้นสามัญของบริษัท อันสามารถแบ่งออกได้เป็นหัวข้อใหญ่ๆดังต่อไปนี้
Difficult Financings – When Bad Things Happen to Good People
ความฝันของบริษัท startup และกองทุน VC ที่ร่วมทุนในบริษัทเหล่านั้นก็คือการมองเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบริษัทที่นำมาสู่การระดมทุนในรอบถัดๆไปที่มักให้มูลค่าของบริษัทที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่หากความฝันเหล่านั้นไม่เป็นจริงและบริษัท startup เกิดมีความจำเป็นที่จะต้องระดมทุนครั้งใหม่ด้วยมูลค่าของบริษัทที่ลดลงกว่าเดิม (down round) จากครั้งที่แล้ว
บริษัทและกองทุน VC จำต้องสร้างความน่าสนใจในการลงทุนรอบใหม่นี้ด้วยการ
และหากบริษัทนั้นไม่สามารถไปต่อได้จริงๆ การศึกษากฎหมายคุ้มครองแรงงานและการแบ่งสินทรัพย์ให้แก่เจ้าของหนี้และผู้ถือหุ้นในกรณีที่บริษัทปิดกิจการนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ CEO และกรรมการบริษัทต้องรับทราบ
Exit Stage Left (The Good Kind)
สองแนวทางหลักของการถอนคืนทุน (exit) ของกองทุน VC เพื่อคืนกำไรให้กับ LP นั้น ได้แก่
บรรยาการการ IPO ของ Facebook ในปี 2012 (ขอบคุณภาพจาก Fortune)
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern European and Asian Twist คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Japanese คะแนนรีวิว: ★★ [...]
ประเภทอาหาร: Galbi คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Toast & Milk Tea คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Ramen คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]