News Ticker

[สรุปหนังสือ] Zero to One : Notes on Startups, or How to Build the Future

 

 

Zero to One: Notes on Startups, or How to Build the Future (2014)
by Peter Thiel

 

“ZERO TO ONE EVERY MOMENT IN BUSINESS happens only once. The next Bill Gates will not build an operating system. The next Larry Page or Sergey Brin won’t make a search engine. And the next Mark Zuckerberg won’t create a social network. If you are copying these guys, you aren’t learning from them.”

 

Zero to One หมายถึง “การสร้างนวัตกรรม” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (จาก “ศูนย์” มาเป็น “หนึ่ง”) ซึ่งแตกต่างจากการพัฒนาต่อจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว (จาก “หนึ่ง” มาเป็น “สอง/สาม/สี่/…”)

และ Zero to One ก็คือ หนังสือคัมภีร์ของบรรดาธุรกิจ startup ที่เกิดขึ้นจากการกลั่นกลองความคิดและประสบการณ์ของ Peter Thiel หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท PayPal และนักลงทุน angel investor คนแรกของ Facebook ที่ว่าด้วยหลักการสร้างธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมและแนวคิดในการสร้างโลกอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่สามารถยกระดับมนุษยชาติให้ก้าวไปข้างหน้าได้

 

Peter Thiel (ขอบคุณภาพจาก Fortune)

 

<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>

 

The Challenge of The Future

การเติบโตของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ทาง ได้แก่ Globalization หรือ การกระจายสิ่งที่ถูกคิดค้นขึ้นมาอยู่แล้วไปยังพื้นที่อื่นๆ (1 to n) และ Technology หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (0 to 1)

สมัยโบราณ มนุษย์มักเติบโตโดยการทำสงครามแย่งชิงทรัพยากรระหว่างกัน (เรียกว่า zero-sum game ที่หมายถึง มีคนชนะก็ต้องมีคนแพ้ในระดับเท่าๆกัน) จนกระทั่งถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์เริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่านนวัตกรรมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ผ่านการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักรไอน้ำ ไฟฟ้า ทีวี ตู้เย็น รถยนต์ เครื่องบิน ยานอวกาศและอินเตอร์เน็ต

แต่ทว่าในช่วง 50 ปีล่าสุด การเติบโตของมนุษยชาตินั้นกลับเริ่มชะลอตัวลง เทคโนโลยีใหม่ๆในปัจจุบันนั้นล้วนแต่หันไปให้ความสนใจที่อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเท่านั้น Peter Thiel ให้ความเห็นว่าการจะทำให้มนุษย์ก้าวไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งด้วยระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ทำได้ยาก ทั้งจากความเอื่อยเฉื่อยของบริษัทใหญ่ การมองประโยชน์ระยะสั้นของผู้ถือหุ้นและกฎหมาย

Globalization ไม่สามารถทำให้มนุษยชาติอยู่รอดในระยะยาวได้เนื่องจากทรัพยากรบนโลกของเรานั้นมีอย่างจำกัด นวัตกรรมที่สามารถสร้าง “หนึ่ง” อันใหม่ขึ้นมานั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่ง Peter Thiel เชื่อมั่นว่าปัจจัยที่สามารถเข้ามาขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดก็คือ ธุรกิจ startup

โดยเขาได้ทิ้งท้ายถึง “คำถาม” ที่ startup ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้อย่างประสบความสำเร็จนั้นคือ “What important truth do very few people agree with you on” หรือ “อะไรคือความจริงที่สำคัญที่มีเพียงแค่คนจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นเห็นด้วยกับคุณ”

 

Party Like It’s 1999

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นได้ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งจากปัญหาสงคราม วิกฤติทางการเงินและความกังวลที่มีต่อ globalization จนกระทั่งประเทศได้เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของอินเตอร์เน็ต (internet boom) ที่เริ่มต้นจากการคิดค้น Mosaic Browser ที่ทำให้คนทั่วไปรู้จักการใช้อินเทอร์เน็ตจนนำมาสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตมากมาย

ผู้คนมองอินเทอร์เน็ตเป็นความหวังที่มีการเติบโตอย่างไม่สิ้นสุดและนั่นก็ทำให้เกิดปรากฎการณ์ฟองสบู่ราคาหุ้นของบริษัทอินเตอร์เน็ต (dot-com bubble)

PayPal ที่มี Peter Thiel เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง (ที่ต่อมากลุ่มผู้ก่อตั้งนี้ได้รับการตั้งฉายาว่า The PayPal Mafia) เริ่มต้นธุรกิจด้วยบริการส่งข้อมูลผ่าน Palm Pilot และเริ่มประสบความสำเร็จอย่างมากจากบริการจ่ายเงินออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดที่ให้เงินลูกค้าที่มาสมัครใช้บริการแบบฟรีๆในช่วงเริ่มต้นจนสามารถสร้างฐานลูกค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วและทำให้ PayPal สามารถระดมเงินลงทุนได้อย่างมหาศาลก่อนที่ฟองสบู่จะแตกลงในที่สุด

การล่มสลายของธุรกิจอินเตอร์เน็ตจำนวนมากทำให้ความคิดของผู้ประกอบการในสมัยนั้นถดถอยกลับมาเป็นการสร้างธุรกิจทั่วไปที่เน้นการแข่งขันเชือดเฉือนกัน (1 to n) ซึ่ง Peter Thiel ได้ให้ความเห็นว่าธุรกิจที่ต้องการประสบความสำเร็จนั้นต้องกล้าเสี่ยงเพื่อสร้างความแตกต่าง มีการวางแผนที่ดี หลีกเลี่ยงการแข่งขันและให้ความสำคัญกับการขายมากกว่าสนใจแค่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด

 

“The PayPal Mafia” กลุ่มผู้ก่อตั้ง PayPal ที่ส่งอิทธิพลต่อโลกเทคโนโลยีอย่างมหาศาล (ขอบคุณภาพจาก James Altucher)

 

All Happy Company are Different

ธุรกิจที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องมียอดขายที่มาก แต่ต้องสามารถกักเก็บคุณค่า (capture value) ให้ได้มากๆ เช่น Google ที่ยอดขายต่ำกว่า US Airline 3 เท่า แต่สามารถทำกำไรได้มากกว่าอุตสาหกรรมการบินรวมกันกว่า 100 เท่า

ธุรกิจที่พบเห็นได้ในปัจจุบันนั้นสามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนออกเป็นกลุ่ม Monopoly ผู้ผูกขาดตลาด (ที่มักพยายามอ้างว่าตัวเองมีคู่แข่ง – Bing จะไปสู้ Google ได้ยังไง…) และ Competition (ที่ชอบอ้างว่าตัวเองมีความแตกต่างจากคู่แข่งแต่จริงๆแล้วก็แทบจะเหมือนๆกัน) ซึ่งการเป็น Monopoly นั้นจะนำมาสู่การสร้างกำไรอย่างมหาศาลจากการที่ไม่ต้องแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งรายอื่น ซึ่งเงินจำนวนมากนั้นก็นำมาซึ่งการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหนือชั้นกว่าคู่แข่งไปเรื่อยๆ

จงจำไว้ว่า “All happy companies are different. Each one earns a monopoly by solving a unique problem. All failed companies are the same. They failed to escape competition.” หรือ “บริษัทที่ยิ้มได้นั้นสามารถสร้างความแตกต่างได้ด้วยการแก้ปัญหาที่ไม่มีใครสามารถทำได้ ตรงกันข้ามกับบริษัทที่ล้มเหลวเนื่องจากพวกเขาล้มเหลวในการหลบหนีการแข่งขัน”

 

The Ideology of Competition

โลกแห่งทุนนิยมในปัจจันนั้นถูกปลูกฝังด้วย “การแข่งขัน” ตั้งแต่ ระบบการศึกษาที่วัดกันที่เกรดรวมของทุกวิชาไปจนถึงการแข่งขันของบริษัทยักษ์ใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรม

การแข่งขันมักเกิดจาก “ความแตกต่างอย่างสุดขั้ว” หรือ “ความเหมือนกันอย่างสุดขั้ว” ซึ่งการแข่งขันนั้นมักจะนำมาสู่การถดถอยของอัตรากำไรและการเจ็บตัวของคู่แข่งขันทุกราย

การหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ดีที่สุดสามารถทำได้โดยการควบรวมหรือซื้อกิจการ (merger & acquisition) เหมือนกับที่ PayPal ได้ตัดสินใจเข้าร่วมทุนกับบริษัท X.com ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการแบบเดียวกันของ Elon Musk ซึ่งเป็นการกำจัดคู่แข้งพร้อมๆกับการเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าจนทำให้ PayPal เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ

 

Peter Thiel และ Elon Musk หลังการควบรวมกิจการระหว่าง PayPal กับ X.com (ขอบคุณภาพจาก Business Insider)

 

Last Mover Advantage

จากข้อมูลทางสถิติ “ผู้ชนะ” ของตลาดนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เริ่มต้นเป็นคนแรก (first mover) เสมอไป แต่ผู้ชนะต้องเป็น “คนสุดท้าย” ที่ยืนหยัดอยู่บนตลาดนั้นๆได้จนกลายมาเป็น Monopoly ที่มักจะได้รับการประเมินมูลค่าของบริษัทสูงกว่าธุรกิจแข่งขันเสมอ

องค์ประกอบของ Monopoly ที่ดีคือ

– Proprietary Technology การมี “นวัตกรรมเฉพาะ” ที่เลียนแบบได้ยาก เช่น Search Algorithm ของ Google

– Network Effects การสร้าง “เครือข่ายผู้ใช้งาน” ที่ยิ่งคนใช้เยอะ ยิ่งดึงดูดให้คนอื่นมาใช้มากขึ้น เช่น Facebook (ถ้าเพื่อนของคุณไม่เล่น Facebook เลย คุณจะเล่นไปทำไม…) และ e-Bay (ถ้าไม่มีพ่อค้าเลย มันจะมีลูกค้าได้อย่างไร)

– Economies of Scale “ผลประโยชน์ด้านต้นทุนต่อหัว” ที่ต่ำลงเรื่อยๆเมื่อจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจอินเตอร์เน็ตทั่วไปที่ต้นทุนแทบจะเท่าๆกันไม่ว่าจะมีผู้ใช้งาน 100 คนหรือ 100,000,000 คน (ต้นทุน fixed cost เท่าๆเดิม)

– Branding การสร้าง “แบรนด์ที่โดดเด่น” ที่ต้องมาพร้อมกับสินค้าและบริการที่ดีจริงๆ เช่น Apple ที่สามารถทำให้ผู้คนทั่วโลกซื้อ iPhone ได้ทั้งๆที่ราคาสูงมากจนทำให้ Apple ได้กำไรต่อการขายหนึ่งเครื่องเยอะมากๆ

การเริ่มต้นของ Monopoly ตามแนวคิดของ Peter Thiel ควรเริ่มจากหลักการ “Start Small and Monopolize” หรือการเลือก “ตลาดเฉพาะ” ที่ธุรกิจเราสามารถครอบคลองตลาดนั้นได้ เช่น e-Bay เริ่มจากการประมูลตุ๊กตาหรือ PayPal เริ่มจาก e-Bay

การมองตลาดใหญ่ๆว่าเป็นโอกาสนั้นไม่ถูกต้องเสมอไปถ้าบริษัทไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ หลังจากครองตลาดเฉพาะของตัวเองได้แล้ว ธุรกิจต้องเริ่ม Scaling Up หรือ ขยายตลาดออกไปให้กว้างขึ้น เช่น Facebook ที่ขยายจากฐานผู้ใช้งานใน Harvard ไปยังมหาลัยอื่นๆก่อนจะครองโลก หรือ Amazon ที่เริ่มจากหนังสือที่มีให้เลือกเยอะมากๆ (Long Tail) ไปยังสินค้าอื่นๆ

โดยการขยายตลาดนั้นต้องยึดหลัก “Don’t Disrupt Market” หรือห้ามทำลายตลาดอื่นๆ ซึ่งทางที่ดีก็คือ การส่งเสริมกันและกัน เช่น PayPal ที่ไม่ได้กินส่วนแบ่งของ VISA แต่ช่วยสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้ VISA

 

You Are Not A Lottery Ticket

การประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งอาจมาจากโชค แต่ถ้าคุณไม่ได้วางแผนที่ดีพอ โชคก็จะไม่เข้าข้างคุณ

มุมมองของมนุษย์ถูกแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่

– Indefinite Pessimism หรือ “การมองโลกในแง่ร้ายอย่างไร้เป้าหมาย” เปรียบเหมือนยุโรปในปัจจุบันที่มีปัญหาเศรษฐกิจและไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหานอกจากการเก็บออม

– Definite Pessimism หรือ “การมองโลกในแง่ร้ายอย่างมีเป้าหมาย” เปรียบเหมือนจีนที่เตรียมทำ Globalization อย่างเต็มที่แต่ก็รู้ดีว่าทรัพยากรที่มีไม่สามารถรองรับการเติบโตมากๆเหล่านั้นได้

– Definite Optimism หรือ “การมองโลกในแง่ดีอย่างมีเป้าหมาย” เปรียบเหมือนอเมริกาในยุคเฟื่องฟูในปี 50 ถึง 60 ที่มีแผนการสร้างเมืองอย่างจริงจัง ส่งคนไปดวงจันทร์และอีกมาก

– Indefinite Optimism หรือ “การมองโลกในแง่ดีอย่างไร้จุดหมาย” ซึ่งเป็นภาวะปัจจุบันของอเมริกาและชนชั้นกลางและสูงทั่วโลก ที่เตรียมพร้อมจะพัฒนาชีวิตตัวเองแต่ไม่มีแผนและนวัตกรรมดีๆเพื่ออนาคต คนสมัยนี้สนใจแต่การเติบโตไปด้านข้าง เช่น สายการเงิน กฎหมายและนักการเมือง แทนที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ (จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้ระดับหัวกะทิของโลกมักจะทำงานด้านการเงินหรือบริษัทอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้สร้างคุณค่าต่อมนุษยชาติองค์รวมเท่าไหร่นัก)

 

Follow The Money

การลงทุนในปัจจุบันที่มุ้งเน้นไปที่การกระจายความเสี่ยงผ่านการลงทุนที่หลากหลาย (diversification) นั้นถึงแม้จะเป็นวิธีการป้องกันความเสี่ยงที่ดี แต่นั่นก็ไม่สามารถทำให้ผลของการลงทุนเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้

การลงทุนในธุรกิจ startup ก็เหมือนกัน กองทุน venture capital (VC) ที่ดีนั้นควรเลือกลงทุนในธุรกิจ “เพียงหยิบมือ” ที่มีศักยภาพในการทำกำไรได้มากกว่าพอร์ตรวมของ VC นั้นๆ เพราะฉะนั้น FOCUS ซะ!!

 

Foundations

องค์กรที่ดีต้องเริ่มจากการสร้าง “รากฐาน” ที่ดี เพราะเมื่อองค์กรเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว การแก้ไขฐานรากขององค์กรนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก

ความเข้ากันได้ของผู้ร่วมก่อตั้งนั้นสำคัญมากและพนักงานทุกคนต้องมองประโยชน์ของบริษัทในระยะยาวเป็นหลัก

พื้นฐานขององค์กรนั้นประกอบไปด้วย Ownership หรือ “ผู้ถือหุ้น” Possession หรือ “ผู้บริหาร” และ Control หรือ “ผู้ควบคุม” ซึ่งบริษัททั่วๆไปนั้นแยกคนเหล่านี้ออกจากกันได้อย่างชัดเจนมาก โดย CEO มักรับหน้าที่บริหารบริษัทโดยที่มี “แรงกระตุ้น” เป็นผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อเงินเดือนของตัวเองมากกว่าผลประโยชน์ระยะยาวของผู้ถือหุ้น

Peter Thiel แนะนำให้กระจายหุ้นให้ทุกคนในองค์กรตามสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกคนมองภาพระยะยาว (ทำให้ Possession มี Ownership) ใช้กรรมการบริษัทแค่ 3 ถึง 5 คนเพื่อให้ทุกคนมีบทบาทชัดเจนและดำเนินการอย่างรวดเร็ว การจ่ายเงินให้ CEO ต้องไม่มากเกินไปจนส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจระยะยาวและพนักงานคนอื่น

ทีมงาน PayPal หลายคนนั้นเติบโตและประสบความสำเร็จหลังจากขายกิจการให้ e-Bay เป็นอย่างมาก ทั้ง Elon Musk ที่ออกไปตั้งบริษัท Space-X และ Tesla รวมไปถึงกลุ่มผู้ก่อตั้ง Youtube และ Yelp จนถูกขนานนามว่า “PayPal Mafia”

การสร้าง “Cult” ขององค์กรเริ่มจากการเลือกคนที่เข้าใจและเชื่อมั่นใน Unique Mission ขององค์กรและพร้อมจะตะลุยร่วมกับทีมงานของเราได้ โดยแต่ละคนต้องมีงานที่ได้รับมอบหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเพื่อลดการแข่งขันกันภายในทีม

 

If You Build It, Will They Come?

จงอย่าเมินว่าการขายไม่ใช่สิ่งสำคัญ หลักการขายที่ดีนั้นคือ “Sales is Hidden” หรือการขายที่ถูกซ้อนเร้นเพื่อให้คนซื้อไม่รู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบ

วิธีการขายแบ่งนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 5 วิธีหลัก ได้แก่

– Complex Sales หรือ การขายงานโครงการมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ที่ขายแค่ 1-2 ครั้งต่อปีก็อยู่ได้แล้ว ซึ่งการขายในลักษณะนี้ CEO ควรเป็นคนขายสินค้าเองในช่วงแรกเริ่ม

– Personal Sales หรือ การขายงานมูลค่าสูงในหลักหมื่นถึงแสนดอลลาร์ ที่มีกำไรเพียงพอให้ส่งพนักงานขายไปยังลูกค้าที่มีการคัดสรรมาอย่างดีได้

– Distribution Doldrums หรือ การขายงานมูลค่ากลางๆที่ไม่คุ้มค่าในการส่ง Sales และเล็กเกินกว่าการทำตลาดแบบ mass ทำให้พื้นที่ตลาดไม่มีสินค้าให้บริการ เช่น พวกซอฟท์แวร์สำหรับธุรกิจขนาดย่อม

– Marketing & Advertising หรือ การทำตลาดแบบ mass ที่ส่งผลต่อผู้คนจำนวนมาก

– Viral Marketing การใช้คุณสมบัติของสินค้าที่ดีเพื่อจุดประกายการบอกต่อ (word-of-mouth) ที่กำลังมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในยุคของอินเตอร์เน็ตและ social media

ปิดท้าย อย่าลืมให้ความสำคัญกับการขาย “ภารกิจของบริษัท” ให้กับกลุ่ม non-customer อย่าง พนักงานและนักลงทุนด้วยนะ

 

Man and Machine

คนเริ่มกลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแย่งพื้นที่การทำงานของมนุษย์ แต่จริงๆแล้ว เทคโนโลยีที่ดีนั้นจะเข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ในงานที่ต้องทำซ้ำและใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยเปิดโอกาสให้คนทำงานที่มีลักษณะซับซ้อนนั้นสามารถนำเสนอสิ่งที่ซับซ้อนให้คนหลายๆกลุ่มได้อย่างเข้าใจและได้ผล

เช่น LinkedIn ที่ช่วยงาน HR และ Headhunter ในการสแกนหาผู้สมัครงานได้โดยไม่ได้ลดบทบาทของอาชีพเหล่านี้ลง หรือ Palantir บริษัทใหม่ของ Peter Thiel ที่เกิดจากการพัฒนาระบบป้องกันการโกงในระบบ PayPal ด้วยการสแกนข้อมูลเพื่อคาดเหตุการณ์น่าสงสัยมาให้คนที่มีประสบการณ์วิเคราะห์ต่อ ซึ่งบริการของ Palantir นั้นได้ถูกซื้อไปโดยภาครัฐเพื่อใช้ในการป้องกันการก่อการร้าย การตรวจหาการโกงและอาชญากรรมได้ (มีข่าวลือว่า Palantir คือโปรแกรมที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐหาที่ตั้งของ Osama Bin Laden ได้สำเร็จ)

 

Seeing Green

ฟองสบู่ของธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่งแตกลงไปเปรียบได้กับช่วง dot-com bubble ที่ผู้คนให้ความสนใจกับเมกะเทรนด์โดยไม่ได้สร้างธุรกิจที่แตกต่างและมีนวัตกรรมที่แท้จริงจนนำไปสู่การแข่งข้นและล่มสลายลง

ธุรกิจสีเขียวในปัจจุบันที่อยู่รอดได้อย่าง Tesla Motor นั้นมีคุณสมบัติที่ดีครบถ้วนในการเป็นธุรกิจแห่งนวัตกรรมเพื่อโลก ตั้งแต่ เทคโนโลยีเครื่องยนต์ไฟฟ้าที่โตโยต้ายังต้องขอซื้อ แบรนด์ที่สร้างให้ลูกค้าที่ซื้อไปดูมีหน้ามีตาที่ดีต่อสังคม การเลือกเวลาเปิดตัวสินค้าที่เหมาะสมทำให้ได้เงินลงทุนจากภาครัฐจำนวนมาก การสร้างร้านดีลเลอร์ของตัวเองเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า การอยู่ในธุรกิจรถยนต์ที่ยังมีความต้องการอย่างสม่ำเสมอและการเป็น monopoly เจ้าตลาดรถไฟฟ้า แสดงให้เห็นว่าธุรกิจสีเขียวเป็นไปได้ แต่ต้องสร้างความแตกต่างให้ได้

 

Founder’s Paradox

เจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักจะมีความแปลกและความสุดโต่งเสมอ เพราะคุณสมบัติเหล่านี้จะทำให้เค้าโฟกัสไปยังเป้าหมายได้ดีกว่าคนทั่วๆไป

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*