News Ticker

[สรุปหนังสือ] Alibaba : The House That Jack Ma Built

 

 

Alibaba: The House That Jack Ma Built (2016)
by Duncan Clark

 

“Today is brutal, tomorrow is more brutal, but the day after tomorrow is beautiful. However, the majority of people will die tomorrow night. They won’t be able to see the sunshine the day after tomorrow.”

 

จากครูสอนภาษาอังกฤษธรรมดาๆคนหนึ่งในเมืองหางโจว ยอดชายนาย  Jack Ma ได้สร้างธุรกิจอินเตอร์เนตของเขานามว่า Alibaba ให้สามารถกลายเป็นอาณาจักร e-Commerce ขนาดใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำแยงซีที่สร้างสถิติการเปิดขายหุ้น IPO ในตลาด New York Stock Exchange ด้วยเงินระดมทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติกาลซึ่งผลักดันให้ Alibaba กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงกว่า 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งมากกว่ามูลค่าของ Amazon และ eBay รวมกัน – ในปี 2014) เขาทำได้อย่างไร

Alibaba : The House That Jack Ma Built คือหนังสือที่เล่าเรื่องราว Jack Ma และอาณาจักร Alibaba ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปี 2016 ผ่านสายตาของคนวงในอย่าง Duncan Clark อดีตที่ปรึกษาของบริษัท Alibaba Group ตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งต้นในปี 1999 ที่เต็มไปด้วยโอกาส อุปสรรคและข้อคิดดีๆมากมาย เชิญติดตามสรุปได้เลยครับ 😀

 

ผู้เขียน Duncan Clark (ขอบคุณภาพจาก DuncanClark.com)

 

Chapter One : The Iron Triangle

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2015 ลูกค้ากว่า 30 ล้านคนได้เข้ามาจับจ่ายซื้อสิ่งของตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงรถยนต์กันที่เว็ปไซต์ e-Commerce ของ Alibaba เพื่อเฉลิมฉลองวัน “Singles’ Day” หรือวันคนโสดที่ Alibaba แปลงกายให้เป็นวันช็อปแห่งชาติที่ร้านค้าต่างๆพากันลดราคาจนสร้างยอดขายรวม 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง

Jack Ma และ Alibaba ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมประเทศจีนไปตลอดการ ด้วยการสร้างยอดการบริโภคของชาวจีนให้พุ่งสูงขึ้นเพื่อสอดรับการปรับสมดุล GDP ของประเทศจีนซึ่งเบ้ไปทางการส่งออกและลงทุนมาตลอดกว่า 30 ปี … Alibaba นำความรู้สึกของการได้เป็นลูกค้าอย่างแท้จริงให้กับชาวจีนที่แต่ดั้งเดิมมีปัญหาในการจับจ่ายใช้สอยมาโดยตลอดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเก็บสะสมเงินในธนาคารของชาวจีนมาเป็นการเลือกซื้อสินค้าที่มากขึ้น Alibaba เริ่มกลายมาเป็นหัวใจหลักในการซื้อสินค้าของชาวจีน แตกต่างจาก Amazon ที่ทำเพียงแค่การสร้างความสะดวกสบายและราคาสินค้าที่ถูกให้กับผู้บริโภคเท่านั้น … Jack Ma ได้นิยามปัจจัยแห่งความสำเร็จของอาณาจักร Alibaba ในชื่อ “The Iron Triangle” ซึ่งแสดงถึง 3 เสาที่นำพาให้ Alibaba ยิ่งใหญ่จนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ การเป็นเจ้าแห่ง e-Commerce ที่มีสินค้าครบครันในราคาที่คุ้มค่า พร้อมด้วยระบบ Logistics ที่รวดเร็วและเชื่อถือได้กับระบบการเงินที่ที่ทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์ง่ายและเชื่อถือได้

The e-Commerce Edge : Alibaba ได้สร้างเว็ปไซต์ขายสินค้าออนไลน์สำหรับผู้บริโภคภายใต้ชื่อ Taobao ที่รวบรวมเหล่าพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนจำนวนมากมาเปิดร้านค้ากันแบบฟรีๆให้กับผู้บริโภคทั้งประเทศ และเว็ปไซต์ Tmall ที่เปิดให้แบรนด์ชั้นนำมาเปิดขายสินค้ากันตั้งแต่แบรนด์กระเป๋าหรูไปจนถึง Amazon ที่เข้ามาเปิดขายเสื้อผ้า รองเท้าและอาหารนำเข้า อีกเว็ปไซต์ที่น่าสนใจของ Alibaba ก็คือ Juhuasuan สำหรับการซื้อสินค้าแบบรวมกลุ่ม … เว็ปไซต์ B2C และ C2C เหล่านี้เติบโตได้อย่างรวดเร็วบนตลาดผู้บริโภคของจีนที่แต่เดิมการตั้งร้านค้านั้นทำได้ยากและมีต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ต่อจาก state-owned enterprise (SOE หรือบริษัทของรัฐ) ที่สูงลิบ ทำให้การตั้งร้านค้าในจีนเป็นเรื่องที่ยากและทำให้ไม่มีกลุ่มห้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นในประเทศจีน … การเกิดขึ้นของ e-Commerce ในจีนทำให้ผู้บริโภคเริ่มเบือนหน้าหนีจากร้านค้ามาเป็นการช็อปปิ้งสินค้าออนไลน์แทน ซึ่ง Taobao ก็ได้ตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบายและความหลากหลายของสินค้าได้อย่างเต็มๆ ลูกค้าสามารถเลือกซื้อ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็คโทรนิก ของแต่งบ้าน ไปจนถึงบริการรับจ้างออกเดทและบริการนักสืบชู้รัก จากเหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับการประเมินความพึงพอใจแบบเรียลไทม์ … ทั้งนี้ ชื่อเสียของ Alibaba ก็ยังมีอยู่ นั่นก็คือการที่ Alibaba ไม่สามารถกำราบกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าก็อปปี้ได้อย่างอยู่หมัด

The Logistics Edge : ในแต่ละวัน สินค้าจำนวนหลายล้านชิ้นถูกแพ็คและกระจายไปยังทั่วประเทศจีนผ่านบริษัทให้บริการ Logistics ในสังกัดของ Alibaba กว่าหลายสิบบริษัท … Alibaba เลือกที่จะไม่ลงทุนในระบบกระจายสินค้าเหมือนอย่าง Amazon และ JD.com (คู่แข่งคนสำคัญในจีน) แต่ Alibaba กลับเลือกที่จะลงทุนร่วมกับบริษัทให้บริการ Logistics เหล่านั้นเพื่อพัฒนาระบบ “China Smart Logistics Network” ผ่านบริษัท Cainiao ในการลงทุนวางระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ … Cainiao ได้สร้าง “Trust” ให้กับผู้บริโภคว่าพวกเขาจะได้สินค้าที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

The Financial Edge : Jack Ma ได้ก่อตั้ง Alipay ซึ่งแยกตัวออกจากบริษัท Alibaba ทั้งหมดเพื่อเปิดให้บริการระบบการจ่ายเงินออนไลน์แบบ escrow payment หรือการให้ตัวกลางเป็นผู้ถือเงินจากผู้ซื้อจนกว่าที่ผู้ซื้อจะได้รับสินค้าและตรวจสอบแล้วว่าถูกต้องไม่เสียหายจึงค่อยจ่ายเงินให้กับผู้ขาย ซึ่งระบบการจ่ายเงินที่เชื่อถือได้นี้คือจุดสำคัญในการเติบโตของ Alibaba … ปัจจุบันยอดการซื้อขายของ Alibaba คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของยอดการซื้อขายทั้งหมดของ Alipay ทั้งนี้ เนื้องจาก Alipay ได้ขยายบริการการจ่ายเงินไปยังทั่วทุกอุตสาหกรรม … Jack Ma ยังมีแนวคิดในการแก้ไขระบบธนาคารของจีนที่แต่เดิมมีแต่ธนาคาร state-owned enterprise ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำติดดิน ทั้งการตั้งกองทุนดอกเบี้ยสูงชื่อ Yu’e Bao ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นกองทุนที่มีจำนวนเงินมากเป็นอันดับ 4 ของโลก การเปิดให้บริการ micro loan สำหรับพ่อค้าและลูกค้าของ Alibaba รวมถึงการตั้งบรัทให้เครดิตแก่พ่อค้าและลูกค้าเหล่านั้นด้วย … ในปี 2015 ธนาคารออนไลน์แบบเต็มตัวแห่งแรกภายใต้ชื่อ MYbank ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นโดย Jack Ma … การเติบโตของบริการทางการเงินในอาณาจักร Alibaba นั้นยังคงมีอุปสรรคที่ขวางกั้นไว้คือรัฐบาลและเหล่าธนาคาร state-owned enterprise ที่พยายามหาทางปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง

 

The Iron Triagle (ขอบคุณภาพจาก Factor Daily)

 

Chapter Two : Jack Magic

บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งได้รับอิทธิพลจากผู้ก่อตั้งมาอย่างเต็มเปี่ยม แต่ทว่าคงมีแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่จะเทียบรัศมีของ Jack Ma ชายล่างเล็กผู้มีหน้าตาเหมือน เอเลี่ยน หรือ ตัว “อิมพ์” สัตว์ประหลาดในเทพนิยายโบราณ แถมยังชื่นชอบนิยายกำลังภายในเป็นชีวิตจิตใจและมี Forrest Gump เป็น idol อย่างเขาคนนี้

Jack Ma มีบุคลิกและพฤติกรรมที่โดดเด่นแตกต่างจากเจ้าของบริษัททั่วไป ความสามารถพิเศษของเขาคือความสามารถในการสื่อสารที่สามารถเอาชนะใจผู้ฟังของเขาได้อย่างอยู่หมัด ผู้คนในโลกอินเตอร์เน็ตให้ความสนใจ speech และ quote ของ Jack Ma เป็นอย่างมากทั้งคำพูดที่เฉียบคม แฝงด้วยอารมณ์ขันและยังกินใจกลุ่มผู้ฟังของเขาได้อย่างเด็ดขาด การที่เขาเคยเป็นครูมาก่อนยังทำให้เขาชื่นชอบในการให้ความรู้แก่พนักงานและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่อง

Jack Ma ยึดมั่นในอุดมการณ์ “Customer First, Employer Second and Shareholders Third” อย่างต่อเนื่อง โดยเขาได้ตั้งนโยบายการบริหารงานของ Alibaba ที่มีชื่อว่า Six Vein Spirit Sword หรือ “เส้นเลือดหกสายของดาบแห่งวิญญาณ” ที่ประกอบไปด้วย “Customer First”, “Teamwork”, “Embrace Change”, “Integrity”, “Passion” และ “Commitment” ซึ่งเขาสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรของ Alibaba ที่มีสมาชิกหลายหมื่นคนทั้งทีมขายและไอทีให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีมเวิร์คโดยมุ่งเป้าไปที่การให้ความสำคัญกับลูกค้าก่อนพร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง

 

Chapter Three : From Student to Teacher

เด็กชายนามว่า “หม่า หยุ่น” หรือ “ม้าเมฆ” เกิดในครอบครัวยากจนในเมืองหางโจว ณ วันที่ 10 กันยายน 1964 … แม่ของเขาทำงานในโรงงาน ส่วนพ่อของเขาทำงานเป็นช่างภาพ … ในปี 1972 ประธานาธิบดี Nixon ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนเมืองหางโจว ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดที่สร้างให้เหล่านักท่องเที่ยวต่างชาติแห่มาชมความงามของธรรมชาติและสถาปัตยกรรมโบราณของเมือง … เด็กชายหม่าหยุ่นเติบโตมาพร้อมกับความอยากที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาโดยตลอด เขามักที่จะออกจากบ้านไปพูดคุยกับนักท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ ชื่อ Jack ของเขาก็มาจากคำแนะนำของนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันคนหนึ่ง … Jack Ma ในวัยรุ่นได้ตีสนิทกับครอบครัวชาวออสเตรเลียตระกูล Morley ซึ่งต่อมาครอบครัว Morley ก็พาเขาเดินทางไปเที่ยวออสเตรเลียเพื่อให้ Jack ได้เปิดหูเปิดตาในโลกอันกว้างใหญ่เป็นครั้งแรกและครอบครัว Morley ก็ยังได้สนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าที่อยู่อาศัยให้กับ Jack ด้วย … Jack Ma และครอบครัว Morley ที่มีบุญคุณกับเขาอย่างมากยังคงความสนิทกันจนถึงปัจจุบัน … เขาได้ตั้งชื่อลูกชายคนโตของเขาว่า Kun ตามชื่อ Ken Morley พ่อชาวออสเตรเลียของเขา

 

Jack Ma ในวัยเด็กกับครอบครัว Morley (ขอบคุณภาพจาก lnc.com)

 

เรื่องการเรียน ในวัยเด็ก Jack Ma มีผลการเรียนแย่มาก เขาสอบตกเลขถึง 3 รอบจนเกือบไม่ได้เรียนต่อในชั้นมหาลัย แถมตอนสมัครงานอาชีพเสริมหลายๆที่ก็ปฎิเสธเขารวมถึง KFC ที่เขาชอบพูดถึง … สุดท้ายเขาก็ได้เรียนต่อในโรงเรียน Hangzhou Teacher School ที่ซึ่งเขาได้พบรักกับ Zhang Ying และต่อมาได้แต่งงานกันในที่สุด … หลังจากจบการศึกษา Jack Ma เป็นคนเดียวในรุ่นที่ได้รับงานครูสอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนว่าห้องเรียนของเขาดังเป็นพลุแตกจากเทคนิคการสอนแบบเป็นกันเองของเขา … เขายังใช้เวลาว่างจากงานสอนในมหาวิทยาลัยเปิดสอนภาษาอังกฤษให้กับผู้ที่สนใจทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพอย่างต่อเนื่อง

ในปี 1992 เติ้งเสี่ยวผิงได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศจีนเปิดประเทศและสร้างกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ … 2 ปีต่อมา Jack Ma ได้ตัดสินใจว่าตัวเองจะหยุดอาชีพครูเพื่อทำตามความฝันในการเป็นเจ้าของธุรกิจให้ได้ก่อนที่เขาจะอายุ 30 ปี

 

Chapter Four : Hope and Coming to America

Jack Ma ในวัย 29 ปีได้เริ่มก่อตั้งบริษัทเป็นของตัวเองครั้งแรกในปี 1994 ชื่อ Hangzhou Haibo Translation Agency (Haibo แปลว่า “ความหวัง”) ซึ่งเป็นบริษัทรับแปรภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อสนับสนุนให้นักธุรกิจเกิดใหม่ในเมืองหางโจวและบริเวณใกล้เคียงสามารถทำการค้ากับชาวต่างชาติได้ … ธุรกิจของเขาล้มลุกคลุกคลานอย่างต่อเนื่องจนทำให้เขาต้องเปิดธุรกิจขายสินค้าต่างๆไปด้วยเพื่ออุ้มให้ธุรกิจแปลภาษาอยู่รอด … แต่แล้วโชคก็เข้าข้างเมื่อรัฐบาลเมืองตองลูได้ตัดสินใจจ้าง Jack Ma เพื่อไปเจรจาธุรกิจในประเทศอเมริกา

การเดินทางไปเมือง Seattle ประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งแรกของ Jack Ma นั้นเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ร้ายที่ตัวเขาเองก็ไม่เคยอธิบายอย่างชัดเจน แต่คร่าวๆก็คือเขาโดนคู่ค้าชาวอเมริกันที่เป็นมาเฟียลักพาตัวไปเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ Jack Ma ร่วมมือกับเขาก่อนที่ Jack Ma จะหนีรอดออกมาได้ … โชคยังดีที่ทริปนี้ Jack Ma ได้ค้นพบกับสิ่งที่เรียกว่า “อินเตอร์เน็ต” ในยุคแรกเริ่มและเขาก็ได้ทดลองใช้งานอินเตอร์เน็ตดู สิ่งที่เขาเริ่มค้นหาคือ “เบียร์” และเขาก็ค้นพบว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศจีนในโลกอินเตอร์เน็ตเลย … Jack Ma ตัดสินใจเปิดเว็ปไซต์แรกของบริษัทแปรภาษาของเขาขึ้นเป็นเว็ปแรกของประเทศจีนและเพียงแค่ข้ามคืน อีเมล์จากต่างประเทศก็เริ่มทยอยเข้ามาติดต่อบริษัทของเขา … Jack Ma ตัดสินใจหยุดอาชีพครูของตัวเองเพื่อคว้าโอกาสนี้และเปิดธุรกิจที่สองของตัวเองขึ้นชื่อ China Pages ที่เป็นบริการรวบรวมข้อมูลบริษัทจีนเหมือน Yellow Pages ในโลกอินเตอร์เน็ต

 

Chapter Five : China is Coming on

Jack Ma จดทะเบียนบริษัทที่ 2 ของเขาร่วมกับ He Yibing เพื่อนอาจารย์ผู้สอนวิชา computer sceience ในมหาลัยเดียวกับเขาภายใต้ชื่อ Hangzhou Haibo Network Consulting (HHNC) และจดทะเบียนเว็ปไซต์ chinapages.com … ธุรกิจของพวกเขาเริ่มต้นด้วยการให้บริการจัดสร้าง website ให้กับธุรกิจต่างๆด้วยการส่งงานต่อไปยังบริษัท Virtual Broadcast Network (VBN) ที่เมือง Seattle … Jack Ma ทุมเทเงินสุดตัวพร้อมกับเกลี้ยกล่อมให้ครอบครัว เพื่อนและลูกศิษย์มาเป็นพนักงานพร้อมกับหาลูกค้าให้ … ในประเทศจีนขณะนั้น อินเตอร์เน็ตยังไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ลูกค้าของ China Pages ไม่สามารถเข้าถึงเว็ปไซต์ของตัวเองที่ลงทุนกว่า 2400 ดอลลาร์ในการสร้าง ถึงกระนั้น เรื่องเล่าความสำเร็จของลูกค้าที่ใช้บริการ China Pages ก็มีมากมาย ทั้งโรงแรมที่มียอดผู้เข้าพักเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและบริษัททนายความชาวจนที่มีลูกค้าต่างประเทศติดต่อมาอย่างมากมาย

หลังจากการเริ่มต้นนโยบายส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต (แบบควบคุม) ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของธุรกิจดิจิตอลทั้งของภารรัฐและเอกชนมากมาย … ในปี 1995 ระบบอินเตอร์เน็ตก็ได้เดินทางมาถึงเมืองหางโจว Jack Ma และ China Pages เริ่มสามารถโชว์เว็ปไซต์ของพวกเขาให้กับลูกค้าได้แล้ว (ถึงแม้ว่าจะต้องโหลดหน้าเว็ปนาน 3-4 ชั่วโมง) … Jack Ma ตัดสินใจเดินทางไปยกเลิกสัญญากับ VBN และกลับมาลงทุนตั้งเครื่องเซิฟเวอร์เองที่เมืองจีน … ธุรกิจของ Jack Ma เริ่มเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนในวงการธุรกิจและเทคโนโลยีต่างๆ … Jack Ma ได้ร่วมทุนกับบริษัทสื่อสารที่ถือหุ้นโดย state-owned enterprise ที่สุดท้ายจบลงด้วยการที่ Jack Ma ตัดสินใจลาออกในปี 1997 หลังจากที่เขาไม่สามารถทนแรงกดดันและการบีบบังคับของผู้ถือหุ้นหลักได้ … Jack Ma คิดว่าตัวเองเข้าสู่โลกของอินเตอร์เน็ตเร็วเกินไปและตัดสินใจกลับเข้าสู่วงจรมนุษย์เงินเดือนอีกครั้งด้วยการกลับไปทำงานให้กับกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ

 

Chapter Six : Bubble and Birth

Jack Ma ได้รับมอบหมายตำแหน่งผู้จัดการในบริษัท Infoshare ซึ่งเป็นบริษัทของกระทรวงที่รับหน้าที่สร้างเว็ปไซต์ต่างๆรวมถึงเว็ปไซต์ e-commerce รุ่นแรกๆในประเทศจีน … Jack Ma เสียเวลาไปกว่า 2 ปี ขณะที่นักธุรกิจออนไลน์คนอื่นๆได้เริ่มต้นสร้างบริการทางอินเตอร์เน็ตทั้งเว็ป portal (เลียนแบบความสำเร็จของ Yahoo) อีเมล์และอื่นๆอีกมากมาย … แต่โชคยังดีที่ในปี 1998 Jerry Yang หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Yahoo ได้ตัดสินใจเดินทางมายังประเทศจีนและ Jack Ma คือคนที่ได้รับมอบหมายให้นำพา Jerry Yang ไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆซึ่ง Jack Ma ก็รีบคว้าโอกาสนั้นพร้อมกับถ่ายรูปคู่กับ Jerry Yang หลายใบที่ต่อมาเขาได้ใช้รูปคู่นั้นสร้างเครดิตให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี … ในปี 1999 Jack Ma ได้ตัดสินใจเตรียมลาออกเพื่อเปิดบริษัทแห่งที่สามของตัวเอง

 

Jack Ma และ Jerry Yang หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Yahoo (ขอบคุณภาพจาก The National)

 

Jack Ma ตั้งชื่อธุรกิจใหม่ของเขาว่า “Alibaba” ตามชื่อของ Ali Baba ตัวละครจากเรื่อง Ali Baba and the Forty Thieves ผู้ที่แอบล่วงรู้คำลับในการเปิดประตูถ้ำสมบัติของกลุ่มโจรซึ่ง Jack Ma มองว่าบริษัท Alibaba ของเขาคือผู้ที่เปิดประตูให้กับชาวจีนชั้นกลางและล่างเข้าสู่เวทีการค้าขายระดับโลก แถมชื่อนี้ยังจำง่าย ผู้คนรู้จัก (Jack Ma สอบถามสาวเสิร์ฟคนหนึ่งในเมืองซานฟรานซิสโกว่าเธอรู้จัก Ali Baba ไหม หลังจากที่เธอคอนเฟิร์มว่ารู้จัก เขาก็ตระเวนถามคนในเมืองหลากหลายสัญชาติกว่า 30 คนจนได้คำตอบว่าทุกคนรู้จักกันหมด) และยังขึ้นต้นด้วยตัว A ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวแรกอีกด้วย !!

Alibaba เริ่มต้นโดยกลุ่มผู้ก่อตั้งทั้งหมด 18 คนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนและลูกศิษย์ของ Jack Ma ทั้งนั้น … Jack Ma มองเห็นโอกาสที่ยังหลงเหลือในโลกอินเตอร์เน็ตอยู่นั่นก็คือ e-commerce ของบริษัท SMEs และวางเป้าไว้ให้ Alibaba กลายมาเป็นเว็ปไซต์ที่พาสินค้าของจีนออกจากโรงงานไปค้าขายในตลาดระดับโลกแบบฟรีๆโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด … ความมั่นใจของ Jack Ma สะท้อนให้เห็นจากการที่เขาเลือกถ่ายวิดิโอการประชุมครั้งสำคัญของเหล่าผู้ร่วมก่อตั้งในอพาร์ทเม็นต์ Lakeside Gardens ของตัวเอง … ถึงกระนั้น Alibaba ก็มีคู่แข่งในประเทศอยู่หลายรายทั้งของเอกชนและรัฐบาล (เว็ปไซต์ที่ Jack Ma ได้สร้างขณะที่เขาเป็นผู้จัดการของ Infoshare) แต่ Jack Ma เชื่อว่าธุรกิจที่สนใจแต่การประจบเหล่านักการเมืองและสนใจแต่ชื่อเสียงตัวเองจะไม่มีทางสู้ธุรกิจที่สนใจลูกค้าอย่างเต็มที่ของเขาได้

 

Alibaba ในช่วงเริ่มต้น (ขอบคุณภาพจาก Xconomy)

 

เดือนพฤษภาคม ปี 1999 นักการเงินชาวไต้หวันอดีตนักเรียน Yale Law School นามว่า Joe Tsai ได้ตัดสินใจทิ้งงานรายได้สูงเพื่อกระโดดร่วมเรือ Alibaba ลำเดียวกับ Jack Ma หลังจากที่เขาได้ยินชื่อเสียงและเสน่ห์ของ “Jack Magic” มาได้ซักระยะ … Joe Tsai ได้กลายมาเป็นมือขวา นักการเงิน นักกฎหมายและ “วุ้นแปลภาษา” ให้กับ Jack Ma ในการตั้งต้น Alibaba ให้เป็นรูปเป็นร่างและเขาคนนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการระดมทุนของ Alibaba

 

Joe Tsai และ Jack Ma ในวัยหนุ่ม (ขอบคุณภาพจาก HK.on.cc)

 

Chapter Seven : Backers – Goldman and SoftBank

Jack Ma และ Joe Tsai ได้ออกทัวร์ไปยังเมืองซานฟรานซิสโกเพื่อขอระดมทุนจากเหล่านักลงทุนต่างๆในยุคที่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตกำลังเฟื่องฟู แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่แล้วฟองสบู่ dot com bubble ครั้งใหญ่ในแดนมังกรก็ได้เกิดขึ้นนั่นคือการระดมทุนในตลาด NASDAQ ได้กว่า 5 พันล้านเหรียญของเว็ปไซต์ portal ธรรมดาๆที่มียอดขายแค่ปีละ 4 ล้านดอลลาร์สหรัญ (แต่ดันมี) นามว่า China.com กลายมาเป็นสิ่งจุดประกายให้นักธุรกิจจีนคิดได้ว่า “ถ้า China.com ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้” (China.com ระดมทุนได้เยอะมากๆถึงขนาดที่กว่าบริษัทจะล้มละลายก็ปาไปตั้ง 11 ปี) พร้อมกับสายตาของนักลงทุนทั่วโลกที่เริ่มออกตามไล่ล่าธุรกิจออนไลน์ของจีนเพื่อลงทุนกันอย่างต่อเนื่อง โดย 3 บริษัท Portal ยักษ์ใหญ่ก็สามารถคว้าเงินลงทุนได้ตั้งแต่ 20 ถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐ

งานนี้ Joe Tsai ก็ได้โชว์ฝีมือและ connection ของเขาในการติดต่อเพื่อนของเขาที่เป็น investment banker ผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจเทคโนโลยีที่สร้างโดยคนท้องถิ่นจริงๆในแถบเอเชียของ Goldman Sachs ซึ่งเธอก็ได้มองเห็นวิสัยทัศน์ ทีมเวิร์คของ Alibaba และติดกับเสน่ห์ของ Jack Magic เข้าอย่างจังจนตัดสินใจร่วมทุนทั้งหมด 5 ล้านดอลลาร์ซึ่ง Jack Ma ได้ต่อรองเพื่อแลกกับหุ้น 50% ของ Alibaba (ต่อมาพบว่าผิดกฎของบริษัทในการถือหุ้นสัดส่วนสูงเกินไป Goldman Sachs จึงตัดสินใจแบ่งขายหุ้นออกไป 33% ให้กับกองทุนต่างๆรวมถึง Fidelity และ Venture TDF ที่ทั้งสองตัดสินใจถือหุ้นยาวจนสร้างกำไรมหาศาลหลัง IPO ในปี 2014)

หลังจากได้รับเงินทุน Jack Ma ได้ตัดสินใจเปิดออฟฟิซที่ฮ่องกงเพื่อเตรียมขายหุ้นให้กับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง … ภายในเดือนตุลาคม 1999 Alibaba มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 40,000 คน ซึ่งผู้ขายส่วนใหญ่ก็คือบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ หลายๆบริษัทไม่เคยมีโอกาสในการติดต่อค้าขายกับลูกค้าต่างชาติมาก่อนเนื่องจากไม่มีสายสัมพันธ์กับภาครัฐหรือมีตำแหน่งที่ตั้งที่ห่างไกลเกินไป … การเติบโตของ Alibaba ยังได้รับการเอื้ออำนวยจากสถานที่ตั้งอย่างเมืองหางโจวที่อยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้ 2 ชั่วโมงทำให้พนักงานท้องถิ่นไม่ค่อยเปลี่ยนงานแถมยังมีค่าจ้างที่ถูกกว่ามาก … Jack Ma มักเลือกคน (Ali People) ที่จบมาประมาณอันดับที่ 3-4 ของห้องซึ่งเป็นผู้ที่พร้อมทำงานหนักแบบสุดๆวันละ 16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุดด้วยเงินเดือนที่ต่ำมากแลกกับการให้สิทธิ์ถือหุ้น… ประโยคเด็ดที่ Jack Ma นำมาใช้สร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มลูกน้องของเขาคือ “Today is brutal, tomorrow is more brutal, but the day after tomorrow is beautiful. However, the majority of people will die tomorrow night. They won’t be able to see the sunshine the day after tomorrow. Aliren (Ali People) must see the sunshine the day after tomorrow.”

ในไม่กี่สัปดาห์ถัดมาหลังจาก Goldmans Sachs และพันธมิตรได้ซื้อหุ้นสัดส่วน 50% ของ Alibaba ดีลครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมก็ได้เกิดขึ้นโดยมีประธาน Goldman Sachs ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุน นั่นคือ การเจรจาร่วมทุนระหว่าง Alibaba กับ Softbank บริษัทไอทียักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นของ Masayoshi Son ผู้ที่มีความ “บ้า” คลายกับตัว Jack Ma อยู่แล้ว (ดีลนี้กำลังทำให้ Masayoshi Son กลายมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น – ตอนนี้ Tadashi Yanai จาก Uniqlo แซงไปแล้ว) ซึ่งจบลงด้วยการเจรจาระดมทุนหุ้นเพิ่มอีก 30% ด้วยเงินลงทุนกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (Jack Ma ต่อรองสัดส่วนการถือหุ้นลงจาก 40% ได้สำเร็จ) ที่ทำให้มูลค่าของ Alibaba พุ่งสูงขึ้นจาก 10 ล้านดอลลาร์เป็นกว่า 67 ล้านดอลลาร์ (Goldman Sachs กำไรเกือบ 4 เท่าในไม่กี่สัปดาห์ !!)

ความสำเร็จของการระดมทุนทั้ง 2 ครั้งทำให้ Alibaba และ Jack Ma กลายมาเป็นหนึ่งใน Talk of the town ของทั่วโลกรวมถึง Silicon Valley … Jack Ma ฉวยโอกาสนี้ในการดึงตัว John Wu ผู้บริหารของ Yahoo ให้มารับตำแหน่ง Chief Technology Office และคุมออฟฟิซ R&D ในแคลิฟอเนียร์ด้วยเงินเดือนที่ต่ำลงครึ่งหนึ่ง … John Wu ได้เข้ามาปลดแอกความกังวลของ Jack Ma เรื่องที่เขาไม่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ออกไป

ปัจจัยที่สำคัญในการดึงดูดให้นักลงทุนทั้ง 2 สถาบันเลือกลงทุนใน Alibaba คือ business model ที่แตกต่าง (ไม่ก็อปปี้จาก Yahoo เหมือน 3 portal ยักษ์ใหญ่) และการนำทีมโดยคนจีนท้องถิ่นแท้ๆที่ไม่เคยไปเรียนต่อเมืองนอกแบบ 100%

 

Jack Ma และ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้ง Softbank (ขอบคุณภาพจาก Bloomberg)

 

Chapter Eight : Burst and Back to China

ในเวลาเพียงปีกว่าๆ Alibaba ก็มียอดสมาชิกใหม่รายวันไม่ต่ำกว่า 1000 คน … การเชื่อมต่อผู้ผลิตในประเทศจีนกับตลาดโลกนั้นเป็นไอเดียที่ดีเลิศ และแน่นอนว่าคู่แข่งหลายรายก็เริ่มเติบโตขึ้นเช่นกัน … การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Alibaba พร้อมกับการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้ Alibaba ใช้เงินอย่างเมามันส์ในการจ้างพนักงานเพิ่มอย่างต่อเนื่องและนั่นทำให้ Jack Ma มีแนวคิดที่จะเปิดขายหุ้น IPO ในสหรัฐอเมริกา แต่แล้วฟองสบู่ dotcom ที่พองตัวอยู่นานก็ถึงจุดแตกดับ

หลังจากยอดดอยในเดือนมีนาคม 2000 ดัชนี NASDAQ ก็ได้ล่วงลงมาต่อเนื่องติดต่อกันยาวนานกว่า 2 ปี เป็นอันสิ้นสลายยุคทองของธุรกิจ dotcom ของทั่วโลก … Jack Ma มองฟองสบู่แตกครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะเติบโตในช่วงที่ Alibaba ยังมีเงินเหลือจากการระดมทุนอีกกว่า 20 ล้านดอลลาร์ ขณะที่คู่แข่งหลายรายหมดสิทธิ์ที่จะระดมทุนไปอีกนาน

Alibaba สร้างฟองสบู่ของตัวเองขึ้นมาด้วยการจ้างงานอย่างหนักโดยเฉพาะกลุ่มพนักงานต่างชาติเงินเดือนสูงพร้อมๆกับการใช้งบการตลาดลงโฆษณาอย่างต่อเนื่องทั้งในจีนและอเมริกา … ถึงกระนั้นโมเดลการหารายได้ทางการโปรโมตและช่วยสร้างเว็ปไซต์ให้กับผู้ขายของ Alibaba ยังคงไม่สามารถสร้างยอดขายมาทัดเทียมกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆได้ ขณะเดียวกันคู่แข่งรายใหญ่อย่าง MeetChina ที่ได้ระดมทุนไปกว่า 40 ล้านดอลลาร์ก็กำลังสร้างฐานผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่องและยังมีคู่แข่งอีกรายอย่าง Global Sources ที่เปิดขายสินค้า B2B แบบออนไลน์ต่อยอดจากธุรกิจเดิมคือการขายสินค้า B2B ผ่านแคตาล็อก ประกอบกับปัญหาด้านการทำงานไม่ลงตัวกันทั้งด้านเวลาและภาษาระหว่างพนักงานที่แคลิฟอเนียร์กับเมืองจีน ทำให้ Jack Ma ตัดสินใจเปิดกลยุทธ์ใหม่คือ “Back to China” พร้อมกับจ้างขุนพลคนสำคัญอีกคน นั่นคือ Savio Kwan วัย 52 ปีจาก GE มาเป็น COO

Savio Kwan เริ่มทำการตัดรายจ่ายของ Alibaba ออกเกือบครึ่งทั้งการยกเลิกว่าจ้างพนักงานต่างชาติเงินเดือนสูงและย้ายกำลังพลมาจ้างคนท้องถิ่นในเมืองหางโจวแทนและเริ่มพยายามหารายได้จากหลายๆทางมากขึ้น เช่น การสร้างเว็ปไซต์ Gold Supplier ที่เป็นเหมือนแคตตาล็อกออนไลน์สำหรับสินค้า B2B โดยชาร์จค่าสมาชิกต่อปีในราคาที่ต่ำเพื่อแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิมอย่าง Global Sources … ในช่วง 2-3 ปีหลังจากฟองสบู่แตก Alibaba ต้องล้มลุกคลุกคลานอย่างต่อเนื่อง Jack Ma เคยแม้แต่กระทั่งคิดจะถอนใจแล้วกลับไปเป็นครูอีกครั้ง แต่สุดท้ายด้วยนโยบายการลดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มยอดขายทีละนิดๆก็ทำให้ Alibaba อยู่รอดไปได้

 

Chapter Nine : Born Again – Taobao and  the Humiliation of eBay

หลังจาก eBay ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดอเมริกาพร้อมกับความสำเร็จในการ IPO ในเดือนกันยายน 1998 จนสามารถดันมูลค่าบริษัทขึ้นเป็น 30 พันล้านดอลลาร์ ทำให้เหล่าธุรกิจ internet จากประเทศจีนต่างก็อปปี้โมเดลธุรกิจนี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่สุดในช่วงต้นปี 2000 ก็คือ EachNet ของบัณฑิต Harvard Business School อย่าง Shao Yibo

Shao Yibo กลับมายังเมืองจีนในวัย 26 ปีมาก่อตั้งบริษัท online auction แบบ C2C ของจีนในปี 1999 ด้วยต้นทุนที่จำกัดไม่แตกต่างจาก Jack Ma และ EachNet ก็ประสบความสำเร็จในการระดมทุนในช่วงที่ฟองสบู่ dotcom ได้แตกแล้วได้กว่า 20 ล้านดอลลาร์ … ถึงกระนั้น ธุรกิจประมูลและขายของออนไลน์ระหว่างผู้บริโภคในประเทศจีนกับอเมริกานั้นมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ที่จีนนั้นบุคคลทั่วไปยังอยู่ในสภาพที่ตัวเองยังไม่ค่อยมีสินทรัพย์หรือของใช้แล้วมาขายให้กันแต่อย่างใด แถมด้วยระบบการขนส่งสินค้าและระบบการจ่ายเงินที่ยังไม่น่าเชื่อถือ ในปี 2000 บัตรเครดิตและเดบิตของธนาคารจีนยังไม่มีการรวมให้ใช้งานร่วมกันได้เลย (รัฐบาลแก้ไขได้ในปี 2002 ด้วยระบบ UnionPay ที่ปัจจุบันมีใช้กันทั่วโลกแล้ว) ช่วงแรกเริ่ม Each Net ถึงกับต้องตั้งบูธทั่วเซี่ยงไฮ้เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันแบบตัวเป็น ทำให้ EachNet ต้องใช้ระบบการจ่ายเงินตอนรับสินค้า (Cash on Delivery) และระบบการจ่ายเงินแบบ escrow ที่ EachNet จะเก็บเงินของผู้ซื้อไว้จนกว่าจะได้รับสินค้าซึ่งระบบนี้มีค่าใช้จ่าย 3% ทำให้ไม่ค่อยมีคนใช้งาน … นอกจากนั้นปัญหาที่สำคัญอีกอย่าง คือ ปัญหาการสร้าง trust ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทั้งระบบการให้คะแนนผู้ขายที่สามารถปั่นคะแนนได้ไม่ยากและระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้าซึ่งถ้าจะทำสองอย่างนี้ให้ดีได้ EachNet ต้องระดมคนและทุนมหาศาล ช่วงแรกเริ่ม Each Net ถึงกับต้องตั้งบูธทั่วเซี่ยงไฮ้เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันแบบตัวเป็นๆ … ด้วยปัญหาที่รุมเร้า การขาดทุนอย่างต่อเนื่องและแหล่งเงินทุนที่ร่อยหรอหลังฟองสบู่แตกทำให้ Shao Yibo มองว่าการสร้าง eBay of China ที่ดีที่สุดคือการขาย EachNet ให้กับ eBay ไปซะเลย

หลังจากพ่ายแพสงคราม e-Commerce ให้กับ Yahoo Japan ที่มี Masayoshi Son ร่วมทุน Meg Whiteman และ eBay ได้ตัดสินใจหันหน้าเข้าบุกประเทศจีนอย่างเต็มกำลังด้วยการลงทุน 33% ใน EachNet ที่มีผู้ใช้งานต่อวันมากกว่า 1 แสนคนพร้อมส่วนแบ่งการตลาด consumer e-commerce ทั้งหมด 90% ด้วยเงินลงทุน 30 ล้านดอลลาร์ในปี 2002 และต่อมาได้ทำการเทคโอเวอร์ทั้งบริษัทในอีก 15 เดือนต่อมาด้วยมูลค่ารวม 180 ล้านดอลลาร์ … การเทคโอเวอร์ของ eBay นำพามาสู่การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร EachNet ทำให้ entrepreneurial spirit ของ พนักงานลดลงพร้อมกับการที่ Shao Yibo ได้ย้ายบ้านกลับไปอยู่สหรัฐอเมริกา … และในเวลาไม่ถึง 2 ปีต่อมา eBay ก็จะกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์และบันไดให้ Jack Ma และธุรกิจใหม่ของเขาครองแผ่นดินจีน

Jack Ma เริ่มมีแนวคิดการสร้างเว็ปไซต์ consumer e-commerce หลังจากที่เขาเกรงว่า eBay จะขยายตลาดเข้ามาแข่งขันในตลาด B2B กับ Alibaba … Jack Ma ได้เกณฑ์พนักงานกลุ่มหนึ่งที่ไว้ใจได้เท่านั้นมารวมตัวกันในอพาร์ทเม็นต์เพื่อทำงานสร้างเว็ปไซต์ซึ่งเป็นโปรเจ็คลับของ Alibaba โดยเขาได้ตั้งชื่อเว็ปไซต์นั้นว่า Taobao.com ที่มีความหมายว่า “การล่าสมบัติ” ในปี 2002 โดยเขามั่นใจว่า Taobao จะต้องเอาชนะ eBay ได้แน่นอนเพราะว่า “eBay wants to buy the Chinese market, but we want to create China’s Internet trading market” พร้อมกับเงินลงทุนเพิ่มเติมกว่า 80 ล้านดอลลาร์จาก Masayoshi Son คนเดิม … ระหว่างที่ Taobao.com กำลังเป็นรูปเป็นร่าง ไวรัส SARS (severe acute respiratory syndrome) ก็ได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศจีนพร้อมกับการกักกันตัวเองอยู่ในบ้านของพนักงาน Alibaba หลายคน ไวรัส SARS กลายมาเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจอินเตอร์เน็ตและ e-commerce หลังจากที่ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงประโยชน์ของการใช้งานอินเตอร์เน็ตและการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์

ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2003 เว็ปไซต์ Taobao.com ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมกับการวางกลยุทธ์ guerilla marketing ด้วยการโปรโมตผ่านเว็ปไซต์ขนาดเล็กเพื่อแข่งกับการโปรโมตยักษ์ใหญ่ของ eBay พร้อมกับการให้พนักงานช่วยกันโพสต์และซื้อขายสินค้ากันเองตลอดเวลา … พนักงานของ Alibaba ถึงกับตกใจคิดว่า Alibaba กำลังจะมีคู่แข่งรายใหม่ จนกระทั่ง Jack Ma เฉลยว่า Taobao คือโปรเจ็คลับของ Alibaba ในอีก 1 เดือนต่อมา … และในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 Masayoshi Son ก็อัดฉีดเงินลงทุนให้กับ Taobao อีก 82 ล้านดอลลาร์พร้อมกับการที่ Goldman Sachs ตัดสินใจขายหุ้น Alibaba ทิ้งพร้อมกับคว้ากำไรเหนาะๆไป 7 เท่า (ถ้าถือต่ออีก 10 ปีจะได้กำไรเพิ่มเป็น 400 เท่า)

ปัจจัยที่ส่งผลให้ Taobao สามารถเอาชนะ eBay EachNet ได้สำเร็จประกอบไปด้วย

  1. Built by Chinese for Chinese: eBay นำเอารูปแบบการ design จากชาติตะวันตกที่มีความเรียบง่ายมาใช้ตรงกันข้ามกับ Taobao ที่ใช้ความเข้าใจพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของชาวจีนทำให้การออกแบบเว็ปไซต์นั้นเต็มไปด้วยข้อมูล ภาพกราฟฟิคและหน้าต่างวุ่นวายเต็มไปหมดซึ่งแน่นอนว่าชาวจีนชอบมากกว่า นอกจากนั้น Taobao ยังได้ออกบริการ AliWangwang ซึ่งเป็นระบบแชทที่เปิดให้ลูกค้าพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าได้แบบเรียลไทม์ตรงกับพฤติกรรมการต่อรองราคาตามปกติของชาวจีน
  2. Free Business Model: eBay เลือกที่จะคิดค่า commission จากการซื้อขายแต่ละครั้ง แต่ Alibaba และ Taobao เลือกใช้โมเดลฟรีไม่มีคิดค่าใช้จ่ายมาตลอด ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องดึงดูดพ่อค้าแม่ค้าได้มากกว่าแถมยังไม่ต้องกังวลว่าพ่อค้าแม่ค้าจะทำการติดต่อซื้อขายกับลูกค้าเองนอกเว็ปไซต์ด้วย ซึ่ง eBay เคยบอกไว้ว่า “ฟรีไม่ใช่ธุรกิจที่ยั่งยืน” แต่สุดท้าย eBay ก็ตัดสินใจยกเลิกการชาร์จค่า commission
  3. Alipay: ในเดือนตุลาคม 2003 หลังจากการเปิดตัว Taobao 5 เดือน Alibaba ก็ได้เปิดให้บริการ Alipay ซึ่งเป็นระบบการจ่ายเงินแบบ escrow system แบบง่ายๆที่เริ่มต้นด้วยวิธีการที่ Alibaba ให้ลูกค้าแฟกซ์สลิปโอนเงินมาให้ก่อนที่จะไปเช็คกับทางธนาคารแล้วจึงคอนเฟิร์มการจ่ายเงินให้กับพ่อค้าแม่ค้าหลังจากที่ลูกค้าได้รับสินค้าแล้ว … ส่วน eBay ที่เป็นเจ้าของ PayPal กลับไม่สามารถใช้งานระบบได้เนืองจากติดปัญหาทางกฎหมาย หนำซ้ำ eBay ยังได้ทำการสร้างระบบการจ่ายเงินอีกระบบซึ่งสุดท้ายพอ PayPal ใช้งานได้ การใช้งานที่ต้องผ่านทั้ง 2 ระบบก็ได้ทำให้ลูกค้าไม่พอใจกับการบริการของ eBay จำนวนมาก
  4. eBay’s Biggest Mistake: eBay ตัดสินใจย้ายเซิฟเวอร์ของ eBay EachNet กลับไปยังสหรัฐอเมริกาซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้งานต้องรับส่งข้อมูลผ่าน “Great Firewall of China” ระบบควบคุมข้อมูลของรัฐบาลทำให้การใช้งานเว็ปไซต์ช้าแถมชื่อผู้ใช้งานหลายคนยังโดนแบนไปแบบดื้อๆอีกด้วย (ชื่อห้ามมี 3 T เด็ดขาด ได้แก่ Tibet, Taiwan และ Tiananmen) … ระบบการสื่อสารและแก้ปัญหาภายใน eBay ยังมีความล่าช้าซึ่งกว่า CEO Meg Whitman จะรู้ปัญหาก็สายเกินไปแล้ว … Jack Ma ยังเคยบอกไว้เลยว่า Alibaba “โชคดี”

สุดท้ายหลังจากที่ eBay อัดฉีดเงินอีกกว่า 100 ล้านดอลลาร์ในตลาดจีน eBay ก็ตัดสินใจขายธุรกิจทิ้งให้กับกองทุนแห่งหนึ่งก่อนที่ EachNet จะตายจากไปอย่างเงียบๆในที่สุด พร้อมๆกับการที่ Jack ได้กลายมาเป็นฮีโร่แห่งประเทศจีนพร้อมกับประโยคเด็ดที่ว่า “eBay may be a shark in the ocean, but I’m a crocodile in the Yangtze River. If we fight in the ocean, we lose, but if we fight in the river, we win”

 

Jack Ma เวอร์ชั่นชาวร็อคในงานฉลองครบรอบ 10 ปีของ Alibaba (ขอบคุณภาพจาก Time Magazine)

 

Chapter Ten : Yahoo’s Billion-Dollar Bet

Yahoo เว็ปไซต์ portal ที่เคยมีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกเริ่มต้นขึ้นโดยนักศึกษาปริญญาเอกมหาลัย Stanford ชาวไต้หวันนามว่า Jerry Yang และผู้ช่วยอาจารย์ซึ่งต่อมากลายมาเป็นเพื่อนซี้ของเขานามว่า David Filo … ปี 1995 ทั้งสองคนเริ่มต้นตั้งเว็ปไซต์รวบรวมลิ้งค์ของเว็ปไซต์ที่น่าสนใจต่างๆภายใต้ชื่อ Jerry’s Guide to the World Wide Web ก่อนมาเปลี่ยนชื่อเป็น Yahoo ซึ่งต่อมามีผู้เข้าใช้งานนับล้านคนต่อวันและสามารถระดมทุน 2 ล้านดอลลาร์ได้จาก Sequoia Capital และได้เงินทุนก้อนใหญ่อีกรอบในปลายปี 1995 กว่า 100 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้น 41% จาก Softbank ของ Masayoshi Son ซึ่งได้นำเอา Yahoo ไปเปิดในญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จอีกประเทศ

Yahoo เริ่มคิดเข้ามาในตลาดจีนในช่วงปี 1999 ด้วยการร่วมทุนกับบริษัทที่เป็นบริษัทย่อยของรัฐบาล ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับช่วงที่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตกำลังบูมพร้อมๆกับการระดมทุนสำเร็จของ 3 เว็ปไซต์ portal ท้องถิ่นของจีนอย่าง Sina, Sohu และ NetEase ซึ่งสุดท้าย Yahoo ก็ไม่สามารถต่อสู้กับเว็ปไซต์ท้องถิ่นที่มี content ถูกใจชาวจีนมากกว่าได้ … ต่อมา Yahoo ก็ได้เข้าซื้อกิจการ 3721 เว็ปไซต์ยอดนิยมอันดับ 4 ของประเทศจีน ผู้ให้บริการ search engine ภาษาจีนและอีเมล์ ซึ่งก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าหลังจากกระบวนการทำงานไม่ลงรอยกัน … แต่ถึงกระนั้น Yahoo ก็กำลังจะกลายเป็นผู้มีบทบาทในการผลักดันหนึ่งในเว็ปไซต์น้องใหม่อย่าง Alibaba ขึ้นไปยืนเป็น “สามก๊กแห่ง BAT” ของธุรกิจอินเตอร์เน็ตของจีนได้สำเร็จเคียงคู่กับ Baidu และ Tencent

Tencent คือเจ้าแห่ง content สำหรับโทรศัพท์มือถือและเกมส์ออนไลน์ … Ma Huateng หรือ Pony Ma (แปลว่า “ม้า” ทั้งสองคำ และไม่ได้เป็นฐาติกับ Jack Ma แต่อย่างใด) เริ่มต้นจากการทำงานในตำแหน่ง software developer ก่อนที่เขาจะเปิดบริษัท Tencent (ราคาการส่ง sms ต่อครั้งในสมัยนั้น) ในปี 1998 พร้อมกับโปรแกรมแชทยอดฮิตอย่าง QQ และธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทอย่างตลาดเกมส์ออนไลน์ MMORPG หลากหลายเกมส์ … ความสำเร็จล่าสุดของ Tencent คือ WeChat ที่กลายมาเป็น instant messenger อันดับหนึ่งของจีน … Tencent มีมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Baidu เริ่มก่อตั้งในปี 2000 โดย Robin Li และ Dr. Eric Xu … Robin Li คือเด็กชายอัจฉริยะผู้ที่ได้รับทุนไปเรียนต่อด้าน computer science ในสหรัฐอเมริกาก่อนที่เขาจะคิดค้น algorithm ในการ search ข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตและกลับมาเปิดเว็ปไซต์ search engine อันดับหนึ่งของประเทศจีนตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา … Baidu มีมูลค่าประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Yahoo เริ่มประสบปัญหาสั่นคลอนหลังจากที่คู่แข่งรายใหม่อย่าง Google ของรุ่นน้อง Stanford อย่าง Larry Page และ Sergey Brin ผู้ที่เคยเสนอขายบริษัทให้กับ Yahoo แต่ถูกปฎิเสธไป ซึ่งต่อมา Yahoo ก็ได้ทำพลาดครั้งใหญ่ในการทำสัญญาให้ Google เปิดให้บริการ search engine ในเว็ปไซต์ของ Yahoo โดยมีโลโก้ของ Google แสดงแบบเต็มๆ

Yahoo เริ่มออกมองหาพาร์ทเนอร์จีนรายใหม่ โดยเริ่มต้นที่ Sina เว็ปไซต์ portal อันดับ 1 ของจีนซึ่งถูกทางการจีนแบนไม่ให้ร่วมทุนกัน ทำให้สุดท้าย Jerry Yang เลือกทำข้อตกลงกับคนคุ้นเคยอย่าง Jack Ma ด้วยการลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์แลกกับหุ้น 40% ของ Alibaba ถึงแม้ว่า Alibaba ยังไม่มีผลประกอบการที่เป็นกำไรเลยซักปี … เงินลงทุนก้อนนี้ของ Yahoo เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่ใช้จุดจรวด Taobao และ Alipay ให้กลายมาเป็นเจ้าตลาดและเขี่ย eBay ออกจากประเทศจีนได้สำเร็จ (ดีลนี้ยังเป็นการยก Yahoo China ที่เปิดให้บริการ content และ search engine ให้กับ Alibaba ด้วย แต่สุดท้าย Jack Ma ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญจน Yahoo China ตกกระป๋องแพ้ Baidu อย่างราบคาบ)

ฉากสุดท้ายของ Yahoo ในประเทศจีนยิ่งย่ำแย่ถึงขีดสุดเมื่อ Yahoo ยอมเปิดเผยข้อมูลอีเมล์ของนักข่าวที่เตรียมเปิดโปงรัฐบาลจีนเรื่องแผนการป้องกันปัญหาความวุ่นวายในวันครบรอบเหตุการณ์เทียนอันเหมินซึ่งส่งผลให้ Shi Tao นักข่าวคนนั้นถูกจองจำในคุกถึงเกือบ 10 ปี … Jerry Yang โดนต่อต้านอย่างหนักและสุดท้ายต้องยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวนักข่าวอย่างมาก … บริษัทอินเตอร์เน็ตต่างชาติยักษ์ใหญ่อย่าง eBay, Yahoo และล่าสุดอย่าง Google ที่ถอนตัวออกจากประเทศจีนหลังโดนบังคับให้ควบคุมสื่อ แสดงให้เห็นว่าการจะประสบความสำเร็จในจีนต้องใช้คนท้องถิ่นเพียงเท่านั้นในช่วงทศวรรษนี้

 

Chapter Eleven : Growing Pains

หลังจากที่ Baidu และ Tencent ต่างคว้าการลงทุนจากต่างชาติจนมูลค่าบริษัทพุ่งสูงในระดับ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2007 … ก็ถึงคราว Alibaba และ Jack Ma จะเริ่ม IPO กับเขาบ้าง

ในเดือนพฤศจิกายน 2007 Jack Ma ได้ตัดสินใจเปิดขายหุ้น IPO ในส่วนของ Alibaba.com ที่เป็นเว็ปไซต์ B2B ของเครือในตลาดหุ้นฮ่งกงด้วยราคามูลค่าบริษัทสูงถึง 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งวันเปิดตัวราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นไป 3 เท่าก่อนจะค่อยๆตกลงมาในเวลาต่อมา … Jack Ma เลือกที่จะขายหุ้นที่เครือ Alibaba Group ถือ Alibaba.com เพื่อนำเงินที่ระดมได้กว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ส่วนใหญ่ไปอัดฉีดให้กับ Taobao.com ซึ่งกำลังเป็นดาวดวงใหม่ของบริษัทที่มีฐานผู้ใช้งานสูงถึง 30 ล้านคนในปี 2006 และเติบโตเกือบๆ 6 เท่าในเวลาแค่ 3 ปี … เขายังระดมหุ้นของพนักงานที่ถือไว้ตั้งแต่ช่วงสร้างบริษัทมาขายให้กับนักลงทุนทั่วไปเพื่อให้พนักงานเริ่มสัมผัสถึงความสำเร็จของตัวเอง (ในเวลาต่อมา Alibaba ก็ตัดสินใจถอนหุ้นออกจากตลาด)

ต่อมาวิกฤติ Subprime crisis ก็รุกลามมากระทบกับตลาดทั่วโลกเข้าอย่างจัง หุ้นของ Alibaba.com นั้นร่วงลงมาต่ำกว่าราคา IPO ในเวลาไม่ถึงปี … Jack Ma คว้าโอกาสนี้ลดราคาค่าบริการต่างๆที่ Alibaba และ Taobao เก็บกับลูกค้าลงและสามารถสร้างฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นได้ทดแทน ซึ่งยิ่งสร้างให้ชาวจีนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆหันมาจับจ่ายใช้สอยในอินเตอร์เน็ต

ถึงกระนั้นปัญหาลูกใหญ่ก็กำลังเกิดขึ้น เมื่อ Microsoft กำลังให้ความสนใจในการซื้อหุ้นของ Yahoo ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลจีนที่เป็นปรปักษ์กับยักษ์ใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์ต้องออกอาการไม่พอใจ แต่ปัญหาก็คลี่คลายเมื่อ Jerry Yang ตัดสินใจไม่ขายหุ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็นำไปสู่การประท้วงของนักลงทุน Yahoo ที่ทำให้ Jerry Yang โดนเด้งออกจากตำแหน่ง CEO พร้อมกับการขึ้นมารับตำแหน่งของ Carol Bartz ผู้ซึ่งมีความเป็นปรปักษ์กับ Jack Ma อย่างถึงที่สุดจนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง Yahoo กับ Alibaba ย่ำแย่ลง

มิหนำซ้ำ ปัญหาอีกลูกก็มาเยือนเมื่อ Alibaba.com พบว่าพนักงานจำนวนหนึ่งเอื้ออำนวยให้ร้านค้าโกงลูกค้ามาอย่างยาวนานซึ่งกลายมาเป็นเรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่ Jack Ma ตัดสินใจกวาดล้างพนักงานโกงทั้งหมดพร้อมๆกับการขอให้ CEO ของ Alibaba.com ลาออก … เหตุการณ์นี้ทำให้ Jack Ma เริ่มออกกวาดล้างการคดโกงอย่างต่อเนื่องและค้นพบปัญหามากมายทั้งที่ Alibaba.com และ Taobao

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อเสียงของ Alibaba ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ การประกาศจากทาง Yahoo ว่า Jack Ma ได้แอบซื้อธุรกิจ Alipay จาก Alibaba Group เข้าไปยังบริษัทใหม่ที่เขาถือหุ้น 80% ในราคาเพียง 50 ล้านดอลลาร์ (หลายคนประเมินว่าขณะนั้น Alipay มีมูลค่าหลักพันล้าน) … ข่าวนี้ทำให้หุ้น Yahoo มูลค่าร่วงอย่างต่อเนื่องพร้อมกับปัญหาความขัดแย้งของ Alibaba กับทั้ง Yahoo และ Masayoshi Son … โดย Jack Ma อ้างว่าเขาทำไปเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านนโยบายการควบคุมบริษัททางการเงินของรัฐบาลจีน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีกฎหมายใดๆที่ระบุข้อจำกัดเหล่านั้นอย่างชัดเจน แถมราคาซื้อก็ยังต่ำกว่ามูลค่าจริงอีกเยอะ … สุดท้าย Alibaba และ Yahoo ก็สามารถตกลงกันได้ ทั้งการตกลงซื้อหุ้นบางส่วนของ Alibaba คืนและการรักษาอำนาจในการตัดสินใจให้อยู่กับตัว Jack Ma และ Joe Tsai มากกว่า Yahoo และ Softbank เพื่อปูทางให้ Alibaba สามารถทำการ IPO ครั้งที่สองที่ยิ่งใหญ่กว่าครั้งแรกหลายเท่าตัวได้สำเร็จ

 

Chapter Twelve : Icon or Icarus ?

ในเดือนสิงหาคม 2014 Jack Ma ก็ได้พา Alibaba มาเปิดขายหุ้นในตลาด New York Stock Exchange ได้สำเร็จและ BABA ก็เป็นหุ้นที่มีมูลค่า IPO สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยการระดมทุนกว่า 25 พันล้านดอลลาร์เพื่อแลกกับหุ้น 12% ของ Alibaba Group (Alibaba พยายามจดทะเบียนที่ตลาดฮ่องกงแต่ต้องยกเลิกไปเนื่องจากโครงสร้างการบริหารงานของ Alibaba ที่ยกอำนาจให้กลุ่มผู้บริหารที่เรียกว่า Alibaba Partnership เป็นเสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจขัดกับหลักเกณฑ์ของตลาดหุ้นฮ่องกง ส่วนในอเมริกามีบริษัทเทคโนโลยีหลายรายใช้รูปแบบการบริหารแบบเดียวกัน) … ซึ่งราคาหุ้นที่เปิดตัวไปวันแรกก็พุ่งสูงขึ้นจากราคา IPO กว่า 25% ก่อนที่จะค่อยๆตกลงมาเรื่อยจนต่ำกว่าราคา IPO ในที่สุดจากปัญหาต่างๆซึ่งเริ่มต้นจากความขัดแย้งระหว่าง Alibaba และหน่วยงานของรัฐบาล

ในเดือนมกราคม 2015 องค์กร State Administration for Industry and Commerce (SAIC) ได้ออกมาเปิดเผยว่า Alibaba ละเลยการค้าขายสินค้าเถื่อนผิดกฎหมายในสัดส่วนที่สูงมากส่งผลให้หุ้นของ Alibaba ร่วงอย่างหนักพร้อมกับสงครามสาดสีไปมาระหว่าง 2 ฝ่ายซึ่งสุดท้ายจบลงด้วยการที่ Jack Ma บินไปติดต่อกับ SAIC โดยตรงเพื่อหาทางออกร่วมกัน นโยบายการดำเนินงานของ Jack Ma ร่วมกับรัฐบาลจีนนั้นอยู่ในระดับที่ Alibaba จำเป็นต้องยอมตามหรือช่วยเหลือรัฐบาลในหลายๆครั้ง ซึ่ง Jack Ma เองก็พยายามตีสนิทกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีโอกาสเติบโตในอำนาจซึ่งเขาเองก็เคยพา Xi Jinping ประธานพรรคคอมมิวนิสต์มาเยี่ยม Alibaba ตั้งแต่สมัยที่ Xi Jinping ยังดำรงตำแหน่งแค่เลขาธิการพรรคเท่านั้น

ส่วนปัญหาการขายสินค้าเถื่อนนั้น Jack Ma มองว่า e-Commerce ถึงแม้จะเป็นการช่วยส่งเสริมการขายสินค้าเถื่อนที่สะดวกขึ้นแต่ก็เป็นหนทางที่สามารถจำกัดการขายของเถื่อนได้ดีที่สุดเช่นกัน ถึงแม้ร้านค้ากว่า 9 ล้านจะมีเพียง 1% ที่เป็นพ่อค้าของเถื่อน แต่นั่นก็เท่ากับว่ามีร้านค้ากว่า 9 หมื่นรายที่เป็นผู้กระทำความผิด … Alibaba ได้จัดตั้งทีมป้องกันการขายของเถื่อนขึ้นมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ประสบการณ์สูงหลายคน พร้อมกับการเพิ่มระบบแสดงตัวตนของพ่อค้าให้รัดกุมมากขึ้นเพื่อปกป้องให้ร้านค้าที่โดนแบนกลับมาขายของใหม่ได้ อาทิ การบังคับให้เจ้าของร้านถ่ายรูปพร้อมกับหนังสือพิมพ์ฉบับวันนั้นพร้อมทำท่าทางที่ถูกตั้งให้แตกต่างกันไปในแต่ละวัน … ถึงกระนั้นปัญหาการขายของเถื่อนก็ยังไม่หมดไปนำพามาสู่การฟ้องร้องหรือร้องเรียนจากหน่วยงานต่างๆทั่วโลก … อีกปัญหาที่ปวดหัวไม่แพ้กันก็คือการปั่นความนิยมของพ่อค้าต่างๆผ่านการออกออเดอร์ขายของกันแบบปลอมๆที่ร้านค้าว่าจ้างบริษัทจำพวก Click farming เพื่อปั่นคะแนนความนิยมของร้านค้าซึ่ง Alibaba วัดจำนวนออเดอร์ของร้านค้านั้นๆเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของ algorithm

คู่แข่งเบอร์ 1 ของ Alibaba ในปัจจุบันคือ JD.com ซึ่งทำธุรกิจ e-commerce ในรูปแบบเดียวกับ Amazon คือการที่ JD เป็นเจ้าของสินค้าของตัวเองทั้งหมดรวมถึงศูนย์กระจายสินค้าและการบริการด้านการขนส่งด้วย ซึ่งแน่นอนว่า JD สามารถอ้างได้ว่าสินค้าจะมีคุณภาพที่ดีกว่าและจัดส่งได้อย่างมั่นใจ … JD.com ยังได้รับการลงทุนจาก Tencent ที่กำลังก้าวเท้าเข้ามาแข่งกับ Alibaba ในแทบทุกวงการ โดยอาศัยแรงขับเคลื่อนสำคัญอย่าง WeChat ที่มียอดผู้ใช้งานกว่า 650 ล้านคนในการเปิดให้บริการต่างๆที่นอกเหนือจาก instant messenger อาทิ การโอนเงินและการขายสินค้าบางประเภท (Alibaba มี instant messenger เหมือนกันชื่อ Laiwang แต่ขนาดผู้บริหารของ Alibaba เองยังเลือกใช้ WeChat เลย) … สงครามของ Big Two เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทางการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น แข่งกันเปิดให้บริการแอพเรียกแท็กซี่เหมือน Uber ธนาคารออนไลน์ (MY Bank ของ Alibaba ปะทะ WeBank ของ Tencent) แอพ online payment และ mobile wallet

Alibaba วางกลยุทธุ์ Three Core Drivers ที่จะสร้างการเติบโตให้กับ Alibaba ในอนาคตได้แก่

  1. การให้บริการ cloud computing ผ่าน Aliyun ตามรอยของ Amazon ที่มีสัดส่วนยอดขายจาก cloud เยอะทีเดียว … Jack Ma มองว่าระบบ cloud computing จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการทำธุรกิจแบบ C2B ที่ผู้บริโภคและเจ้าของกิจการรายย่อยจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและอินเตอร์เน็ตเพื่อพัฒนาธุรกิจได้
  2. การขยายการให้บริการในพื้นที่ชนบทและเมืองเล็กๆตามนโยบายของรัญบาลมากขึ้นเรื่อยๆ
  3. การเปิดให้บริการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ตั้งแต่ AliExpress ที่เปิดให้ชาติต่างๆสามารถซื้อสินค้าจากธุรกิจในจีน พร้อมๆกับการตั้งออฟฟิซในประเทศต่างๆทั่วโลกเพื่อโฟกัสไปที่การหาร้านค้าจากทั่วโลกเพื่อป้อนสินค้าให้กับผู้บริโภคในประเทศจีน

Jack Ma ยังเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกพร้อมๆกับการตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในโครงการต่างๆ เขาเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าคนจะรวยขนาดไหน แต่ถ้ามองขึ้นไปบนฟ้าแล้วเห็นแต่หมอกควัน ชีวิตก็จะไม่มีความสุข … Alibaba ยังเริ่มให้ความสำคัญกับธุรกิจ Health และ Happiness ทั้งการลงทุนสร้างแอพนัดพบแพทย์ทีเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ประชากรล้นเมืองอย่างจีน รวมถึงการร่วมทุนระหว่าง Alibaba Picture เพื่อผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ต่างๆ รวมถึงการพัฒนาการให้บริการที่ใกล้เคียงกับ Youtube และ NetFlix ด้วย … เขายังได้ซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ฮ่องกงเก่าแก่อย่าง South China Morning Post ที่หลายคนแอบเชื่อกันว่า Jack Ma ทำตามคำขอของรัฐบาลจีนที่ต้องการควบคุมสื่อของฮ่องกง

ก้าวต่อไปของการเดินทางของ Jack Ma และ Alibaba คงอยู่ที่การต่อสู้กับระบอบการปกครองของรัฐบาลจีนในปัจจุบันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจของเขาในประเทศที่รัฐบาลจีนอาจมองนักธุรกิจเป็นเพียงแค่แมลงสาบที่ตนสามารถเลือกได้ว่าจะเหยียบหรือปล่อยให้มันอยู่รอดได้ต่อไป

Jack Ma สาธิตให้รัฐบาลจีนได้เห็นกันแล้วว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวจีน ทั้ง สิ่งแวดล้อม การศึกษาและการสาธารณะสุขได้จริง

 

Jack Ma ในวันที่ Alibaba เปิดขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค (ขอบคุณภาพจาก Forbes)

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

1 Comment on [สรุปหนังสือ] Alibaba : The House That Jack Ma Built

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*