News Ticker

[สรุปหนังสือ] inGenius : A Crash Course on Creativity

 

inGenius: A Crash Course on Creativity (2012)
by Tina Seelig

 

“Every new venture begins by addressing a problem or responding to an opportunity.” 

 

Ingenius เป็นคำศัพท์ที่ดัดแปลงจากภาษาลาตินที่มีความหมายว่า “ศักยภาพที่แฝงอยู่ภายใน” ซึ่งเป็นความหมายที่เหมาะสมกับหนังสือเล่มที่ 2 ของ Tina Seelig อาจารย์มหาลัย Stanford เจ้าของหนังสือ Best-seller อย่าง “What I Wish I Knew When I Was 20”

inGenius เป็นคู่มือสำหรับการสร้าง “ความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนมองเห็นโอกาสในปัญหาและยังก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆให้กับโลกมนุษย์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตและนำพาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ติดตามสรุปเทคนิคของ Tine Seelig ปรมาจารย์แห่งความคิดสร้างสรรค์ได้เลยครับ

 

Teena Seelig ปรมาจารย์ด้านการสร้างความคิดสร้างสรรค์แห่งมหาวิทยาลัย Standford (ขอบคุณภาพจาก Ted)

 

Part One: Spark a Revolution

“Re-framing” หรือ การเปลี่ยนมุมมองหรือแนวคิดในการมองสิ่งต่างๆ เป็นเครื่องกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ชั้นเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการมองสิ่งต่างๆในมุมผู้ใหญ่หรือเด็ก คนรวยหรือคนจน ผู้ชายหรือผู้หญิง หรือการมองสินค้าในมุมมองของผู้บริโภค

วิธีการเปลี่ยนมุมมองสามารถทำง่ายๆด้วยการตั้งคำถาม “Why” ไปเรื่อยๆ อย่างเช่น “ทำไมฉันต้องสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ” ทั้งๆที่เราสามารถขุดอุโมงค์หรือนั่งเรือเพื่อข้ามไปอีกฝั่งของแม่น้ำก็ได้ แต่ถ้าความต้องการข้ามแม่น้ำนั้นเกิดขึ้นเพราะอยากพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่อีกฝั่ง ระบบโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตก็น่าจะตอบโจทย์ได้โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาความแม่น้ำไปเลยก็ได้

การตั้งคำถามและการปรับมุมมองก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆที่มีความแตกต่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น

“ทำไมต้องซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต”  Tesco แปะรูปสินค้าให้คนเลือกซื้อได้ตามผนังในสถานีรถไฟฟ้า

“ทำไมคนถึงไม่อยากใส่แขนขาคนพิการ” The Alternative Limb Project สร้างแขนขาเทียมที่มีการดีไซน์แบบแฟชั่นตามลักษณะของผู้พิการแต่ละคน

 

แขนเทียมแฟชั่นของ The Alternative Limb Project (ขอบคุณภาพจาก The Alternative Limb Project)

 

Part Two: Bring in the Bees

“Cross-pollination” หรือการผสมผสานความคิดหลายอย่างเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ นาฬิกาปลุกที่จะคอยพ่นกลิ่นน้ำหอมออกมาตามช่วงเวลา หรือ เสื้อผ้าเด็กทารกที่ติดผ้าถูพื้นให้เด็กคลานไปทำความสะอาดบ้านไปพร้อมๆกัน

องค์กรอย่างมหาลัยหรือใน Silicon Valley ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างคนที่มีความรู้และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน Steve Jobs เป็นคนบอกเองว่าที่ Macintosh ประสบความสำเร็จก็เพราะว่าในทีมของเขามีผู้คนที่มีความชำนาญหลากหลายไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี นักแต่งกลอน นักสัตว์ศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ที่พวกเขาดันเป็นเซียนคอมพิวเตอร์ด้วย

นวัตกรรมยังเกิดจากการต่อยอดความคิดของคนอื่นๆ เหมือนที่ Picasso กล่าวว่า “Good Artist Copy, Great Artist Steal.”

การฝึกฝนด้านการผสาน Idea ต่างๆ สามารถทำได้โดยการออกไปพบปะทำความรู้จักและพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่มีภูมิหลังหรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายและการออกไปหาแรงบรรดาลใจในที่ใหม่ๆ

 

Baby Mop ชุดเด็กทารกที่สามารถช่วยแม่ทำความสะอาดพื้นบ้านไปด้วย (ขอบคุณภาพจาก Mashable)

 

Part Three: Build, Build, Build, Jump!

คนส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้กับดัก “First Solution” นั่นคือ การยึดถือกับแนวปฏิบัติแรกที่ได้รับการถ่ายทอดกันมา โดยไม่คิดหาวิธีการใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม

แนวทางการหา Idea ใหม่ๆสามารถทำได้โดยการทำ Brainstorming หรือการระดมสมองที่ปล่อยให้ทุกคนได้ปลดปล่อย Idea ที่มีในหัวมากมายอย่างอิสระ

Brainstorming ที่ได้ผลต้องประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายเช่น มาจากต่างหน่วยงาน คนที่ร่วมกันออกความคิดต้องเป็นคนละคนกับคนที่ตัดสินใจด้านสถานที่ต้องมีขนาดใหญ่พอให้คนเดินไปมาและเขียนความคิดลงกระดาษได้ง่ายๆ การนำตัวอย่างแนวทางการแก้ไขมาแสดงภายในห้องจะยิ่งช่วยให้คนออกความคิดกันมากขึ้น

การออกความคิดต้องยอมรับทุกความคิดจากทุกคน อย่าตัดสิน อย่าพึ่งวิจารณ์เอาความคิดออกมาให้ได้มากที่สุด การตั้งคำถามที่กระตุ้นความคิดดีๆก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เช่น ถามหาความคิดที่ประหลาดที่สุดหรือห่วยที่สุด ถามคำถามแบบ (What if ..instead) คนคุมงานต้องรู้จักการเจาะลึกในความคิดจนถึงระดับหนึ่งก่อนจะเปลี่ยนไปยังความคิดถัดไปอย่างพอดี (build > build > build > jump) ปิดท้ายด้วยการเปิดให้ผู้เข้าร่วมโหวตความคิดที่ดีที่สุดความคิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและความคิดที่สามารถทำให้สำเร็จได้เร็วที่สุด

 

Part Four: Are You Paying Attention?

การช่างสังเกตนำพามาสู่ข้อมูลที่มากยิ่งขึ้น ยิ่งเห็นข้อมูลยิ่งมองเห็น Pattern ของสิ่งต่างๆมากขึ้น

บริษัท Climate Corporation เกิดจากเจ้าของที่ขับรถไปทำงานในวันที่ฝนตก เขาพบว่าร้านค้าหลายๆร้านต่างพากันปิดตัวลง เขาจึงคิดก่อตั้งบริษัทประกันความเสียหายจากสภาพอากาศขึ้นจากปัญหาที่เขาสังเกตเห็นก่อนใคร

ผู้ใหญ่ส่วนมากมีปัญหาด้านการช่างสังเกต เนื่องจากพวกเขามักจะมองเห็นแต่สิ่งที่ชัดเจน สิ่งที่พวกเขาคาดการณ์เอาไว้แล้ว สิ่งที่อยู่ระดับสายตาและพวกเขายังเลือกที่จะ “Tune out” หรือ “ปิดระบบการใส่ใจสิ่งรอบข้าง” เวลาทำงานซ้ำๆเดิมๆ เช่น ขับรถ

การสร้างความช่างสังเกตสามารถทำได้โดยการโฟกัสสิ่งที่เราต้องการสังเกต เช่น เข้าไปพูดคุยกับลูกค้ามากๆเพื่อสังเกตพฤติกรรมของลูกค้า และอย่าลืมบันทึกสิ่งที่เราสังเกตด้วย

ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆสำหรับการสร้างความคิดสร้างสรรค์และความรู้ที่ดีย่อมเกิดจากการช่างสังเกต

 

Part Five: The Table Kingdom

พื้นที่และสภาพแวดล้อมรอบๆตัวเราส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของเราอย่างมาก

ตอนเด็กๆ พ่อแม่มักจะตกแต่งห้องที่เต็มไปด้วยของเล่นและภาพวาดสีฉูดฉาดเพื่อกระตุ้นให้ลูกมีการเรียนรู้และพัฒนาการที่ดี แต่ทำไมพอโตขึ้นห้องเรียนในมหาวิทยาลัยหรือห้องทำงานกลับกลายเป็นห้องสีขาวทึมๆ

สภาพห้องสามารถบ่งบอกได้ว่าเราควรทำหรือไม่ควรทำอะไร เช่น ห้องรอพบแพทย์แตกต่างจากห้องแสดงดนตรีร็อคแน่นอน

กลิ่นและเสียงก็เป็นเรื่องสำคัญ นายหน้าขายบ้านมักจะอบคุกกี้เพื่อให้ได้กลิ่นที่แสดงถึงความอบอุ่น การเปิดเพลงร็อคหรือเพลงเศร้าก็สร้างบรรยากาศที่ต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง

การสร้าง Space ที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แปรผันไปตามแต่ละจุดประสงค์ขององค์กรเช่น บริษัทออกแบบมักจะตกแต่งพื้นที่ด้วยภาพตึกหรือวัสดุก่อสร้างต่างๆ แต่หลักการที่เหมือนๆกันคือการเปิดให้พนักงานมีความเป็นตัวของตัวเองที่สุดพร้อมกับมีพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่เพื่อนร่วมงานหรือคนที่เดินผ่านไปมาก็ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์เหมือนกัน

 

บรรยากาศโต๊ะทำงานของพนักงานบริษัท Zappos ที่สามารถตกแต่งได้ตามที่พวกเขาต้องการ (ขอบคุณภาพจาก Fortune)

 

Part Six: Think of Coconuts

Constraint หรือ “ข้อจำกัด” คือสิ่งกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ชั้นเลิศ ไม่ว่าจะเป็น

ข้อจำกัดเรื่องเวลา เช่น ทีมวิศวกรเร่งสร้างต้นแบบเครื่องฟอกอากาศจากชิ้นส่วนภายในยาน Apollo 13 เพื่อส่งต่อวิธีการให้นักบินอวกาศที่ติดอยู่ในยานสร้างเครื่องฟอกอากาศขึ้นได้สำเร็จหลังยานเกิดเหตุขัดข้อง (ใครสนใจก็ไปดูหนังเรื่อง Apollo 13 ได้เลย)

ข้อจำกัดเรื่องเงิน เช่น ทีมงานสร้างหนังเรื่องหนึ่งใช้คนตีกะลามะพร้าวแทนเสียงม้าวิ่งจริงๆ

ข้อจำกัดอื่นๆ เช่น Twitter จำกัดคำไว้แค่ 140 คำต่อหนึ่งข้อความ

ปรัชญา Lean Startup ก็สร้างข้อจำกัดให้ธุรกิจใหม่เริ่มคิดค้นทำ Minimum Viable Product ที่ใช้งบน้อยและสามารถเก็บ Feedback ได้อย่างรวดเร็ว

การลดข้อจำกัดในบางครั้งก็เป็นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์เหมือนกันเช่น Amazon เปิดบริการขนส่งแบบฟรีขึ้นหลังยอมตัดข้อจำกัดด้านกำไรออกไปจนในที่สุดสามารถทำให้การส่งฟรีมีกำไรได้

 

ทีมงาน sound effect ที่กำลังสร้างเสียงของสัตว์ประหลาดในภาพยนตร์เรื่อง A Quiet Place ด้วยผัก !! (ขอบคุณภาพจาก Insider)

 

Part Seven: Move the Cat Food

ชีวิตก็เป็นเหมือนเกมส์ การออกแบบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสามารถบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้

เกมส์ที่ดีต้องเริ่มจากการให้ Feedback อย่างต่อเนื่องเพื่อให้รู้ตัวตลอดเวลาและสามารถนำไปพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง ลองคิดดูว่าระหว่างบริษัทที่ให้ feedback พนักงานทุกวันกับปีละครั้งแบบไหนจะดีกว่ากัน แบบทุกวันพนักงานน่าจะนำไปปรับพัฒนาตัวเองให้ดีที่สุด แต่แบบปีละครั้งพนักงานจะเลือกทำงานแบบเซฟๆเพื่อให้ได้ผลประเมินที่ดี

การตั้งหรือเปลี่ยนแปลง rule ให้เหมาะสมไปในทางเดียวกันกับเป้าหมายและให้ผมตอบแทนแก่ผู้ที่ทำสำเร็จและผู้ที่ทำอย่างเต็มที่ถึงแม้จะล้มเหลวเป็นแรงผลักดันให้คนทุ่มเทมากยิ่งขึ้น

การเปลี่ยน rule และ incentive มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากมาย เช่น FDA ให้สิทธิ์พิเศษบริษัทยาที่คิดค้นยาให้กับโรคเฉพาะทางในการถือครองสิทธิบัตรนานกว่ายาปกติ

 

Part Eight: Marshmallow on Top

Teamwork ที่ดีสามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างก้าวกระโดด

การมี Teamwork ที่ดีต้องเกิดจากการรวมตัวของคนที่มีความหลากหลายในด้านความชำนาญพร้อมด้วยความสามารถในการทำงานร่วมกันและเคารพในความแตกต่างของกันและกัน

playfulness (ความเป็นกันเองแบบตลกขบขำ) และ positive feedback ก็เป็นส่วนช่วยให้การทำงานในทีมดีขึ้น

การสร้าง Collaboration Skill ไม่มีสอนในโรงเรียนแบบดั้งเดิม กิจกรรม Six Hat Model ที่ให้ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนบทบาทของตัวเองในกลุ่มตามหมวกสีต่างๆ ได้แก่ สีขาว (ผู้ยึดถือเหตุผลเป็นหลัก), สีเขียว (ผู้สร้าง Idea ใหม่ๆตลอดเวลา), สีแดง (ผู้ยึดถือสัญชาติญาณในการตัดสินใจ), สีน้ำเงิน (ผู้ที่มีความเนียบและยึดมั่นในตรรกะ), สีดำ (ผู้ที่คอยไต่สวนและหาข้อผิดพลาด), สีเหลือง (ผู้สร้างบรรยากาศที่ดี) โดยผู้เข้าร่วมจะเปลี่ยนบทบาทไปเรื่อยๆ จนทำให้เข้าใจว่าคนอื่นมีวิธีการตัดสินใจแบบไหนบ้าง

 

Six Hat Model กับหกรูปแบบของสมาชิกในทีม (ขอบคุณภาพจาก IQ Doodle)

 

Part Nine: Move Fast – Break Things

การส่งเสริม Experiment หรือการทดลองทำสิ่งใหม่ๆโดยไม่เกรงกลัวความล้มเหลวเป็นการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรต่างๆ

การเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆควรทดลองหลายๆตัวเลือกพร้อมกับติดตามและวิเคราะห์ Feedback อย่างรวดเร็ว ต้องกล้าที่จะตัดตัวเลือกที่ไม่สำเร็จทิ้งออกไป (ยิ่งปล่อยไว้นานยิ่งไม่กล้าทิ้ง) เมื่อได้ตัวเลือกที่เหมาะสมก็เก็บข้อมูลและพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

 

Part Ten: If Anything Can Go Wrong, Fix It!

คนที่จะประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆต้องมี Attitude ที่พร้อมจะต่อสู้กับปัญหาและมีความเชื่อที่แรงกล้าว่าทุกปัญหาต้องมี “แนวทางการแก้ปัญหา” ดีๆที่กำลังรอการถูกค้นพบอยู่

การสร้างพลังบวกด้วยการการบอก (framing) ตัวเองว่าตัวเองเป็นคนสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ควรทำ อย่ามองตัวเองเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีอะไรพิเศษ

Startup Chile เป็นแคมเปญที่จ่ายเงินให้กับธุรกิจ Startup ของต่างชาติเข้ามาลงทุนใช้จ่ายและจ้างคนท้องถิ่นเพื่อสร้าง Attitude ของการเป็น Entrepreneur ของคนท้องถิ่นในประเทศชิลี

 

Part Eleven: Inside Out and Outside In

เครื่องยนต์แห่งความคิดสร้างสรรค์ หรือ Innovation Engine ที่ผู้เขียนนำเสนอประกอบด้วยปัจจัยภายในและภายนอก เริ่มจากปัจจัยภายในได้แก่

1. Knowledge: วัตถุดิบแห่งความคิดสร้างสรรค์ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆมักจะเกิดจากการประยุกต์ความรู้ที่หลากหลายของบุคคลหลายๆคนที่แตกต่างจากความรู้แบบดั้งเดิมในอุตสาหกรรมนั้นๆ

2. Imagination: ความสามารถในการผสมและดัดแปลงความรู้ให้กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการใช้ความรู้และความทรงจำในอดีตที่สั่งสมมา

3. Attitude: เชื้อเพลิงที่ใช้จุดไฟในการคิดสิ่งใหม่ๆ เกิดจากการมี Mindset ที่พร้อมจะต่อสู้และพร้อมที่จะเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยความเชื่อมั่นว่าปัญหานั้นๆมีทางแก้ไขที่ดีเสมอ

ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่

4. Resource: ทรัพยากรรอบๆตัว ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรธรรมชาติ เงินทุนหรือคน ทรัพยากรจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรู้ ส่วนความรู้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนสามารถใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่าที่สุด

5. Habitat: สิ่งแวดล้อมที่เป็นเหมือนเงาสะท้อนจินตนาการของมนุษย์ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งทางกายภาพและกฎระเบียบต่างๆเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดจินตนาการที่ดี

6. Culture: วัฒนธรรมที่นำไปสู่ความคิดและการกระทำของมนุษย์ ความเชื่อและทัศนคติของคนสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมได้

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*