News Ticker

[สรุปหนังสือ] ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

 

 

[สรุปหนังสือ] ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว (2019)

by ธนินท์ เจียรวนนท์

 

“วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้ก็อาจมีคนที่เก่งกว่า ผมจึงต้องคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา”

 

เส้นทางความสำเร็จของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ “CP” นั้นถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวมหัศจรรย์แห่งวงการธุรกิจของเมืองไทยที่คงไม่มีใครสามารถเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของความยิ่งใหญ่นี้ได้ดีไปกว่า “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสในวัย 80 ปี

“ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” คือ ชื่อหนังสือที่สะท้อนถึงแนวคิดของท่านประธานธนินท์ได้อย่างดีเยี่ยมถึงความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้งโดยไม่ยอมเสียเวลาไปกับการชื่มชมความสำเร็จในอดีต ไม่ต่างกับที่ CP สามารถขยับขยายจากธุรกิจขายไก่และอาหารสัตว์มาสู่ธุรกิจใหม่อย่างห้างค้าปลีก 7-Eleven และธุรกิจโทรคมนาคมอย่าง True ที่ล้วนแล้วแต่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้กับตลาดในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง

ขอเชิญทุกท่านอ่านสรุปหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ของเจ้าสัวธนินท์ได้เลยครับ

 

เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต

เรื่องราวของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” นั้นเริ่มต้นขึ้นที่ “ห้างเจียไต๋จึง” ซึ่งเป็นร้านขายเมล็ดพันธุ์ผักของคุณพ่อ “เจี่ย เอ็กชอ” ชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางข้ามมาจากมณฑลกว้างตุ้งเพื่อบุกเบิกตลาดเมล็ดพันธุ์ผักคุณภาพดีในประเทศไทย

คุณธนินท์ในวัยเด็กนั้นมีประสบการณ์ที่โชกโชนในการ “ย้ายสถานศึกษา” ตั้งแต่ โรงเรียนอนุบาลที่กรุงเทพ โรงเรียนประถมต้นที่ราชเทวี โรงเรียนประถมปลายที่ซัวเถา โรงเรียนมัธยมที่กวางเจาและฮ่องกง ซึ่งนั่นก็ทำให้คุณธนินท์ได้พบเจอกับผู้คนที่หลากหลายและมองเห็นโลกกว้างได้มากกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน

คุณธนินท์ในวัย 18 ปีได้ตัดสินใจเดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือพี่ชายสองคนที่ “ร้านเจริญโภคภัณฑ์” ซึ่งในสมัยนั้นคือร้านขายวัตถุดิบทำอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย งานแรกของคุณธนินท์คือ “เสมียน” ที่ต้องคอยรับหน้าที่เปิดร้าน ปิดร้าน รับเงินและจ่ายเงิน

ซึ่งตลอดเวลาการทำงานที่ฟังเหมือนเป็นงานที่ง่ายและไม่จำเป็นต้องใช้สมองมากนัก คุณธนินท์ก็ได้นำเอาแนวคิด “ทำอะไร ต้องทุ่มเท ต้องรู้จริง ต้องเจาะลึก ศึกษาไปให้ถึงที่สุด” มาใช้ทั้งจากการที่เขาเลือกที่จะเดินทางไปที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ร่วมกับคนขับรถส่งวัตถุดิบเพื่อศึกษากระบวนการผลิตอย่างละเอียดทุกขั้นตอน กรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของคุณธนินท์ในวัยหนุ่มก็คือการที่เขาศึกษาวิธีการจัดวางหมูในเรือขนส่งจนสามารถปรับวิธีการให้หมูเสียชีวิตระหว่างคนส่งน้อยลง

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของร้านเจริญโภคภัณฑ์ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อคุณธนินท์ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทั่วไปในวัย 25 ปีที่เขาได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักโดยไม่มีวันหยุดและเริ่มสร้างทีมงานนักวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญทั่วเอเชียเพื่อพัฒนาอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพจนในที่สุดร้านเจริญโภคภัณฑ์ก็สามารถจำหน่ายอาหารสัตว์สำเร็จรูปและหัวเชื้ออาหารได้สำเร็จและนี่คือการ “ติดปีก” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ครั้งใหญ่

 

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ในวัยหนุ่ม (ขอบคุณภาพจากมติชน)

 

ยุทธศาสตร์ ซี.พี.

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ “เลี้ยงไก่เนื้อ” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นเกิดขึ้นจากการมองเห็น “โอกาส” ในการเพิ่มการบริโภคเนื้อไก่ในประเทศไทยที่เมื่อ 50 ปีก่อนยังมีราคาสูงกว่าเนื้อหมูถึง 2 เท่า [เมนูไก่ย่างในสมัยนั้นคือเมนูสำหรับคนรวยเท่านั้น] ซึ่งมีสาเหตุมาจากกรรมวิธีการเลี้ยงไก่ที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีมาตรฐานจนทำให้ต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทานนั้นสูงกว่าที่ควรจะเป็นมาก

คุณธนินท์ในวัยหนุ่มจึงได้ริเริ่มศึกษาถึงเคล็ดลับความสำเร็จของเกษตรกรชาวอเมริกันที่สามารถเลี้ยงไก่ได้อย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณที่มากกว่าเกษตกรไทยนับร้อยเท่า อันเป็นที่มาของกลยุทธ์ทางธุรกิจของ CP ที่มุ่งเน้นการนำเอาเทคโนโลยีระดับสูงมาปรับใช้ในกับเกษตรกรไทย [ยิ่งเกษตรกรมีความรู้น้อยเท่าไหร่ ยิ่งต้องพึ่งเทคโนโลยีระดับสูงมากขึ้นเท่านั้น] ที่นำมาสู่การจัดตั้งโครงการเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ที่มีต้นแบบจากบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ทาง CP จะทำหน้าที่จัดหาพันธุ์ไก่เนื้อโตเร็ว วัคซีน อาหาร เงินทุนและการันตีราคาไก่ให้กับเกษตรกร โดยหน้าที่หลักของเกษตรกรก็เหลือเพียงแค่การเลี้ยงดูแลไก่ให้ดีที่สุด จนปัจจุบัน ผลิตภาพของเกษตรกรไทยนั้นได้เปลี่ยนจากการเลี้ยงไก่ไม่กี่สิบตัวตามใต้ถุนบ้านกลายมาเป็นการเลี้ยงไก่ในระบบโรงเรือนปิดปรับอากาศที่เกษตรกร 1 คนสามารถเลี้ยงไก่ได้ถึง 170,000 ตัวและนั่นก็ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงแหล่งโปรตีนอย่างเนื้อไก่ที่มีคุณภาพได้ในราคาที่ถูกลงอย่างมหาศาล

 

ฟาร์มไก่แบบปรับอากาศ EVAP ของเกษตรกร CP (ขอบคุณภาพจาก  Farm Thailand)

 

คุณธนินท์ยึดหลักการในการทำธุรกิจแบบ “ครบวงจร” ที่มุ่งเน้นการลดจำนวนพ่อค้าคนกลางออกไปจากห่วงโซ่อุปทานด้วยการทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ขายวัตถุดิบและผู้ซื้อไก่จากเกษตรกรผ่านการทำธุรกิจผลิตอาหารไก่ ผลิตวัคซีน ค้าปลีกและร้านอาหาร เพื่อลดทั้งต้นทุนการผลิตและลดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนทางรายได้ให้กับเกษตรกรที่แต่เดิมต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด [ในบางปี CP ต้องยอมขาดทุนตามวงจรของราคาเนื้อสัตว์ แต่เกษตรกรที่บริหารจัดการฟาร์มของตัวเองได้ดีจะมีกำไรอย่างต่อเนื่องทุกปี] ซึ่ง CP ก็ได้ขยายแนวคิดธุรกิจครบวงจรไปสู่อุตสาหกรรมเนื้อหมูและกุ้งในเวลาต่อมาได้อย่างประสบความสำเร็จ

อีกหนึ่งธุรกิจที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีของเครือ CP ก็คือ ร้านสะดวกซื้อ 7-ELEVEN ที่คุณธนินท์นำเข้ามาจากอเมริกาในปี 2531 ท่ามกลางเสียงเตือนของเจ้าของบริษัทที่ทองว่าประเทศไทยในสมัยนั้นยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการรองรับร้านสะดวกซื้อ ซึ่งคุณธนินท์ได้พิสูจน์แล้วว่าโมเดลการตั้งร้านสะดวกซื้อในเขตที่มีประชากรหนาแน่นนั้นสามารถประสบความสำเร็จได้ [เน้นปริมาณกับต้นทุนที่ต่ำมาทดแทนรายได้ประชากรที่ยังห่างไกลกับประเทศที่พัฒนาแล้ว] แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่คุณธนินท์มองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ 7-ELEVEN ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงเลยก็คือ “คน” ทั้งในส่วนของพนักงานที่ทางบริษัทช่วยสนับสนุนการศึกษาให้ [จนสามารถลดอัตราการลาออกและการลักขโมยได้มาก] และเจ้าของแฟรนไชส์ที่คุณธนินท์เข้าไปลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจให้ด้วยการบริหารกิจการสาขาให้อยู่ตัวก่อนค่อยขายต่อ [ในกรณีที่ 7-ELEVEN มีความจำเป็นต้องเปิดสาขาใหม่ใกล้กับสาขาเดิมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เจ้าของแฟรนไชส์ก็จะได้รับสิทธิ์ในการซื้อสาขาก่อนและได้รับความช่วยเหลือหากยอดขายลดลง] สถิติที่น่าสนใจก็คือกว่าหนึ่งในสี่ของเจ้าของแฟรนไชส์นั้นคืออดีตพนักงานของ CP

การลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมที่เริ่มต้นด้วยบริษัทเทเลคอมเอเชียของ CP นั้นเกิดขึ้นตามหลักการ “สามประโยชน์” ที่คุณธนินท์ยึดมั่น ได้แก่ การให้ประโยชน์แก่ประชาชน ประเทศและสุดท้ายประโยชน์จะกลับมาที่ตัวบริษัท แต่เมื่อวิกฤติต้มยำกุ้งได้ถือกำเนิดขึ้น หนี้จำนวนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัวก็ทำให้คุณธนินท์ต้องตัดสินใจอย่างเฉียบขาดและขายธุรกิจในเครือหลายธุรกิจ [รวมถึงแม็คโครและโลตัส] ซึ่งต่อมา คุณธนินท์ก็มองเห็นโอกาสในธุรกิจให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจนเป็นที่มาของ True ในปัจจุบัน

คุณธนินท์ยังมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจในประเทศจีนเป็น “รายแรกของโลก” ด้วยการรีบเข้าไปลงทุนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการเปิดประเทศด้วยธุรกิจอาหารสัตว์และไก่เนื้อ ก่อนที่จะขยับขยายไปยังธุรกิจมอเตอร์ไซค์ที่เริ่มได้รับความนิยมในสมัยนั้น จนกระทั่ง สามารถสร้างอาณาจักร CP ในประเทศจีนได้อย่างยิ่งใหญ่ในปัจจุบันที่ประกอบไปด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจจักรยานยนต์ยี่ห้อ Dayang ธุรกิจอาหารแปรรูป ธุรกิจศูนย์การค้า Super Brand Mall ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Lotus และธุรกิจด้านการเงิน พร้อมๆกับการสร้างยุทธศาสตร์การเป็น “ครัวของโลก” ที่ CP เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในแทบทั่วทุกมุมโลก

 

ธุรกิจทั้งหมดในเครือ CP (ขอบคุณภาพจาก Workpoint News)

 

พิมพ์เขียวประเทศไทย “สองสูง”

คุณธนินท์มองว่า “สินค้าเกษตรคือทรัพย์สมบัติของชาติ

ประเทศในแถบทวีปเอเชียที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน นั้นต่างก็มองเห็นความสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้มีความก้าวหน้าทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆและการกำหนดราคาสินค้าเกษตรในระดับที่สูง [พร้อมๆกับการป้องกันการนำเข้าสินค้าเกษตรราคาต่ำจากประเทศกำลังพัฒนา] จนเกษตรกรมีเงินทุนจำนวนมากและสามารถส่งลูกหลานให้ได้รับการศึกษาที่ดีเพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและการบริการที่ส่งเสริมให้ GDP ของประเทศเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยกลับเลือกที่จะกดราคาสินค้าเกษตรให้ตกต่ำลงทั้งๆที่เกษตรกรรมนั้นมีความเสี่ยงสูง [เกษตรกรมีรายได้สุทธิต่อหัวเพียงแค่ประมาณ 50 บาทเท่านั้น] และใช้มาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพียงในแง่ของการเงินระยะสั้นที่ไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆในระยะยาวเลย [คุณธนินท์เปรียบเทียบอย่างเจ็บแสบว่าเกษตกรญี่ปุ่นสามารถเที่ยวทั่วโลกได้ภายใน 20 ปีหลังแพ้สงครามโลก แต่เกษตรกรไทยอีก 100 ปีก็คงยังทำไม่ได้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง]

คุณธนินท์เสนอนโยบาย “สองสูง” ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรสูงและรายได้ขั้นต่ำสูง ซึ่งการเพิ่มราคาของสินค้าเกษตรนั้นจะเป็นเสมือนกันเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพย์สมบัติอันดับหนึ่งของประเทศเพื่อให้เกษตรกรผู้เป็นสันหลังของประเทศสามารถทำงานที่ลำบากและมีความเสี่ยงสูงได้โดยมีรายได้ที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น [การขึ้นราคาข้าว 10% นั้นสามารถเพิ่มเงินในกระเป๋าสตางค์ของเกษตรกร 14 ล้านคนในชนบทได้เป็นอย่างมากโดยแลกกับค่าข้าวที่แพงขึ้นเฉลี่ย 3 บาทต่อวันต่อคนเท่านั้น] และการเพิ่มรายได้ขั้นต่ำของแรงงานและข้าราชการจะเป็นการสร้างสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรจนทำให้คนที่เป็นหนี้สามารถลืมตาอาปากได้และสามารถเลือกจับจ่ายใช้สอยได้ตามความต้องการมากยิ่งขึ้น พร้อมๆกับเป็นการดึงดูดให้คนเก่งเข้ามารับราชการมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการจะทำให้นโยบายสองสูงสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้นจำต้องอาศัย “สูงที่ 3” อย่าง “ประสิทธิภาพสูง” ที่ประกอบไปด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี ศักยภาพคนและตัวแบบการบริหารจัดการที่นำมาสู่คุณภาพที่สูงขึ้น ผลิตภาพที่สูงขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง อีกหนึ่งกลไกในการเพิ่มผลิตภาพของพืชผลทางการเกษตรก็คือการรวบรวมพื้นที่ปลูกให้ “เกษตรกรคนเก่ง” ที่มีขีดความสามารถมากกว่าเป็นคนบริหารจัดการแทนเกษตรกรคนอื่นโดยมีการแบ่งรายได้ส่วนเพิ่มระหว่างกันพร้อมๆกับการป้อนแรงงานกลุ่มใหม่ที่ไม่ต้องทำนาแล้วเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและการบริการ

 

เจ้าสัวธนินท์ในวัยเลข 8 (ขอบคุณภาพจากมติชน)

 

“คน” สร้างธุรกิจ

เรื่องเล่าที่สามารถสะท้อนปรัชญาการบริหารคนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของ CP ก็คือ การที่คุณธนินท์ซึ่งเป็นน้องเล็กในบรรดาพี่น้องทั้งหมดสี่คนสามารถดำรงตำแหน่งงานที่มีอำนาจมากที่สุดขององค์กรที่เริ่มต้นมาจากธุรกิจแบบกงสีได้นั้นก็เพราะการให้ความสำคัญกับ “คนเก่ง” ที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่นั้นๆอย่างแท้จริงโดยไม่ยึดติดกับความอาวุโสหรือการเป็นลูกหลานของใคร [คุณธนินท์ไม่ให้ลูกของเขาเข้ามาดูแลกิจการขององค์กรกลางทันที ลูกๆทุกคนจะต้องออกไปพิสูจน์ฝีมือของตัวเองจากการก่อตั้งธุรกิจใหม่ๆให้ประสบความสำเร็จก่อนเท่านั้น]

ยุทธศาสตร์ของเครือ CP ที่คุณธนินท์ให้ความสำคัญอย่างมากที่สุดในปัจจุบันก็คือ “การพัฒนาคน” โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรขนาดใหญ่ของเขาผ่านโครงการ “เถ้าแก่น้อย” ที่เปิดโอกาสให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้ทดลองพัฒนาธุรกิจใหม่ๆเพื่อต่อยอดความยิ่งใหญ่ให้กับอาณาจักร CP

ปิดท้าย ผมขอจบการสรุปหนังสือด้วย 2 คำสอนของคุณธนินท์ที่มอบให้กับลูกทุกคนของท่านอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่

  • จงเป็น “นักสู้” ที่มีความมานะ ความขยันและการทำงานหนัก
  • จงเป็น “ผู้ให้” ที่เชื่อมั่นว่าการทำดีย่อมได้ดีกลับมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

1 Comment on [สรุปหนังสือ] ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*