News Ticker

[สรุปหนังสือ] The Power of Moments : Why Certain Experiences Have Extraordinary Impact

 

 

[สรุปหนังสือ] The Power of Moments : Why Certain Experiences Have Extraordinary Impact (2017)

by Chip Heath & Dan Heath

 

“Why leave our most meaningful, memorable moments to chance when we can create them?”

 

ทำไมพวกเราถึงมักจดจำได้เฉพาะองค์ประกอบที่ดีที่สุดหรือแย่ที่สุดและช่วงเวลาตอนจบของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นได้เพียงเท่านั้น โดยหลงลืมองค์ประกอบที่เหลือไปเสียทั้งหมด ?!? แล้วทำไมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆกลับสามารถสร้างการจดจำและการเปลี่ยนแปลงของตัวพวกเราเองได้อย่างยั่งยืนยาวนาน ?!?

มนุษย์ทุกคนล้วนมี “moment” หรือ “จังหวะ” ที่น่าจดจำและมีความหมายต่อชีวิตที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ในจิตใจตราบนานแสนนานและเปลี่ยนแปลงมุมมองหรือวิธีคิดของพวกเราไปตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็น การได้มาพบเจอกับคู่ชีวิตของตัวเองเป็นครั้งแรก, การค้นพบความหลงใหลที่นำมาสู่การตั้งเป้าหมายสำคัญของชีวิต, การตระหนักว่าตัวเองต้องกระทำการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชีวิต ไปจนถึง การสูญเสียครั้งสำคัญที่พลิกชีวิตไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม โดยถึงแม้ว่า moment อันทรงพลังเหล่านั้นมักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญอย่างที่พวกเราไม่ได้คาดการณ์เอาไว้มาก่อน แต่พวกเราเองก็สามารถสร้าง moment ที่น่าจดจำและสร้างความหมายที่ดีต่อทั้งตัวเอง ครอบครัว คนรู้จัก พนักงานและลูกค้าของเราได้อย่างเป็นระบบเช่นเดียวกัน

The Power of Moments คือ หนังสือแนวเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมของสองพี่น้อง Chip Heath และ Dan Heath ที่ว่าด้วยเทคนิคการสร้าง moment ที่มีพลังอันยิ่งใหญ่และการวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไม moment เพียงสั้นๆเหล่านั้นถึงสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทรงพลังและยั่งยืนผ่านกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากมายและกรอบความคิดที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ขอเชิญทุกท่านที่ต้องการสร้างจังหวะอันน่าจดจำไม่ว่าจะในแง่มุมไหนของชีวิตอ่านสรุปหนังสือเล่มนี้กันได้เลยครับ

 


 

1 | Defining Moments

ในค่ำคืนหนึ่ง ระหว่างที่ Chris Barbic เจ้าของโรงเรียน high school สำหรับเด็กจากครอบครัวอเมริกาผู้มีรายได้ต่ำที่มีชื่อว่า YES Prep กำลังนั่งดูพิธีเซ็นต์สัญญาเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย (National Signing Day) ของบรรดานักกีฬาอเมริกันฟุตบอลตัวท็อประดับ high school ที่ฉายผ่านช่อง ESPN ทั่วประเทศ เขาก็เกิดไอเดียในการนำเอาความประทับใจของ moment ลักษณะเดียวกันมาใช้กับพิธีจบการศึกษาของนักเรียนปีสุดท้ายที่เขาให้นักเรียนที่สอบติดมหาวิทยาลัยทุกคนประกาศอย่างภาคภูมิใจให้โลกรู้กันไปเลยว่าพวกเขากำลังจะไปเรียนต่อที่ไหน โดยเขาเชื่อว่ากิจกรรม Senior Signing Day นี้จะสามารถสร้างความน่าจดจำและแรงบันดาลใจให้กับทั้งตัวของนักเรียนที่กำลังจะไปเรียนต่อเองและนักเรียนคนอื่นๆที่ได้เข้าร่วมพิธีการนี้ให้อยากเจริญรอยตาม ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นสิ่งที่น่าทึ่งเมื่อโรงเรียน YES Prep ของเขาได้มีการเติบโตของจำนวนนักเรียนที่ตัดสินใจไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทุกปีและกว่า 90% ของนักเรียนเหล่านั้นคือสมาชิกคนแรกของครอบครัวที่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย !!

ทำไมช่วงเวลาที่สั้นๆอย่างการประกาศถึงมหาวิทยาลัยที่ตัวเองจะไปศึกษาต่อนั้นถึงเป็นช่วงเวลาที่ฝังรากลึกไปในจิตใจของนักเรียนโรงเรียน YES Prep ได้มากกว่าช่วงเวลาหลายปีที่พวกเขานั่งเรียนวิชาต่างๆอย่างใจจดใจจ่อ ?!? คำตอบของคำถามข้อนี้นั้นสามารถอธิบายได้ด้วยทริปการไปเที่ยวสวนสนุก Disneyland ครั้งล่าสุดของคุณที่ผมเองก็เชื่อว่าแทบทุกคนจะต้องจดจำได้ถึงความประทับใจกับประสบการณ์อันสุดวิเศษทั้งความลุ้นระทึกระหว่างการนั่งเครื่องเล่น Space Mountain ไปจนถึงความตื่นตาตื่นใจในการรับชมพาเหรดตัวละครก่อนกลับบ้าน… แต่พวกเราทุกคนกลับลืมไปเลยว่าประสบการณ์ในวันนั้นของ Disneyland นั้นไม่ได้ดีไปเสียทั้งหมด อาทิ การต้องต่อคิวรอเครื่องเล่นยาวนานเป็นชั่วโมงท่ามกลางแดดร้อนๆ หรือ การต้องยอมจ่ายเงินราคาแพงเพื่อซื้ออาหารที่อาจจะไม่ได้คุ้มค่ากับราคาซักเท่าไหร่…

มนุษย์มักเลือกจดจำช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือแย่ที่สุด (the peak) และช่วงเวลาตอนจบ (the end) ของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมากกว่าการมานั่งคิดค่าเฉลี่ยของความประทับใจตลอดระยะเวลาของเหตุการณ์นั้นๆ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “peak-end rule” ที่มีการยืนยันจากงานวิจัยก้องโลกที่ให้ผู้ทดลองเอามือจุ่มในน้ำเย็น 14 องศาเป็นระยะเวลา 60 วินาทีอันแสนทรมานในครั้งแรกและให้ทดลองเอามือจุ่มในน้ำเย็น 14 องศาเท่าเดิมนาน 60 วินาทีเท่าเดิมแต่เพิ่มระยะเวลาอีก 30 วินาทีในอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นเล็กน้อยที่ 15 องศา โดยนักวิจัยจะถามคำถามให้ผู้ทดลองเลือกว่าพวกเขาจะยอมจุ่มมืออีกรอบในแบบเดียวกับการทดลองครั้งแรกหรือครั้งที่สอง ซึ่งผู้ทดลองกว่า 69% กลับเลือกที่จะจุ่มมือนาน 90 วินาทีที่เอาเข้าจริงแล้วพวกเขาจะต้องทรมาน 60 วินาทีแรกเหมือนกับการทดลองครั้งแรกและต้องทรมานต่ออีก 30 วินาทีเพียงเพราะช่วงเวลาสุดท้ายนั้นสร้างความทรมานที่น้อยลง

จังหวะอันแสนพิเศษของชีวิตที่ผู้เขียนเรียกว่า “defining moment” หรือ “ช่วงเวลาสั้นๆที่น่าจดจำและมีความหมาย” ที่สามารถส่งอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อความรู้สึกและวิธีคิดของผู้ที่ได้รับประสบการณ์นั้นจึงสามารถสร้างขึ้นมาได้อย่างเป็นระบบถ้าพวกเราเข้าใจถึงพฤติกรรมของมนุษย์และองค์ประกอบที่ช่วยสร้างให้เกิด moment เหล่านั้นที่มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่

  • ELEVATION : ความสามารถในการสร้างความ “พิเศษ” ที่เหนือกว่าและแตกต่างจากช่วงเวลาปกติอย่างเห็นได้ชัด
  • INSIGHT : ความสามารถในการมอบ “ความเข้าใจ” ต่อโลกและมุมมองใหม่ๆที่ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิต
  • PRIDE : ความสามารถในการเชิดชู “ช่วงเวลาที่ดีที่สุด” ของชีวิตที่ส่งผลโดยตรงต่อความภาคภูมิใจของพวกเราแต่ละคน
  • CONNECTION : ความสามารถในการสร้าง “ความสัมพันธ์” ผ่านการเชื่อมโยงและการส่งต่อ moment นั้นให้กับผู้อื่น

ดังเช่น กรณีของ YES Prep ที่ช่วยสร้าง ELEVATION ให้กับนักเรียนทุกคนด้วยพิธีการอันยิ่งใหญ่, สร้าง INSIGHT ให้กับนักเรียนคนอื่นที่ได้รับแรงบันดาลใจไปด้วยกัน, สร้าง PRIDE ให้กับนักเรียนที่สอบติดมหาวิทยาลัยและสร้าง CONNECTION ผ่านการแชร์เรื่องราวเหล่านี้ให้กับคนดูนับพันที่เป็นทั้งเพื่อนร่วมชั้น คุณครู รุ่นน้องและบรรดาผู้ปกครองทั้งหมด

 

บรรยากาศงาน Senior Signing Day ของโรงเรียน YES Prep (source: YES Prep)

 

2 | Thinking in Moments

เมื่อเราเริ่มตระหนักรู้ถึงความพิเศษของ moment ที่น่าจดจำและมีความหมายแล้ว ขั้นตอนสำคัญลำดับถัดมาก็คือการเปลี่ยนวิธีคิดจากการปล่อยโอกาสในการสร้างความรู้สึกพิเศษให้ผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดายมาเป็รการตั้งใจมองหา “โอกาส” ในการสร้าง moment อันแสนพิเศษเหล่านั้นซึ่งก็มี 3 จังหวะที่ถือเป็นโอกาสทองที่ไม่ควรปล่อยผ่านไป ได้แก่

  • Transitions : ช่วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” จากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่ง อาทิ การเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่เมื่ออายุครบ 18 ปี การเริ่มต้นงานใหม่ในที่ทำงานใหม่ การได้รับโปรโมตขึ้นเป็นผู้จัดการ ไปจนถึง การแต่งงาน ล้วนเป็นโอกาสในการสร้าง moment อันน่าจดจำที่ไม่ควรละเลย โดยหนึ่งในโอกาสที่สูญเปล่าอยู่บ่อยๆก็คือการสร้าง first impression ในการเริ่มงานวันแรกของพนักงานด้วยการมอบประสบการณ์ที่ดีมากๆนั้นช่างน่าเสียดายที่องค์กรส่วนใหญ่ไม่ได้ทำ
  • Milestones : การเดินทางมาถึง “หลักไมล์” สำคัญ อาทิ การอายุครบ 30 ปี การเกษียณอายุการทำงาน หรือ การสร้างยอดขายครบ 1 ล้านบาท ล้วนถือเป็นโอกาสที่ดีมากในการสร้าง moment ที่เฉลิมฉลองเหตุการณ์เหล่านั้น อาทิ การที่ application วัดจำนวนการออกกำลังกายแจ้งความยินดีให้กับผู้ใช้งานว่าพวกเขาได้วิ่งเป็นระยะทางครบ 1,000 กิโลเมตรและกระตุ้นให้ผู้ใช้งานเหล่านั้นสู้ต่อไป
  • Pits : การเปลี่ยน “ช่วงเวลาที่เลวร้าย” ด้วยการสร้าง moment ที่สร้างความรู้สึกเชิงบวกมาทดแทนที่ อาทิ การตั้งใจให้บริการหลังการขายอย่างรวดเร็วแก่ลูกค้าที่พบเจอปัญหาเพื่อเปลี่ยนจังหวะที่ลูกค้าไม่พอใจให้กลายมาเป็นชื่นชอบกับการบริการที่เหนือความคาดหมาย หรือ การที่องค์กรให้ความช่วยเหลือพนักงานอย่างเต็มที่เวลาที่พวกเขาประสบกับความสูญเสียครั้งสำคัญในชีวิต โดยหนึ่งในกรณีศึกษาที่ผู้เขียนทั้งสองคนยกมาเสนอก็คือทีมนักออกแบบเครื่องสแกน MRI ของเด็กที่หน้าตาน่าเกรงขามที่เด็กจำนวนมากหวาดกลัวด้วยการมอบประสบการณ์เสมือนสวนสนุกให้กับเด็กๆ เช่น การทำทางเดินเป็นขอนไม้ให้เด็กกระโดดข้ามไปข้ามมาโดยมีเครื่อง MRI ที่ตกแต่งเป็นเรือโจรสลัดอยู่ตรงปลายทางโดยคุณหมอจะอธิบายให้เด็กเข้าไปนอนนิ่งๆเพื่อป้องกันไม่ให้ตกเรือขณะที่เครื่องเริ่มทำการสแกน ซึ่งวิธีการนี้ได้เปลี่ยนให้ประสบการณ์เลวร้ายของการตรวจ MRI ที่เด็กกว่า 80% ต้องฉีดยากล่อมประสาทเพื่อระงับความกลัวให้เหลือเพียง 27% เท่านั้น

โดยแน่นอนว่า โอกาสในการสร้าง moment ที่ยอดเยี่ยมนั้นสามารถเกิดขึ่นได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่จำเป็นต้องรอจังหวะทองจากที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่โอกาสทั้ง 3 จังหวะนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรปล่อยให้หลุดลอยไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ

 

ตัวอย่างเครื่อง MRI ธีมโจรสลัดที่ช่วยให้เด็กไม่กลัว (source: Interior Design Ideas)

 


 

Moments of ELEVATION

 

3 | Build Peaks

แนวทางลำดับแรกในการสร้าง moment อันน่าจดจำที่มีความพิเศษเหนือจากช่วงเวลาปกตินั้นก็คือการสร้าง “peak” หรือ “จุดสูงสุด” ที่มีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 2 ใน 3 อย่างจากแนวทางด้านล่างนี้ ได้แก่

  • Boost sensory appeal : การขยายความยิ่งใหญ่ขององค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัส ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส ให้มากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมอย่างพิเศษ
  • Raise the stakes : การเพิ่มเดิมพัน อาทิ เวลาที่จำกัด การแข่งขัน หรือ การเปิดสู่สายตาสาธารณชน ที่ช่วยให้ moment เหล่านั้นมีความกดดันและสร้างอารมณ์ร่วมมากยิ่งขึ้น
  • Break the script (อ่านต่อในบทถัดไป)

การสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจมักเกิดจากการออกแบบประสบการณ์ที่ “mostly forgettable, occasionally remarkable” ที่ช่วงเวลาส่วนใหญ่นั้นไม่จำเป็นต้องมีอะไรที่ดีเลิศเป็นพิเศษแต่ขอแค่มีช่วงเวลาบางส่วนที่ยอดเยี่ยมจนลืมไม่ลง โดยหลักการของการสร้าง peak นั้นมักต้องเริ่มต้นจากการถม pit หรือ “จุดต่ำสุด” ให้ราบเรียบไปเสียก่อนเพื่อไม่ให้ประสบการณ์ที่ไม่ดีไปทำลายจังหวะจุดสูงสุดในเวลาถัดมาซะก่อนและการสร้าง peak ให้สำเร็จนั้นต้องอาศัยความตั้งใจในการออกแบบประสบการณ์ ณ moment นั้นๆให้เหนือกว่าคำว่าแค่ “สมเหตุสมผลแล้ว” เป็นอย่างมากๆ อาทิ โรงเรียน Hillsdale High School ที่จัดกิจกรรมสุดบรรเจิดระหว่างวิชาประวัติศาสตร์กับวิชาอังกฤษด้วยการให้เด็กนักเรียนเตรียมการแสดงการไต่สวนคดีในชั้นศาลที่นักเรียนสามารถจำลองบุคคลดังในประวัติศาสตร์มาเป็นพยานในการไต่สวนคดีทีว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่มีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงตามนิยายเรื่อง Lord of the Flies ซึ่งก็สร้างความจดจำและความประทับใจให้กับนักเรียนทุกคนเป็นอย่างมาก หรือ กรณีของโรงแรม The Magic Castle ที่ไม่ได้มีห้องที่สวยหรูอะไรแต่กลับมีการใส่บริการน่าประทับใจราวกับเวทย์มนต์ให้กับผู้เข้าพักอาศัยอยู่เป็นระยะๆ เช่น บริการโทรเรียกไอศกรีมอมยิ้มมาทานริมสระน้ำ ที่สามารถสร้าง peak ในช่วงเวลาที่ราบเรียบได้เป็นระยะๆจนกลายมาเป็นโรงแรมอันดับต้นๆของ LA

นอกจากนั้น งานวิจัยของผู้เขียนยังค้นพบว่าธุรกิจที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ peak ได้แบบสุดๆให้กับลูกค้ากลุ่มที่รู้สีกเฉยๆกับประสบการณ์ของธุรกิจนั้นมีค่ามากกว่าการพยายามเปลี่ยนให้ลูกค้ากลุ่มที่ไม่พอใจประสบการณ์ของธุรกิจให้รู้สึกเฉยๆถึง 9 เท่า !!

 

บริการโทรเรียกไอศกรีมอมยิ้มมาเสิร์ฟริมสระน้ำ (source: The Magic Castle)

 

4 | Break the Script

หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวการบริการสุดประทับใจที่ “เหนือความคาดหมาย” ของโรงแรม Ritz-Carlton ที่เกาะ Amelia Island เมื่อเด็กชายคนหนึ่งลืมตุ๊กตาน้องยีราฟสุดรักชื่อ Joshie ไว้ในโรงแรมและร้องไห้ไม่ยอมนอน จนคุณพ่อของเขาต้องยอมโกหกว่าเจ้า Joshie นั้นขอเที่ยวต่ออีกพักหนึ่งและขอร้องให้โรงแรมส่งเจ้า Joshie กลับมาพร้อมกับรูปถ่ายของมันซักหนึ่งรูปที่แสดงให้เห็นว่า Joshie นั้นไปพักร้อนตากอากาศมาจริงๆ แต่สิ่งที่ครอบครัวของเด็กชายได้รับในอีก 3 วันถัดมาก็คือเจ้า Joshie และอัลบั้มรูปที่พนักงานของ Ritz-Carlton พามันไปตระเวนเที่ยวในจุดต่างๆของโรงแรม อาทิ พาไปสปาและพาไปเล่นกับนกแก้วประจำโรงแรม !! ซึ่งตัวของคุณพ่อก็เอามาเขียนลงบล็อกของตัวเองและเรื่องราวสุดน่ารักนี้ก็กลายเป็น viral อย่างรวดเร็ว

การสร้าง moment ที่สร้างความประทับใจเหนือจากภาวะแบบปกติอย่างมหาศาลต้องสามารถทำลายมาตรฐานความคาดหวังที่ผู้คนทั่วไปคิดว่าจะได้รับด้วยการ “break the script” หรือ “การฉีกบท” ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมเหนือความคาดหมายทั้งในจังหวะช่วงเวลาพิเศษ เช่น กรณีของ YES Prep ที่เพิ่มความพิเศษให้กับวันจบการศึกษา และในจังหวะธรรมดาที่ก็สามารถใส่ moment ที่น่าจดจำได้ เช่น กรณีของ Hillsdale High School ที่ทำให้วิชาภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์น่าจดจำขึ้นด้วยโครงการจำลองการไต่สวนในชั้นศาล หรือ กรณีของ Southwest Airlines ที่เปิดโอกาสให้พนักงานเล่นตลกระหว่างการสาธิตด้านความปลอดภัยอันแสนน่าเบื่อ เช่น “ถ้าผู้โดยสารมีโอกาสได้ใช้เสื้อชูชีพจริงๆ ทางสายการบินขอมอบเสื้อชูชีพนั้นกลับบ้านได้เลยค่ะ” [ซึ่งผลวิจัยก็พบว่าผู้โดยสารประจำในไฟลต์ที่มีการเล่นตลกนั้นซื้อตั๋วบินเพิ่มขึ้นถึง 50% !!]

โดยแนวคิดการ break the script นี้ยังมีโอกาสนำไปใช้ในทางธุรกิจอีกมากมาย อาทิ Pret A Manger ที่มอบงบประมาณจำนวนหนึ่งให้พนักงานแต่ละคนสามารถใช้มอบสินค้าแถมให้กับลูกค้าที่พวกเขาอยากให้ ซึ่งวิธีการให้อำนาจให้กับพนักงานในการสร้าง moment พิเศษแก่ลูกค้านี้ยังช่วยให้พนักงานเองรู้สึกพิเศษไปด้วย [แต่แน่นอนว่าการให้อะไรพิเศษแก่ลูกค้านั้นต้องไม่ทำบ่อยจนลูกค้าคิดว่ากลายเป็นเรื่องปกติและจะโมโหกลับถ้าเกิดความพิเศษเหล่านั้นถูกยกเลิก] หรือ กรณีของบริษัท VF Corporation บริษัท holding เจ้าของแบรนด์ outdoor fashion อย่าง Timberland และ North Face ที่เลือกเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริหารระดับสูงด้วยการเปลี่ยนการประชุมประจำปีเป็นการพาผู้บริหารไปทำกิจกรรมต่างๆเพื่อเปิดโลกและเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น อาทิ ถ่ายแบบ, ฝึกเล่นเสิร์ฟและวาดภาพกราฟิติริมตึก

 

Joshie กับอัลบั้มวันพักร้อนในโรงแรม Ritz-Carlton (source: medium)

 


 

Moments of INSIGHT

 

5 | Trip Over the Truth

หนึ่งในปัญหาทางสาธารณสุขที่ร้ายแรงที่สุดในโลกก็คือ “การจัดการอุจจาระ” ที่เป็นที่มาของโลกติดต่อและพยาธิมากมายในชุมชนยากจนในประเทศกำลังพัฒนา โดยถึงแม้ว่าวิธีการแก้ปัญหานั้นทำได้อย่างง่ายดายด้วยการติดตั้งส้วมหลุมสาธารณะเพื่อให้ผู้คนที่อุจจาระในพื้นที่ต่างๆนอกบ้านหันมาอุจจาระในพื้นที่เดียวกันที่มีระบบจัดการที่ดีกว่าเดิม แต่ปัญหาก็คือว่าถึงแม้หมู่บ้านต่างๆจะมีส้วมสาธารณะ แต่คนส่วนใหญ่กลับยังไม่ยอมปรับพฤติกรรมของตัวเองและยังอุจจาระเรี่ยราดกันอยู่ดี จนกระทั่ง การมาถึงของโครงการ Community-Led Total Sanitation (CLTS) ที่เริ่มต้นจากการส่งเจ้าหน้าที่ของโครงการไปยังหมู่บ้านต่างๆเพื่อพาชาวบ้านไปเดินชมพื้นที่อุจจาระของผู้คนในหมู่บ้านและเริ่มตั้งคำถามที่ความสะอาด อาทิ การให้ผู้คนระบายสีพื้นที่อุจจาระรายรอบเมืองที่มักแสดงให้ทุกคนเห็นว่าอุจจาระมีอยู่ทั่วทุกมุม หรือ การเอาเส้นผมไปปาดอุจจาระที่กองอยู่กับพื้นแล้วเอาไปจุ่มน้ำเพื่อท้าให้ชาวบ้านดื่ม ก่อนที่จะถามชาวบ้านว่าคุณเห็นแมลงวันตอมอุจจาระไหม ?!? แล้วคุณเคยเห็นแมลงวันตอมกับข้าวคุณอยู่หรือเปล่า ?!? ดังนั้น คุณก็กำลังกินอุจจาระของคนในหมู่บ้านคุณอยู่ !! เมื่อกระบวนการตั้งคำถามจบลง ชาวบ้านจำนวนมากก็เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองทันทีจากการยอมรับความจริงที่ว่าพฤติกรรมแบบเดิมๆของพวกเขานั้นมันแย่มากจริงๆ

อีกกรณีหนึ่ง ทีมงานบริการ cloud computing ชื่อ Azure ของ Microsoft ในปี 2011 นั้นค้นพบว่าปัญหาใหญ่ที่ทำให้บริการ Azure นั้นเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควรนั้นเป็นเพราะความยากของการใช้งาน ซึ่งปัญหานี้ยังไม่ถูกให้ความสำคัญที่มากพอในมุมมองของผู้จัดการระดับสูงส่วนใหญ่ จนท้ายที่สุด ทีมงานดังกล่าวจึงตัดสินใจจัดกิจกรรมให้ผู้บริหารระดับสูงทดลองพัฒนาโปรแกรมง่ายๆผ่าน Azure ที่เป็นไปอย่างยากลำบากมากเพราะผู้บริหารส่วนใหญ่นั้นแทบจะใช้งานไม่ได้เลย จนทุกคนยอมรับว่า Azure นั้นมีปัญหาเรื่องความยากของการใช้งานจริงๆและเร่งพัฒนาโปรแกรมให้ง่ายขึ้นในทันที

การสร้าง moment ที่เป็นที่น่าจดจำและมีความหมายอีกวิธีหนึ่งก็คือการชี้ให้เห็นถึง insight หรือ “ความจริงที่มีค่า” ที่ทำให้ผู้รับรู้ตระหนักถึงอะไรบางอย่างและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองในทันที โดยหนึ่งในแนวทางในการสร้าง moment ที่ได้ผลก็คือการออกแบบประสบการณ์ที่ทำให้เป้าหมาย “สะดุดความจริง” ด้วยตัวเองเหมือนกรณีตัวอย่าง 2 ข้อด้านบน ซึ่งการออกแบบ moment แบบ trip over the truth นั้นต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  • Clear insight : การมีข้อมูลความจริงที่ชัดเจนและมีความหมายต่อผู้รับจริงๆ
  • Compressed in time : ช่วงเวลาที่ค่อนข้างสั้นเพื่อสร้างการน่าจดจำ
  • Discovered by the audience itself : การออกแบบให้เป้าหมายเข้าใจถึงความจริงด้วยตัวเองโดยไม่บังคับหรือบอกแบบตรงๆเพราะมนุษย์มักเกลียดการถูกสั่งและการคิดได้ด้วยตัวเองนั้นสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืนที่สุด

 

ตัวอย่างการสร้างแผนที่จุดถ่ายอุจจาระในโครงการ Community-Led Total Sanitation (source: flickr)

 

6 | Stretch for Insight

นอกจากการสร้างโอกาสให้เกิดการสะดุดเข้ากับความจริงแล้ว พวกเราทุกคนเองก็สามารถประสบกับ moment ที่สร้างการตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเราได้อย่างจงใจด้วยตัวเองด้วยการ “stretch for insight” หรือ “การพยายามอย่างเต็มที่” ในการค้นพบความต้องการและความสามารถของตัวเองด้วยการนำตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายและมีความเสี่ยงในการล้มเหลวแต่ก็เต็มไปด้วยโอกาสที่จะได้เรียนรู้ อาทิ ถ้าหากคุณกำลังลังเลว่าตัวเองอยากลาออกจากงานเพื่อเปิดร้านขายเบเกอรี่หรือเปล่า วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการยอม stretch ด้วยการลงทุนเวลาว่างไปทดลองเปิดร้านเบเกอรี่เล็กๆดูเลยว่าจริงๆแล้วคุณชอบการอบขนมทุกๆวันจริงๆหรือไม่และชอบการบริหารจัดการร้านเบเกอรี่หรือเปล่า โดยไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอย่างไร ช่วงเวลาในการลงมือทดลองจนค้นพบทางเดินในชีวิตของคุณนั้นก็จะมีความหมายและถูกจารึกในความทรงจำไปอีกนาน หรือ อีกกรณีหนึ่งคือการที่คุณอยากรู้ว่าการเติบโตในสายงานปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่คุณต้องการหรือไม่ วิธีการง่ายๆที่คุณควรทำก็คือการศึกษาดูว่าหัวหน้าของคุณนั้นมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้างและคุณชื่นชอบงานในลักษณะนั้นหรือไม่ การสอบถามตัวเองอยู่เป็นระยะๆว่าถ้าหากเรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่นาน เราอยากจะทำอะไรก็ช่วยสร้างให้คุณเข้าใจแรงผลักดันและความต้องการของตัวเองมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการสร้าง moment ในการค้นพบ insight ผ่านการ stretch นี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพนักงานภายในองค์กรผ่านระบบ mentorship ที่ mentor สามารถ stretch ด้วยการตั้งมาตรฐานที่สูงขึ้นให้กับ mentee ในการทำงานหรือการมอบโครงการใหม่ๆที่ท้าทายความสามารถของพวกเขามากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการให้แนวทางที่ชัดเจนและการรับรองในการช่วยเหลือสนับสนุนหากพวกเขาล้มเหลวจากความท้าทายที่อาจสูงกว่าปกติมากเกินไป ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานที่สูงเพื่อให้ mentee เหล่านั้นลงทุนตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่นั้น หากสัมฤทธิ์ผลจริงๆ คุณก็จะได้พนักงานอีกหนึ่งคนที่ค้นพบ insight ว่าตัวเองก็สามารถทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้สำเร็จและมีแรงจูงใจในการทำงานที่มากขึ้น

 


 

Moments of PRIDE

 

7 | Recognize Others

ความรู้สึก “ภาคภูมิใจ” คือหนึ่งในความรู้สึกที่มนุษย์แทบทุกคนจดจำอยู่ในความทรงจำของพวกเราไปอย่างยาวนาน โดยถึงแม้ว่าความภาคภูมิใจมักเกิดขึ้นจากความสำเร็จของการลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างตั้งใจด้วยตัวเอง แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว หนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขับดันให้ความภาคภูมิใจนั้นกลายมาเป็น moment ที่น่าจดจำและมีความหมายต่อชีวิตของพวกเราไปอีกนานเท่านานนั้นก็คือการได้รับ “คำชื่นชม” จากผู้อื่น

ดังนั้น การสร้าง moment ให้ผู้อื่นได้ภาคภูมิใจในจังหวะแห่งความสำเร็จของพวกเขานั้นจึงสามารถทำได้อย่างง่ายดายด้วยการ “ให้คำชื่นชม” ที่มีความหมายต่อบุคคลนั้นๆและสิ่งที่พวกเขาทำอย่างแท้จริง [โดยไม่ใช่คำชื่นชมที่ให้อย่างเกลื่อนกลาดไร้ซึ่งความสำคัญหรือเจตจำนงที่ตั้งใจ] เช่น “ผมเห็นสิ่งที่คุณทำและผมประทับใจมาก” ซึ่งการเสียเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีของพวกคุณในการกล่าวชมการกระทำที่ดีของคนอื่นนั้นสามารถสร้างความสุขได้อย่างมหาศาลและสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดบางส่วนของพวกเขาได้จริงๆ อาทิ คุณครูที่กล่าวชื่นชมนักเรียนคนหนึ่งที่กล้าออกมาร้องเพลงหน้าห้องเรียนเป็นครั้งแรกที่ช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็กคนนั้นได้ภายในชั่วพริบตา หรือ การที่นักเรียนที่ได้รับของบริจาคเขียนการ์ดแสดงความขอบคุณส่งกลับไปยังผู้บริจาคจนทำให้พวกเขาเห็นภาพถึงความสำคัญของเงินเพียงไม่เท่าไหร่ของเขาและบริจาคเงินเพิ่มมากขึ้น

 

8 | Multiply Milestones

คนรักการเล่นเกมส์ทุกคนน่าจะเคยได้รับความรู้สึก “ภาคภูมิใจ” ในความสำเร็จเล็กๆระหว่างทาง (milestone) ไม่ว่าจะเป็นการ “ผ่านด่าน” สุดหินของเกมส์อย่าง Super Mario Bros. และ Angry Bird หรือ การ “เลเวลอัพ” จากการฝึกฝนต่อสู้กับศัตรูตัวเล็กๆจนเริ่มสู้กับศัตรูที่เก่งกาจได้ในเกมส์อย่าง Ragnarok หรือ RoV โดยแน่นอนว่าความสำเร็จเล็กๆเหล่านั้นเป็นเพียงแค่ความสำเร็จระหว่างทางที่มุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จขั้นสูงสุด อาทิ การเคลียร์ด่านทั้งหมด หรือ ชัยชนะของทีม แต่ความสำเร็จเหล่านั้นก็ช่วยสร้างพลังให้ผู้เล่นมุ่งหน้าต่อไปได้เรื่อยๆและยังสนุกไปกับเรื่องราวระหว่างทางได้อีก

ตัดกลับมาที่ชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน มนุษย์ส่วนใหญ่มักเลือกที่จะตั้งเป้าหมายที่ใหญ่และท้าทายเพียงหนึ่งเดียว อาทิ จะลดน้ำหนักลงอีก 10 กิโลกรัม หรือ จะต้องพูดภาษาอังกฤษให้คล่องแคล่วให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์บางส่วนนั้นก็มีความสามารถในการทำเป้าหมายเหล่านั้นให้สำเร็จ แต่จะดีกว่าไหมถ้าพวกเราทุกคนใช้วิธีการเหมือนเกม (gamification) ด้วยการ multiply milestones หรือ “การเพิ่มเป้าหมายระหว่างทาง” ที่ช่วยเพิ่ม moment ที่ให้ทั้งความสนุกและแรงใจหากเป้าหมายเหล่านั้นทำได้สำเร็จ อาทิ แทนที่การตั้งเป้าหมายว่าจะต้องพูดภาษาอังกฤษให้คล่องแคล่วให้ได้ จะดีกว่าไหมที่เราจะเลือกตั้งเป้าหมายเป็นระดับชั้นเหมือนกับเกมส์ Ragnarok อาทิ ระดับ 1 ต้องสามารถสั่งอาหารเป็นภาษาอังกฤษได้, ระดับ 2 ต้องพูดทักทายชาวต่างชาติได้แบบง่ายๆ, ระดับ 3 ต้องดูการ์ตูนเด็กภาษาอังกฤษแบบรู้เรื่อง…

ซึ่งแนวทางการสร้าง moment แห่งความภาคภูมิใจระหว่างทางลักษณะนี้ก็ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย อาทิ นาฬิกาอัจฉริยะของ Fitbit ที่ตรวจจับการออกกำลังกายของผู้ใช้งานและมอบ badge ต่างๆให้กับผู้ใช้งานเมื่อพวกเขาทำภารกิจต่างๆสำเร็จ เช่น 747 เมื่อผู้ใช้งานเดินขึ้นบันไดรวมกันกว่า 4,000 ชั้นเทียบเท่าความสูงของเครื่องบิน 747 ระหว่างบิน หรือ Great Wall เมื่อผู้ใช้งานเดินหรือวิ่งครบระยะทาง 8,851 ไมล์เทียบเท่ากับความยาวของกำแพงเมืองจีน

นอกจากนั้น อีกหนึ่งแนวทางในการสร้าง moment แห่งความสำเร็จระหว่างทางที่ได้ผลจริงๆก็คือการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่อาจไม่เคยถูกสังเกตเห็นระหว่างจุดเริ่มต้นจนถึงจุดปัจจุบัน อาทิ โค้ชที่อัดวิดิโอของนักกีฬาแต่ละคนในช่วงเริ่มต้นมาเปรียบเทียบกับความสามารถในปัจจุบันเพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นถึงพัฒนาการที่อาจถูกมองข้ามไปที่ค่อยๆพัฒนาขึ้นทีละนิดๆในแต่ละวัน

 

ตัวอย่าง badge ใน Fitbit (source: developgoodhabits)

 

9 | Practice Courage

เหตุการณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ในกระบวนการสร้างความเท่าเทียมกันทางสีผิวในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาได้เกิดขึ้นในปี 1960 เมื่อกลุ่มนักศึกษาชาวแอฟริกันอเมริกันที่นำโดย John Lewis ได้แสดงความกล้าหาญด้วยการเดินเข้าไปนั่งในที่นั่งรับประทานอาหารสำหรับคนผิวขาวเท่านั้น จนนำมาสู่การแสดงความกล้าหาญในลักษณะเดียวกันหลายรอบถัดมาที่มีผู้ร่วมขบวนการมากขึ้นเรื่อยๆและนำไปสู่การประท้วงที่เปลี่ยนแปลงกฎการแบ่งแยกทางสีผิวได้สำเร็จ โดยถึงแม้ว่าเหตุการณ์อันเป็น moment ที่แสนยิ่งใหญ่นี้จะดูเหมือนเกิดขึ้นจากกลุ่มนักรณรงค์ที่มีความกล้าหาญโดยกำเนิด แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว นักศึกษาเหล่านี้นั้นได้ผ่านการฝึก roleplay จำลองการนั่งในพื้นที่ชาวผิวขาวอย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมใจรับมือกับความโหดร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นจนพวกเขามีความมั่นใจและพร้อมเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ต้องอาศัยความกล้าหาญเหล่านั้น

หนึ่งใน moment อันน่าจดจำของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นจากความภาคภูมิใจในการแสดงความกล้าหาญในการกระทำอะไรบางอย่างที่มีคุณค่า อาทิ การยืนหยัดเพื่อปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า หรือ การตัดสินใจออกมาเปิดโปงความจริงอันชั่วร้าย โดยถึงแม้ว่าการกระทำความกล้าหาญนั้นมักไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อยู่บ่อยครั้ง แต่แนวทางในการเพิ่มโอกาสให้พวกเราทุกคนมีความกล้ามากขึ้นเมื่อโอกาสมาถึงก็คือการ “ฝึกฝน” การแสดงความกล้าหาญ ไม่ว่าจะเป็นการจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและการฝึกวิธีการตอบสนองต่อฉากทัศน์ต่างๆ ซึ่งวิธีการฝึกฝนอย่างเข้มข้นและมีกระบวนการอย่างชัดเจนนั้นช่วยขับดันให้ผู้คึนที่ประกอบอาชีพที่เต็มไปด้วยอันตราย อาทิ นักดับเพลิง หรือ ทหารกู้ระเบิด สามารถแสดงความกล้าหาญในการทำภารกิจที่อันตรายถึงชีวิตได้

ปิดท้าย การแสดงความกล้าหาญของใครคนหนึ่งยังสามารถส่งต่อความกล้าในการแสดงความกล้าหาญให้กับคนอื่นในวงกว้างได้อีกด้วย

 

ภาพบรรยากาศการ Sit In ของ Jorn Lewis ใน Nashville ปี 1960 (source: tennessean)

 


 

Moments of CONNECTION

 

10 | Create Shared Meaning

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้ moment ต่างๆนั้นน่าจดจำและมีความหมายมากยิ่งขึ้นนั้นก็คือ “ความรู้สึกร่วม” ที่เกิดขึ้นจากการได้ “แบ่งปัน” ช่วงเวลาเหล่านั้นร่วมกับผู้อื่น ดังนั้น แนวทางในการสร้าง moment ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลอย่างมหาศาลให้กับผู้คนจำนวนมากได้อย่างพร้อมๆกันได้นั้นจึงต้องเริ่มจากการ create shared meaning หรือ การสร้าง “เจตจำนงร่วมกัน” ระหว่างผู้คนในสังคมใดสังคมหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเล็งเห็นและแบ่งปันความหมายของชีวิตหรือการทำงานร่วมกัน

โดยการสร้าง shared meaning ที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

  • Create a synchronized moment : การรวมตัวกันของผู้คนในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเพื่อแสดงพลังว่าพวกเขาแต่ละคนนั้นไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวและมีผู้ที่มีแนวร่วมเดียวกันอยู่อีกจำนวนมาก
  • Invite shared struggle : การสร้างประสบการณ์ที่ท้าทายที่ทำให้พวกเขาต้องรวมพลังกันต่อสู้กับอุปสรรค
  • Connect to greater meaning : การชี้ให้เห็นถึง “เป้าประสงค์ (purpose)” อันยิ่งใหญ่ของสิ่งที่พวกเขาทำร่วมกันที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับโลกและสังคมในวงกว้าง

ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงควรเร่งสร้างความรู้สึกร่วมของพนักงานและการตระหนักรู้ถึงเป้าประสงค์อันยิ่งใหญ่ของบริษัทผ่านการออกแบบ moment อันน่าประทับใจ อาทิ Sharp HealthCare ที่เชิญพนักงานที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านสาธารณสุขทุกคนมาร่วมงานประจำปีทุกปีเพื่อตอกย้ำในความสำคัญในการมอบการบริการที่ดีที่สุดและสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันของบุคลากรที่ต่างก็คอยทำหน้าที่ดูแลคนไข้ให้มีความสุขที่สุดในแต่ละวัน อีกหนึ่งเรื่องราวที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินมาก่อนที่ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จก็คือการที่ภารโรงของ NASA บอกกับประธานธิบดี John F. Kennedy ว่าเขากำลังช่วยส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์

 

11 | Deepen Ties

โรงเรียน Stanton Elementary School ในปี 2010 นั้นถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เลวร้ายที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมแย่ๆของนักเรียนและความไม่เชื่อใจกันระหว่างคุณครูกับผู้ปกครอง เมื่อครูใหญ่คนใหม่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโรงเรียนที่กำลังจะพังทลายแห่งนี้ เขาได้ทำการเปลี่ยนโฉมโรงเรียนทั้งตัวอาคารให้ทันสมัยขึ้นและไล่คุณครูเก่าๆออกไปเกือบทั้งหมด แต่ปัญหาด้านพฤติกรรมของนักเรียนนั้นกลับเลวร้ายยิ่งขึ้น จนกระทั่งเขาได้มารู้ถึงเทคนิคที่ใช้ได้ผลอย่าง home visit หรือ การเชิญคุณครูไปพบกับผู้ปกครองของนักเรียนที่ต่างก็ไม่เชื่อใจกันและกันเพื่อพูดคุยอย่างเปิดอกเลยว่า… ประสบการณ์ในโรงเรียนของลูกคุณเป็นอย่างไร ?!? ความฝันของพ่อแม่ที่มีต่อลูกคืออะไร ?!? และผู้ปกครองต้องการให้คุณครูช่วยอะไรบ้าง ?!? ซึ่งการใช้เวลาเพียงแค่ประมาณ 1 ชั่วโมงนี้กลับสร้างพลังอันยิ่งใหญ่เมื่อผู้ปกครองและคุณครูได้เข้าใจซึ่งกันและกันและมองเห็นเป้าหมายร่วมอันเดียวกัน จนทำให้อัตราความร่วมมือของผู้ปกครองในโรงเรียนสูงขึ้นมาก เช่น การประชุมผู้ปกครองที่มีคนมามากกว่าเดิมถึง 4 เท่า !! และพฤติกรรมของนักเรียนก็ดีขึ้นอย่างฉับพลัน

คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อว่า “ความสัมพันธ์” ระหว่างคนสองคนมักต้องอาศัย “เวลา” ในการหล่อหลอมให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว ช่วงเวลาระยะสั้นที่สร้าง moment อันน่าจดจำและมีความหมายนั้นสามารถเพิ่มระดับความสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว ตรงกันข้าม คนที่รู้จักกันอย่างยาวนานแต่กลับไม่ได้แชร์ช่วงเวลาที่น่าจดจำและมีความหมายระหว่างกันเลยนั้นกลับไม่สามารถยกระดับความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นได้ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ก็คือ responsiveness หรือ “การตอบสนอง” ซึ่งกันและกันที่ต้องมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่

  • Understanding : การแสดงความ “เข้าใจ” ถึงเหตุและผลในวิธีคิดและพฤติกรรมของกันและกัน
  • Validation : การแสดงการ “ยอมรับ” ในตัวตน ทัศนคติและแรงจูงใจที่จริงแท้ของกันและกัน
  • Caring : การแสดงความรู้สึก “เป็นห่วงเป็นใย” ซึ่งกันและกันอย่างจริงใจและสัมผัสได้

เมื่อผนวกองค์ประกอบทั้ง 3 เข้ากับ openness หรือ “การยอมเปิดเผย” ถึงความรู้สึกและตัวตนในด้านที่เปราะบางหรือไม่มีคนรู้ก็จะยิ่งช่วยสร้าง moment ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถพูดคุยกันอย่างเปิดอกและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นได้ โดยผู้เขียนได้ยกตัวอย่างคำถาม 36 ข้อของ Art Aron นักจิตวิทยาสังคมที่ออกแบบชุดคำถามที่ไต่ระดับจากการเริ่มรู้จักกันจนถึงคำถามที่ลึกซึ้งที่ช่วยให้คนสองคนที่ถามตอบคำถามเหล่านั้นสลับกันไปมาได้เปิดเผยเรื่องราวของตัวเองและแรงผลักดันภายในตัวให้อีกฝ่ายรับรู้ เข้าใจและยอมรับจนสามารถยกระดับความสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงแค่ 45 นาที

 

คำถาม 36 ข้อของ Art Aron (source: pinterest)

 


 

12 | Making Moments Matter

การสำรวจ moment สุดประทับใจในชีวิตของผู้คนในวัยกลางคนหรือวัยชราล้วนชี้เป้าไปในช่วงเวลาวัยรุ่นหรือวัยเริ่มต้นการทำงานแทบจะทั้งสิ้น อาทิ การตกหลุมรักครั้งแรก การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ การเริ่มงานครั้งแรก การทำงานชิ้นโบว์แดงได้สำเร็จ การแต่งงานและการมีลูกคนแรก โดยแน่นอนว่า moment เหล่านี้นล้วนเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิตของผู้คนแต่ละคน แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ส่วนใหญ่มักเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างราบเรียบและทำหน้าที่หลักๆเพียงแค่การอุดรอยรั่วของ moment แย่ๆแต่พลาดโอกาสในการได้พบกับ moment ที่ตราตรึงใจและส่งอิทธิพลต่อพวกเขาในช่วงเวลาอื่นๆไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น ถ้าหากผมอยากจะฝาก key takeaway หนึ่งข้อจากการอ่านสรุปหนังสือเล่มนี้ มันคงหนีไม่พ้น moment of insight ของทุกคนที่น่าจะตระหนักรู้กันแล้วว่า “พวกเราควรให้ความสำคัญกับการสร้าง moment ที่มีค่าต่อทั้งตัวเองและผู้อื่นให้มากยิ่งขึ้น” เพราะการสร้าง moment ที่ยอดเยี่ยมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและผลลัพธ์ที่ตามมานั้นยิ่งใหญ่กว่าที่คิดมากจริงๆ ขอเพียงแค่การใส่ใจและอาศัยแนวทางที่ทั้งหมดที่หนังสือเล่มนี้อธิบายในบทก่อนๆหน้าเพียงเท่านั้นครับ จงอย่าปล่อยให้โอกาสในการเพิ่มพลังบวกให้กับตัวเองและผู้อื่นผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดายอีกนะครับ

 

Moment สุดประทับใจที่เมือง San Francisco แปลงโฉมเมืองให้กลายเป็น Gotham City เพื่อทำตามคำปรารถนาของ Miles Scott เด็กชายผู้ป่วยเป็นมะเร็ง (source: ABC News)

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*