News Ticker

[สรุปหนังสือ] Elon Musk

 

 

[สรุปหนังสือ] Elon Musk (2023)

by Walter Isaacson

 

“To anyone I’ve offended, I just wanna say, I reinvented electric cars and I’m sending people to Mars on a rocket ship. Did you think I was also gonna be a chill, normal dude?”

 

ตลอดช่วงชีวิตวัยเด็กของ Elon Musk ที่เติบโตในเมือง Pretoria เมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้ในยุคแห่งความโหดร้ายป่าเถื่อน เด็กชายผู้มีปัญหาในการเข้าสังคมและขาดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายจากการถูกรังแกทำร้ายร่างกายหลายครั้งจนเคยถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นสัปดาห์กับใบหน้าที่บวมเต่งจนแทบไม่เห็นดวงตา… หลังจากที่เด็กชาย Elon Musk ด่าคู่กรณีที่คุณพ่อพึ่งฆ่าตัวตายไปว่าโง่… และทางจิตใจจากการถูกกดขี่ข่มเหงด้อยค่าทางวาจาจากคุณพ่อของตัวเองผู้ไร้ซึ่งความอบอุ่นภายในหัวใจอย่างเป็นระยะเวลายาวนาน

ประสบการณ์อันยากที่จะลืมเลือนและเป็นดั่งแผลเป็นในวัยเด็กได้หล่อหลอมให้เกิดเป็นตัวตนของชายผู้ที่ในปี 2022 ก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยที่สุดอันดับ 1 ของโลก ผู้ที่สามารถส่งจรวด SpaceX ออกนอกโลกได้อย่างสำเร็จรวมกว่า 31 ลำ ขายรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ได้มากกว่า 1,000,000 คันและสร้างปรากฏการณ์ซื้อกิจการ Twitter ที่กลายมาเป็นข่าวดราม่าระดับก้องโลก… ว่าแต่อะไรคือแรงผลักดันให้ Elon Musk สามารถทำสิ่งที่เหนือกว่าแทบทุกคนบนโลกใบนี้สามารถทำได้ ?

Elon Musk คือ หนังสือชีวประวัติของ Elon Musk วิศวกรและนักนวัตกรรมที่เปรียบดั่ง Tony Stark ในโลกชีวิตจริงโดยฝีมือของ Walter Isaacson ยอดฝีมือที่มีผลงานด้านชีวประวัติระดับ bestseller ของบุคคลดังมาแล้วมากมาย อาทิ Steve Jobs, Leonardo Da Vinci และ Albert Einstein ผู้ที่ตามติดชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันและความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีของ Elon Musk เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีเพื่อศึกษาถึงประวัติของเขาตั้งแต่สมัยในวัยเด็กและทำความเข้าใจถึงจิตใจของชายผู้ที่มีกรอบความคิดไปไกลระดับสปีชีส์และจักรวาล ขอเชิญทุกท่านที่สนใจชีวิตอันไม่ธรรมดาของ Elon Musk อ่านสรุปหนังสือเล่มนี้ที่ผมคัดมาเฉพาะช่วงหลักไมล์สำคัญในชีวิตของเขาได้เลยครับ

 

Adventures

สัญชาตญาณแห่งการผจญภัยของ Elon Musk ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Joshua Halderman คุณตาของเขาที่เติบโตในประเทศแคนาดาก่อนที่จะย้ายมาอาศัยอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ ผู้ผ่านการผจญภัยสุดโลดโผนมาแล้วอย่างมากมายนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ การแอบลักลอบขึ้นเรือข้ามมหาสมุทร การเข้าป่าเพื่อตามหาเมืองที่สูญหายตามคำร่ำลือ ไปจนถึง การขับเครื่องบินเล็กข้ามทวีปจากแอฟริกาใต้ไปออสเตรเลีย… และจาก Errol Musk คุณพ่อของเขาผู้ที่ชื่นชอบการขับเครื่องบินเล็กเช่นเดียวกันและก็ใช้ชีวิตอย่างโลดโผนเชิงชู้สาวอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะตกลงใจขอ Maye Haldeman คุณแม่คนสวยของเขาแต่งงานและตั้งครรภ์ภายในทันทีก่อนที่เธอจะค้นพบว่าการตัดสินใจครั้งนี้น่าจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตของเธอ

 

A Mind of His Own : Pretoria, the 1970s

เด็กชาย Elon Musk เกิดเมื่อตอนเช้าของวันที่ 28 มิถุนายน 1971 ด้วยขนาดของศีรษะที่ใหญ่กว่าเด็กแรกเกิดวัยปกติ ต่อมา Elon Musk ในวัยเด็กก็เริ่มมิพฤติกรรมที่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมให้เขาเป็นตัวตนดั่งปัจจุบันนั่นก็คือการนั่ง “ฟุ้งไปกับความคิด” ภายในสมองของตัวเองจนตัดขาดจากโลกภายนอกในระดับที่คนรอบข้างเรียกก็ไม่สนใจและการแสดงความ “มุ่งมั่น” ที่จะทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ อาทิ เขาเคยเดินจากบ้านไปบ้านเพื่อนตอนวัย 5 ขวบที่ต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงจนถึงอย่างปลอดภัย… โดย Elon Musk บอกว่าตัวเองนั้นมีโรคประจำตัวอย่าง “Asperger’s syndrome” ที่ทำให้ผู้ป่วยขาดความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และขาดความเข้าใจด้านอารมณ์ จนทำให้เด็กชาย Elon Musk กลายเป็นเด็กที่ ”โดดเดี่ยว“ และปากจัดชอบด่าคนอื่นว่าโง่ไปทั่วจนไม่มีใครคบซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งแผลเป็นในวัยเด็กของเขา

 

Elon Musk และน้องทั้งสองคนสมัยวัยเด็กที่แอฟริกาใต้ (source: Observer)

 

Life with Father : Pretoria, the 1980s

ในที่สุด Maye และ Errol Musk ก็หย่ากันในเวลาที่ Elon Musk อายุได้เพียงแค่ 8 ปีจากพฤติกรรมรุนแรงทางกายและวาจาของฝ่ายคุณพ่อ โดย Elon Musk, น้องชาย Kimbal Musk และน้องสาว Tosca Musk ได้ย้ายไปอาศัยอยู่กับคุณแม่ผู้ต้องทำงานเป็นโมเดลและนักโภชนาการแบบหามรุ่งหา ค่ำ ก่อนที่ Elon Musk จะตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่กับคุณพ่อที่มีฐานะร่ำรวยกว่าที่บ้านเต็มไปด้วยหนังสือและเครื่องมือทางวิศวกรรมที่เปิดโลกให้กับเขาได้มากกว่า… Elon Musk ในวัยเด็กประมาณ 10 ขวบก็เริ่มมีพฤติกรรมเหมือนตัวเขาในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น อาทิ การ “ไม่มีความกลัว” ที่ทำให้เขากล้าเล่นและผจญภัยได้อย่างเต็มที่ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยปละละเลยของพ่อแม่ที่ปล่อยให้เขาและน้องๆอยู่กันตามลำพัง การบ้าการ “เอาชนะ” การแข่งขันกับคนรอบข้างอยู่เสมอและความ “เนิร์ด” ที่เขามักใช้เวลาอยู่กับการอ่านหนังสือในทุกๆที่ที่มีหนังสือให้อ่าน… ส่วนในด้านผลการเรียนนั้น Elon Musk ก็ถือได้ว่าเป็นเด็กที่เก่งแต่ก็ไม่ใช่เด็กที่ได้ A ในทุกวิชาและเขาเองก็เคยไม่ได้ A วิชาคณิตศาสตร์ในสมัยมัธยมเช่นกัน

 

The Seeker : Pretoria, the 1980s

งานอดิเรกโปรดของ Elon Musk คือการอ่านนิยาย sci-fi ที่มีเล่มโปรดอย่างซีรี่ย์ Foundation ของ Isaac Asimov ที่ว่าด้วยแผนการรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติท่ามกลางยุคอันมืดหม่นของกาแล็กซี่และกฎของการควบคุมหุ่นยนต์ที่ต้องเริ่มจากการไม่สร้างอันตรายต่อมนุษยชาติซึ่งก็เป็นรากฐานให้เขาเกรงกลัวต่อผลร้ายของ A.I. ในปัจจุบันและ The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy ของ Douglas Adams ที่ว่าด้วยการค้นหาความหมายของชีวิตและจักรวาลซึ่งก็เป็นรากฐานให้เขาพยายามตั้งคำถามใหญ่ๆว่าจักรวาลเกิดขึ้นมาได้อย่างไรและอยากเริ่มต้นพามนุษย์ไปนอกโลก… อีกหนึ่งงานอดิเรกอย่างการเล่นเกมก็เริ่มทำให้ Elon Musk เข้าสู่วงการ programming ตั้งแต่ในวัยเด็กที่เขาเร่งศึกษาการเขียนโปรแกรมอย่างมุ่งมั่น เข้าร่วมงานสัมนาระดับมหาวิทยาลัยและสามารถขายเกมยิงเอเลี่ยนชื่อ Blasta ที่เขาเขียนขึ้นจากภาษา BASIC ได้เกมแรกด้วยวัยเพียงแค่ 13 ปี

 

Escape Velocity : Leaving South Africa, 1989

ในที่สุด การอยู่อาศัยร่วมกับ Errol Musk คุณพ่อผู้มีสองบุคลิกที่บางครั้งก็ใจดีอบอุ่นแต่บางครั้งก็มีพฤติกรรมที่บ้าคลั่งรุนแรงโดยเฉพาะทางจิตใจด้วยการดุด่าลูกๆอย่างรุนแรงนานเป็นชั่วโมงๆก็ถึงจุดจบในที่สุด เมื่อ Elon Musk ในวัยเกือบ 18 ปีได้ตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศแอฟริกาใต้บ้านเกิดไปยังประเทศแคนาดาบ้านเกิดของคุณแม่เพียงลำพัง… ในช่วงเริ่มต้นชีวิตในแคนาดา Elon Musk ได้อาศัยที่พักพิงและทำงานให้กับฟาร์มของญาติของแม่พร้อมกับการเดินทางไปเรื่อยๆและรับทำงานจิปาถะ ก่อนที่คุณแม่ น้องสาวและน้องชายจะตามกันมาอาศัยอยู่ที่ Toronto โดยที่ทุกคนก็ต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อหาเงินให้ชีวิตในประเทศใหม่เป็นไปได้ ซึ่ง Elon Musk ก็ได้ฝึกงานที่ Microsoft

 

Queen’s : Kingston, Ontario, 1990-1991

คะแนนสอบ SAT ของ Elon Musk อยู่ในเกณฑ์ที่ดีแบบกลางๆซึ่งเพียงพอให้เขาเลือกเข้ามหาวิทยาลัย Queen’s University ได้ที่ซึ่งเขาได้พบกับเพื่อนที่ไม่ใช่เหล่าญาติๆคนแรกที่ชอบ sci-fi และบอร์ดเกมส์เหมือนๆกัน โดยงานอดิเรกสมัยเรียนของเขาและน้องชาย Kimbal Musk ก็คือการเลือกคนที่พวกเขาสนใจจากหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อโทรศัพท์ไปหาและขอเข้าพบจนทำให้วันหนึ่งเขาได้มานั่งพูดคุยกับผู้บริหารธนาคาร Scotiabank และได้ฝึกงานในแผนกลยุทธ์ที่ทำให้เขาเกิดหงุดหงิดใจต่อระบบและวิธีคิดของธนาคารที่เป็นแรงผลักดันให้เขาสร้าง PayPal ในเวลาต่อมาและยังทำให้เขารู้ตัวว่าเขาไม่สามารถทำงานเป็นลูกน้องที่ต้องเชื่อว่าหัวหน้าของตัวเองฉลาดกว่าได้อีกต่อไป

 

Penn : Philadelphia, 1992-1994

Elon Musk ได้ทำเรื่องย้ายมหาวิทยาลัยไปยัง University of Pennsylvania ที่มีความท้าทายเชิงวิชาการกว่า Queen’s โดยเลือกเอกฟิสิกส์และเสริมด้วยด้านธุรกิจโดยมีเป้าหมายว่าเขาจะต้องประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์อะไรซักอย่างเพื่อทำธุรกิจของตัวเองโดยไม่ยอมเป็นลูกจ้างใคร… แน่นอนว่า Elon Musk ได้ใช้เวลาในช่วงมหาวิทยาลัยคิดถึงสิ่งที่เขาอยากทำในอนาคตที่รวมตั้งแต่ การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นงานวิชาการของเขาที่ได้คะแนน 98 เต็ม 100 จากการออกแบบดาวเทียมผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ไปจนถึง การศึกษาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและจรวด… นอกจากด้านวิชาการและการเล่นเกมส์แล้ว Elon Musk ยังเริ่มเข้าสู่สังคมด้วยการร่วมกับเพื่อนคนหนึ่งเช่าบ้านเปิดเป็นปาร์ตี้ประจำเดือนที่ก็มีลูกค้าเพื่อนนักศึกษาอย่างล้นหลามและก็ได้กำไรที่ไม่เลว แถมเขาเองก็ยังชอบงานด้านการช่างและมักซ่อมรถของตัวเองด้วยตัวเองเสมอที่ช่วยเสริทความกลมกล่อมของเขาที่เข้าใจทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์

 

Go West : Silicon Valley, 1994-1995

Elon Musk เริ่มเข้าสู่วงการเทคโนโลยีด้วยการฝึกงานในบริษัทวิจัยเทคโนโลยีเชิงวิศวกรรมและบริษัทเกมส์ที่ Silicon Valley แทนการฝึกงานสายการเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดที่เขามองว่าไม่ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับโลก โดย Elon Musk ตั้งแต่ในสมัยนั้นมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีที่จะทำให้มนุษยชาติพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดนั้นมีอยู่แค่ 3 อย่าง ได้แก่ อินเตอร์เน็ต, พลังงานยั่งยืนและอวกาศ ซึ่งในปี 1995 นั้นคือปีแห่งอินเตอร์เน็ตที่เขาก็ตัดสินใจร่วมกระโดดเข้าไปในคลื่นลูกนี้ก่อนที่จะสายเกินไปด้วยการยอมเลื่อนการเรียนต่อที่ Stanford University และตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจอินเตอร์เน็ตร่วมกับน้องชาย Kimbal Musk

 

Zip2 : Palo Alto, 1995-1999

พี่น้องตระกูล Musk เล็งเห็นไอเดียของการหยิบเอาสมุดหน้าเหลืองที่มีข้อมูลเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ของบริษัทจำนวนมากมาใส่ไว้กับซอฟท์แวร์แผนที่ที่ผู้ใช้งานสามารถควบคุมได้แบบ interactive จนตัดสินใจก่อตั้งบริษัทชื่อ Zip2 ขึ้นเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เขาเรียกว่า “virtual city navigator” ซึ่งไม่มีมาก่อนในสมัยนั้น โดยที่พวกเขาก็ได้โอกาสใช้งานซอฟท์แวร์ฟรีจากบริษัทแผนที่แห่งหนึ่งและ Elon Musk ก็รับหน้าที่ดูแลการเขียนโปรแกรมทั้งหมดแบบหามรุ่งหามค่ำโดยมีครอบครัวทุกคนบินมาช่วยเหลือ จนเริ่มมีกองทุน VC สนใจร่วมลงทุนแรกเริ่มกว่า 3,000,000 ดอลลาร์โดยมีเงื่อนไขว่ากองทุนจะเป็นคนวางตำแหน่ง CEO เองและให้ Elon Musk รับหน้าที่ chief technology officer… ธุรกิจของ Zip2 เติบโตได้อย่างรวดเร็วจากกลยุทธ์ของ CEO คนใหม่ที่ขายซอฟท์แวร์ของ Zip2 ให้กับบริษัทหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆที่ก็มีลูกค้านับร้อยราย ก่อนที่ธุรกิจจะเริ่มมีการแข่งขันสูงจนเหล่ากรรมการบริษัทที่มาจากทั้งกองทุน VC และบริษัทสื่อตัดสินใจเลือกขายธุรกิจในมูลค่ากว่า 307 ล้านดอลลาร์โดยที่ Elon Musk ในวัย 27 ปีก็ได้ส่วนแบ่งไปถึง 22 ล้านดอลลาร์และ Kimbal Musk อีก 15 ล้านดอลลาร์… การขายกิจการของ Zip2 ได้ทำให้ Elon Musk กลายเป็นมหาเศรษฐีแบบชั่วข้ามคืนจากแต่เดิมมีเงินอยู่หลักพันและคนดังในโลกธุรกิจดอตคอม เขาส่งเงินส่วนหนึ่งให้กับแม่และพ่อ พร้อมกับการซื้อรถสปอร์ตรุ่น McLaren F1 มูลค่ากว่า 1 ล้านดอลลาร์และบ้านหลังใหญ่ แต่ Elon Musk ก็ยังเก็บเงินจำนวนมากไว้เตรียมสำหรับเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่ยังไงเขาก็จะต้องสร้าง impact ให้กับโลกได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

 

Justine : Palo Alto, the 1990s

Elon Musk พบกับ Justine Wilson ครั้งแรกในงานปาร์ตี้แห่งหนึ่งที่ Queen’s University และเริ่มจีบเธอโดยไม่ยอมรับคำปฏิเสธใดๆจนสำเร็จ ก่อนที่เขาจะย้ายไปที่สหรัฐอเมริกาและกลับมาติดต่อเธออีกครั้งหลายปีถัดมาระหว่างที่เขาเริ่มตระเวนขายบริการของ Zip2 ในเมืองต่างๆ… ความสัมพันธ์ระหว่าง Elon Musk และ Justine Wilson นั้นเต็มไปด้วยความปั่นป่วนที่ทั้งคู่ต่างโต้เถียงกันอย่างรุนแรงและเปิดเผย แถมด้วยพฤติกรรมของฝ่ายหญิงที่ก็ปั่นป่วนจนครอบครัวและเพื่อนของฝ่ายชายไม่ค่อยชอบและเชียร์ให้เลิกคบกัน… แต่เมื่อ Elon Musk กลายมาเป็นเศรษฐีจากการขาย Zip2 ได้สำเร็จ เขาก็ตัดสินใจขอ Justine Wilson แต่งงานในทันทีที่เธอเล่นมุกว่าเขาคงหนีเธอไปคบกับนางแบบซักคน ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยจากครอบครัวและเพื่อนทุกคน… โดยก่อนที่งานแต่งจะเริ่มไม่กี่วัน Elon Musk ก็ได้ทะเลาะกับว่าที่เจ้าสาวของเขาจนถึงขั้นตัดสินใจยกเลิกงานแต่ง แต่สุดท้ายพวกเขาก็กลับลำมาแต่งงานกันและในทันทีที่ทั้งคู่เป็นสามีภรรยากันแล้ว Elon Musk ได้กระซิบข้างหูของ Justine Musk ว่า “ผมคือผู้นำในความสัมพันธ์นี้”

 

X.com : Palo Alto, 1999-2000

Elon Musk นำเงิน 12 ล้านดอลลาร์จาก Zip2 มาก่อตั้งบริษัท startup ใหม่ที่มีชื่อที่เขารักที่สุดอย่าง X.com เพื่อให้บริการด้านการเงินระดับบุคคลในรูปแบบกึ่ง social media เพื่อแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของระบบการเงินที่เขาได้เคยสัมผัสจาก Scotiabank ร่วมกับอดีตพนักงานของธนาคารแห่งนั้นอีกหนึ่งคน… วิธีการบริหารงานของ Elon Musk ก็เหมือนกับสมัย Zip2 คือการสั่งงานอย่างหนักด้วยเดดไลน์ที่สั้นจนน่าตกใจโดยที่ตัวเขาเองจะทำหน้าที่กดดันและแก้งานพนักงานโดยไม่สนเรื่องการรักษาน้ำใจและสุขภาพ จนทำให้ครั้งหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งและพนักงานจำนวนมากตัดสินใจลาออกกันเกือบหมดบริษัท แต่ Elon Musk ก็ได้กองทุน VC มาช่วยไว้ด้วยเงื่อนไขคล้ายๆเดิมคือการขอให้เขาลดบทบาทลงมาเป็น chief product officer และมี CEO คนใหม่มาช่วยบริหารแทน… ถึงแม้ว่า X.com จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่พวกเขาก็มีคู่แข่งที่ทำธุรกิจโอนเงินแบบ peer-to-peer เหมือนกันอย่าง PayPal ที่ก่อตั้งโดย Peter Thiel และ Max Levchin ที่ต่างก็เผาเงินเพื่อเติบโตผู้ใช้งานด้วยแคมเปญการตลาดต่างๆ อาทิ การจ่ายเงินให้ผู้ใช้งานที่ refer เพื่อนมาใช้งานด้วย จนท้ายที่สุด ทั้งสองบริษัทก็หันมาเข้าโต๊ะเจรจากันอย่างดุเดือดจนตกลงที่การควบรวมกิจการแบบเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่ายซึ่งทำให้ Elon Musk กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดและทำหน้าที่เป็น CEO คนใหม่เองโดยมี Max Levchin เป็น chief technology officer… เรื่องตลกที่ไม่ค่อยตลกเกิดขึ้น ครั้งหนึ่งสองคนนี้เคยเถียงกันเรื่องภาษา programming ที่จะใช้จน Elon Musk ท้า Max Levchin งัดข้อและชนะจนฝ่ายแพ้ต้องยอมเสียเวลาเป็นปีแก้ภาษาตามที่ Elon Musk ต้องการ… และถึงแม้ว่า Elon Musk จะรักชื่อ X.com ขนาดไหน ชื่อนั้นก็ฟังดูเหมือนเว็บไซต์ 18+ มากเกินไปและทำให้เขาต้องยอมใช้ชื่อ PayPal ในการให้บริการทางการเงินแบบเพื่อนสนิทแทน

 

Elon Musk และ Peter Thiel สมัยเปิดตัว PayPal (source: Washington Post)

 

The Coup : PayPal, September 2000

แนวคิดในการดื้อดึงใช้ชื่อ X.com และกลยุทธ์ในการเร่งสร้างให้ X.com กลายเป็นธนาคารแบบดิจิตอลที่ให้บริการมากกว่าแค่การจ่ายเงินโดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่เกิดจากความเสี่ยงของการช่อโกงที่มีสิทธิ์ทำให้บริษัทล้มละลายของ Elon Musk ได้หมักหมมจนท้ายที่สุด Max Levchin ก็ตัดสินใจก่อรัฐประหารร่วมกับทีมงานจากฝั่ง PayPal ที่ถูกขนานนามว่า “PayPal mafia” ด้วยการเปลี่ยนตัว CEO จาก Elon Musk เป็น Peter Thiel ระหว่างที่ Elon Musk ลาไปเที่ยวฮันนีมูนครั้งแรกกับภรรยา ซึ่งโดยท้ายที่สุด Elon Musk ก็ยอมแพ้และลงจาก CEO หลังจากความพยายามสู้กลับที่ไม่สัมฤทธิ์ผล… ต่อมา PayPal ก็ถูก eBay ซื้อกิจการไปโดยที่ Elon Musk ได้ส่วนแบ่งเป็นเงิน 250 ล้านดอลลาร์ที่เขาเล็งใช้ในการสร้างบริษัทใหม่ด้วยแนวคิดแบบ “กล้าเสี่ยง” สุดตัวเหมือนเช่นเคย… การโดนไล่ออกจากตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า Elon Musk ไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ดีในสมัยนั้น แต่เขาก็ทิ้งท้ายย้อนอดีตกลับไปว่าการลงจากตำแหน่งนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เขาใช้เวลาไปกับการสร้าง SpaceX และ Tesla พร้อมกับการสานต่อเจตนารมณ์ของ X.com ที่เขามองให้เป็นทั้งระบบการเงินและ social media ด้วยการซื้อกิจการของ Twitter ในท้ายที่สุด แถมเขายังแซะทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า PayPal คงมีมูลค่าระดับล้านล้านดอลลาร์ไปแล้วหากเขายังได้ทำงานอยู่… ปิดท้าย เหตุการณ์นี้ยังทำให้ Elon Musk ได้ไปเที่ยวครั้งแรกและครั้งสุดท้ายเมื่อเขาติดเชื้อมาลาเรียแบบเฉียดตายหลักชั่วโมงจากทริปเยือนบ้านเกิดที่แอฟริกาใต้ที่ทำให้เขาขยาดประเทศบ้านเกิดตัวเองไปอีกนาน

 

Mars : SpaceX, 2001

Elon Musk ใช้เวลาว่างช่วงหนึ่งในการฝึกขับเครื่องบินเล็กจนชำนาญที่ทำให้เขาเข้าใจหลักการทาง aerodynamics มากขึ้น… วันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังขับรถเล่นกับเพื่อนเก่าที่ถามเขาว่าเขาจะทำอะไรต่อดี คำตอบของ Elon Musk ที่ว่าเขาอยากทำธุรกิจด้านอวกาศได้สร้างคำถามตามมาว่าจริงๆแล้วบุคคลธรรมดาในภาคเอกชนที่มีเงินหลักร้อยล้านดอลลาร์นั้นสามารถสร้างธุรกิจจรวดได้จริงหรือไม่ ที่ต่อมาเขาก็ได้ค้นหาคำตอบเรื่องต้นทุนของจรวดที่เป็นเพียงเหล็กและเชื้อเพลิงจนได้คำตอบว่า ”เป็นไปได้“ และเริ่มทำให้เขาคิดถึงการพามนุษย์ไปยังดาวอังคารเพื่อสร้างอารยธรรมมนุษย์ให้เป็น “สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในหลายดวงดาว (multiplanetary species)” ที่ถือเป็นก้าวสำคัญของพัฒนาการของมนุษยชาติที่ช่วยลดความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ของมนุษย์ที่อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในจักรวาลที่มีการตระหนักรู้ (consciousness) ซึ่งเขาเองก็ตกใจมากว่า NASA ไม่มีแผนการส่งคนไปดาวอังคารแต่อย่างใดและเกรงกลัวว่าพัฒนาการด้านอวกาศที่มนุษย์เคยขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์นั้นจะถดถอยลงและตั้งมั่นว่าเขาเอาจะปลุกไฟแห่งความฝันของมนุษย์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วยแผนการแรกคือการส่งต้นไม้ไปอาศัยอยู่ในดาวอังคารด้วยจรวดที่ใช้เงินลงทุนไม่น่าถึง 30 ล้านดอลลาร์ที่เขาเรียกว่าโครงการ “Mars Oasis” โดยที่ Elon Musk เริ่มต้นมองโครงการนี้เป็นพันธกิจเพื่อมนุษยชาติโดยยังไม่หวังผลเป็นการสร้างธุรกิจแต่อย่างใดและย้ายบ้านมาอยู่ที่ Los Angeles อันเป็นที่ตั้งของบริษัทด้านเทคโนโลยีอากาศยานอย่าง Boeing และ Lockheed Martin

 

Rocket Man : SpaceX, 2002

แผนการแรกของ Elon Musk ก็คือการเดินทางไปรัสเซียที่เป็นแหล่งผลิตจรวดของโลกเพื่อขอซื้อจรวดมือสองที่ซึ่งเขาก็ถูกทั้งดูถูกและโก่งราคา จนทำให้ Elon Musk หวนกลับไปยึด “หลักการพื้นฐานทางฟิสิกส์” และศึกษาถึงต้นทุนในการสร้างจรวดจริงๆจนค้นพบว่าต้นทุนของการผลิตจรวดในปัจจุบันนั้นสูงกว่าต้นทุนของวัตถุดิบทั้งหมดอย่างน้อย 50 เท่า !! และเป็นเหตุให้เขาเชื่อมั่นว่าการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องยนต์ การลดน้ำหนักของจรวดลงด้วยการออกแบบที่ดีขึ้นและการทำให้จรวดสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกจะช่วยส่งผลให้ต้นทุนการผลิตจรวดถูกลงมากและช่วยให้มนุษยชาติสามารถสำรวจอวกาศได้มากยิ่งขึ้น… Elon Musk ใช้วิธีคิดที่ยึดเอาพันธกิจในการสร้างจรวดเพื่อส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารเป็นตัวตั้งก่อนที่จะหันมาสร้างธุรกิจเพื่อให้พันธกิจเหล่านั้นเป็นจริงได้อย่างยั่งยืนด้วยการก่อตั้งบริษัท Space Exploration Technologies ที่ต่อมาก็เรียกย่ออย่างเท่ๆด้วยตัวอักษรที่เขาชอบว่า “SpaceX” ที่โฟกัสเริ่มต้นไปที่การสร้างจรวดสำหรับส่งดาวเทียมขนาดเล็กให้กับทั้งบริษัทเอกชนและภาครัฐบาลโดยตั้งเป้าที่จะปล่อยจรวดภายในปี 2003 และส่งจรวดไปดาวอังคารครั้งแรกในปี 2010 ที่ก็ถือเป็นเป้าหมายอันบ้าคลั่งที่ทุกคนในปัจจุบันรู้กันแล้วว่า Elon Musk สามารถทำได้แต่แค่จะช้ากว่ากำหนดนานหน่อย

 

Father and Sons : Los Angeles, 2002

โศกนาฏกรรมในชีวิตของ Elon Musk ได้เกิดขึ้นเมื่อ Nevada ลูกชายคนแรกของเขาเสียชีวิตจากภาวะสมองตายจากการขาดอากาศหายใจตอนหลับที่สะเทือนโลกของ Elon Musk อย่างรุนแรงและทำให้เขาเก็บตัวไม่พูดคุยกับใครอยู่ที่บ้านนานหลายสัปดาห์ โดยในช่วงเวลาเดียวกัน Errol Musk คุณพ่อของเขาก็ได้เดินทางมาเยี่ยมพร้อมกับภรรยาและครอบครัวใหม่ซึ่ง Elon Musk ก็ได้ชวนให้ทุกคนอยู่ที่ L.A. ด้วยกันและซื้อบ้านให้ แต่การใช้ชีวิตร่วมกับคุณพ่อก็จบลงในไม่นานเมื่อคุณพ่อเริ่มทำตัวไม่ดีกับครอบครัวใหม่จน Elon Musk ไล่ให้ไปอยู่ที่เรือสำราญคนเดียวและสุดท้ายก็เชิญกลับประเทศแอฟริกาใต้ไปในที่สุด

 

Musk’s Rules for Rocket-Building : SpaceX, 2002-2003

Elon Musk ได้พนักงานคนแรกของ SpaceX อย่าง Tom Mueller วิศวกรออกแบบจรวดผู้มากความรู้จากบริษัท TRW มารับหน้าที่เป็น VP of Propulsion ที่รับหน้าที่ในการออกแบบจรวดที่ต่อมาถูกตั้งชื่อว่า Falcon 1 ที่มีเครื่องยนต์ 2 ท่อนที่ถูกตั้งชื่อว่า Merlin และ Kestrel… โดย SpaceX ก็ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตจรวดใน Los Angeles ที่ Elon Musk ออกแบบให้ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายวิศวกรรมและฝ่ายผลิตอยู่ในพื้นที่ทำงานเดียวกันเพื่อให้การทำงานไหลลื่นที่สุดและวางวัฒนธรรมขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับการหาทาง “ทำสิ่งที่ Elon Musk บอกให้ได้” ถึงแม้ว่ามันจะดูเป็นไปได้ยากซักเพียงไหนก็ตามเพราะถึงแม้ว่าพวกเขาจะทำมันเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดหรือไม่เป็นไปตามแผนแบบ 100% แต่พวกเขาก็มักจะได้ผลลัพธ์ที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นเสมอไม่แตกต่างจากการบริหารของ Steve Jobs ที่ Apple… หลักการทำงานของ Elon Musk ใน SpaceX ยังรวมไปถึงแนวคิด “First Principles” ที่เป็นการ “ตั้งคำถามกับทุกสิ่ง” ด้วยหลักฟิสิกส์พื้นฐานโดยเฉพาะเรื่องต้นทุนของชิ้นส่วนต่างๆและข้อกำหนดที่องค์กรของรัฐแนะนำให้บริษัทผู้ผลิตจรวดทำตามเพื่อพยายามลดต้นทุนให้ต่ำลงจนเป็นเหตุให้ SpaceX ผลิตชิ้นส่วนกว่า 70% ได้ด้วยตัวเองด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าราคาตลาดหลายเท่าตัวตั้งแต่ในปีแรกๆและ Elon Musk ยังเชื่อมั่นในหลักการ “ลองผิดลองถูก” ที่เขามักเร่งทดลองเครื่องยนต์และประสิทธิภาพของชิ้นส่วนอยู่เสมอเพื่อตรวจสอบเสมอว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่โดยไม่รอทดสอบรอบใหญ่ทีเดียวที่อาจจะแก้ไขยากเกินไปแล้วและมักพยายาม “คิดนอกกรอบ” เวลาเจอปัญหาต่างๆ อาทิ การสั่งให้วิศวกรซ่อมชิ้นส่วนเองแทนการซื้อหรือผลิตใหม่ที่ต้องรอนานหลายเดือน ซึ่งเวลาที่เกิดปัญหาใดๆขึ้นมา Elon Musk ก็มักจะอาสาทุ่มเทอยู่ยันเช้าร่วมกับวิศวกรอยู่เสมอ

 

Mr. Musk Goes to Washington : SpaceX, 2002-2003

หนึ่งในการคัดเลือกคนที่ดีที่สุดของ Elon Musk ก็คือ Gwynne Shotwell ผู้บริหารฝ่ายขายมือฉมังในวงการอวกาศมารับตำแหน่งเป็น VP of Business Development ที่รับผิดชอบในการขายบริการของ SpaceX… โดย Elon Musk และ Gwynne Shotwell ก็ได้เริ่มสร้างสายสัมพันธ์กับ NASA จนเริ่มปิดงานมาได้จากการประมูลและยังนำพาจรวด Falcon 1 ไปเข้าร่วมงานพาเหรดจนเริ่มมีคนในวงการรู้จักมากขึ้น แต่ Elon Musk ก็ได้สร้างความบาดหมางให้กับ NASA หนึ่งครั้งด้วยการฟ้องในกรณีที่ NASA ยื่นสัมปทานให้กับบริษัท startup อีกแห่งที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงินที่ SpaceX ก็ฟ้องชนะและได้ส่วนหนึ่งของสัมปทานมาด้วยเช่นกัน… หนึ่งในนวัตกรรมด้านธุรกิจของ SpaceX ก็คือการเปลี่ยนรูปแบบการให้สัมปทานของ NASA จากแบบ “ต้นทุนบวกเพิ่ม” ที่ NASA จะเข้าไปกำกับดูแลและจ่ายเงินส่วนเพิ่มเป็น % ให้กับต้นทุนของโครงการของบริษัทผู้รับสัมปทานทั้งหมดที่การันตีส่วนต่างกำไรให้กับบริษัทแต่ก็เป็นการตัดแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมและการลดต้นทุน มาเป็นการประมูลแบบ “แข่งกันที่ราคา” ที่บริษัทต่างๆสามารถประมูลราคาแบบตายตัวโดย NASA จะเลือกบริษัทที่ทำราคาได้ดีและมีความน่าเชื่อถือและจะจ่ายเงินให้ตามหลักไมล์ที่กำหนดโดยไม่ได้ให้เงินตั้งแต่ต้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งจรวดไปให้ถึงตามเป้าหมายที่กำหนดให้ดีที่สุดด้วยตัวเอง

 

Founders : Tesla, 2003-2004

การเข้าสู่วงการรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle หรือ EV) ของ Elon Musk เริ่มต้นจากการได้มาพบกับ JB Straubel วิศวกรหนุ่มที่ต้องการให้เขาร่วมลงทุนเริ่มต้นธุรกิจ startup เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่แบบ lithium-ion ที่มีน้ำหนักเบาและประสิทธิภาพสูงซึ่ง Elon Musk ก็ตกลงลงทุนตั้งต้นไปก้อนเล็กๆ… ต่อมา JB Straubel ก็แนะนำให้ Elon Musk รู้จักกับบริษัท AC Propulsion ผู้ที่สามารถรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ lithium-ion แบบ prototype ได้สำเร็จที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าก็มีสมรรถนะไม่แพ้กับรถยนต์สันดาป ซึ่ง Elon Musk ก็ให้ความสนใจในทันทีแต่ติดตรงทีมผู้ก่อตั้งมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกับเขาและเลือกที่จะแนะนำ Elon Musk ให้กับ Martin Eberhard ผู้ร่วมก่อตั้ง Tesla Motors บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้ทำการ license เครื่องยนต์ของ AC Propulsion เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบสปอร์ตราคาสูง ซึ่งตรงตามวิสัยทัศน์ของ Elon Musk ที่เห็นว่าการจะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาแพงจากต้นทุนที่สูงติดตลาดได้นั้นต้องเริ่มจากการวางแบรนด์ระดับบนก่อนจึงค่อยๆขยายสู่ระดับรถยนต์ราคาทั่วไป ซึ่ง Elon Musk ก็ได้ตัดสินใจลงทุนใน Tesla Motors เป็นจำนวน 6.4 ล้านดอลลาร์และรับหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริษัท โดยมี Martin Eberhard เป็น CEO และดึง JB Straubel มาเป็น chief technology officer

 

The Roadster : Tesla, 2004-2006

แนวคิดที่สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมให้กับ Tesla อย่าง “vertical integration” ที่ Elon Musk ตัดสินใจเลือกผลิตเครื่องยนต์และชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ Tesla โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้ว่าจ้างผลิตรายอื่นและเทคโนโลยีของพวกเขานั้นไม่ได้เริ่มมาตั้งแต่ต้น… วิสัยทัศน์ในการเริ่มต้นผลิตรถยนต์แบบ sport car ราคาแพงเพื่อนำทุนมาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตรถยนต์ในราคาที่ถูกลงเพื่อแพร่กระจายรถยนต์ไฟฟ้าให้ทั่วถึงของ Elon Musk เริ่มต้นจากรถยนต์ sport car รุ่น Roadster ที่ Tesla ทำการซื้อโครงรถจากบริษัทแห่งหนึ่งในอังกฤษและชิ้นส่วนจากบริษัทหลายๆเจ้ามาประกอบรวมกัน ซึ่งเมื่อ Elon Musk ได้ลองนั่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัทที่เร่งเครื่องได้อย่างน่าตกใจในแบบที่รถยนต์สันดาปทำไม่ได้ เขาก็ตัดสินใจลงทุนเพิ่มอีก 9 ล้านดอลลาร์ทันที… ถึงแม้ว่าการเปิดตัว Roadster ของ Tesla ในปี 2006 จะได้รับการตอบรับในทางที่ดีมากและสามารถปรับภาพลักษณ์รถยนต์ไฟฟ้าจาก “รถกอล์ฟ” มาเป็น “sport car แบบโคตรเท่” ได้ในขนาดที่ Arnold Schwarzenegger ในสมัยเป็นผู้ว่าการรัฐ California ยังตัดสินใจสั่งซื้อและ Tesla เองก็เริ่มได้รับเงินทุนจากกองทุน VC รายใหญ่ แต่ภายใน Tesla ก็มีปัญหาปั่นป่วนจากความขัดแย้งระหว่าง Elon Musk และ Martin Eberhard ที่กุมตำแหน่ง CEO ตั้งแต่ ความ micromanagement ของ Elon Musk ในด้านการออกแบบที่เขาอยากปรับเปลี่ยนองค์ประกอบมากมาย อาทิ เปลี่ยนมื%6*อจับประตูจากปกติเป็นแบบ touchscreen ซึ่งต่างก็ทำให้รถยนต์ Tesla มีเสน่ห์เหมือนในยุคปัจจุบันแต่ก็ต้องแลกด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและความล่าช้ากว่ากำหนดไปมาก ไปจนถึง ความไม่พอใจของ Elon Musk ที่ความดีความชอบแทบทั้งหมดของ Tesla ไปตกอยู่กับที่ Martin Eberhard เพียงคนเดียว จนทำให้ Elon Musk ต้องเริ่มสร้างแบรนด์ตัวเอง อาทิ การเชิญ Robert Downey Jr. ไปชมโรงงาน SpaceX จนทำให้เขาได้รับเชิญไป cameo ใน Iron Man 2 ที่สร้างภาพลักษณ์ให้เขาเป็นดั่ง Tony Stark ในโลกแห่งความเป็นจริงได้สำเร็จ

 

Elon Musk และรถยนต์ Tesla รุ่น Roadster (source: Teslarati)

 

Kwaj : SpaceX, 2005-2006

ตัวเลือกที่ถูกต้องตรงทางทฤษฎีที่สุดในการเป็นฐานปล่อยจรวด Falcon 1 ของ SpaceX ก็คือฐานของกองทัพอากาศใน California ที่เพียบพร้อมและใกล้กับโรงงานของ SpaceX แต่ด้วยความที่กองทัพอากาศสหรัฐมีกฎข้อบังคับมากมายและมีแผนการปล่อยจรวดของบริษัทอื่นอยู่ก่อนแล้ว เลยทำให้ Elon Musk ตัดสินใจหาฐานปล่อยจรวดใหม่ โดยได้เป็นฐานปล่อยจรวดสุดห่างไกลที่เกาะ Kwajalein หรือ “Kwaj” ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรที่ความเร็วการหมุนของโลกสูงสุดอันเหมาะแก่การปล่อยจรวดและมีที่ตั้งของค่ายทหารของสหรัฐอเมริกาที่พร้อมให้ SpaceX เช่าที่อย่างเต็มใจ… Elon Musk ยอมรับในเวลาต่อมาว่าการตัดสินใจเลือก Kwaj นั้นไม่ใช่การตัดสินใจที่ฉลาดที่สุดและน่าจะทำไปเพราะความไม่อดทนของเขาเอง เพราะการเดินทางไปยัง Kwaj จาก L.A. นั้นอาศัยหลายต่อที่กินเวลานานถึง 20 ชั่วโมงและสภาวะที่เป็นเกาะขนาดเล็กนั้นก็เต็มไปด้วยความร้อนชื้นและเกลือที่กัดกร่อนชิ้นส่วนจรวด แต่ความทรหดของ Kwaj นั้นก็ได้สร้างวัฒนธรรมแบบลุยๆบุกบ่าฝ่าฝันให้กับ SpaceX และความกลมเกลียวของพนักงานที่ต้องนอนอุดอู้เบียดเสียดกันในที่พักร้อนชื้นห่างไกลทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเคยรู้จัก

 

จรวด Falcon 1 ใน Kwaj (source: universetoday)

 

Two Strikes : Kwaj, 2006-2007

การทดสอบจรวด Falcon 1 ครั้งแรกของ SpaceX ประสบความสำเร็จอยู่ประมาณไม่ถึงหนึ่งนาที เมื่อเปลวไฟเกิดลุกขึ้นในเครื่องยนต์ส่วนแรกจนทำให้จรวดตกลงมาสู่พื้นโลก โดยถึงแม้ว่า Elon Musk จะคิดไว้แล้วว่าการปล่อยจรวดครั้งแรกน่าจะล้มเหลว แต่เขาก็เลือกโทษวิศวกรที่น่าจะเกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วก่อนที่ในเวลาต่อมาจะรู้ว่าแท้จริงแล้วสาเหตุของความล้มเหลวนั้นเกิดจากน็อตตัวหนึ่งที่ถูกลมทะเลและสภาพอากาศของเกาะ Kwaj กัดกร่อนจนเสียหาย… ความล้มเหลวครั้งแรกได้ผลักดันให้ SpaceX ทำงานอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้นและทำการตรวจสอบชิ้นส่วนและประเมินความเสี่ยงทั้งหมด แต่การปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 2 ก็ยังคงล้มเหลวอยู่เมื่อจรวดส่วนที่ 2 เริ่มแกว่งไปมาหลังจากการปล่อยตัวประมาณ 5 นาทีจากการไหลวนของเชื้อเพลิง (slosh) ที่วิศวกร SpaceX กำหนดว่าเป็นความเสี่ยงที่ 11 ซึ่ง Elon Musk มองว่ายอมรับได้ จนทำให้เขาออกกฎใหม่ว่าอย่าดูความเสี่ยงเฉพาะแค่ 10 ข้อแรกเท่านั้น

 

Taking the Wheel : Tesla, 2006-2008

ถึงแม้ว่าการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Roadster ของ Tesla นั้นจะประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่ความท้าทายที่แท้จริงของบริษัทรถยนต์นั้นอยู่ที่ “กระบวนการผลิต” ที่เต็มไปด้วยความโกลาหลจากการออกแบบใหม่ของ Elon Musk ที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมากๆเพราะแต่เดิม Martin Eberhard เลือกใช้โครงทั้งหมดของบริษัทรถยนต์อังกฤษชื่อ Lotus ที่คราวนี้ต้องแก้ไของค์ประกอบนับร้อยๆตามการออกแบบใหม่… เมื่อ Elon Musk เริ่มตระหนักได้ว่า Tesla เริ่มเงินกำลังจะหมดและต้นทุนของรถต่อคันเริ่มบานปลาย เขาจึงเชิญ SWAT team ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุน VC อย่าง Tim Watson มาช่วยตรวจสอบห่วงโซ่สัมปทานของ Tesla จนค้นพบปัญหามากมาย อาทิ ห่วงโซ่สัมปทานการผลิตของเครื่องยนต์ที่ผ่านการเดินทางมารอบโลกจนทำให้ต้นทุนสูงและใช้ระยะเวลานาน ไปจนถึง การบริหารงานการผลิตของ Martin Eberhard ที่ไร้ระบบในระดับที่ไม่มีแม้แต่ตารางรายละเอียดชิ้นส่วนการผลิต (bill of materials) ที่เป็นสิ่งที่สำคัญสุดๆของกระบวนการผลิต… ท้ายที่สุด Elon Musk ก็ตัดสินใจไล่ Martin Eberhard ออกและทั้งคู่ก็เริ่มเปิดศึกฟ้องร้องด่าทอกันอย่างเมามันส์จนถึงปัจจุบัน ในระดับที่ผู้เขียนมองว่า Martin Everhard คือบุคคลที่ Elon Musk เกลียดขี้หน้าที่สุดอันดับ 2 รองจากพ่อของตัวเอง… ต่อมาภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี Elon Musk ก็ได้ทดลองทำงานร่วมกับ CEO อีกสองคนแต่ก็ไม่ค่อยสำเร็จจนสุดท้ายจึงได้ตัดสินใจรับหน้าที่เป็น CEO ของ Tesla เองควบคู่กับตำแหน่ง CEO ของ SpaceX

 

Divorce : 2008

หลังจากการเสียชีวิตของลูกชายคนแรก Elon Musk และ Justine Musk ก็เริ่มเข้าคลินิกหาหมออย่างจริงจังจนได้ลูกชายแฝดสอง ได้แก่ Griffin กับ Xaviar ตามมาด้วยลูกชายแฝดสาม ได้แก่ Kai, Saxon และ Damian… เมื่อฐานะเงินทองและชื่อเสียงของ Elon Musk พุ่งสูงขึ้น พร้อมกับปัญหารุมเร้าจากทั้งที่ฐานะการเงินของ Tesla และ SpaceX ที่พึ่งสูญเสียจรวดไป 2 ลำติด ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เริ่มผุพังมากยิ่งขึ้นจากแต่เดิมที่ก็มักมีการทะเลาะอย่างรุนแรงอยู่แล้ว โดย Elon Musk มักใช้วาจารุนแรงด่า Justine Musk ในแบบที่คุณพ่อของเขาเคยทำกับตัวของเขาเอง จนสุดท้ายทั้งคู่ก็ตัดสินใจหย่าร้างกันหลังจากที่พวกเขาพยายามฟื้นฟูความสัมพัทธ์ที่ไม่มีทางกู้คืนกลับมาได้แล้ว

 

Talulah : 2008

ไม่นานหล้งจากการหย่าร้าง ความรักครั้งใหม่ของ Elon Musk ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเขาได้มาเจอกับ Talulah Riley นักแสดงสาวสวยชาวอังกฤษที่ทั้งคู่ก็ตัวติดกันในทันทีก่อนที่จะหมั้นหมายกันภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์

 

Elon Musk และ Talulah Riley (source: SheKnows)

 

Strike Three : Kwaj, August 3, 2008

Elon Musk บอกกับทีมงาน SpaceX ตั้งแต่เริ่มต้นว่าเขามีเงินมากเพียงพอสำหรับการยิงจรวด 3 ครั้งและการปล่อยจรวดครั้งที่ 3 ที่คราวนี้ติดดาวเทียมราคาแพงของลูกค้าอย่างกองทัพอากาศและ NASA ก็เกิดล้มเหลวอีกครั้ง เมื่อเครื่องยนต์ส่วนต้นที่หยุดทำงานแล้วเกิดแรงดันอากาศพุ่งขึ้นมาชนเครื่องยนต์ส่วนปลายจนทำให้จรวด Falcon 1 ตกลงสู่พื้นอีกครััง… แต่ Elon Musk ที่กำลังเผชิญปัญหาทั้งการหย่าร้างและสภาพคล่องของ Tesla ก็ได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการเร่งประกอบจรวด Falcon 1 จากชิ้นส่วนที่เหลืออยู่เป็นครั้งสุดท้ายและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการเว้นระยะเวลาการทิ้งเครื่องยนต์ส่วนต้นให้พ้นช่วงที่มีความดัน โดยกำหนดการปล่อยจรวดครั้งที่ 4 ไว้ภายในเวลาแค่ 6 สัปดาห์ท่ามกลางความฮึกเหิมของทีมงานที่ก่อนหน้าคิดว่า SpaceX จะจบสิ้นลงไปแล้ว

 

On the Brink : Tesla and SpaceX, 2008

ปี 2008 ถือเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดของ Elon Musk จากปัญหาทางการเงินของบริษัทที่เปรียบดั่งลูกและพันธกิจเพื่อมนุษยชาติของเขาทั้งสองคน หาก Tesla ล้มละลาย โลกอาจขยาดกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไปอีกนาน หาก SpaceX ล้มละลาย มนุษยชาติอาจหยุดการขยายเผ่าพันธุ์แต่เพียงแค่ในโลกเพียงใบเดียว อันเป็นเหตุให้ Elon Musk ลงทุนสุดตัวในการขอเงินทุนจากทุกคนที่เขารู้จักท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ sub prime crisis ที่ก็กำลังปะทุอย่างดุเดือดเพื่อช่วยชีวิตบริษัททั้งสองของเขาโดยไม่ยอมเลือกตัดขาดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

 

The Fourth Launch : Kwaj, August – September 2008

SpaceX ถูกกู้ชีพจากเงินทุน 20 ล้านดอลลาร์จากกองทุนของ Peter Thiel และกลุ่มอดีตผู้ก่อตั้ง PayPal ที่เป็นดั่งการสงบศึกอย่างสมบูรณ์แบบกับ Elon Musk… แผนการปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 4 ของ SpaceX ภายในระยะเวลาแค่ 6 สัปดาห์นั้นอาศัยการคิดนอกกรอบมากมาย ตั้งแต่ การเร่งประกอบชิ้นส่วนที่มีอยู่แล้วแทนการสร้างใหม่ การยอมลดขั้นตอนที่เข้มงวดลง ไปจนถึง การขนส่งจรวดด้วยเครื่องบินขนส่งของกองทัพสหรัฐที่ช่วยลดระยะเวลาจากการขนส่งทางเรือได้ โดยระหว่างการบินนั้นก็มีความระทึกเกิดขึ้นตอนที่เครื่องบินลดระดับความสูงเร็งเกินไปจนทำให้ความดันจรวดภายในต่ำกว่าภายนอกจนเกิดการบีบอัดของโครงสร้างจรวด ซึ่งก็ถูกตรวจพบอย่างรวดเร็วและรีบแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนจะเป็นอันตราย… การปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 4 ในวันที่ 28 สิงหาคม 2008 นั้นเป็นไปอย่างสวยงามและทำให้ Elon Musk ที่เครียดจนจะอ้วกจนน้องชายต้องพาไปเที่ยว Disneyland กับลูกๆก่อนเวลาปล่อยจรวดได้ปลดปล่อยและเฉลิมฉลองร่วมกันกับทีมงานที่มีเพียงแค่ 500 คน (เมื่อเทียบกับ Boeing ที่มีพนักงานแผนกจรวดกว่า 50,000 คน) จากความสำเร็จที่ SpaceX ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่บริษัทจรวดภาคเอกชนสามารถปล่อยจรวดไปถึงชั้นบรรยากาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรก… ต่อมา NASA ก็ได้ให้สัมปทานมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านในการส่งพัสดุไปยังสถานีอวกาศทั้งหมด 12 เที่ยวและ Elon Musk ก็ได้แต่งตั้ง Gwynne Shotwell เป็นประธานบริษัทเพื่อแบ่งหน้าที่งานฝ่ายธุรกิจและบุคคลไปดูแล โดยที่เขาในฐานะ CEO ที่พึ่งเปลี่ยน password ของคอมพิวเตอร์เป็น “ilovenasa” จะยังคงรับหน้าที่งานด้านวิศวกรรมต่อไป

 

Elon Musk และ Tom Mueller ระหว่างการปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 4 (source: SpaceX)

 

จรวด Falcon 1 ที่บินไปสู่ดวงดาว (source: SpaceX)

 

The Model S : Tesla, 2009

มรสุมทางการเงินของ Tesla ได้รับการต่อลมหายใจทีละ 2-3 เดือนจากการระดมรอบเล็กรอบน้อย จนกระทั่งในต้นปี 2009 ที่ Elon Musk สามารถชักชวนให้ Daimler ลงทุน 50 ล้านดอลลาร์และทำสัญญาซื้อแบตเตอรีรถยนต์ของ Tesla ที่เป็นดั่งมือที่ช่วยให้ Tesla พ้นจากการจมน้ำได้สำเร็จ แถมด้วยเงินกู้จากรัฐบาลที่ให้แก่บริษัทรถยนต์ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ… เมื่อเงินพร้อม Elon Musk ก็เริ่มต้น project ใหม่ที่ทำให้ Tesla กลายมาเป็นบริษัทรถยนต์แบบ mainstream นั่นก็คือ “Model S” รถยนต์ไฟฟ้าแบบ 4 ประตูรุ่นแรกที่เขาได้ Franz von Holzhausen นักออกแบบคู่ใจมาทำงานร่วมกับทีมงานวิศวกรรมของ J. B. Straubel ที่เกิดนวัตกรรมด้านการออกแบบมากมาย อาทิ การออกแบบเครื่องยนต์ไฟฟ้าให้ผสมผสานไปกับโครงของรถที่มีความบางมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การติดตั้งหน้าจอ touchscreen ที่คนขับสามารถใช้ควบคุมระบบต่างๆและเต็มไปด้วย application มากมาย ตั้งแต่ แผนที่ เกมส์ ไปจนถึง โปรแกรมแกล้งส่งเสียงตด ที่ต่อมาหน้าจอ touchscreen นี้ก็เป็นดั่งคอมพิวเตอร์และ software ของ Tesla ที่สามารถดัดแปลงและอัพเดทฟีเจอร์ใหม่ๆได้อย่างต่อเนื่อง ไปจนถึง การใส่ลูกเล่นแบบ friendly อย่างมือจับประตูรถที่จะเริ่มทำงานเมื่อคนขับเดินเข้ามาใกล้ที่ช่วยเสริมความสัมพันธ์และเสน่ห์ให้กับ Tesla

 

Private Space : SpaceX, 2009-2010

สัญญาในการส่งเสบียงไปที่สถานีอวกาศของ NASA ได้ทำให้ SpaceX ต้องอัพเกรดทุกอย่างแบบยกใหญ่ ตั้งแต่ การเพิ่มขีดความสามารถของจรวดที่เพียงพอในการส่งเสบียงได้ด้วยจรวด Falcon 9 ที่ออกแบบด้วยการมัดรวมเครื่องยนต์ของจรวด Falcon 1 รวมกันพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพจนมีกำลังเพิ่มขึ้น 10 เท่า การออกแบบยานอวกาศ Dragon สำหรับติดบนหัวจรวด Falcon 9 ที่สามารถควบคุมให้เชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศและกลับมาบนโลกได้ ไปจนถึง การเปลี่ยนฐานปล่อยจรวดใหม่กลับมาที่ Kennedy Space Center ที่ Cape Canaveral ที่เป็นพื้นที่ในการปล่อยจรวดหลักของสหรัฐอเมริกาที่ซึ่งทีมงานของ SpaceX ก็สามารถใช้หลักการตั้งคำถามถึงต้นทุนทั้งหมดในการลดต้นทุนการก่อสร้างให้ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาดได้แบบ 10 เท่าตัว… SpaceX ยังได้แรงสนับสนุนชุดใหญ่จากประธานาธิบดี Barack Obama ที่ออกนโยบายในการพึ่งพาบริษัทภาคเอกชนในงานด้านอวกาศแทนการพึ่งพิงภาครัฐที่เริ่มล้าหลังในด้านนวัตกรรมไปเสียแล้ว

 

Falcon 9 Liftoff : Cape Canaveral, 2010

เสถียรภาพทางการเงินและความน่าเชื่อถือของ SpaceX ได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2010 จากการทดลองปล่อยจรวด Falcon 9 เป็นครั้งแรกได้อย่างประสบความสำเร็จ ตามติดมาด้วยการทดลองการเดินทางกลับมาที่ภาคพื้นโลกของยานอวกาศ Dragon หลังจากการขึ้นสู่อวกาศที่ก็สามารถทำได้สำเร็จ… SpaceX ยังเริ่มฉายแววความสามารถในการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า (improvise) อย่างรวดเร็วและต้นทุนต่ำให้ NASA ได้เห็น อาทิ เมื่อที่ครอบเครื่องยนต์ชิ้นหนึ่งมีรอยแตกเล็กน้อย แทนที่จะต้องเปลี่ยนทั้งชิ้นซึ่งกินเวลานานและต้นทุนสูง Elon Musk ก็เลือกใช้วิธีการตัดส่วนที่แตกออกโดยยอมแลกกับแรงขับเคลื่อนที่ลดลงเล็กน้อยแต่ยังเพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งก็เป็นแนวทางการจัดการความเสี่ยงของ Elon Musk ที่มักสามารถหาสมดุลระหว่างความเสี่ยงที่รับได้กับต้นทุนค่าเสียโอกาสและเสียเวลาได้ดีอยู่เสมอ

 

การลงจอดจรวด Falcon 9 ตอนบนแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้สำเร็จ (source: satellitetoday)

 

Marrying Talulah : September 2010

Talulah Riley ตัดสินใจรับคำขอแต่งงานที่แฝงไว้ด้วยคำเตือนถึงเส้นทางนี้ที่ไม่น่าง่ายดายของ Elon Musk ในท้ายที่สุดหลังจากการหมั้นหมายประมาณ 2 ปี โดยเมื่อเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์อื่นๆในชีวิตของ Elon Musk แล้ว ความสัมพันธ์ที่กินระยะเวลา 8 ปีของเขาและ Talulah Riley นั้นถือเป็นความสัมพันธ์ที่สงบราบรื่นที่สุด… แต่ Elon Musk ก็ไม่ใช่คนที่ชอบความสงบราบรื่นซักเท่าไหร่ เรียกว่าเขาอาจจะชอบความโกลาหลและดราม่าเสียซะมากกว่า

 

Manufacturing : Tesla, 2010-2013

เสถียรภาพของ Tesla ก็มั่นคงอย่างสมบูรณ์แบบหลังจากการทำ IPO เปิดขายหุ้นในตลาด NASDAQ ได้อย่างประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันกับที่ Elon Musk ได้เริ่มตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่เมือง Fremont รัฐ California ที่แตกต่างจากบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่ที่มักเลือกฐานการผลิตนอกประเทศเพื่อลดต้นทุน โดย Elon Musk ยังคงยึดแนวคิดในการจัดสรรให้ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายวิศวกรรมและฝ่ายการผลิตสามารถใกล้ชิดกันจนสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังกำหนดให้ Franz von Holzhausen หัวหน้าทีมออกแบบรับหน้าที่เป็นผู้จัดการด้านคุณภาพชั่วคราวเพื่อปรับปรุงการผลิตให้ออกมาดีที่สุด… ต่อมา Elon Musk ยังตั้งเป้าในการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ Giga Factory เพื่อผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ Tesla ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่ง supplier เจ้าอื่นที่ก็น่าจะมีกำลังการผลิตไม่พอสำหรับอนาคต โดย Elon Musk ได้เลือกวิธีการร่วมทุนกับ Panasonic ที่มีประสบการณ์ด้านแบตเตอรี่อยู่แล้ว… ความแตกต่างสำคัญระหว่างนักนวัตกรรมอย่าง Steve Jobs และ Elon Musk คงเป็นที่คนหลังมักลงรายละเอียดและให้ความสำคัญกับงานการผลิตและหลักการทางฟิสิกส์ไม่แพ้งานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์

 

สายการผลิตรถยนต์ Tesla (source: SFGATE)

 

Musk and Bezos : SpaceX, 2013-2014

สงครามของสองมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทอวกาศภาคเอกชนอย่าง Elon Musk และ Jeff Bezos เจ้าของอาณาจักร Amazon ที่ก็เปิดบริษัทอวกาศอย่าง Blue Origin ที่มีเป้าหมายในการสร้างจรวดแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (reusable) เพื่อส่งมนุษย์ไปยังดาวดวงอื่นๆไม่แตกต่างจาก SpaceX ได้เริ่มคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ จากความขัดแย้งในหลายๆด้าน อาทิ Blue Origin แอบไปจดลิขสิทธิ์วิธีการลงจอดจรวดแบบ reusable บนพื้นผิวน้ำที่เป็นสิ่งที่ SpaceX ก็กำลังจะทำและเป็นเรื่องที่บริษัทอวกาศพูดคุยกันมานานแล้ว

 

The Falcon Hears the Falconer : SpaceX, 2014-2015

หลักไมล์สำคัญลำดับถัดมาของ SpaceX ก็คือการทำให้ Falcon 9 เป็นจรวดแบบ reusable ที่สามารถกลับมาลงจอดในพื้นผิวโลกได้อย่างปลอดภัยแทนการปล่อยให้ตกลงมาระเบิดเหมือนจรวดทั่วๆไป ซึ่งความพยายามของ SpaceX ก็ประสบความสำเร็จในเดือนธันวาคม 2015 ที่จรวดส่วนแรกของ Falcon 9 บินกลับมาลงจอดได้สำเร็จ… โดย Jeff Bezos ก็แอบแขวะเหตุการณ์นี้เล็กน้อยว่า Blue Origin สามารถลงจอดจรวดได้ก่อน SpaceX ซึ่ง Elon Musk ก็แขวะกลับไปว่าจรวดของ Blue Origin เป็นแค่จรวดทดลองขนาดเล็ก ขณะที่ Falcon 9 ทำหน้าที่ส่งเสบียงไปอวกาศได้จริงก่อนที่จะลงจอดได้สำเร็จ

 

The Talulah Roller Coaster : 2012-2015

ความสัมพันธ์ของ Elon Musk กับ Talulah Riley ก็เป็นดั่งรถไฟเหาะตีลังกาเช่นเคย เมื่อ Elon Musk เลือกทุ่มเทเวลาและความสนใจของเขาเกือบทั้งหมดไปที่การบริหาร SpaceX และ Tesla ที่เอาจริงการเป็น CEO แค่เพียงบริษัทเดียวก็ยากมากแล้ว จนสุดท้าย Talulah Riley ก็ขอหย่าครั้งแรกในปี 2012 แต่ทั้งคู่ก็กลับมาคบกันใหม่อย่างรวดเร็วและแต่งงานกันอีกครั้งในปี 2013 แต่สุดท้ายก็หย่ากันด้วยดีอีกรอบในปี 2015 เมื่อ Talulah Riley เริ่มกลับมาทำงานเป็นนักแสดงเต็มตัวในประเทศอังกฤษบ้านเกิด

 

Artificial Intelligence : OpenAI, 2012-2015

Elon Musk เริ่มตระหนักรู้ถึงความน่าสะพรึงกลัวของ A.I. ที่อาจเป็นภัยต่อมนุษยชาติที่เขาพยายามปกป้องหลังจากที่ Google ได้ตัดสินใจซื้อกิจการ DeepMind (ที่ต่อมาได้เปิดตัว Alpha Go ที่เป็น A.I. หมากล้อมที่เก่งกว่าเซียนโกะทุกคน) โดยที่เขารู้ว่า Larry Page นั้นไม่ได้ให้ความสนใจในด้านความปลอดภัยของ A.I. เท่าที่ควร… Elon Musk จึงได้ตัดสินใจร่วมมือกับ Sam Altman เพื่อก่อตั้ง OpenAI เพื่อพัฒนา A.I. แบบเปิดที่ผู้คนสามารถเข้ามาใช้งานได้ (ที่ต่อมาเปิดตัว ChatGPT ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งโลก) ด้วยความเชื่อที่ว่าหนทางที่ดีที่สุดในการหยุดยั้ง A.I. ที่ชั่วร้ายคือการเปิดให้ผู้คนสร้าง A.I. ที่มีเป้าหมายเพื่อมนุษยชาติเป็นจำนวนมากจนสามารถตรวจจับและควบคุม A.I. ร้ายได้… โดย Elon Musk ยังเริ่มมีแนวคิดเชิงธุรกิจเกี่ยวกับ A.I. มากมาย อาทิ Neuralink บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมประสาทมนุษย์กับคอมพิวเตอร์, X.AI บริษัท A.I. ที่มีเป้าหมายในการพัฒนา artificial general intelligence (AGI) ที่มีปัญญาครบเหมือนมนุษย์ ไปจนถึง การพัฒนาระบบ self-driving ของ Tesla ที่ก็ทำให้เขาแยกทางจาก OpenAI เพื่อพัฒนาทีม AI ภายใน Tesla ด้วยตัวเอง

 

The Launch of Autopilot : Tesla, 2014-2016

แผนการสร้างระบบ “autopilot” ของ Tesla ที่สามารถขับเคลื่อนได้เองแบบอัตโนมัติบนถนนเส้นใหญ่โดยที่คนขับยังต้องมีความระมัดระวังอยู่ก็ได้เปิดตัวในที่สุดในปี 2015 โดยแนวคิดการสร้างระบบเซนเซอร์ผ่านกล้องรอบทิศทางที่ใช้ A.I. ในการประมวลผลภาพและใช้เลเซอร์ให้น้อยที่สุดของ Elon Musk… อุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตได้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2016 เมื่อรถยนต์ Tesla ที่คนขับนั่งดูหนัง Harry Potter อยู่โดยไม่มองทางได้ชนเข้ากับรถบรรทุกที่กำลังเลี้ยวจากความผิดพลาดของกล้องที่อ่านสีขาวสะท้อนแสงของรถบรรทุกไม่ออก ซึ่งต่อมา Elon Musk ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่ออย่างโมโหว่าระบบ autopilot ของ Tesla นั้นมีความปลอดภัยกว่าความผิดพลาดของมนุษย์ที่มีอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตปีละเป็นล้านคนมาก โดยการที่สื่อพยายามประโคมข่าวเรื่องนี้อาจทำให้คนกลัวรถยนต์ไร้คนขับที่ปลอดภัยกว่ามากและเขามองว่าสื่อกำลัง “ฆ่าคน” อยู่ ซึ่งก็เป็นคำตอบที่ถูกต้องเชิงตรรกะ แต่ก็ช่างเป็นคำตอบที่ไม่สนใจความรู้สึกของผู้คนเลยจริงๆ… Elon Musk ยังเร่งประกาศตั้งแต่ปี 2016 ว่าจะผลิตรถยนต์แบบ “full self-driving” ที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์ในทุกสถานการณ์แบบในระดับที่เขาสั่งให้วิศวกรเริ่มออกแบบรถยนต์ที่ไม่มีพวงมาลัยกับคันเร่งนำหน้าไปก่อนเลย แต่จนถึงปีนี้ก็ยังคงไม่สามารถทำได้สำเร็จโดย Elon Musk ได้ยอมรับถึงความยากในการพัฒนา A.I. ในโลกแห่งความจริง

 

Solar : Tesla Energy, 2004-2016

Lyndon Rive และ Peter Rive ลูกพี่ลูกน้องของ Elon Musk ได้ไอเดียและเงินลงทุนก้อนแรก 10 ล้านดอลลาร์จาก Elon Musk ในการก่อตั้ง SolarCity ธุรกิจขายบริการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (solar panel) ในปี 2006 ที่ก็ดำเนินกิจการต่อมาเรื่อยๆจนกระทั่งถึงปี 2016 ที่บริษัทเริ่มมีปัญหาด้านการเงินและทำให้ Elon Musk ตัดสินใจให้ Tesla ซื้อกิจการไปและเปลี่ยนชื่อเป็น Tesla Energy… โดยถึงแม้ว่า Elon Musk จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการตัดสินใจนำเงินของบริษัทมาซื้อกิจการที่ตัวเองและญาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในราคาที่สูงกว่าตลาด แต่ Tesla Energy ก็เติมเต็มกลยุทธ์ของ Elon Musk ที่ต้องการให้ Tesla เป็นบริษัทพลังงานสะอาดแบบครบวงจรที่ก็มีนวัตกรรมอย่าง Tesla Powercell ที่เป็นแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในบ้านที่สามารถติดตั้งคู่กับ solar panel ของ SolarCity ได้และต่อมา Tesla Energy ก็ยังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Solar Roof ที่เป็น solar panel ในรูปแบบกระเบื้องหลังคาที่มีหน้าตาสวยงามดูดีแต่ก็มีราคาที่สูงมากเช่นกัน… และแน่นอนว่าเป็นไปตามคาดหมายว่าลูกพี่ลูกน้องตระกูล Rive ก็ทำงานร่วมกับ Elon Musk ไม่ได้จนโดนไล่ออกในเวลาเพียงแค่ 1 ปีถัดมา

 

The Boring Company : 2016

Elon Musk เกิดไอเดียใหม่จากบทสนทนาที่ว่าทำไมเมืองถูกออกแบบแบบ 3 มิติแต่ถนนกลับเป็นเพียงแค่ 2 มิติและเร่งทำการลงทุน 10 ล้านดอลลาร์เพื่อเปิดบริษัทขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินชื่อ The Boring Company ที่เป็นการเล่นคำสนุกๆของคำว่า “boring” ที่แปลได้ทั้ง “ขุดเจาะ” และ “น่าเบื่อ” โดยมีเป้าหมายในการสร้างอุโมงค์ทางด่วนใต้ดินเชื่อมต่อเมืองต่างๆ แต่กิจการบริษัทใหม่ของ Elon Musk นี้ก็ยังไม่ค่อยเติบโตและมีโครงการที่น่าสนใจเท่าไหร่จนถึงในปัจจุบันและผู้คนก็เริ่มลืมเลือนกับความน่าตื่นเต้นนี้ไป

 

เครื่องขุดเจาะอุโมงค์ของ The Boring Company (source: Born to Engineer)

 

Rocky Relationships : 2016-2017

ระหว่างปี 2016 กับปี 2017 คือช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนทางความสัมพันธ์ของ Elon Musk ตั้งแต่ การคบกับ Amber Heard ที่พึ่งมีปัญหาหย่าร้างกับ Johnny Depp จนเป็นข่าวฉาวใหญ่โตที่เธอก็เป็นดั่งไฟที่ร้อนแรงแต่ก็ปั่นป่วนที่สุดตามสเป็กที่ Elon Musk ชอบซึ่งสุดท้ายก็จบลงอย่างไม่ดีอีกเช่นเคย การพยายามตีซี้กับ Donald Trump ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ที่สุดท้าย Elon Musk ก็รับในความขวาจัดและไม่คิดถึงมนุษยชาติของ Donald Trump ไม่ได้และลาออกจากคณะกรรมการของเขาไปในที่สุด ไปจนถึง การพบเจอกับคุณพ่อ Errol Musk อีกครั้งในรอบนานกว่า 10 ปีที่ก็ไม่ช่วยรื้อฟื้นความสัมพันธ์ใดๆโดยเฉพาะเมื่อเขาล่วงรู้ว่าคุณพ่อได้ทำลูกสาวของอดีตภรรยาคนใหม่ที่อายุห่างกัน 40 ปีท้องซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้เลย

 

Descent into the Dark : Tesla, 2017-2018

ความปั่นป่วนในชีวิตจากทั้งการเลิกรากับ Amber Heard และพฤติกรรมที่รับไม่ได้ของคุณพ่อ Errol Musk ก็ได้พาให้ Elon Musk ดำดิ่งที่สุดในชีวิตมากกว่าเหตุการณ์ในปี 2008 เสียอีก ในระดับที่หลายๆครั้งจะมีพนักงานเห็นเขานอนนิ่งๆอยู่ที่พื้นของออฟฟิศที่ปิดไฟมืดสนิทอยู่เสมอ… และเช่นเคย Elon Musk มักเลือกการทำงานหนักเพื่อต่อกรกับปัญหาเชิงสุขภาพจิตของเขาและความท้าทายครั้งใหญ่ของเขาก็คือการผลิตรถยนต์ Model 3 ให้ได้ 5,000 คันต่อสัปดาห์ภายในกลางปี 2018 โดยที่เขาได้ทำการตกลงสัญญาค่าจ้างของเขาให้แปรตามมูลค่าตลาดของหุ้น Tesla ที่หากพุ่งสูงลิ่วจะทำให้เขาได้เงินแบบระดับแสนล้านดอลลาร์ได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้และเกิดกลุ่มนักวิเคราะห์จำนวนมากที่พากันแห่ short หุ้น Tesla เตรียมรอความล้มเหลวของเขา… Elon Musk ได้ประกาศว่าช่งงเวลาจนกว่าจะถึงกลางปี 2018 นั้นคือช่วงเวลาแห่งนรกของการผลิตที่ Tesla จะต้องเร่งผลิตภาพให้มากกว่าเดิมเกิน 3 เท่า !! ซึ่ง Elon Musk ก็เลือกใช้วิธีการทุ่มสุดตัวไปอยู่ทำงานและนอนในโรงงานแบบไม่มีวันหยุดพักกันไปเลย โดยเขาจะเดินดูหน้างานทุกวันเพื่อหาจุดที่ทำให้สายพานการผลิตช้าและเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็วด้วยแนวคิดการทำงานแบบ “เข้มข้นอย่างบ้าคลั่ง (maniacal intensity)” ทั้ง การทำงานอย่างหนักหามรุ่งหามค่ำ การกล้าใช้วิธีคิดนอกกรอบ อาทิ สร้างเต็นท์ประกอบรถยนต์ในพื้นที่ลานจอดรถเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และการไล่วิศวกรที่เขามองว่าเก่งไม่พอออกอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ไม่เป็นปัญหาแก่คนที่เก่ง โดยท้ายที่สุด Tesla ก็ทำตามเป้าหมายได้และ Elon Musk ก็ได้หลักการในการบริหารจัดการโรงงานใหม่หลายข้อ อาทิ

  • กฎที่ต้องเชื่อถือนั้นมีเพียงแค่กฎทางฟิสิกส์เท่านั้น ดังนั้น ทุกๆ requirement ของงานในแต่ละส่วนต้องมีชื่อของผู้ที่กำหนดไว้เพื่อให้หาตัวตามได้เสมอและต้องถูกตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา
  • จงให้ความสำคัญกับการยกเลิกกิจกรรมหรือชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นในการผลิตก่อนที่จะลงมือพัฒนามัน เพราะการทุ่มเทพัฒนาประสิทธิภาพของสิ่งที่ไม่ควรทำตั้งแต่แรกนั้นคือความสูญเปล่า และจงคิดไว้เลยว่าสิ่งที่ยกเลิกไปนั้นอาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้บ้างและน่าจะมีอย่างน้อย 10% ที่จะต้องนำกลับมาใหม่ หากต่ำกว่านั้น ถือว่ายังยกเลิกไม่มากพอ
  • การวางระบบ automation ด้วยหุ่นยนต์นั้นควรทำเป็นอย่างหลังจากที่ระบบสายพานการผลิตถูกออกแบบเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น เพราะหนึ่งในสิ่งที่ Elon Musk ทำเพื่อเพิ่มผลิตภาพของโรงงานก็คือการยกเลิกหุ่นยนต์ที่ทำงานช้าเป็นคอขวดและใช้คนทำแทน

 

Fallout : 2018

ถึงแม้ว่า SpaceX จะสามารถส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศได้ 56 ลำโดยที่ล้มเหลวเพียงครั้งเดียวและปัญหาด้านการเงินของ Tesla จะคลี่คลายจากการผลิตรถยนต์ได้ตามแผนแล้ว แต่ Elon Musk ในปี 2018 ก็ยังคงความเป็น bipolar ที่สร้างความปั่นป่วนได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ การทำสงคราม Twitter กับ Vernon Unsworth นักดำน้ำถ้ำชาวอังกฤษแกนนำผู้ช่วยชีวิตทีมหมูป่าในถ้ำหลวงหลังจากที่เขาถูกกล่าวหาว่าความพยายามในการสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กเพื่อช่วยเหลือทีมหมูป่าที่ไม่ได้ถูกใช้งานนั้นเป็นเพียง PR จน Elon Musk จัดหนักกล่าวหาว่า Vernon Unsworth นั้นเป็นคนมีรสนิยมทางเพศกับเด็กที่ก็ไม่เป็นความจริงแต่กลายเป็นข่าวฮือฮาที่ทำให้หุ้น Tesla ร่วง, การประกาศลง Twitter ถึงการปิดดีลเอา Tesla กลับมาเป็นบริษัท private company โดยที่ไม่ได้แจ้ง SEC (กรรมการตลาดหลักทรัพย์) ล่วงหน้าและไม่คอนเฟิร์มกับกองทุนผู้ซื้อกิจการจนสุดท้ายดีลก็ล่มและ Elon Musk ต้องยอมหยุดกิจกรรมบน Twitter และจ่ายค่าปรับพร้อมกับการตั้งคณะกรรมการบอร์ดเพิ่มตามคำร้องของ SEC, การให้สัมภาษณ์แบบ live กับ Joe Rogan แล้วดันไปบ้าจี้สูบกัญชาตามคำขอจนกลายเป็นข่าวฉาวใหญ่โตที่ทำให้หุ้นร่วงครั้งใหญ่และ NASA ต้องขอตรวจสอบร่างกายของ Elon Musk ว่ามีสารเสพติดไหม ไปจนถึง การกดดันทีมผู้บริหารฝั่ง Tesla ให้ทำงานอย่างหนักจนหลายคนตัดสินใจลาออกซึ่งก็รวมไปถึง J.B. Straubel ที่จากกันด้วยดีในปี 2019… ในฝั่งความตลกโปกฮาที่ Elon Musk มักเลือกพึ่งพิงเวลาเขามีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตก็ทำให้เกิดกิจกรรมบ้าๆได้เหมือนกัน อาทิ การเปิดตัวปืนไฟของ The Boring Company ที่ทำขึ้นมาเล่นๆแต่ก็ขายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็วฟาดเงินไป 10 ล้านดอลลาร์ ไปจนถึง การส่งรถยนต์ Tesla ติดบนจรวดรุ่นใหม่อย่าง Falcon Heavy เพื่อส่งรถยนต์ Tesla ไปยังดาวอังคาร

 

Grimes : 2018

ความสัมพันธ์ครั้งใหม่ของ Elon Musk ได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาที่ปั่นป่วนในปี 2018 เมื่อเขาได้มารู้จักกับ Claire Boucher หรือ “Grimes” นักร้องสาวแนว sci-fi และ fantasy ที่ทั้งคู่มีความสนใจที่คล้ายๆกันในหลายๆด้าน ซึ่งแน่นอนว่า Grimes ก็เป็นอีกคนที่พา Elon Musk เข้าสู่ประเด็นดราม่าต่างๆ อาทิ การทะเลาะกันกับแรปเปอร์คนหนึ่งอย่างรุนแรงทาง Twitter… แต่ Grime ก็ถือเป็นคนที่เข้าใจในความเป็นบุคคลหลายบุคลิกของ Elon Musk ได้เป็นอย่างดี ทั้งในฟากฝั่งตัวตนที่เป็นเหมือนเด็กชิลล์ๆน่ารักๆที่มีอยู่บ่อยครั้ง ไปจนถึง ตัวตนที่เธอเรียกว่า ”Demon mode” หรือ “ร่างปีศาจ” ที่ดำมืดไร้อารมณ์และสามารถทำร้ายจิตใจผู้คนได้อย่างง่ายดายโดยที่ Elon Musk อาจจะจำสิ่งที่เขาทำไว้ในร่างนั้นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แต่ Grimes ก็ยืนยันว่าร่างปีศาจของ Elon Musk นั้นสำคัญและมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ขนาดนี้

 

Elon Musk และ Grimes (source: People)

 

Shanghai : Tesla, 2015-2019

แผนการพา Tesla บุกตลาดจีนของ Elon Musk นั้นไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด จนกระทั่ง เขาตัดสินใจชวน Robin Ren เพื่อนสมัยเรียนที่ University of Pennsylvania ไปตระเวนพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนจนค้นพบว่าการที่ Tesla จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องผ่านการตั้งโรงงานผลิตในจีนเท่านั้น ซึ่ง Elon Musk ก็ดื้อดึงไม่ยอมทำ joint venture ร่วมทุนกับบริษัทจีน จนท้ายที่สุด Robin Ren ก็เจรจาให้ Tesla สามารถเปิดบริษัทของตัวเองได้ตามนโยบายใหม่ของประธานาธิบดี Xi Jinping ที่ต้องการให้จีนเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีพลังงานสะอาด โดยภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี รถยนต์ Tesla กว่าครึ่งก็ได้ถูกผลิตที่ประเทศจีน

 

Cybertruck : Tesla, 2018-2019

ผลงานใหม่ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับ Tesla ได้อีกครั้ง ก็คือ Cybertruck รถกระบะไฟฟ้ารูปทรงเหลี่ยมแปลกตาที่ทำจากแผ่นเหล็ก stainless steel ที่ถือเป็นการปรับโฉมการออกแบบรถกระบะที่มีหน้าตาเหมือนเดิมมาตลอดกว่า 80 ปีให้มีความโฉบเฉี่ยวราวกับอยู่ในโลกอนาคต ซึ่ง Elon Musk ก็ได้วิธีคิดนี้จากลูกชายคนหนึ่งที่ถามเขาว่าทำไม “อนาคตหน้าตาไม่เห็นเหมือนอนาคตเลย” จนเร่งให้ทีมงานออกแบบพัฒนาจนได้งานการออกแบบที่สร้างความฮือฮาให้กับ Tesla ได้พอสมควร

 

Elon Musk ในงานเปิดตัว Cybertruck (source: CNBC)

 

Starlink : SpaceX, 2015-2019

ผลงานเอกอีกชิ้นของ Elon Musk ก่อตัวขึ้นหลังจากการประชุมในหัวข้อ “แผนการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร” ที่มีมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นก่อตั้งบริษัท SpaceX เมื่อทีมงานเห็นตรงกันว่าการไปดาวอังคารนั้นต้องใช้เงินอันมหาศาลและ SpaceX ต้องหารายได้เพิ่ม จนเกิดเป็นโครงการ Starlink ที่เป็นกองทัพดาวเทียมส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตขนาดเล็กบนชั้นบรรยากาศแบบต่ำที่สามารถติดจรวดของ SpaceX ขึ้นไปปล่อยบนชั้นบรรยากาศได้ ซึ่งกว่าไอเดียนี้จะสำเร็จผลนั้น Elob Musk ก็เคยไล่ทีมผู้บริหารที่ดูแลโครงการนี้ออกยกชุดมาแล้วรอบหนึ่งและให้วิศวกรเอกของ SpaceX เป็นคนคุมงานแทนจนสามารถเปิดตัวได้ในปี 2019 ด้วยการที่ Elon Musk ประกาศใน Twitter ด้วยอินเตอร์เน็ตจาก Starlink ที่บ้านของเขาเอง

 

ดาวเทียม Starlink จำนวนมากบนจรวดของ SpaceX (source: Space News)

 

Starship : SpaceX, 2018-2019

ความสำเร็จของ Falcon 9 และ Starlink นั้นเพียงพอให้ SpaceX มีกำไรไปอย่างยาวนาน แต่ไม่เพียงพอสำหรับ Elon Musk ผู้ที่ต้องการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาจรวดใหม่ที่ตอนแรกถูกตั้งชื่อว่า “BFR” หรือ “Big F Rocket” ที่ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Starship ซึ่งถือเป็นจรวดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่สามารถขนมนุษย์ได้กว่า 100 คนหรือเสบียงรวมกว่า 100 ตัน ซึ่ง Elon Musk ก็เลือกใช้วัสดุคู่ใจอย่าง stainless steel ที่เคยใช้สร้าง Cybertruck ที่ทำให้จรวดสามารถประกอบได้ง่ายในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต้องควบคุมมากและเขาได้ตั้งโครงการ Starship ที่ Boca Chica ทางใต้ของรัฐ Texas

 

Family Life : 2020

ในด้านชีวิตส่วนตัวของ Elon Musk ก็มีพัฒนาการมากมายทั้งในด้านบวกและด้านลบ อาทิ การถือกำเนิดของ X Æ A-Xii ลูกชายคนใหม่ของ Elon Musk และ Grimes ที่โดดเด่นทั้งชื่อและนิสัยที่น่ารักจนกลายมาเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนใหม่ของคุณพ่อ ความขัดแย้งกับ Xavier Musk หนึ่งในแฝดคนโตที่แปลงเพศและเปลี่ยนชื่อเป็น Jenna Musk พร้อมกับการมีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านความร่ำรวยของเศรษฐีที่รวมถึงคุณพ่อของตัวเองจนเป็นส่วนที่ทำให้ Elon Musk ตัดสินใจขายบ้านทิ้งทั้งหมดเพื่ออยู่อาศัยในบ้านเพื่อนและบ้านขนาดเล็กแทน ไปจนถึง การพัฒนาความสัมพันธ์กับ Kimbal Musk น้องชายที่เคยทะเลาะกันอย่างรุนแรงตอนที่ Elon Musk ไม่ยอมส่งเงินช่วยธุรกิจร้านอาหารของน้อยชายที่กำลังจมน้ำซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็ได้ติด COVID-19 พร้อมกันและย้ายมาอยู่ด้วยกันจนกลับมาสนิทกันอีกครั้ง

 

Elon Musk กับลูกชาย X (source: South China Morning Post)

 

Full Throttle : SpaceX, 2020

การปิดตัวลงของโครงการ Space Shuttle ของ NASA ในปี 2011 ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องพึ่งพาอาศัยรัสเซียในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศเป็นเวลาร่วมกว่าหนึ่งทศวรรษ จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม 2020 ที่จรวด Falcon 9 และยานอวกาศ Crew Dragon ของ SpaceX สามารถนำนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศได้อย่างประสบความสำเร็จและสร้างประวัติศาสตร์ให้กับ SpaceX อีกครั้งในฐานะบริษัทเอกชนแรกที่สามารถส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศได้อย่างปลอดภัย… ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Boeing ที่ได้รับเงินทุนและสัมปทานจาก NASA ไปเช่นกันนั้นยังไม่สามารถแม้แต่จะส่งยานอวกาศแบบไร้คนขับไปเชื่อมต่อดับสถานีอวกาศได้เลย ส่วน Blue Origin ของคู่ปรับอย่าง Jeff Bezos นั้นก็พึ่งทำสำเร็จแค่การส่งจรวดพร้อมผู้โดยสาร 4 คนที่รวมถึงตัวของเขาเองขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศของโลกที่กินเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น

 

Elon Musk ในงานเปิดตัวยานอวกาศ Crew Dragon (source: NBC)

 

Starship Surge : SpaceX, July 2021

เหตุการณ์ที่สร้างชื่อเสียงในแง่ร้ายให้กับ “ร่างปีศาจ” ของ Elon Musk ได้เกิดขึ้นในค่ำคืนวันศุกร์ในเดือนกรกฎาคม 2021 เมื่อ Elon Musk เดินตรวจงานโครงการ Starship และพบเห็นวิศวกรที่เหลือเพียงไม่กี่คนที่ยังคงทำงานอยู่จนเขากลายร่างเป็นปีศาจและสั่งให้วิศวกร SpaceX กว่า 500 ชีวิตหยุดเลิกทำงานเก่าและบินมายัง Boca Chica ทันทีเพื่อทำภารกิจติดตั้งจรวดส่วนบนของ Starship เข้ากับฐานส่วนร่างให้สำเร็จภายใน 10 วันโดยมีนาฬิกาดิจิตอลขนาดใหญ่คอยจับเวลา ซึ่งพนักงานจำนวนมากที่ก็ทำงานกันอย่างเหนื่อยล้าตลอดอาทิตย์ก็ต้องหามรุ่งหามค่ำทำงานไม่มีวันหยุดพักต่อ ซึ่งถึงแม้การติดตั้งจรวด Starship จะสำเร็จ แต่จรวดก็ยังไม่พร้อมที่จะทดสอบไปอีกนานเกือบๆ 2 ปี ซึ่ง Elon Musk มองว่าการเร่งทำภารกิจนี้คือการสร้างความรู้สึกเร่งรีบ (sense of urgency) ที่เขาเชื่อว่ามีแต่ตัวเขาและ SpaceX เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดว่ามนุษยชาติจะไปสู่ดาวอังคารได้เมื่อไหร่… อีกหนึ่งเหตุการณ์ดราม่าก็คือการที่ Elon Musk ไล่บี้ทีมงานฝ่ายการเงินผู้ที่พึ่งเสียลูกสาวไปไม่กี่สัปดาห์ก่อนอย่างหนักหน่วงในการลดต้นทุนเครื่องยนต์ไอพ่นของ Starship จาก 2 ล้านดอลลาร์ให้เหลือ 2 แสนดอลลาร์ด้วยแนวคิด “idiot index” หรือ ”ดัชนีค่าโง่“ ที่วัดว่ายิ่งชิ้นส่วนมีราคาสูงกว่าต้นทุนวัตถุดิบเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงว่าการออกแบบและกระบวนการผลิตนั้นไร้ประสิทธิภาพเท่านั้น จนทำให้พนักงานการเงินคนนั้นที่ยังไม่รู้ข้อมูลเชิงวิศวกรรมอย่างละเอียดโดนขู่ว่าถ้าประชุมครั้งหน้าในวันรุ่งขึ้นยังรู้เรื่องไม่ครบก็ลาออกไปได้เลยต้องทำงานอย่างกดดันสุดๆ แต่ก็ได้ผลลัพธ์ตามที่ Elon Musk ต้องการ… โดยต่อมา พนักงานคนนั้นได้ให้ความเห็นว่า Elon Musk เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ในระดับเผ่าพันธุ์เป็นอย่างมาก แต่เขากลับไม่เคยให้ความสำคัญกับความรู้สึกของมนุษย์ในระดับบุคคลเลย แต่ความเจ็บปวดทางใจจากการทำงานร่วมกับ Elon Musk นั้นก็อาจคุ้มค่าถ้ามนุษยชาติสามารถมีพัฒนาการได้อย่างที่เขาสร้างวิสัยทัศน์ไว้จริงๆ

 

ฐานปล่อยจรวด Starship ที่ Boca Chica (source: Friends of NASA)

 

Solar Surge : Summer 2021

ร่างปีศาจของ Elon Musk ครั้งถัดมาเกิดขึ้นที่ทีมงาน Solar Roof ของ Tesla Energy ที่ Elon Musk กำลังถูกฟ้องร้องเรื่องจริยธรรมในการซื้อกิจการของญาติด้วยเงินของบริษัท Tesla จนเป็นเหตุให้เขาต้องการพิสูจน์ว่า Solar Roof นั้นสามารถประสบความสำเร็จทางการเงินได้อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่ง Elon Musk ก็ใช้วิธีการเรียกทีมงานวิศวกรและทีมงานติดตั้งมาติดตั้ง Solar Roof ให้กับบ้านพักใกล้ฐานปล่อยจรวด Starship ที่ Boca Chica และดำเนินการย่างสดทีมงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กระบวนการติดตั้ง Solar Roof เร็วขึ้นและถูกขึ้น อาทิ การลดชิ้นส่วนและขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลงซึ่งบางส่วนก็ได้ผลแต่บางส่วนก็ต้องนำกลับมาใหม่เหมือนเดิม การสั่งให้วิศวกรเป็นคนติดตั้ง Solar Roof เองจนเข้าใจหน้างาน ไปจนถึง การสั่งงานทีมงานข้ามคืนไม่สนวันหยุด ซึ่งรวมไปถึง การเรียกหัวหน้าฝ่ายติดตั้งมาหาในวันเกิดของหัวหน้าคนนั้นเพื่อให้วางแผนลดต้นทุนอีกเท่าตัวก่อนที่จะไล่ออกในการประชุมครั้งถัดไปโดยไม่แม้แต่จะฟังแผนการลดต้นทุนที่ขอไป… สุดท้าย Solar Roof ก็มีพัฒนาการเล็กน้อยแต่ก็ไม่สามารถเติบโตได้แบบที่ Elon Musk ต้องการ แต่ก็มีความโชคดีที่ศาลตัดสินใจยกฟ้องและทำให้ Elon Musk เลิกสนใจที่จะทำให้ธุรกิจนี้โต

 

Inspiration4 : SpaceX, September 2021

อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของ SpaceX ก็คือภารกิจการส่งพลเรือนขึ้นสู่อวกาศที่ถือเป็นภารกิจครั้งแรกของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่การระเบิดของยาน Challenger ในปี 1986 โดย SpaceX ก็ได้ลูกค้าพลเรือนคนแรกอย่าง Jared Isaacman มหาเศรษฐีหนุ่มเจ้าของบริษัท Shift4 Payments ผู้ชื่นชอบการขับเครื่องบินเป็นชีวิตจิตใจที่เคยทำภารกิจขับเครื่องบินเล็กรอบโลกนาน 62 ชั่วโมงมาแล้ว โดย Jared Isaacman ทำสัญญากับ SpaceX ในโครงการชื่อ Inspiration4 ที่จะนำพาเขาและผู้โดยสารพลเรือนที่ถูกคัดเลือกอีก 3 คนไปยังวงโคจรที่สูงกว่าสถานีอวกาศเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าของมนุษยชาติโดยยอมรับในความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากเศษซากยานอวกาศในวงโคจรและยังสามารถระดมเงินได้กว่า 243 ล้านดอลลาร์ให้แก่โครงการวิจัยด้านมะเร็งในเด็กของโรงพยาบาล St. Jude Children อีกด้วย ซึ่งภารกิจก็ประสบความสำเร็จแต่โดยดีและ Jared Isaacman ก็ขอจองตั๋วเป็นผู้โดยสารคนแรกของ Starship เป็นที่เรียบร้อย

 

ลูกเรือในโครงการ Inspiration4 (source: The New York Times)

 

Optimus Is Born : Tesla, August 2021

ความหวาดกลัวต่อ A.I. ที่ทำให้ Elon Musk ตัดสินใจร่วมก่อตั้ง Open AI มาก่อนหน้านั้นยังส่งผลให้เขาตัดสินใจเริ่มโครงการใหม่ของ Tesla อย่าง Optimus ที่วางแผนให้เป็นหุ่นยนต์รูปทรงคล้ายมนุษย์ที่สามารถเลียนแบบพฤติกรรมทางร่างกายของมนุษย์ได้และมีลักษณะท่าทางที่นุ่มนวลเป็นมิตรดูปลอดภัย ซึ่งโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย A.I. ของ Tesla นั้นก็ยังคงมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

 

หุ่นยนต์ Optimus ในงานเปิดตัวครั้งแรก (source: cnet)

 

Neuralink : 2017-2020

เทคโนโลยีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้ประสานให้มนุษย์และคอมพิวเตอร์ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่แทบไม่มีพัฒนาการเลยก็คือกระบวนการให้ข้อมูลของมนุษย์แก่คอมพิวเตอร์ที่ยังคงทำด้วยเครื่องมืออย่าง keyboard และ mouse อยู่ จนเป็นเหตุให้ Elon Musk ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Neuralink เพื่อสร้างวิธีการเชื่อมต่อมนุษย์กับคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ด้วยการฝัง “ชิป” เข้าไปบนสมองของมนุษย์ที่สามารถตรวจจับการทำงานของเส้นประสาทแต่ละจุดและส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นไปประมวลผลในคอมพิวเตอร์ได้ที่ดูเหมือนเป็นนิยาย sci-fi มากๆ แต่ Neuralink ในปี 2020 ก็ได้เปิดเผยคลิปวิดิโอที่สร้างความฮือฮามากที่โชว์ให้เห็นลิงชิมแปนซีตัวหนึ่งที่สามารถเล่นเกม Pong บนคอมพิวเตอร์โดยควบคุมผ่านชิปของ Neuralink ได้อย่างน่าอัศจรรย์… Elon Musk ยังได้ให้ความเห็นว่า Neuralink นี้เองอาจจะเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถรับมือกับ A.I. ร้ายได้ในอนาคต

 

Money : 2021-2022

เมื่อหุ้นของ Tesla พุ่งทะยานจากจุดต่ำสุดที่ 25 ดอลลาร์ในช่วง COVID-19 มาที่ระดับ 260 ดอลลาร์ในต้นปี 2021 ก็ได้ทำให้ Elon Musk ก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้า Jeff Bezos ไปจากทั้งมูลค่าหุ้นที่เขาถือและจากการทำสัญญาค่าตอบแทนของเขาในฐานะ CEO ที่อิงจากผลประกอบการและมูลค่าหุ้นที่สูงลิ่วอีกกว่า 56 พันล้านดอลลาร์ที่ทำให้เขามีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันสูงกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์… แต่ชายที่มีเงินมากที่สุดในโลกก็พิสูจน์ให้พวกเราทุกคนได้เข้าใจว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ เพราะเขาเองก็ยังคงทุ่มเททำงานอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องแม้กระทั่งในวันหยุดทั้งๆที่ร่างกายและสภาวะทางจิตใจต่างก็ทรุดโทรมจากการแก้ปัญหาวิกฤตของบริษัทของเขาอย่างต่อเนื่องไม่มีวันจบ

 

Father of the Year : 2021

Elon Musk ในปี 2021 ได้เป็นพ่อของเด็กทารกเกิดใหม่ถึง 3 คน… คนแรกก็คือลูกคนที่ 2 ของเขาและ Grimes ที่รักๆเลิกๆกันไปมาแต่ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีในฐานะพ่อแม่ของ X จนทำให้พวกเขาตัดสินใจมีลูกสาวคนแรกให้กับ Elon Musk ผ่านการอุ้มบุญโดยชื่อของลูกสาวก็เท่มากเช่นเคยอย่าง Exa Dark Sideræl หรือ “Y”… ส่วนลูกอีกสองคนคือลูกแฝดของ Shivon Zilis เพื่อนพนักงานคนสนิทของ Elon Musk ที่เขาพยายามบอกเธอว่ามนุษยชาติกำลังจะล่มสลายเพราะคนมีลูกลดลงโดยคนที่ฉลาดและมีฐานะดีต้องทำหน้าที่ในการสร้างมนุษย์รุ่นใหม่ขึ้นมาจนทำให้ Shivon Zilis ตัดสินใจมีลูกผ่านการผสมเทียมโดยใช้สเปิร์มของ Elon Musk ที่ถือเป็นพ่อพันธุ์ชั้นเลิศ… อีกหนึ่งปีถัดมา Elon Musk และ Grimes ก็ให้กำเนิดลูกชายอีกคนผ่านการอุ้มบุญโดยตั้งชื่อว่า Techno Mechanicus Musk หรือ “Tau” และข่าวคราวการมีลูกของเขากับ Shivon Zilis ก็เผยแพร่ออกมาเป็นข่าวใหญ่โดยที่ Grimes เองก็ไม่รู้มาก่อน

 

Politics : 2020-2022

Elon Musk มีความเชื่อทางการเมืองเป็นแนวสายกลางมาตลอดและทำให้เขาเลือกอยู่ฝั่งพรรค Democrats ที่มักให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมมากกว่าและเขาถึงกับเคยต่อคิว 6 ชั่วโมงเพื่อรอจับมือกับ Barack Obama ด้วยซ้ำและเขาก็ค่อนข้างรังเกียจพฤติกรรมของ Donald Trump ที่เขามองว่าเป็นทั้งนักต้มตุ๋นและภัยต่อมนุษยชาติ… แต่แล้ว ความบาดหมางระหว่าง Elon Musk กับพรรค Democrats ก็ได้เกิดขึ้นเรื่อยๆ อาทิ การที่ผู้ว่า California สั่งปิดโรงงาน Tesla ในช่วง COVID-19 ที่เขามองว่าเป็นเผด็จการ การที่เขาถูกสมาชิกสภาฝั่ง Democrats กล่าวหาเรื่องความร่ำรวยเกินเหตุโดยไม่ยอมขายหุ้นเพื่อจ่ายภาษี ปัญหาความไม่พอใจในตัวประธานาธิบดี Joe Biden ของ Elon Musk ที่เขามองว่าทั้งอ่อนแอ ไม่รู้เรื่องและน่าเบื่อสิ้นดี ไปจนถึง การที่เขาออกมาต่อต้านแนวคิดซ้ายจัดอย่าง Woke ที่เคยเปลี่ยนลูกชายของเขากลายมาเป็นลูกสาวที่ตัดความสัมพันธ์กับพ่อซึ่งเขามองว่าแนวคิดแบบ Woke ได้ทำลายความสนุกของมนุษยชาติและสร้างแต่ความขัดแย้ง จนท้ายที่สุด Elon Musk ก็เริ่มมีแนวคิดไปทาง Republicans มากยิ่งขึ้นแต่เขาก็ยังจำยอมโหวตให้กับ Joe Biden อยู่และให้สัมภาษณ์ว่าเขาสนับสนุนทั้ง Democrats และ Republicans ที่มีแนวคิดอยู่ตรงกลางๆเสมอ… ปิดท้าย กิจวัตรในการพักผ่อนที่ Elon Musk ติดมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีนี้ก็คือการเล่น strategy game ชื่อ Polytopia ที่เป็นเกมแย่งชิงทรัพยากรของชนเผ่า 16 เผ่าที่เขาติดจนงอมแงมในระดับที่เล่นทั้งคืนและยอมเลื่อนประชุมสำคัญเพื่อเล่นให้จบเกม ซึ่งเขาก็บอกว่าเกมนี้ได้สอนให้รู้ว่า empathy ใช้ไม่ได้ในสนามรบอันดุเดือดและทุกการตัดสินใจครั้งใหญ่ของเผ่าพันธุ์นั้นสำคัญเสมอเพราะหากผิดพลาดไปไม่กี่ครั้ง มนุษยชาติอาจไม่มีโอกาสได้ไปเหยียบดาวอังคารอีกเลย

 

Ukraine : 2022

การบุกจู่โจมประเทศยูเครนโดยกองทัพของประเทศรัสเซียที่เริ่มต้นจากการแฮ็กโครงข่ายอินเตอร์เน็ตได้ทำให้รองประธานาธิบดีของยูเครนตัดสินใจ Tweet หา Elon Musk เพื่อขอความช่วยเหลือในการส่งดาวเทียม Starlink และเครื่องรับสัญญาณมาช่วยให้กองทัพฝ่ายยูเครนสามารถสื่อสารและปกป้องประเทศได้ ซึ่ง Elon Musk และ SpaceX ก็สนับสนุนอย่างเต็มที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆซึ่งก็สร้างชื่อเสียงให้กับ Starlink ไปทั่วทั้งโลกถึงความรวดเร็วในการให้บริการอินเตอร์เน็ตในภาวะสงครามที่ใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันก็สามารถทำได้… เมื่อกองทัพยูเครนเริ่มตั้งตัวได้และเตรียมที่จะต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย Elon Musk ก็ได้ตัดสินใจที่จะตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตของ Starlink ในเขตที่รัสเซียปกครองอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกันที่รุนแรงขึ้นซึ่งเขามองว่าอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์และสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ไม่มีผลดีต่อมนุษย์และเขายังเร่งนำเอา Starlink ออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโดยการก่อตั้งโครงการใหม่ชื่อ Starshield ที่เป็นดาวเทียมอินเตอร์เน็ตสำหรับกองทัพโดยเฉพาะที่ให้กองทัพสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเป็นคนจ่ายเงินให้แทน โดย Elon Musk ยังคงเปิดให้บริการ Starlink แบบฟรีๆแก่ประชาชนพลเรือนชาวยูเครนอยู่ด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดกว่า 80 ล้านดอลลาร์โดยที่ Starlink นั้นยังไม่มีกำไรเลยด้วยซ้ำ

 

Elon Musk ตอบตกลงช่วยเหลือ Ukraine ผ่าน Twitter (source: Twitter)

 

Bill Gates : 2022

ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง Elon Musk และ Bill Gates นั้นไม่ค่อยราบรื่นซักเท่าไหร่ เมื่อ Elon Musk รู้มาว่า Bill Gates ผู้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานการกุศลผ่านมูลนิธิที่ Elon Musk ก็ร่วมบริจาคด้วยส่วนหนึ่งเพื่อลดภาษีได้ทำการ short หุ้นของ Tesla อยู่และก็สูญเสียเงินไปแล้วกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ โดย Elon Musk มองว่าการกุศลที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนสูงสุดให้กับโลกมนุษย์ก็คือการนำเงินและพลังงานทั้งหมดมาลงทุนเติบโต Tesla ที่เป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดและไม่เข้าใจว่าทำไม Bill Gates ถึงต้องการสร้างผลกำไรหาก Tesla ล้มเหลว จนทำให้ Elon Musk เลิกคุยกับ Bill Gates เรื่องโครงการกุศลต่างๆที่เคยพูดคุยกันมาก่อน

 

Active Investor : Twitter, January-April 2022

เมื่อ Tesla ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนมีมูลค่าบริษัทสูงกว่าบริษัทรถยนต์ลำดับที่ 2 ถึง 10 รวมกันพร้อมกับที่ SpaceX ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการส่งวัตถุและมนุษย์ในจำนวนที่มากกว่า 2 เท่าขององค์กรด้านอวกาศของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เหลือรวมกัน เมื่อนั้น Elon Musk ผู้รักในความท้าทายปนความโกลาหลก็เริ่มมองหาสงครามครั้งใหม่ที่เขาสามารถเปิดศึกได้และเมื่อเขาถามตัวเองว่าผลิตภัณฑ์ใดของบริษัทเอกชนรายอื่นคือผลิตภัณฑ์ที่เขารักมากที่สุด คำตอบก็คือ Twitter ที่เป็น platform ที่เขาใช้ส่งข้อความมาแล้วร่วมเกือบๆ 20,000 ครั้งและก็สร้างดราม่าให้เขามาแล้วอย่างนับไม่ถ้วน… Elon Musk เริ่มตัดสินใจใช้เงินสดที่เขามีจำนวนมากจากการขายหุ้นมาซื้อหุ้นของ Twitter อย่างลับๆรวมกันกว่า 9% และเริ่มวิจารณ์การบริหารจัดการของ Twitter อย่างเปิดเผยโดยเฉพาะนโยบายการแบนการใช้งานของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump และผู้ใช้งานฝ่ายขวาจัดที่ Elon Musk มองว่าเป็นการขัดขวางอิสรภาพทางการพูดของผู้ใช้งานบางกลุ่มโดยเฉพาะ ซึ่งต่อมาบอร์ดของ Twitter และ Parag Agrawal ผู้เป็น CEO ในขณะนั้นก็ได้เชิญให้ Elon Musk มาเป็นหนึ่งในบอร์ดของบริษัทซึ่งเขาก็ตอบตกลงและนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์การยึดครอง Twitter ที่ Elon Musk มองว่ากำลังถูกบริหารโดยคนที่อ่อนแอเกินไปและต้องการ “มังกรพ่นไฟ” แบบเขามาพลิกฟื้นกิจการให้มีทั้งผู้ใช้งานที่ active มากขึ้น สร้างความน่าเชื่อถือต่อแพลตฟอร์มมากขึ้นและเปลี่ยน Twitter ให้กลับมาสนับสนุนหลักการ freedom of speech และประชาธิปไตยอีกครั้ง นอกจากนั้น เขายังมองเห็นโอกาสในการเปลี่ยน Twitter ให้กลายมาเป็นแพลตฟอร์ม social media ด้านการเงินตามแนวคิดเดิมของเขาอย่าง X.com ก่อนที่จะควบรวมกิจการกับ PayPal ซึ่งก็ใกล้เคียงกับ WeChat ที่ทำได้จริงในจีน… ผู้เขียนยังวิเคราะห์ต่อว่าสาเหตุที่ Elon Musk ให้ความสนใจกับ Twitter ที่ดูไม่ได้สำคัญต่อมนุษยชาติเท่ากับ Tesla, SpaceX และ Neuralink นั้นก็เป็นเพราะ Twitter นั้นเป็นดั่งสนามเด็กเล่นที่ทั้งสนุกและพร้อมให้ Elon Musk ยึดครองในแบบที่เขาในวัยเด็กทำไม่ได้

 

“I made an offer.” : Twitter, April-September 2022

ก่อนที่ Elon Musk จะเริ่มทำหน้าที่เป็นบอร์ดอย่างเป็นทางการ เขาก็ตัดสินใจกลับลำเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการทำเรื่องขอซื้อกิจการของ Twitter ไปเลยแบบสายฟ้าแล่บที่ทำให้ทุกคนรอบตัวของเขาตกใจ โดยยื่นขอเสนอมูลค่ากว่า 44 พันล้านดอลลาร์ที่ได้กองทุน VC และเพื่อนมหาเศรษฐีเป็นผู้ร่วมระดมทุนซึ่งบอร์ดของ Twitter ก็ตัดสินใจรับข้อเสนอในเวลาต่อมา… แต่แล้ว Elon Musk ก็เริ่มลังเลในการตัดสินใจครั้งนี้ เมื่อเขาได้เริ่มทำการศึกษารายละเอียดภายในของ Twitter ที่เต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะจำนวน account ที่เป็น bot ที่ทีมงาน Twitter บอกว่ามีเพียง 5% แต่ตัวของ Elon Musk เชื่อว่ามีมากกว่านั้นมาก จนเขาหลุด Tweet ว่าเขาขอชะลอการซื้อกิจการจนหุ้นตกครั้งใหญ่และสร้างความโกลาหลและดราม่าอย่างสุดๆในเวลาต่อมา… มหากาพย์ Twitter ได้ฉายให้เห็นความบ้าบิ่นของ Elon Musk ที่เหนือกว่าครั้งไหนและความลังเลของเขาที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก… ท้ายที่สุด Elon Musk ก็ยอมตัดสินใจซื้อกิจการด้วยมูลค่าเดิมหลังจากความพยายามในการเจรจาต่อรองไม่ประสบความสำเร็จและสร้างแต่ความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องเพิ่มเติม โดย Elon Musk ให้ความเห็นว่ามูลค่าของ Twitter นั้นต้องมีราคาสูงกว่านี้แน่ๆเพราะเดี๋ยวคนฉลาดก็จะเข้ามาบริหารงานแทนคนโง่แล้ว

 

Robotaxi : Tesla, 2022

ภารกิจอันยิ่งใหญ่ลำดับถัดมาของ Elon Musk ที่เขามองว่าจะทำให้ Tesla กลายเป็นบริษัทระดับสิบล้านล้านดอลลาร์ก็คือ “Robotaxi” รถแท็กซี่ไร้คนขับขนาดเล็กที่จะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนให้คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัวอีกต่อไป ซึ่ง Elon Musk ก็ยืนกรานเสียงแข็งที่จะตั้งโรงงานผลิตรถแท็กซี่ไร้คนขับนี้ในทันทีโดยงานออกแบบต้องไปได้อย่างสุดทางคือไม่ต้องมีฟังค์ชั่นของคนขับเลย อาทิ พวงมาลัยและกระจกมองข้าง แต่สุดท้ายทีมงานของ Tesla ที่มองว่าการตัดสินใจนี้มันสุดโต่งมากและเต็มไปด้วยความเสี่ยงด้านกฎหมายก็สามารถเปลี่ยนใจ Elon Musk ให้เลือกตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดสำหรับตลาด mass ที่มีโครงสร้างเหมือนกับ Robotaxi ที่เพิ่มความยืดหยุ่นให้ Tesla ยังสามารถผลิตรถยนต์ราคาถูกรุ่นใหม่นี้แทนเพื่อทำตลาดในวงกว้างก่อนที่ Robotaxi จะสามารถปฏิบัติการได้จริง โดยสถานที่ตั้งของโรงงานก็อยู่ที่เมือง Austin รัฐ Texas เพื่อให้วิศวกรออกแบบชาวอเมริกันสามารถทำงานอยู่ในโรงงานเคียงข้างกับฝ่ายผลิตเหมือนเช่นเคย

 

“Let that sink in” : Twitter, October 26-27, 2022

ภารกิจของ Elon Musk ในการยึดอำนาจการบริหารของ Twitter ก็ได้เริ่มต้นขึ้น 2 วันก่อนที่ดีลการซื้อกิจการจะปิดในวันที่ 28 ตุลาคม 2022 ด้วยการที่ Elon Musk เดินถือ sink ล้างจานเข้ามาในออฟฟิศเพื่อเล่นกับประโยคที่ว่า “Let that sink in” พร้อมๆกับการเดินชมออฟฟิศที่มีความแตกต่างไปจาก Tesla และ SpaceX อย่างสมบูรณ์แบบ… วัฒนธรรมการทำงานของ Twitter นั้นให้ความสำคัญกับความแตกต่างและ work-life balance ที่รวมไปถึงการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานและการเปิดให้ work from home อย่างเต็มที่ ซึ่งแตกต่างจากวิธีคิดของ Elon Musk ที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการทำงานแบบ hardcore อันหนักหน่วงเต็มข้อโดยไม่สนใจสารทุกข์สุขดิบของพนักงานมากนัก… ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 วัน Elon Musk และทีมงานก็ตัดสินใจไล่ CEO และทีมผู้บริหารระดับสูงออกหลายคน ตามด้วยการ layoff ครั้งใหญ่ในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่คิดเป็นปริมาณกว่าครึ่งของพนักงานทั่วโลกและกว่า 90% ของฝ่ายวิศวกรโปรแกรมเมอร์ที่ Elon Musk ตั้งทีมที่นำโดยลูกพี่ลูกน้องฝั่งพ่ออย่าง James Musk และ Andrew Musk ในการพิจารณาผลิตภาพและคุณภาพในการเขียนโค้ดของวิศวกรแต่ละคนเพื่อตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้อยู่รอด

 

Elon Musk ถือซิงค์บุก Twitter (source: Inc. Magazine)

 

Content Moderation : Twitter, October 27-30, 2022

แนวคิดในการปลดปล่อย free speech ของ Elon Musk นั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อนและปัญหามากกว่าที่เขาคิดตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเริ่มวางแผนการเปลี่ยนแปลงนโยบายการควบคุม content ซะอีก ตั้งแต่ในวันแรกของการปิดดีลซื้อกิจการ กองทัพผู้ใช้งานที่น่าจะเต็มไปด้วย bot ก็เริ่มต้นโพสต์ข้อความแนว hate speech จำนวนมากและต่อมา Elon Musk เองก็ดันเผลอไปให้ความเห็นกับเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายสามีของนักการเมืองฝ่ายซ้ายด้วย fake news ก่อนที่เขาจะรีบลบและขอโทษ อันเป็นเหตุให้เหล่าบริษัทผู้ลงโฆษณาออนไลน์ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายต่างเริ่มประกาศที่จะหยุดการโฆษณาใน Twitter ที่ทำให้รายได้โฆษณาหายไปกว่าครึ่งในอีก 6 เดือนต่อมาโดยที่ Twitter เองนั้นยังไม่เริ่มเปลี่ยนนโยบายการควบคุม content เลยด้วยซ้ำ… แนวคิดในการมองทุกอย่างเป็นปัญหาเชิงวิศวกรรมของ Elon Musk กำลังก่อปัญหาให้กับ Twitter ที่มีรายได้กว่า 90% จากโฆษณาที่เต็มไปด้วยอารมณ์อันเหนือหลักการและเหตุผลทางฟิสิกส์

 

Blue Checks : Twitter, November 2-10, 2022

แนวคิดในการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับ Twitter ของ Elon Musk ได้นำมาสู่ไอเดียการคิดค่า subscription fee เริ่มต้นที่ 8 ดอลลาร์ต่อเดือนให้กับผู้ใช้งานทุกคนที่อยากได้เครื่องหมายติ้กถูกสีฟ้าที่แต่เดิมมีไว้ให้กับเหล่าคนดังเพื่อแสดงว่า account ที่มีเครื่องหมายเหล่านั้นเป็นของจริง โดยการคิดเงิน 8 ดอลลาร์นั้นน่าจะช่วยลดปัญหาของ bot ลงได้และยังช่วยให้ผู้ใช้งานต้องผูกบัญชีการเงินกับ Twitter เพื่อสานฝันในการพัฒนาโมเดล X.com ในอนาคต… แต่สิ่งที่ทีมงาน Twitter เกรงกลัวที่สุดก็เกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้งานจำนวนมากปลอมตัวเป็นคนดังและแบรนด์ต่างๆหลังจากที่พวกเขาได้เครื่องหมายแล้วและทำการ tweet ข้อความหลอกลวงกันเต็ม feed อาทิ บัญชีปลอมของ Eli Lilly ประกาศว่าเขาจะเลิกคิดเงินยา insulin จนหุ้นตกไป 4%… ซึ่งท้ายที่สุด Elon Musk ก็ปิดโปรแกรมนี้ไปก่อนเพื่อพัฒนากระบวนการควบคุมให้ดีกว่านี้… อีกหนึ่งแผนการควบคุม content อย่างนโยบายการให้เสรีทางการพูดแต่ไม่ให้เสรีของยอด reach ก็ได้ถูกเปิดตัวขึ้นโดย Twitter จะไม่แบน tweet ที่สุ่มเสี่ยงแต่จะทำการถอดการมองเห็นจาก feed และห้ามการ retweet แทน

 

Hard Core : Twitter, November 10-30, 2022

การเพิ่มหนี้เพื่อซื้อกิจการ Twitter ที่ผนวกกับการลดลงของรายได้จากนักโฆษณาก็ได้ผลักให้ Twitter เข้าสู่ภาวะวิกฤติด้านการเงินที่ Elon Musk ต้องขายหุ้น Tesla มาช่วยผยุงกิจการไว้และเขาก็เริ่มแผนการปรับวัฒนธรรมการทำงานใหม่เป็นแบบ hardcore โดยเริ่มจากการคัดสรรพนักงานออกอีกรอบโดยมีเกณฑ์ 3 ข้อ ได้แก่ 1.) ความสามารถซึ่งได้รับการตรวจสอบแล้วจากการ layoff รอบแรก, 2.) ความซื่อสัตย์ต่อ Elon Musk ที่ทีมงานต้องไล่อ่าน tweet และข้อความใน Slack ของพนักงานทีละคนที่เปิดเผยในที่สาธารณะเพื่อหาคนที่ด่า Elon Musk และ 3.) ความ hardcore ในการทำงานหนักซึ่ง Elon Musk ก็ได้ส่ง e-mail ให้พนักงานกดปุ่มตกลงที่จะทำงานแบบ hardcore หรือไม่กดเพื่อลาออกและรับเงิน 3 เดือน ซึ่งก็มีพนักงานกว่า 2,492 คนคิดเป็นถึง 69% ตอบตกลง… ต่อมา Elon Musk ก็ได้สั่งให้วิศวกรที่หลงเหลืออยู่ส่งตัวอย่างโค้ดที่พวกเขาเขียนให้เขาตรวจและตัดสินใจไล่วิศวกรที่ไม่ผ่านเกณฑ์ของเขาออกไปอีกประมาณ 50 คนเพราะ Elon Musk เชื่อว่าวิศวกรที่เก่งๆจำนวนไม่เยอะมากนั้นดีกว่าการมีวิศวกรจำนวนมากเสมอและเขาต้องการให้ Twitter เป็นองค์กรที่มีวิศวกรเป็นคนนำ… ในช่วงเวลาเดียวกันผู้บริหารและทีมงานฝีมือดีก็ลาออกไปหลายคนด้วยเหตุผลที่พวกเขาไม่ click กับวิธีคิดของ Elon Musk… การลดพนักงานกว่า 75% ของ Twitter ได้สิ้นสุดลงและก่อให้เกิดกระแสว่า Twitter จะล่มสลายไปในเร็ววัน แต่สุดท้าย Twitter ที่เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรจากหน้ามือไปหลังมือและมีพนักงานเท่าที่ Elon Musk มองว่าควรจะเป็นก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า platform แห่งนี้ยังดำเนินต่อไปได้

 

The Twitter Files : Twitter, December 2022

ความพยายามอันน่าสงสัยของ Elon Musk ในการแสดงความโปร่งใสในการบริหารจัดการกระบวนการควบคุม content ของ Twitter ได้ทำให้เขาตัดสินใจเชิญนักข่าวสายธุรกิจชื่อดังสองทีมมาทำข่าวเปิดโปงกระบวนการควบคุม content ของ Twitter ในสมัยก่อนที่เขาจะซื้อกิจการจนเกิดเป็นข่าวเชิงทฤษฎีสมคบคิดมากมายที่ดูเหมือนว่าทีมงานของ Twitter นั้นมีแนวโน้มที่จะพยายามหาทางแบน tweet และบัญชีของผู้ใช้งานฝ่ายขวาจัดมากเกินไปจริงๆและการที่ Twitter ให้ความร่วมมือในการลดการมองเห็นหรือแบน content ตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่รัฐ… ซึ่งในเวลาเดียวกัน Elon Musk ก็กลับเลือกแบนบัญชีของผู้ใช้งานคนหนึ่งที่เปิดเผยเที่ยวบินของเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของเขาที่นำไปสู่การที่มี stalker คนหนึ่งตาม Grimes และ X จนเจอ ก่อนที่จะเริ่มแบนนักข่าวที่ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการแบนนี้ซึ่งถือเป็นการละเมิดหลักการที่เขาพยายามจะแก้ไขอีกครั้ง และนั่นก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของ Twitter ตกต่ำลงเรื่อยๆอันนำมาสู่รายได้โฆษณาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและยังเริ่มส่งผลกระทบต่อแบรนด์ Tesla ที่เริ่มมีคนจำนวนมากไม่พอใจในตัว Elon Musk

 

AI for Cars : Tesla, 2022-2023

ความคืบหน้าครั้งใหญ่ของระบบรถยนต์ไร้คนขับแบบสมบูรณ์ (Full Self-Driving หรือ FSD) ของ Tesla เริ่มเกิดขึ้น หลังจากที่ทีมงาน A.I. ของ Tesla ตัดสินใจทดลองระบบ neural network ที่ฝึกฝน A.I. สำหรับควบคุมรถยนต์ของ Tesla ด้วยการให้ข้อมูลวิดิโอนับล้านของคนขับรถ Tesla ให้ A.I. เรียนรู้จากมนุษย์จำนวนมหาศาลแทนการเขียนโค้ดและกฏระเบียบแบบ rule-based ที่ทั้งซับซ้อนและไม่ยืดหยุ่นเท่าพฤติกรรมการขับรถของมนุษย์ที่แท้จริง โดย Elon Musk ได้เลือกตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพของระบบนี้เป็น “ระยะทางที่คนขับไม่ต้องขับเอง” เพื่อให้ทีมวิศวกรแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อลดโอกาสในการที่คนขับต้องมาขับเองให้ได้มากที่สุด จนต่อมา ระบบ FSD รูปแบบใหม่นี้ก็ทำงานได้อย่างโดดเด่นกว่าระบบ rule-based แบบเดิมมากๆจน Elon Musk พอใจอย่างสูงสุดและช่วยสร้างให้ Tesla มีขีดความสามารถในการแข่งขันอันยอดเยี่ยมจากการที่พวกเขาสามารถใช้งานข้อมูลวิดิโอและพฤติกรรมการขับขี่ของลูกค้ารถยนต์ Tesla นับล้านๆได้ในแบบที่บริษัทอื่นไม่มี

 

AI for Humans : X.AI, 2023

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี A.I. ได้ก้าวกระโดดและสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในทันทีที่ OpenAI ได้เปิดตัว ChatGPT ที่เป็น A.I. ที่สามารถประมวลผลภาษาเพื่อตอบคำสั่งของผู้ใช้งานได้อย่างอัจฉริยะ ซึ่งส่งผลให้ความวิตกกังวลต่อผลร้ายของ A.I. ต่อมนุษยชาติของ Elon Musk พุ่งสูงขึ้นเพราะบริษัทที่เป็นผู้นำในวงการนี้ต่างถูกขับเคลื่อนโดยสิ่งที่เขามองว่าเป็นภาคธุรกิจกระหายเงิน ทั้ง OpenAI ที่เขาร่วมก่อตั้งเพื่อเป็นองค์กรแบบไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้เปิดธุรกิจใหม่เพื่อหาผลกำไรที่ทำให้มูลค่าของบริษัทพุ่งไประดับ 30 พันล้านดอลลาร์และ Alphabet เจ้าของบริษัท DeepMind ที่เปิดตัว A.I. ในลักษณะคล้ายๆกันอย่าง Bard ที่ Larry Page เคยบอกกับ Elon Musk ไว้ว่าเขาไม่มีอคติต่อสติปัญญาสปีชี่ส์อื่นๆที่ไม่ใช่มนุษย์… อันเป็นเหตุให้ Elon Musk ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทใหม่อย่าง X.AI เพื่อเป็นคู่แข่งเบอร์ 3 ในสมรภูมิรบนี้โดยวางตำแหน่งให้ X.AI มีความปลอดภัยต่อมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยมและใช้ประโยชน์จากข้อมูลอันมหาศาลของ Twitter ในการฝึกฝนโมเดล GPT ของตัวเอง ซึ่ง X.AI ยังมีสิทธิ์ได้ประโยชน์จาก A.I. ของ Tesla อย่างระบบ Full Self-Driving และหุ่นยนต์ Optimus ที่เชื่อมต่อ A.I. กับโลกกายภาพในแบบที่ล้ำหน้ากว่าที่ OpenAI และ Google จะทำได้ในตอนนี้… นอกจากนั้น ภัยอันตรายของ A.I. ยังทำให้ Elon Musk โฟกัสกลับมาที่โครงการ Starship เพื่อพามนุษย์ไปยังดาวอังคารให้ได้ก่อนที่โลกจะล่มสลาย

 

The Starship Launch : SpaceX, April 2023

การปล่อยจรวด Starship ครั้งแรกของ SpaceX ก็ได้นำพาให้ Elon Musk หวนกลับเข้าสู่สภาวะในตอนปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งแรก โดยถึงแม้ว่า Starship จะทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าด้วยเครื่องยนต์กว่า 33 ลำได้สำเร็จ แต่เครื่องยนต์มีละเครื่องก็เริ่มหยุดทำงานจากความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการปล่อยจรวดและทำให้ Elon Musk ตัดสินใจสั่งระเบิดจรวด Starship ไปในที่สุด โดยสาเหตุหลักๆของความเสียหายนั้นก็เกิดขึ้นจากความแข็งแรงของฐานปล่อยจรวดที่ไม่สามารถรับความร้อนและแรงดันจากการปล่อยจรวดได้มากพอจนพังเสียหายและทำให้ชิ้นส่วนพุ่งไปทำลายเครื่องยนต์จนพังในเวลาต่อมา ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามความเสี่ยงที่ Elon Musk มองว่ายอมรับได้และเป้าหมายในการส่ง Starship ขึ้นจากพื้นดินให้ได้นั้นก็ประสบความสำเร็จและเริ่มคิดถึงการสร้างจรวด Starship นับพันลำเพื่อให้มีปริมาณมากพอในการขนมวลมนุษย์ไปยังดาวอังคาร… ปิดท้าย ผู้เขียนได้ตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของ Elon Musk ไว้อย่างน่าสนใจว่า ความปีศาจร้ายและความมุทะลุไม่คิดน่าคิดหลังของ Elon Musk นั้นอาจไม่ใช่พฤติกรรมที่สามารถยอมรับและให้อภัยได้ในหลายๆครั้ง แต่ถ้าหาก Elon Musk ไม่มีพฤติกรรมเหล่านั้นแล้ว โลกและมนุษยชาติจะได้รับความก้าวหน้าจากชายคนนี้อยู่หรือไม่ ? ความบ้าของ Elon Musk นั้นอาจตรงกับสิ่งที่ Steve Jobs เคยกล่าวไว้ว่า “มีแต่คนบ้าที่คิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้เท่านั้น ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้จริงๆ

 

การทดสอบปล่อยจรวด Starship ของ SpaceX (source: Space.com)

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*