News Ticker

[สรุปหนังสือ] จีน-เมริกา : จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0

 

 

[สรุปหนังสือ] จีน-เมริกา: จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0 (2019)

by อาร์ม ตั้งนิรันดร

 

“ทรัมป์อาจเป็นประธานธิบดีที่ไม่คู่ควรกับคนอเมริกัน แต่ทรัมป์เป็นมวยถูกคู่สำหรับจะชกกับจีน”

 

“จีน-เมริกา” สะท้อนให้เห็นถึงการแยกตัวออกจากกันระหว่างสองประเทศมหาอำนาจของโลกในยุคปัจจุบันอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาที่นำมาสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนที่เริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีจนนำมาสู่ “สงครามเย็นครั้งที่ 2” ที่อาจหนาวยะเยือกกว่าที่โลกเคยสัมผัส

หนังสือ “จีน-เมริกา” คือ หนังสือลำดับที่สองของอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เขียนหนังสือ China 5.0 อันแสนโด่งดัง ที่ในครั้งนี้ อาจารย์อาร์มเลือกที่จะเล่าเรื่องราวสถานการณ์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคแห่งการแก่งแย่งชิงอำนาจกันระหว่างจีนและอเมริกาอย่างเต็มรูปแบบ

 

จักรพรรดิที่ไม่เข้าใจภูมิรัฐศาสตร์โลก

ปัจจัย 3 ประการที่เป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของประเทศมาทุกยุคทุกสมัยนั้นประกอบไปด้วย

  • การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร
  • การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
  • การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก

เมื่อใดก็ตามที่ปัจจัยทั้ง 3 ประการนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร เมื่อนั้นโครงสร้างของโลกก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ดั่งเช่นในปัจจุบันที่ปัจจัยทั้ง 3 ประการนั้นเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ได้แก่

  • โครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
  • เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่าก้าวกระโดด
  • ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคที่พี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ปกครองโลกมาเป็นยุคที่พญามังกรจีนเข้ามาท้าชนความยิ่งใหญ่ของพญาอินทรีย์

หนึ่งในกรณีศึกษาของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของโลกนั้นได้เกิดขึ้นในรัชสมัยของ “จักรพรรดิเฉียนหลง” ผู้ปกครองแผ่นดินจีนระหว่างปี 1735 ถึงปี 1796 ผู้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเสื่อมถอยของอาณาจักรจีน [ที่ในสมัยนั้นมี GDP คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP โลก] ด้วยนโยบายการปกครองที่ไม่ได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสำคัญทั้ง 3 ประการ ได้แก่

  • โครงสร้างประชากรของจีนที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของผลผลิตทางการเกษตรจนนำมาสู่ภาวะอดอยากอย่างรุนแรง
  • การพัฒนาเทคโนโลยีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของประเทศอังกฤษมี่ไม่ได้รับการให้ความสำคัญ
  • การก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ของประเทศอังกฤษและประเทศในทวีปยุโรปที่นำมาสู่ยุคแห่งการล่าอาณานิคม

จนท้ายที่สุด สังคมจีนก็เสื่อมถอยลงและพ่ายแพ้ให้กับอังกฤษในสงครามฝิ่นอย่างราบคาบในเวลาต่อมา

 

จักรพรรดิเฉียนหลง (ขอบคุณภาพจาก wikipedia)

 

สงครามการค้าที่เป็นมากกว่าเรื่องการค้า

สงครามการค้าที่เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศขึ้นกำแพงภาษีของสินค้านำเข้าจากประเทศจีนในปี 2018 นั้นได้ลุกลามและสร้างความปั่นป่วนให้กับคนทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและดูเหมือนจะไม่มีวันสงบลงได้อย่างสมบูรณ์ในเร็วๆวันนี้ [ถึงแม่ว่าจีนกับอเมริกานั้นได้ข้อตกลงทางการค้าเบื้องต้นแล้วก็ตาม]

ทั้งนี้ สาเหตุที่สงครามการค้าจะไม่มีวันสงบลงได้อย่างง่ายดายนั้นก็เป็นเพราะว่าสงครามครั้งนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องการค้าเท่านั้น แต่เบื้องลึกลงไปนั้น จีนกับสหรัฐอเมริกายังแข่งขันกันอย่างรุนแรงในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี [หนึ่งในข้อกำหนดของการตกลงทางการค้าของสหรัฐอเมริกาก็คือจีนต้องหยุดขโมยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กรสัญชาติอเมริกันที่ส่วนหนึ่งอาจเป็นความผิดของสหรัฐเองที่ยอมแลกการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีกับการเข้าทำตลาดขนาดใหญ่ของประเทศจีน] ที่จะนำไปสู่ความกังวลที่ร้ายแรงที่สุดอย่าง “ความมั่นคง” ที่สหรัฐอเมริกาเกรงกลัวเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีของจีนจะเข้ามาแทรกซึมในประเทศของตัวเองและอาจมีการนำข้อมูลบางอย่างไปใช้งานอย่างลับๆ [เฉกเช่นเดียวกับการกระทำของรัฐบาลสหรัฐที่ Edward Snowden ออกมาเปิดโปงเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้]

ดังนั้น กลยุทธ์ที่ Donald Trump เลือกที่จะใช้จึงเป็นการผสมผสานระหว่าง “ความไม่แน่นอน” ที่ไม่สามารถคาดเดาได้กับ “ลูกบ้า” ที่กล้ากระตุกหนวดมังกรของจีนด้วยการหยิบโยงเรื่องราวที่นอกเหนือจากด้านการค้ามาท้าทายประเทศจีน อาทิ การโทรศัพท์ตรงกับผู้นำไต้หวัน การออกโรงสนับสนุนฮ่องกงในการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การแบนเทคโนโลยี 5G และการจับลูกสาวของผู้ก่อตั้งบริษัท Huawei ในทางกลับกัน ประธานาธิบดี Xi Jinping นั้นเลือกที่จะใช้กลยุทธ์การ “ซื้อเวลา” เพื่อรอวันที่กลยุทธ์การเอาเปรียบระยะสั้นของสหรัฐอเมริกาเสื่อมถอยลง  [ในระยะยาว ยังไงจีนก็มีแต่อำนาจเพิ่มมากขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่ล่มสลายไปก่อน] แต่จีนก็พร้อมที่จะตอบโต้กลับด้วยมาตรการขึ้นภาษีแบบเล็งเป้าไปที่เกษตกรถั่วเหลืองผู้เป็นฐานเสียงหลักของ Donald Trump พร้อมกับการประกาศจุดยืนในการต่อสู้อย่างชัดเจนด้วยการขอเป็น “ผู้ปกป้อง” ระเบียบการค้าเสรีของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา [ซึ่งจีนมักถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลนั้นใช้ช่องโหว่ขององค์การการค้าโลกด้วยการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจของตัวเองมากจนได้เปรียบด้านการแข่งขันมากกว่าสินค้าของประเทศอื่นๆ] นอกจากนั้น รัฐบาลจีนยังสามารถปลุกปั่นกระแสชาตินิยมของประชาชนให้เกิดขึ้นมาใหม่เพื่อต่อต้านชาวตะวันตกผู้กดขี่ข่มเหงได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

ซึ่งตลอดสองทศวรรษแห่งยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานของจีนและสหรัฐได้ถูกหลอมลวมกันอย่างแนบสนิทด้วยการค้าเสรี โดยที่บริษัทสัญชาติอเมริกันทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งต่อให้บริษัทของประเทศจีนรับหน้าที่ในการผลิตและส่งขายไปยังทุกประเทศทั่วโลก แต่กลไกสำคัญเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อสหรัฐและจีนเริ่มที่จะขัดแย้งและตีตัวออกห่างจากกัน [เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาอาศัยกัน] จนในที่สุดโลกจะเข้าสู่ยุคแห่ง “สองห่วงโซ่อุปทาน” ที่แยกตัวออกจากกันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งประเทศในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นคือหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทั้งสองมหาอำนาจต่างก็ต้องการที่จะครอบครอง [Eric Schmidt อดีต CEO ของ Google พยากรณ์ไว้ว่าอินเตอร์เน็ตในอนาคตจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ระบบระหว่างอินเตอร์เน็ตสากลในปัจจุบันและอินเตอร์เน็ตของจีนที่ผลักดันด้วยบริษัทเทคโนโลยีของจีนอย่าง Huawei และ Tencent]

 

Donald Trump และ Xi Jinping (ขอบคุณภาพจาก South China Morning Post)

 

เศรษฐกิจและเทคโนโลยีจีน: เทียบชั้นสหรัฐ?

นักวิจัยด้านจีนศึกษาแห่ง Kellogg School of Management ให้ความเห็นว่ารัฐบาลจีนนั้นเลือกวางนโยบายภาพใหญ่ของประเทศโดยใช้หลักการ “สี่เลี่ยงสามเลียน” เพื่อเรียนรู้จากความสำเร็จและความผิดพลาดของประเทศต่างๆ อันประกอบไปด้วย

  • เลี่ยงการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แบบเดียวกับสหภาพโซเวียตด้วยนโยบายจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลความทุกข์ร้อนและปัญหาของประชาชนอย่างครอบคลุมเพื่อการเป็นเผด็จการที่สามารถตอบสนองต่อประชาชนได้ (responsive authoritarian)
  • เลี่ยงระบอบประชาธิปไตยที่ยุ่งเหยิงของประเทศที่มีจำนวนประชากรขนาดใหญ่พอกันอย่างอินเดียที่ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้
  • เลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแบบญี่ปุ่นที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วจนกระทั่งฟองสบู่ทางการเงินแตกในช่วงยุค 90 ด้วยมาตรการควบคุมความเสี่ยงด้านการเงินและการพัฒนาเทคโนโลยีมาทดแทนประชากรที่เริ่มสูงอายุมากขึ้น
  • เลี่ยงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแบบฉับพลันเหมือนในประเทศแถบละตินอเมริกาที่นำมาสู่การล่มสลายของบริษัทเหล่านั้นจำนวนมากด้วยการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป
  • เลียนแบบประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและพลังอำนาจทางการทหารของสหรัฐอเมริกาผ่านการลงทุนในงานวิจัยพัฒนาและการปรับข้อบังคับทางกฎหมายให้เอื้อประโยชน์
  • เลียนแบบรัฐสวัสดิการของประเทศในทวีปยุโรปด้วยการปฏิรูปสวัสดิการให้ดียิ่งขึ้น อาทิ การรักษาโรค การศึกษาและการดูแลผู้สูงอายุ
  • เลียนแบบเผด็จการที่มีคุณภาพอย่างสิงคโปร์ที่มีประสิทธิภาพสูงและไม่มีปัญหาด้านการคอร์รัปชั่น

ความแตกต่างของบริษัทเทคโนโลยีของจีนและสหรัฐอเมริกานั้นสามารแบ่งออกได้เป็น 4 ข้อใหญ่ ได้แก่

  • บริษัทจีนมุ่งเน้นการเลียนแบบและต่อยอดจากเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมโดยมีเป้าหมายคือการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดใฟ้ได้อย่างครอบคลุม [จนธุรกิจ chat app อย่าง WeChat เติบใหญ่กลายเป็น superapp ที่มีบริการให้เลือกใช้ได้เยอะมากภายใน app เดียว] และตอนนี้ บริษัทจีนก็เริ่มมีการลงทุนวิจัยพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆแล้ว [Huawei ถือเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี 5G ของโลกในปัจจุบัน]
  • บริษัทจีนให้ความสำคัญกับชัยชนะและการอยู่รอดในตลาดมากกว่าอุดมการณ์จนนำมาสู่การแข่งขันที่ดุเดือดถึงตายและการทำงานอย่างหนักหน่วง
  • บริษัทจีนทำธุรกิจแบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั้ง online และ offline ตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ [เช่น นอกจากการทำ online platform เรียกรถแท็กซี่แล้ว Didi หรือ Uber ของจีนยังเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันและศูนย์ซ่อมรถเอง หรือ การที่ AliPay และ WeChatPay สามารถใช้ซื้อขายสินค้าได้เกือบทุกชนิดในโลกจริง] จนทำให้บริษัทของจีนมีจำนวนข้อมูลที่สมบูรณ์กว่ามาก
  • บริษัทจีนมักพยายามปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับความต้องการของตลาดนั้นๆอย่างแท้จริง ขณะที่บริษัทตะวันตกนั้นไม่ให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้เข้ากับตลาดจีนจนไม่สามารถแข่งขันได้ในที่สุด

นอกเหนือไปจากนั้น รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศจีนเองก็ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆโดยการตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้นำแห่งเทคโนโลยี A.I. ของโลกภายในปี 2030 ซึ่งจีนมีความได้เปรียบในด้านของการมีข้อมูลจำนวนมหาศาลและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนา A.I. อาทิ การสร้างเมืองอัจฉริยะครบวงจรที่ทุกอย่างสามารถควบคุมได้โดย A.I. และการสร้างโครงข่ายถนนใต้ดินสำหรับทดสอบรถยนต์ไร้คนขับโดยเฉพาะ

 

ลักษณะเด่นของสงครามเย็น 2.0

สงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐนั้นมีความแตกต่างจากสงครามเย็นครั้งที่ 1 ระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียตอยู่ด้วยกัน 3 ประการได้แก่

  • ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ วัฒนธรรมและความเชื่อของชาติตะวันตกและชาติตะวันออกที่อาจจำมาสู่การปะทะกันระหว่างสองอารยธรรมใหญ่ของโลก ตรงกันข้ามกับสมัยก่อนที่พื้นฐานอารยธรรมของโซเวียตและสหรัฐนั้นมีความคล้ายคลึงกัน
  • ความเชื่อมประสานกันทางเศรษฐกิจที่แต่เดิมสหภาพโซเวียตนั้นแยกตนออกมาโดดเดี่ยวจากชาติตะวันตกอื่นๆ ขณะที่ปัจจุบัน จีนนั้นได้เชื่อมเข้าเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจสหรัฐและโลกอย่างสมบูรณ์ ทั้งการเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ ตลาดผู้บริโภคจำนวนมหาศาลและแหล่งเงินทุนที่ประเทศพัฒนาที่เผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจแล้วต่างต้องการ จนทำให้จีนมีอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มประเทศต่างๆที่สูงมากๆ [Brexit จะยิ่งทำให้จีนมีอำนาจต่อรองกับทั้งอังกฤษและสหภาพยุโรปที่มากกว่าเดิม]
  • การพัฒนาการทางด้าน I. และ big data นำมาสู่ยุคแห่ง “เผด็จการไฮเทค” ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารประเทศจากศูนย์กลางได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งสามารถแก้ปัญหาจุดอ่อนที่สุดของระบอบการรวมศูนย์ที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายไปได้อย่างครอบคลุม ซึ่งจีนในปัจจุบันก็ได้เริ่มสร้าง “platform” ทางด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาท้าชิงความเป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกาในหลายๆด้านแล้ว

สงครามเย็นในยุคปัจจุบันนั้นจะนำไปสู่การดุลอำนาจระหว่างสองยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและไม่สามารถล้มอีกฝ่ายลงได้ ประเทศที่สามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จจากยุคแห่งความโกลาหลนี้จึงเป็นประเทศที่สามารถ “เล่นเกม” และ “เล่นตัว” ไปกับสองประเทศมหาอำนาจได้อย่างเท่าทัน [เหมือนเกาหลีเหนือที่ยังคงยอมให้จีนใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาทางการค้า แต่ก็เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาเพื่อลดความพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อประเทศจีนเพียงประเทศเดียว]

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*