News Ticker

[สรุปหนังสือ] 21 Lessons for the 21st Century

 

รีวิวและสรุปหนังสือ 21 Lessons for the 21st Century ของอาจารย์ yuval noah harari

 

21 Lessons for the 21st Century (2018)

by Yuval Noah Harari

 

“In a world deluged by irrelevant information, clarity is power.”

 

Sapiens เล่าเรื่องราวของการวิวัฒนาการจาก “สิ่งมีชีวิตที่ไม่สำคัญ” จนกลายมาเป็น “มนุษย์” ในยุคปัจจุบันที่มีอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่งบนโลก

Homo Deus เล่าเรื่องราวของโลกอนาคตในระยะยาวที่มนุษย์สามารถก้าวผ่านไปสู่การเป็น “พระเจ้า” ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และชีววิศวกรรม พร้อมกับผลลัพธ์ที่จะตามมามากมายทั้งในแง่มุมของการปกครอง สังคมและเศรษฐกิจ

ในหนังสือเล่มล่าสุด 21 Lessons for the 21st Century ศาสตราจารย์ Yuval Noah Harari ได้นำเอาบทเรียนที่ได้จากการศึกษาอดีตและอนาคตมาสังเคราะห์และกลั่นกรองออกมาเป็น “บทเรียน 21 ประการ” ของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความท้าทายระดับโลกมากมายที่มนุษย์ทุกคนควรให้ความสำคัญไม่ว่าเราจะมีฐานะและบทบาทใดในสังคมของโลกก็ตาม

 

ผู้เขียน Yuval Noah Harari (ขอบคุณภาพจาก Ted.com)

 

<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>

 

Part I – The Technological Challenge

 

1st Lesson – DISILLUSIONMENT : the end of history has been postponed

มนุษย์คิดหรือตัดสินใจด้วย “เรื่องเล่า” มากกว่า “ข้อเท็จจริง” อยู่ตลอดเวลา

โลกของมนุษย์ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 20 นั้นถูกกลุ่มผู้มีอำนาจในมหานครนิวยอร์ค ลอนดอน เบอร์ลินและมอสโกสร้าง “อภิมหาเรื่องเล่า” สามเรื่องอย่าง เสรีนิยม (liberalism), ชาตินิยมฟาสซิสต์ (fascism) และคอมมิวนิสต์ (communism) ที่ต่างก็แข่งขันกันอย่างรุนแรงจนโลกต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและสงครามหลายรอบ… จนกระทั่งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เรื่องเล่าของ “เสรีนิยม” ที่ว่าด้วยเสรีภาพของปัจเจกบุคคลสามารถสร้างความเป็นใหญ่ได้ในช่วงปลายของศตวรรษที่ผ่านมาจนเรื่องเล่านี้ได้กลายมาเป็น “คู่มือ” ของมนุษยชาติที่ส่งเสริมแก้ปัญหาของโลกด้วยการปกป้องสิทธิมนุษยชน หลักการปกครองแบบประชาธิปไตย การค้าเสรีและโลกาภิวัตน์

แต่แล้ว สองเหตุการณ์สำคัญในปี 2016 อย่างชัยชนะของประธานธิบดี Donald Trump และผลโหวต BREXIT ประกอบกับความก้าวหน้าของรัฐคอมมิวนิสต์อย่างประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ นั้นก็ได้เริ่มส่งสัญญาณถึง “การสิ้นสุดของยุคเสรีนิยม” ที่สร้างการเจริญเติบโตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา… ซึ่งปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การเสื่อมถอยของเสรีนิยมที่เคยใช้ได้ผลดีในยุคอุตสาหกรรม คือ “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี” ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนระบอบการปกครองแบบเสรีนิยมไม่สามารถควบคุมได้ [ประชาชนไม่มีแม้แต่โอกาสได้เลือกว่าอินเตอร์เน็ตควรถือกำเนิดขึ้นหรือไม่]… และการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ A.I.) กับเทคโนโลยีชีวภาพในอนาคตอันใกล้นั้นจะยิ่งทำให้เรื่องราวทั้งหมดยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นไปอีก [“มนุษย์เก่งการสร้างเทคโนโลยีมากกว่าการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างฉลาดเสมอ”] มนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกอนาคตมีแนวโน้มสูงที่จะกลายมาเป็นกลุ่ม “ชนชั้นที่ไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจ” และนั่นก็ไม่แปลกที่คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆเริ่มที่จะโกรธและปฏิเสธความเชื่อที่สนับสนุนความสำคัญของปัจเจกบุคคลอย่างเสรีนิยม

มนุษยชาติในปัจจุบันกำลังสูญสิ้น “เรื่องเล่า” ที่ยืนหยัดอย่างยาวนานนับร้อยปีไป ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเริ่ม “อัพเดท” เรื่องเล่าใหม่ที่สามารถถักทอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีทางวิศวกรรมชีวภาพให้เป็นเรื่องเล่าใหม่ที่ “มีความหมาย” ต่อมนุษย์ทุกคน

 

2nd Lesson – WORK : when you grow up, you might not have a job

ไม่มีใครรู้ได้เลยว่า “งาน” ในปี 2050 นั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร พวกเรารู้เพียงแค่ว่า “ปัญญาประดิษฐ์” และเทคโนโลยี “หุ่นยนต์ (robotic)” จะมีบทบาทอย่างมากในการปฏิวัติอนาคตที่เทคโนโลยีอาจสามารถสร้างงานรูปแบบใหม่ขึ้นมาทดแทนงานที่หายไปได้อย่างสมบูรณ์ [เหมือนยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม] หรือเทคโนโลยีอาจจะทำให้คนจำนวนมากถูกแปลงสภาพกลายมาเป็น “ชนชั้นที่ไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจ” ที่ไร้ซึ่งหน้าที่การทำงานใดๆ

ความสามารถของมนุษย์นั้นแบ่งออกได้เป็นด้านกายภาพ (physical) และด้านการรับรู้ (cognitive) ที่ว่าด้วยการเรียนรู้ การวิเคราะห์ การสื่อสารและการเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งแต่เดิม หุ่นยนต์สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในด้านกายภาพเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยี A.I. นั้นเริ่มมีความสามารถด้านการรับรู้ที่เหนือกว่ามนุษย์ในหลายๆประการแล้ว… ศาสตร์ชีวเคมีพิสูจน์แล้วว่าการตัดสินใจของมนุษย์นั้นเกิดจาก “เซลล์ประสาท (neuron)” นับพันล้านเซลล์ในสมองโดยไม่ใด้เกิดจากปาฏิหาริย์ใดๆที่วิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้ ดังนั้น  A.I. จะยิ่งฉลาดขึ้นตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและความสามารถในการเข้าใจกลไกการทำงานของสมองมนุษย์… ศาสตร์ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมยิ่งแสดงให้เห็นว่าระบบการตัดสินใจของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง [จาก “ทางลัดทางความคิด” ต่างๆที่เคยมีประโยชน์ต่อมนุษย์ในยุคล่าสัตว์] ซึ่งคงไม่แปลกที่ A.I. ในอนาคตจะมีกระบวนการตัดสินใจที่ดีกว่ามนุษย์

A.I. ยังมีความสามารถที่มนุษย์ไม่มีอย่างการเชื่อมต่อถึงกัน (connectivity) และการอัพเดทตัวเองได้ (updateability) แตกต่างจากมนุษย์ที่ต้องใช้เวลาและพลังงานมหาศาลในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ [จินตนาการว่าถ้ามีกฎจราจรใหม่ กว่าที่คนขับรถทุกคนจะรู้และปฏิบัติตามต้องใช้เวลานานขนาดไหน แต่รถยนต์ไร้คนขับทุกคันสามารถอัพเดท algorithm เวอร์ชั่นใหม่แบบอัตโนมัติได้เลยภายในไม่กี่วินาที] ซึ่งนั่นก็ทำให้ระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ระบบเดียวสามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์เป็นพันเป็นหมื่นคนได้เลย [เพิ่มเติม: เพื่อป้องกันข้อกังวลเรื่องความผิดพลาดที่เกิดจากการมีระบบการตัดสินใจระบบเดียว การใช้งาน A.I. สามารถดึงเอา algorithm หลายตัวมาใช้ในเรื่องเดียวกันและตรวจวัดผลของพวกมันอย่างต่อเนื่องได้]

ในระยะสั้น A.I. จะเริ่มเข้ามาทำหน้าที่แทนกลุ่มงานที่มีลักษณะเฉพาะและมีการทำงานซ้ำเป็นกิจวัตรก่อนกลุ่มงานที่ต้องอาศัยทักษะหลากหลายด้าน มีความคิดสร้างสรรค์และมีลักษณะการทำงานที่ไม่ซ้ำกัน [A.I. หมอส่วนตัวที่ทำหน้าที่ตรวจจับข้อมูลและวินิจฉัยโรค จะเกิดขึ้นก่อนหุ่นยนต์พยาบาลที่สามารถให้ความอบอุ่นใจกับผู้ป่วย] แต่ในระยะยาว แม้แต่งานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และการเล่นกับอารมณ์มนุษย์อาจจะสามารถถูกแทนที่ด้วย algorithm ที่เข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ที่ก็เป็น algorithm รูปแบบหนึ่งได้ดีกว่าตัวของพวกเราเองได้

ถึงแม้ว่า การแทนที่ด้วย A.I. จะสร้างกลุ่มงานใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (human-computer collaboration) เช่น พนักงานควบคุมโดรนหรือพนักงานประมวลผลต่อจากผลลัพธ์ของ algorithm แต่การเปลี่ยนชนชั้นแรงงานทักษะต่ำที่จะถูกแทนที่ให้มาทำงานในกลุ่มนี้นั้นถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีจะทำให้กลุ่มงานมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา [การพัฒนาของ A.I. แบ่งเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟสที่ A.I. เก่งกว่ามนุษย์แต่ยังสู้ทีมที่มนุษย์ทำงานร่วมกับ A.I. ไม่ได้และเฟสที่ A.I. ฉลาดมากจนมนุษย์ไม่สามารถเข้าใจหรือควบคุมได้เหมือนที่ AlphaGo วางหมากที่ไม่มีมนุษย์คนไหนคาดถึงและตอนนี้ AlphaGo เวอร์ชั่นใหม่ก็เอาชนะเวอร์ชั่นเก่าได้แล้วอีกด้วย]… โลกอาจต้องเจอกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงพร้อมๆกับปัญหาของการมีคนว่างงานจากการไม่มีทักษะหรือจากความเครียดที่พุ่งสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลาที่กลายมาเป็นเรื่องปกติของชีวิตคนในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันนั้นสามารถชะลอความรุนแรงได้ด้วยการควบคุมดูแลจากรัฐบาล แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการยอมเสียผลประโยชน์อันมหาศาลของเทคโนโลยีเหล่านั้นซึ่งคงเป็นไปได้ยากในระยะยาว แนวทางที่มีคนพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบันคือ นโยบาย universal basic income (UBI) ที่รัฐบาลจะเก็บเงินภาษีจากบริษัทที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาจ่ายให้กับประชาชนทุกคนให้พออยู่อาศัยได้และนโยบาย universal basic service ที่เปลี่ยนจากการให้เงินเป็นการให้บริการฟรีโดยรัฐบาลแทน [คล้ายๆโลกในอุดมคติของคอมมิวนิสต์]

แต่ปัญหาของ universal basic income หรือ service ก็มีปัญหาใหญ่ 2 ประการ

  1. What is universal : หลักการของ UBI ในโลกปัจจุบันนั้นจริงๆแล้วควรเรียกว่า national basic income ที่ประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีจะสามารถเก็บเงินภาษีจากเทคโนโลยีมาจ่ายให้กับประชาชนของตัวเองได้ ขณะที่ ประเทศยากจน เช่น บังคลาเทศ ต้องรับมือกับการตกงานของชนชั้นแรงงานไร้ฝีมือโดยไม่มีแหล่งรายได้มาชดเชยได้เหมือนอย่างประเทศมหาอำนาจ
  2. What is basic : ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์นั้นมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก นโยบาย UBI นั้นมีแนวโน้มที่จะขยายความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุมชนชั้นสูงผู้ครอบครองเทคโนโลยีและกลุ่มชนชั้น “ไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจ” ที่ไม่มีงานทำ การปรับโครงสร้างทางสังคมของคนกลุ่มหลังให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความหมายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก [เช่น กลุ่มชาวยิวเคร่งศาสนาในอิสราเอลที่ใช้ขีวิตด้วยการถกเถียงคำสอนทางศาสนาโดยที่รัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุนให้ พวกเขามีอัตราความสุขมากกว่าชาวอิสราเอลทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ]

 

3rd Lesson – LIBERTY : big data is watching you

เรื่องเล่าของเสรีนิยมสรรเสริญคุณค่าของ “เสรีภาพ” เป็นที่หนึ่ง อันเป็นเหตุให้โลกในยุคที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับ “ลูกค้า” มากที่สุดในด้านการทำธุรกิจและ “ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” มากที่สุดในด้านการเมือง แต่ปัญหาของความเชื่อเหล่านี้ก็มีอยู่มากโดยเฉพาะหลักการประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่อายุถึงเกณฑ์สามารถลงคะแนนเสียงในสิ่งที่ตัวเอง “รู้สึก” โดยไม่ต้องเข้าใจได้ [จะมีชาวอังกฤษซักกี่คนที่เข้าใจผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการทำ BREXIT] ซึ่งการเลือกตั้งที่อาศัย “ความรู้สึก” นั้นอาจจะกลายมาเป็นจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยในอนาคตที่ algorithm มีความสามารถที่เพียงพอในการเข้าใจและส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกมนุษย์ [แค่ปัจจุบัน ปัญหาการแทรกแซงการเลือกตั้งผ่านการใช้ข้อมูลผู้ใช้งาน Facebook ของ Cambridge Analtica ก็ได้สร้างความปั่นป่วนให้โลกอยู่ไม่ใช่น้อย]

ความเชื่อที่ว่าอารมณ์ของมนุษย์นั้นเป็นสัญลักษณ์ของการมีอยู่ของ “เจตจำนงเสรี (free will)” นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ความจริง… ความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดล้วนเป็น algorithm ที่มีเหตุผลทางชีวภาพที่ได้รับการขัดเกลาจากวิวัฒนาการและการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นในอดีต [ลิงที่มี algorithm ที่เห็นเสือแล้ววิ่งหนีจะมีโอกาสสืบทอดทางพันธุกรรมได้มากกว่าลิงที่กล้าต่อสู้กับเสือ] ดังนั้น การมาถึงของ A.I. ที่มีความสามารถในการตัดสินใจได้ดีกว่ามนุษย์ [จากการประมวลผล big data ทั้งจากข้อมูลพฤติกรรมการตัดสินใจในอดีตและข้อมูลทางชีวภาพจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งภายในร่างกายของมนุษย์] จะผลักดันให้มนุษย์ยอมปล่อยให้ A.I. เหล่านั้นทำหน้าที่ตัดสินใจแทนพวกเขาในชีวิตประจำวัน [เหมือนทุกวันนี้ที่เราขับรถตาม GPS ของ Google Maps ที่เราพิสูจน์เองแล้วว่าเชื่อถือได้โดยไม่ต้องคิดมากอีกต่อไป] และเมื่อมนุษย์หันมาพึ่งพิง A.I. มากกว่าตัวเอง โลกของพวกเราจะเปลี่ยนแปลงจากโลกแห่งความโกลาหลของการตัดสินใจแบบเสรีไปเป็นโลกที่ขับเคลื่อนด้วยการไหลของข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างเป็นระเบียบแทน

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น การพัฒนา algorithm ในปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงใหญ่ที่ต้องได้รับการจัดการอยู่ 2 ประการ ได้แก่

  1. ความลำเอียง : algorithm นั้นมีโอกาสสูงในการได้รับอิทธิพลจากความลำเอียงทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจของมนุษย์ เช่น การเอา “เชื้อชาติ” มาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ ซึ่งในอนาคต มนุษย์อาจต้องเจอกับปัญหา “การเหยียดปัจเจกบุคคล” โดย algorithm สุดซับซ้อนที่ไมมีมนุษย์คนใดเข้าใจและสามารถบอกถึงสาเหตุของการเหยียดนั้นๆได้
  2. จริยธรรม : algorithm ต้องได้รับการตั้งค่าทางจริยธรรมที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาเชิงปรัชญามากมายที่ยังไม่มีคำตอบที่เป็นที่ยอมรับ เช่น รถยนต์ไร้คนขับที่ต้องเลือกระหว่างการสร้างอันตรายต่อตัวเจ้าของรถหรือการพุ่งชนคนข้างทางที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร

ในอีกมุมหนึ่ง ความอันตรายของ A.I. นั้นไม่น่าจะมีลักษณะเหมือนภาพยนตร์ sci-fi แนว distopian ที่หุ่นยนต์ตัดสินใจก่อกบฏและออกมาทำลายมนุษย์ผู้สร้างของพวกมันเหมือนในเรื่อง The Terminator… ความอันตรายที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงกว่ามากคือการที่หุ่นยนต์เชื่อฟัง “คนโง่” หรือ “คนชั่วร้าย” มากเกินไปต่างหาก [การที่หุ่นยนต์ killer robot ไม่มีอารมณ์ในการทำสงครามจะช่วยให้การก่อเหตุฆ่าข่มขืนปล้นทรัพย์ชาวบ้านเหมือนในอดีตไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหุ่นยนต์เหล่านั้นถูกสั่งให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พวกมันก็จะทำการกวาดล้างเหยื่อทุกเพศทุกวัยโดยไม่มีความปรานีเช่นกัน] โลกในอนาคตอาจจะต้องพบเจอกับการเกิดขึ้นของ “เผด็จการทางดิจิตอล (digital dictatorship)” ผู้ครอบครองกองทัพ A.I. ที่คอยตรวจสอบพฤติกรรมและความรู้สึกของประชาชนทุกคนเหมือน Big Brother ในนิยายเรื่อง 1984 ของ George Orwell โดยจุดด้อยของระบบการปกครองรวมศูนย์กลางของระบอบเผด็จการในศตวรรษที่ 20 อย่างการประมวลผลข้อมูลมหาศาลได้อย่างไร้ประสิทธิภาพนั้นได้ถูกเปลี่ยนให้กลายมาเป็นจุดแข็งได้ด้วย A.I. ได้ในศตวรรษที่ 21 [ยิ่งเผด็จการไม่สนใจเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนมากเท่าไหร่ พวกเขาก็มีข้อมูลนำไปป้อนให้ A.I. ได้มากขึ้น A.I. ก็จะยิ่งฉลาดขึ้นกว่าของฝั่งโลกเสรี]

ปิดท้าย โอกาสที่ A.I. จะมีความสามารถในการ “ตระหนักรู้ (consciousness)” หรือ “ความรู้สึกถึงอารมณ์และความคิดของตัวเอง” เหมือนอย่างสิ่งมีชีวิตนั้นคงเป็นไปได้ยากมากๆในช่วงศตวรรษนี้เนื่องจากมนุษย์เองยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการตระหนักรู้ของตัวเองเลย… ระหว่างที่มนุษย์มัวแต่พัฒนาความฉลาด (intelligence) ของ A.I. ตามผลประโยชน์ของโลกธุรกิจและการเมือง สิ่งที่มนุษย์ควรต้องรีบจัดการพัฒนาควบคู่กันเลยก็คือ การเพิ่มขีดความสามารถของ consciousness และ intelligence ของตัวพวกเราเอง เพื่อป้องกันโลกจากการถูกปกครองโดยคนโง่เขลาที่ใช้ A.I. อัจฉริยะในทางที่โง่เขลา [ความโง่เขลาเป็นเรื่องปกติของมนุษยชาติจริงๆ ไม่น่ามีปลาโลมาตัวไหนคิดที่จะสร้างสงครามนิวเคลียร์ที่จะทำลายล้างโลกของตัวเองแน่นอน]

 

Big Brother เวอร์ชั่นภาพยนตร์ (ขอบคุณภาพจากภาพยนตร์เรื่อง 1984 เวอร์ชั่นปี 1956)

 

4th Lesson – EQUALITY : those who own the data own the future

“ความไม่เท่าเทียม” ของมนุษยชาตินั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่หลายหมื่นปีก่อนที่มนุษย์เริ่มอยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ซึ่งการแบ่งชนชั้นในสมัยนั้นตามรูปแบบความเชื่อต่างๆเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่สงบสุขได้… หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความจำเป็นในการพึ่งพาประชากรหมู่มากในการทำหน้าที่เป็นแรงงานราคาถูกและผู้บริโภคได้ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆเริ่มส่งเสริมความเท่าเทียมกันผ่านการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาและสาธารณสุขเพื่อป้อนแรงงานเหล่านั้นให้กับกลุ่มทุนของชนชั้นสูง… แต่การมาถึงของยุคที่ A.I. และหุ่นยนต์สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนแรงงานที่เป็นคนหมู่มากได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ได้เริ่มทำให้ความเท่าเทียมกันของมนุษย์เริ่มถดถอยอีกครั้งในระดับที่มีความรุนแรงมากกว่าเดิม

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพในอนาคตอันใกล้นี้มีโอกาสสูงมากในการขยายความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชนชั้นสูงผู้ครอบครองเทคโนโลยีและชนชั้นล่างผู้ไร้ซึ่งประโยชน์ใดๆทางเศรษฐกิจ เมื่อกลุ่มชนชั้นสูงสามารถ “อัพเกรด” ตัวเองผ่านเทคโนโลยีชีววิศวกรรมทั้งด้านอายุขัย สุขภาพ หน้าตาและสติปัญญา โลกอาจจะต้องพบเจอกับการ “แบ่งวรรณะทางชีวภาพ (biological caste)” ที่คนรวยสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด ขณะที่คนจนต้องกลายสภาพมาเป็น “คนป่า” ที่ไม่มีใครสนใจหรือต้องการ [ความเชื่อด้านความเท่าเทียมกันของประชาชนในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อาจช่วยให้ปัญหานี้เบาลงได้ในประเทศเหล่านั้น]

การควบคุมความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์แบบดั้งเดิมนั้นสามารถทำได้โดยการจำกัดการถือครองทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงอย่างที่ดินและเครื่องจักร แนวทางการรักษาความเท่าเทียมในอนาคตจึงสามารถทำได้ด้วยการ “ควบคุมความเป็นเจ้าของของข้อมูลมหาศาล” ที่ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดในอนาคตที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างแข่งขันกันครอบครอง… แต่การควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายเหมือนกับการคุ้มครองสิทธิการถือครองที่ดินหรือหุ้นที่สามารถจับต้องได้อย่างชัดเจน การให้อำนาจเหล่านี้แก่รัฐบาลหรือบริษัทเอกชนอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด โลกอาจต้องการเทคโนโลยีบางอย่างที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของมนุษย์ทุกคน [ไม่แน่ Mark Zuckerberg กับเพื่อนกว่า 2 พันล้านบัญชีใน Facebook อาจสามารถทำอะไรบางอย่างกับปัญหานี้ได้]

 

Part II – The Political Challenge

 

5th Lesson – COMMUNITY : humans have bodies

ในช่วงต้นปี 2017 ที่ผ่านมา Mark Zuckerberg ได้ออกแถลงการณ์ถึงเป้าหมายของเขาและ Facebook ในการนำพาให้ผู้ใช้งานได้เข้าร่วม “กลุ่มสังคม” ที่มีความหมายสำหรับพวกเขามากขึ้น… ในโลกที่มนุษย์ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีและโลกออนไลน์มากกว่าคนรอบๆกายนั้นได้สร้างปัญหาทางสังคมขึ้นมามากมาย สังคมออนไลน์ที่ Facebook ฝันถึงนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับโลกออฟไลน์ที่อยู่คู่ขนานกันด้วย เพราะอย่าลืมว่ามนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีร่างกายอยู่ [แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ Facebook และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างก็ตกอยู่ในวังวนของโลกทุนนิยมที่คงไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้]

 

6th Lesson – CIVILISATION : there is just one civilisation in the world

การปะทะกันระหว่าง “อารยธรรม” ของมนุษยชาตินั้นถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่การต่อสู้ระหว่าง “อารยธรรมตะวันตก” และ “อารยธรรมอิสลาม” ได้ก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง การก่อการร้ายและการอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ที่นำมาสู่ปัญหาเสถียรภาพของสหภาพยุโรปและ BREXIT… ว่าแต่ความคิดที่ว่ามนุษยชาติในปัจจุบันนั้นยังคงมีอารยธรรมที่แตกแยกกันอยู่นั้นอาจไม่ถูกต้องนัก โลกาภิวัตน์และการแลกเปลี่ยนความรู้และหลักการทางเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองต่างๆได้ทำให้อารยธรรมต่างๆหลอมรวมกันเป็น “อารยธรรมเดียว” ที่มีเพียงแต่ความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มก้อนบางกลุ่มเท่านั้น

ตัวอย่างการกลมกลืนกันของอารยธรรมโลกที่แสดงให้เห็นถึงข้อตกลงร่วมกันของทุกประเทศทั่วโลก ก็คือ “การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก” ที่นักกีฬาจากทุกชาติต่างเคารพกฎกติกาการแข่งขันที่เป็นสากล และในทุกครั้งที่พวกเขาชนะการแข่งขัน เพลงชาติที่บรรเลงออกมาด้วยเครื่องดนตรีสากลที่มีเนื้อเพลงคล้ายๆกันก็จะถูกบรรเลงพร้อมๆกับการชัก “ธงชาติ” ที่ทุกประเทศต่างออกแบบเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะเดียวกัน [ยกเว้น ธงชาติเนปาล]

ในศตวรรษที่ 21 นี้ มนุษย์มีความเชื่อเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคล้ายๆกัน [แม้แต่ ISIS ที่เผาบ้านเผาเมืองก็ยังไม่ยอมเผาธนบัตรดอลลาร์สหรัฐ]… มนุษย์มีความเข้าใจในด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่เหมือนกัน [ถ้าคิมจองอึนเข้าใจว่า E=mc4 เป็นสมการที่ถูกต้อง โลกก็คงไม่ปวดหัวเท่าปัจจุบันนี้]… พวกเรามีความใกล้เคียงกันอย่างใกล้ชิดที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึงคราวแล้วที่มนุษยชาติจะต้องร่วมมือกันต่อสู้กับความท้าทายที่พวกเราต้องเผชิญร่วมกันในอนาคต

 

7th Lesson – NATIONALISM : global problems need global answers

ณ ลุ่มแม่น้ำไนล์ เมื่อประมาณหนึ่งพันปีก่อน ชนเผ่าหลากหลายวัฒนธรรมที่ตั้งรกรากอยู่รายรอบแม่น้ำอันกว้างใหญ่ต้องประสบพบเจอกับปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำที่มากหรือน้อยเกินไปอยู่เป็นประจำ โดยที่ปัญหาเหล่านั้นถือเป็นสิ่งที่ชนเผ่าแต่ละกลุ่มไม่มีกำลังเพียงพอในการจัดการได้เพียงลำพังแค่ชนเผ่าเดียว ความจำเป็นในการร่วมแรงกันระหว่างชนเผ่าในการสร้างเขื่อนและคลองนั้นได้ผลักดันให้ชนเผ่าทั้งหลายต้องรวมตัวกันกลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น

ไม่ต่างกับความท้าทายและปัญหาขนาดใหญ่ที่กำลังถาโถมโลกในยุคปัจจุบัน อย่าง ปัญหาสิ่งแวดล้อม สงครามนิวเคลียร์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี A.I. และชีววิศวกรรม รวมไปถึงการเดินทางไปสู่ห้วงอวกาศเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในระยะยาว ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลกในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ [ถึงแม้ว่าจีนจะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ถ้าอเมริกาไม่ยอมทำตาม ประเทศจีนก็ยังต้องรับผลของภาวะโลกร้อนอยู่ดี]

แต่ในปัจจุบัน ความ “ชาตินิยม” นั้นเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังจากที่นานาประเทศต้องเผชิญหน้ากับปัญหามากมายที่เกิดขึ้นจากยุคโลกาภิวัตน์ [ในประวัติศาสตร์ ลัทธิชาตินิยมนั้นมีอยู่อย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลายาวนาน จนกระทั่ง เหตุการณ์ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในเมืองฮิโรชิม่าได้ทำให้มนุษยชาติเริ่มตระหนักถึงภัยอันตรายของการทำสงครามที่มีต้นตอมาจากชาตินิยม] ซึ่งแนวความคิดแบบชาตินิยมนี้เอง คือ ความโง่เขลาที่เป็น “ภัยอันตราย” ที่สุดของมนุษยชาติในยุคปัจจุบัน

ทางเลือกเดียวในการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในระยะยาวก็คือ “การร่วมมือกันในระดับโลก” ของทุกประเทศที่นับวันดูจะยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อยๆด้วยปัญหาทางการเมืองและความชาตินิยมของนานาประเทศในยุคปัจจุบัน [มีการประเมินว่าบางประเทศอาจได้รับผลประโยชน์จากภาวะโลกร้อน เช่น รัสเซียที่มีพื้นที่ที่เคยเป็นน้ำแข็งอยู่มากซึ่งเมื่อน้ำแข็งเหล่านั้นละลายแล้ว พื้นที่บริเวณดังกล่าวก็สามารถนำมาพัฒนาเป็นสิงคโปร์แห่งใหม่ของโลกได้]

 

8th Lesson – RELIGION : god now serves the nation

“ศาสนา” ที่เคยมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในอดีตกาลนั้นได้ถูก “วิทยาศาสตร์” เข้ามาแทรกแซงหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งในเรื่องหลักการการใช้ชีวิต [ปัจจุบัน มนุษย์ที่มีปัญหาสุขภาพเลือกที่จะไปโรงพยาบาล ไม่ใช่ไปบูชาเทพเจ้าที่ตัวเองเคารพ] และหลักการเมืองการปกครองของประเทศ [คัมภีร์ไบเบิ้ลไม่มีการพูดถึงแนวทางการควบคุมเทคโนโลยี A.I.] แต่อย่างไรก็ตาม ศาสนานั้นก็ยังสามารถถูกนำมาตีความเป็น “เครื่องมือ” เพื่อสนับสนุนแนวทางบางอย่างของคนบางกลุ่มได้อยู่เสมอ

หนึ่งบทบาทสำคัญของศาสนาที่หลักการทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ก็คือ การสร้าง “อัตลักษณ์” ตัวตนของมนุษย์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็น “พวกเรา” กับ “พวกมัน” [มนุษย์เคยใช้วิทยาศาสตร์มาแยกกลุ่มของมนุษย์มาแล้ว จนนำมาสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยกองทัพนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2]

ในศตวรรษ 21 ที่มนุษย์มีอารยธรรมเดียวกัน ศาสนาประกอบกับแนวคิดแบบชาตินิยมยังคงทำหน้าที่ “แบ่งแยก” มนุษย์ออกเป็นกลุ่มก้อนที่เป็นศัตรูกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและนั่นก็ทำให้การร่วมมือกันของมนุษยชาติเพื่อการแก้ปัญหาระดับโลกนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากจริงๆ

 

9th Lesson – IMMIGRATION : some cultures might be better than others

โลกในศตวรรษที่ 21 กำลังพบเจอกับปัญหาการอพยพครั้งใหญ่ของประชากรในแถบประเทศตะวันออกกลางเข้าสู่ประเทศในเครือสหภาพยุโรปที่นำมาสู่ “ข้อโต้แย้ง” ระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนและกลุ่มคนที่คัดค้านการตั้งถิ่นฐานของผู้อพยพจากต่างแดน ซึ่งข้อถกเถียงเหล่านั้นมีอยู่ 3 ประเด็นใหญ่ๆที่ทุกประเทศยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ได้แก่

  1. หลักการของการรับผู้อพยพ [เช่น รับเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศที่เกิดภัยสงคราม หรือการดูที่ความสามารถในการทำงาน]
  2. กฎเกณฑ์ในการอยู่อาศัยของผู้อพยพ [เช่น การบังคับให้ผู้อพยพละทิ้งวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิม การบังคับให้ผู้อพยพรับเอาเอกลักษณ์ของชาติเจ้าภาพไปปฏิบัติตาม]
  3. สิทธิ์ของผู้อพยพในการบรรจุเป็นประชาชนของประเทศเจ้าภาพ [เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์]

มองในระยะยาว “การปะทะกันระหว่างสองวัฒนธรรม” คือ ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างกันของวัฒนธรรมของประเทศเจ้าถิ่นและวัฒนธรรมของผู้อพยพ [ถึงแม้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างมี DNA ที่เหมือนกันเกือบ 100%] ซึ่งปัญหานี้อาจส่งผลให้ผู้อพยพที่มีประชากรน้อยกว่าและถูกมองว่ามีวัฒนธรรมที่ด้อยกว่าหรือไม่เหมาะสมนั้นไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคม [เช่น ประเทศ A ที่มีค่านิยมให้คนมีความเกรงใจกันอาจมองว่าคนจากประเทศ B ที่มีค่านิยมในการปะทะคารมเป็นคนไร้มารยาทและไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำในองค์กรต่างๆที่ต้องใช้ความสามารถในการบริหารคนสูง โดยการกีดกันนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเหยียดเชื้อชาติแต่อย่างใด] ซึ่งความไม่ยุติธรรมนี้เองจะยิ่งสร้างรอยร้าวระหว่างเจ้าบ้านและผู้อพยพ ที่หากโลก [หรือ สหภาพยุโรป] ไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาเล็กๆนี้ได้ อย่าหวังเลยว่ามนุษยชาติจะสามารถรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสงครามนิวเคลียร์ได้เลยซะดีกว่า

 

Part III – Despair and Hope

 

10th Lesson – TERRORISM : don’t panic

“การก่อการร้าย” คือ “เครื่องมือในการควบคุมจิตใจมนุษย์” ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในศตวรรษที่ 21… การฆ่าคนเพียงไม่กี่คนอย่างโหดร้ายนั้นสามารถสร้างภาวะความตื่นตระหนกให้กับคนเป็นพันล้านชีวิตได้อย่างรวดเร็ว [ในแต่ละปีมีคนเสียขีวิตจากการก่อการร้ายในยุโรปประมาณ 50 คน เทียบกับการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจร 80,000 คน]

ตรงตามความหมายในภาษาอังกฤษ terrorism คือกลยุทธ์ทางทหารเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองด้วยการเผยแพร่ “ความกลัว (terror)” ให้กับประชาชนในรัฐเป้าหมาย ซึ่งการก่อการร้ายมักเป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้งานโดยขั้วอำนาจที่อ่อนแอกว่าที่ไม่สามารถสู้กับรัฐเป้าหมายได้โดยตรง ซึ่งกลยุทธ์ในลักษณะนี้นั้นมีความเสี่ยงสูงมากเนื่องจากผลลัพธ์ของการก่อการร้ายนั้นมีเพียงแค่การยั่วยุรัฐบาลขั้วตรงข้ามที่ยังมีอาวุธและทรัพยากรครบมือ [ในปี 1941 กองทัพญี่ปุ่นเลือกจู่โจม Pearl Harbor เพื่อทำลายกำลังทางทหารของสหรัฐในสงคราม โดยไม่คิดที่จะเลือกใช้วิธีก่อการร้าย เช่น การโจมตีเรือท่องเที่ยว ที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้สหรัฐส่งกองเรือจาก Pearl Harbor ไปแก้แค้น] แต่ด้วยความที่ผู้ก่อการร้ายนั้นไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอและแทบไม่มีอะไรจะเสียแล้ว การยั่วยุขั้วตรงข้ามอย่างได้ผลก็อาจสะเทือนโครงสร้างการปกครองของพวกเขาได้อย่างมหาศาล [ฝ่ายถูกยั่วยุอาจตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงที่มากเกินหรือน้อยเกินไปจนสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในประเทศได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าการรักษาความปลอดภัยของประชาชนนั้นคือหนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของรัฐ]

จะเห็นได้ว่าการก่อการร้ายนั้นเปรียบเสมือน “การแสดง” ที่มีผู้ชมเป็นคนที่หวาดกลัวการก่อการร้ายมากจนเกินไป ซึ่งส่งผลให้การนำเสนอข่าวการก่อการร้ายยิ่งมีมากขึ้นและทำให้รัฐบาลถูกกดดันอย่างหนักกว่าที่ควรจะเป็น ผลลัพธ์เหล่านี้ล้วนตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้างความกลัวเหล่านั้น ดังนั้น แนวทางการป้องกันการก่อการร้ายที่ดีที่สุดก็คือ “หยุดกลัวเกินจริง” และ “ตอบสนองอย่างสงบ” [แต่แนวทางนี้อาจไม่สามารถใช้ได้ในโลกอนาคตอีกต่อไป เมื่อภัยการก่อการร้ายในรูปแบบของระเบิดนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพและการจู่โจมทางโลกไซเบอร์ นั้นสามารถสร้างความเสียหายต่อรัฐเป้าหมายได้อย่างรุนแรง]

 

เหตุการณ์การก่อการร้ายที่สร้างความกลัวได้มากที่สุดในศตวรรษที่ 21 (ขอบคุณภาพจาก Indian Express)

 

11th Lesson – WAR : never underestimate human stupidity

ช่วงเวลาเกือบ 2 ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 นั้นถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ “สงบสุขที่สุด” ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ [สัดส่วนการเสียชีวิตด้วยความรุนแรงลดลงจาก 15% ในยุคเกษตรกรรมเหลือเพียงแค่ 1% ในยุคปัจจุบัน]

“สงคราม” ที่เคยถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศผู้ชนะสงครามในอดีตกาล ได้เปลี่ยนมาเป็นภัยอันตรายต่อการอยู่รอดของมนุษยชาติ [การเกิดขึ้นของระเบิดนิวเคลียร์ทำให้สงครามถูกแปลงสภาพเป็น “การฆ่าตัวตายหมู่”] ที่ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดๆทางเศรษฐกิจเหมือนอย่างในอดีต [ในศตวรรษที่ 19 สหรัฐอเมริกาสามารถยึดแคลิฟอร์เนียที่เต็มไปด้วยเหมืองทองจากการทำสงครามกับแม็กซิโกได้ แต่ปัจจุบัน การที่จีนคิดจะลงทุนเงินเป็นพันๆล้านดอลลาร์ในการบุก Silicon Valley เพื่อยึดบริษัทอย่าง Google และ Facebook ที่ถือเป็นเหมืองทองในยุคปัจจุบันนั้นถือเป็นเรื่องที่โง่เขลาสิ้นดี เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้คนและข้อมูลที่เป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดหนีหายไปจนหมด]

ถึงแม้ว่าสงครามในยุคปัจจุบันนั้นถือเป็นหายนะที่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับฝ่ายใดๆเลย แต่ตลอดการดำรงอยู่ของมนุษยชาตินั้นเต็มไปด้วยเหตุการณ์ความฉิบหายที่เกิดขึ้นจาก “ความโง่เขลา” ที่นำมาสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดของมนุษย์มากมาย [ญี่ปุ่นทำสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าเศรษฐกิจของประเทศจะไม่สามารถเติบโตได้ด้วยวิธีการอื่นๆ ทั้งๆที่หลังจากแพ้สงครามไปเพียงไม่กี่ปี เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็เติบโตขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์] ดังนั้น จงอย่าประมาท สงครามระดับโลกอาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ชนะอีกครั้งก็เป็นได้

 

12th Lesson – HUMILITY : you are not the centre of the world

มนุษย์มักคิดว่าตนเอง ศาสนาที่ตนนับถือและประเทศชาติที่เป็นแผ่นดินเกิดของตนนั้นคือ “ศูนย์กลางของจักรวาล” เหมือนอย่างที่ ชาว Aztec เชื่อว่าการบูชายัญที่พวกเขาทำทุกวันคือปัจจัยเดียวที่ทำให้ดวงอาทิตย์สามารถขึ้นมาจากท้องฟ้าในทุกๆวัน หรือ การที่ชาวอิสลามที่เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของก่อนศาสดานบีมุฮัมมัดนั้นไม่มีความสำคัญใดๆ แน่นอนว่าความเชื่อทั้งหมดของพวกเขานั้นผิดมหันต์ จักรวาลนั้นเกิดขึ้นจากการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) เมื่อ 13.8 พันล้านปีก่อนและมนุษย์นั้นมีจุดกำเนิดในป่าของทวีปแอฟริกาก่อนการกำเนิดของศาสนาคริสต์ พุทธและอิสลามหลายล้านปี [ต้นเหตุใหญ่ของความเชื่อที่เข้าข้างพวกของตัวเองนั้นมักเกิดจากธรรมเนียมและระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ คนยิวที่เรียนเกี่ยวกับศาสนาของตัวเองตลอด 12 ปีคงไม่แปลกที่จะคิดว่าประเทศอิสราเอลนั้นมีความสำคัญกว่าประเทศจีนหรืออินเดียที่พวกเขาแทบไม่เคยรู้จักเลย]

ถึงแม้ว่าเกือบทุกศาสนาจะสอนเรื่องการ “อ่อนน้อมถ่อมตน” ให้กับผู้นับถือนับร้อยพันล้านคน แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับไม่เคยคิดถ่อมตนต่อความสำคัญของศาสนาหรือพระเจ้าที่ตนนับถือเลย ถึงเวลาแล้วที่มนุษยชาติจะนำความถ่อมตนมาใช้

 

13th Lesson – GOD : don’t take the name of God in vain

ตลอดอดีตกาลของมนุษยชาติ พวกเราสร้าง “พระเจ้า” ผู้มีพลังอำนาจเหนือสรรพสิ่งทั้งมวลขึ้นมาเพื่อตอบ “ปริศนา” ของจักรวาลที่เกิดขึ้นอยู่รอบๆตัวมนุษย์ พวกเราสร้าง “ชายบนฟ้า” ที่พร้อมจะบันดาลโทสะต่อผู้หญิงที่ใส่เสื้อเปิดเผยเนื้อหนังและชายที่เกิดมีความรักต่อคนในเพศเดียวกัน [ลองจินตนาการความสมเหตุสมผลของประโยคนี้ดู “พวกเรายังไม่รู้ว่าเหตุการณ์ Big Bang เกิดขึ้นจากอะไร ดังนั้น ผู้หญิงต้องห้ามขับรถ” คิดหรือว่าตัวตนที่สามารถสร้างจักรวาลที่ซับซ้อนและใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้จะสนใจถึงข้อกำหนดด้านพฤติกรรมหรือการแต่งตัวของสิ่งมีชีวิตเพศหญิงสายพันธุ์หนึ่งในดาวดวงเล็กๆดวงหนึ่ง]

แท้จริงแล้ว ความเชื่อและหลักการเกี่ยวกับพระเจ้านั้นในศาสนาต่างๆนั้น เกิดขึ้นจาก “จินตนาการ” ของมนุษย์ที่ต้องการสร้างธรรมเนียมปฎิบัติและโครงสร้างการปกครองของตนเอง รวมถึงการเป็น “ข้ออ้าง” ในการก่อสงครามกับผู้ที่มีความเชื่อที่แตกต่างกัน… ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าและศาสนาจรรโลงให้โลกในปัจจุบันมีความสงบสุขนั้นอาจไม่ถูกต้องเสมอไป ประเทศที่ไม่มีศาสนา อย่าง เดนมาร์กและสาธารณรัฐเช็ก ก็สามารถสร้างสังคมที่สงบสุขได้ ขอเพียงแค่มนุษย์ทุกคนเข้าใจถึง “ความทุกข์ทรมาน (suffering)” ของกันและกันเท่านั้น [เพิ่มเติม: มนุษย์รวมถึงสิ่งมีชีวิตเลี้ยงลูกด้วยนมนั้นจัดเป็น “สัตว์สังคม” ที่มีสัญชาตญาณการช่วยเหลือและแบ่งปันกันอยู่แล้ว เหมือนกับที่ลิงชิมแพนซีในสวนสัตว์แห่งหนึ่งเต็มใจอุปการะลูกลิงกำพร้ามาเลี้ยงดูดั่งลูกของตัวเอง]

 

14th Lesson – SECULARISM : acknowledge your shadow

ฆราวาสนิยม (secularism) คือ แนวปรัชญาที่มีหลักการสำคัญอยู่ 2 ประการ อันประกอบไปด้วย

  1. truth : การยึดมั่นในความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้มากกว่าความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาจากเรื่องเล่าที่ไม่มีหลักฐานอย่างชัดเจนเหมือนความเชื่อทั่วๆไปของศาสนาต่างๆ
  2. compassion : การเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยการทำความเข้าใจความรู้สึกและความทุกข์ทรมานของกันและกัน

ซึ่งการยึดมั่นใน “ความจริง” และ “ความเห็นอกเห็นใจ” ของฆราวาสนิยมนั้นจึงนำมาสู่การตั้งมั่นในหลักการ “ความเท่าเทียม” และ “อิสรภาพ” ของมนุษย์ทุกคนอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และประชาธิปไตยในโลกยุคสมัยใหม่ ฆราวาสนิยมเชื่อมั่นในการใช้ “ความกล้าหาญ” และ “ความรับผิดชอบ” ของมนุษย์ทุกคนในการทำหน้าที่ “ลดความทุกข์ทรมาน” ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันโดยพร้อมยอมรับผู้ที่มีความเชื่อในศาสนาต่างๆตราบเท่าที่พวกเขาเคารพต่ออิสรภาพและความเท่าเทียมกันของผู้อื่น

และด้วยการยึดมั่นในหลักการทางวิทยาศาสตร์และการเคาระซึ่งกันและกันของมนุษย์นี้เองทำให้แนวคิดของฆราวาสนิยมนั้นได้แพร่กระจายไปสู่มนุษย์ทุกกลุ่มทุกชนชั้นทั่วโลก [โดยที่พวกเราอาจไม่รู้จักชื่อหรือนิยมของฆราวาสนิยามมาก่อน] และหลักการนี้ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของมนุษยชาติในศตวรรษที่ 21

 

Part IV – Truth

 

15th Lesson – IGNORANCE : you know less than you think

คุณสมบัติสำคัญที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆบนโลกก็คือ ความสามารถในการ “คิดร่วมกันเป็นกลุ่ม” ที่เปิดโอกาสให้มนุษย์แบ่งปันความรู้และทำงานที่ใหญ่กว่าความสามารถของคนคนเดียวได้เป็นร้อยเป็นพันเท่า แต่คุณสมบัตินี้ก็ได้ก่อให้เกิด “ภาพลวงตาของความรู้” ให้กับมนุษย์ทุกคน พวกเราต่างมั่นใจว่าเรามีความรู้กับเรื่องรอบๆตัวเราเป็นอย่างดี ทั้งๆที่จริงๆแล้วเรารู้เรื่องราวเกี่ยวกับโลกของเราน้อยมากๆ [ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรารู้ที่มาที่ไปของลาเต้เย็นที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันมากน้อยแค่ไหน กาแฟคั่วยังไง นมสดซื้อมาจากไหนและแก้วพลาสติกมีกระบวนการผลิตอย่างไร] ความรู้ของมนุษยชาติในยุคปัจจุบันจึงเป็น “ความรู้ของหมู่คณะ” ที่เราสามารถต่อยอดความรู้ของบุคคลอื่นในด้านบางด้านโดยเฉพาะมาสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองได้

ฟังดูแล้วที่กล่าวมาทั้งหมดเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ภาพลวงตาของความรู้นั้นได้ก่อปัญหาอย่างใหญ่หลวงในโลกที่ทุกอย่างมีความซับซ้อนสูงจนทำให้คนหนึ่งคนไม่สามารถประมวลผลข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในปัญหาใหญ่ๆ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนนำมาสู่การหาทางออกของความคิดแบบง่ายๆผ่านการคิดตามผู้อื่น (groupthink) และคิดตามอารมณ์ที่ล้วนไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดและสามารถส่งผลกระทบให้โลกตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าเดิมได้ ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ควรทำก็คือการยอมรับถึง “ความไม่รู้” ของตัวเอง

 

16th Lesson – JUSTICE : one sense of justice might be out of date

หลัก “จริยธรรม” ของมนุษย์นั้นได้รับการบ่มเพาะมาตลอดหลายล้านปีของการวิวัฒนาการที่เกือบทั้งหมดของช่วงเวลานั้น มนุษย์ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการล่าสัตว์และหาของป่าในพื้นที่บริเวณไม่กี่สิบตารางกิโลเมตรที่มีมนุษย์คนอื่นอาศัยอยู่ร่วมกันไม่กี่สิบคน การนำเอาหลักจริยธรรมแบบเรียบง่ายจากยุคหินมาใช้กับโลกอันแสนซับซ้อนในยุคศตวรรษที่ 21 นี้จึงเป็นสิ่งที่สับสนวุ่นวายอย่างที่พวกเราประสบอยู่ในปัจจุบัน [ความยุติธรรมในโลกยุคหินมันเข้าใจง่ายมาก เช่น ขโมยอาหารมีความผิด ฆ่าคนมีความผิด แต่คำถามของความยุติธรรมในโลกปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนมากมาย เช่น คนอิสราเอลที่ใช้ชีวิตอย่างสงบในบ้านของตัวเองมีความผิดในข้อหาบุกรุกพื้นที่ของปาเลสไตน์หรือไม่ คนที่ชอบกินเนื้อสัตว์มีความผิดฐานการเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมต่อปศุสัตว์นับพันล้านตัวหรือเปล่า นักลงทุนที่เจียดเงินส่วนเล็กๆของพอร์ตไปลงทุนในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีโรงงานในเครือเพียงโรงงานเดียวที่ปล่อยของเสียลงแม่น้ำนั้นมีความผิดโทษฐานขโมยแม่น้ำหรือไม่]

มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 นั้นเต็มไปด้วย “ความไม่รู้” ที่ทำให้เราไม่สามารถกระทำการต่างๆได้อย่างมั่นใจว่าสิ่งเรานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องยุติธรรมโดยสมบูรณ์ [คนส่วนใหญ่ไม่เคยสนใจด้วยซ้ำว่ารองเท้าที่เราใส่อยู่นั้นถูกผลิตจากโรงงานนรกใช้แรงงานเด็กอยู่หรือไม่ เอ้ะ แล้วการใช้แรงงานเด็กแบบให้เงินนี่มันยุติธรรมหรือเปล่า]… ซึ่งถ้าหากเรายังไม่มั่นใจหรือไม่รับรู้ถึงความยุติธรรมของการกระทำของตัวเอง เราจะมีความสามารถพอในการตัดสินความยุติธรรมของบุคคลนับพันนับล้านคนที่อาศัยอยู่ในสังคมหรือประเทศอื่นได้อย่างไร

 

17th Lesson – POST-TRUTH : some fake news lasts for ever

ศตวรรษที่ 21 ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยุค “หลังความจริง (post-truth)” ที่เต็มไปด้วยคำโกหกและข่าวปลอมที่สามารถสร้างความเชื่อถือได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

แต่เอาเข้าจริงแล้ว มนุษยชาตินั้นดำรงอยู่ในยุคแห่ง post-truth มาตั้งแต่สมัยที่มนุษย์เริ่มมีความสามารถในการสร้าง “เรื่องเล่าจากจินตนาการ” มาใช้ในการสร้างความเชื่อร่วมกันซึ่งนำมาสู่การรวมกลุ่มกันเป็นหมู่คณะของมนุษยชาติตั้งแต่สมัยยุคหินแล้ว เรียกได้ว่าเราคือ “สปีชีส์แห่ง post-truth” เลยก็ว่าได้ และเรื่องแต่งบางเรื่องที่ไม่มีตรรกะความเป็นจริงใดๆที่สามารถพิสูจน์ได้ เช่น ความเชื่อที่ว่าอดัมและอีฟคือมนุษย์คู่แรกของโลก นั้นก็อาจจะดำรงอยู่กับเราไปตลอดกาล [เวลาที่มีคนหนึ่งพันคนเชื่อเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาเราจะเรียกมันว่า “ข่าวปลอม” แต่ถ้าเรื่องแต่งนั้นมีคนเชื่อหนึ่งพันล้านคนเราจะเรียกมันว่า “ศาสนา” และสมมุติชาวคริสต์เชื่ออย่างสนิทใจในทุกตัวอักษรของพระคัมภีร์ไบเบิ้ล พวกเขาจะคิดอย่างไรกับความเชื่อตามหลักศาสนาอื่นๆที่เต็มไปด้วยข้อขัดแย้งกับคัมภีร์ไบเบิ้ล]

ความจริงที่เป็นเรื่องจริงจริงๆ [อ้ะ งงไหม] ของมนุษยชาติ ก็คือ “มนุษย์ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความจริงซักเท่าไหร่” และความสมดุลระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งนั้นสามารถสร้างพลังอำนาจอันมหาศาลให้กับมนุษย์ได้ [โลกจึงมีมนุษย์น้อยคนนักที่จะยอมสละพลังอำนาจหรือเสถียรภาพของสังคมเพื่อแลกกับการได้มาซึ่งความจริง] สิ่งที่พวกเราคนธรรมดาสามารถทำได้ในปัจจุบันก็คือ “การตระหนักถึงการมีอยู่ของเรื่องแต่ง” และมีสติทุกครั้งก่อนที่จะเชื่อเรื่องใดๆโดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญสำหรับเรา

 

18th Lesson – SCIENCE FICTION : the future is not what you see in the movies

หลังจากที่เรารู้แล้วว่าเครื่องมือที่ดีที่สุดในการส่งอิทธิพลทางความคิดให้กับมนุษย์ก็คือ “เรื่องเล่า” ที่ยิ่งเข้าใจง่ายมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เครื่องมือที่น่าจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในศตวรรษที่ 21 นี้จึงหนีไม่พ้น “เรื่องเล่าทางวิทยาศาสตร์ (science fiction หรือ sci-fi)” เหมือนอย่างที่ทุกวันนี้ ความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่าง A.I. และชีววิศวกรรมนั้นมักได้รับอิทธิพลจากซีรี่ย์ sci-fi อย่าง Westworld และ Black Mirror มากกว่าจากบทความทางวิชาการที่เข้าใจได้ยาก ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้ผลิตสื่อ science fiction ต้องมีความรับผิดชอบในการสร้างเรื่องราวที่ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์จริงๆมากขึ้นกว่าเดิม [ปัจจุบัน มนุษย์กลัวโลกอนาคตที่ A.I. มีความตระหนักรู้และก่อสงครามกับมนุษย์เหมือนในเรื่อง The Terminator มากกว่าโลกอนาคตที่คนส่วนมากถูกผลักตกกระป๋องกลายเป็นชนชั้นที่ไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจ]

หนึ่งในภาพยนตร์ sci-fi ที่นำเสนอหลักการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แบบเข้าใจง่ายให้กับคนหมู่มากได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็คือ ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง “Inside Out” ของค่าย Disney/Pixar ที่เล่าเรื่องราวการผจญภัยภายในสมองของเด็กสาวที่ชื่อ Riley ด้วยการนำเสนอหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายว่า “ความคิดของมนุษย์นั้นถูกขับเคลื่อนด้วย algorithm ทางชีวภาพ” ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของ “ศูนย์บัญชาการความคิด” ที่ถูกควบคุมโดยตัวละครที่เป็นตัวแทนของอารมณ์พื้นฐานทั้ง 5 ประการของมนุษย์ อย่าง Joy, Sadness, Anger, Disgust และ Fear ซึ่งแสดงให้เห็นเลยว่า Riley นั้นไม่มี free will [หรือตัวละคร “จิตวิญญาณ”] มาช่วยควบคุมเจ้าอารมณ์ทั้งห้าเลย ทุกการกระทำของเธอนั้นเป็นไปตามความเห็นร่วมกันของอารมณ์ทั้งห้าโดยที่เธอไม่รู้ตัว

 

ศูนย์บัญชาการความคิดในภาพยนตร์เรื่อง Inside Out (ขอบคุณภาพจาก Forbes)

 

Part V – RESILIENCE

 

19th Lesson – EDUCATION : change is the only constant

มนุษยชาติในศตวรรษที่ 21 ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องอย่างที่โลกไม่เคยเผชิญมาก่อน พวกเราไม่สามารถพยากรณ์โลกในอนาคตในสิบปีข้างหน้าได้อีกต่อไป แล้วเราควรจะสอนอะไรให้กับเด็กแรกเกิดในยุคปัจจุบันที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานในปี 2050 ที่สิ่งเดียวที่เราสามารถมั่นใจได้คือการที่องค์ความรู้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นจะไม่สามารถนำมาใช้งานได้อีกต่อไป

ระบบการเรียนการสอนในปัจจุบันที่เน้นการสอนวิชาการเฉพาะทางจำพวก technical skill เช่น ภาษาจีนกลางและการเขียนโปรแกรมภาษา C++ นั้นควรถูกลดบทบาทลง โดยโรงเรียนควรมุ่งเน้นการสอนวิชาเอนกประสงค์ เช่น 4Cs [การคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล (critical thinking), การสื่อสาร (communication), การทำงานเป็นทีม (collaboration) และ ความคิดสร้างสรรค์ (creativity)] รวมไปถึง ทักษะในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ทักษะในการจัดการกับจิตใจของตัวเองและที่สำคัญที่สุดเลยก็คือทักษะใน “การสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาใหม่ (reinvent) อยู่ตลอดเวลา” เพราะสิ่งเดียวที่มั่นคงในโลกอนาคตก็คือการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องประกอบกับการเพิ่มขึ้นของอายุขัยและอายุการทำงานของมนุษย์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์จะส่งผลให้วงจรชีวิตของมนุษย์ถูกเปลี่ยนแปลงจาก “เรียนรู้-ทำงาน” เป็น “เรียนรู้-ทำงาน-เรียนรู้-ทำงาน-เรียนรู้-ทำงาน-เรียนรู้…” ซึ่งทำให้ “ความยืดหยุ่นทางอารมณ์ (resilience)” กลายมาเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้ชีวิตในโลกที่มนุษย์นั้นถูกกดดันจากเทคโนโลยีให้เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา

คำแนะนำที่ Yuval Noah Harari มอบให้กับเด็กในยุคปัจจุบันคือ “จงอย่าเชื่อผู้ใหญ่และจงอย่าเชื่อเทคโนโลยี จงทำความรู้จักกับตัวเองให้ดีที่สุดก่อนที่ A.I. จะรู้จักเรามากกว่าตัวของเราเอง”

 

20th Lesson – MEANING : life is not a story

“เราเกิดมาทำไม” และ “ความหมายของชีวิตคืออะไร” คือคำถามสำคัญที่มนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยต่างต้องการคำตอบ ซึ่งคำตอบของแต่ละยุคสมัยก็ล้วนแปรเปลี่ยนไปตาม “ความรู้” และ “ความไม่รู้” ของมนุษย์ตามยุคสมัยนั้นๆ แล้วคำตอบในยุคศตวรรษที่ 21 คืออะไร

หนึ่งในรูปแบบของเรื่องเล่าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือการที่มนุษย์เกิดมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล ชาติ ศาสนาหรือระบบสังคมหนึ่งๆเพื่อทำหน้าที่บางอย่างให้สัมฤทธิ์ผลสืบเนื่องต่อกันเป็นทอดๆจากรุ่นสู่รุ่นไปจนนิรันดร์ ดังนั้น การมีชีวิตที่ดีคือการรู้ถึงหน้าที่ของตัวเองและการดำเนินการให้สำเร็จ ไม่ต่างกับ Circle of Life ใน Lion King ที่สัตว์แต่ละตัวนั้นต่างทำหน้าที่ของตัวเองวนไปเป็นอนันต์ เช่น หญ้าถูกกวางกิน กวางถูกสิงโตกิน สิงโตตายกลายเป็นปุ๋ยให้หญ้า แต่ปัญหาของความเชื่อแบบนี้คือ โลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะเกิดอะไรขึ้นกับ Simba ถ้ามนุษย์เริ่มบุกรุกป่าของเขา นี่ยังไม่นับว่าโลกจะถูกกลืนกินโดยดวงอาทิตย์ในอีกประมาณ 7.5 พันล้านปีข้างหน้า… ความหมายของชีวิตชาวยิวที่ต้องการยึดครองอาณาบริเวณของเมืองเยรูซาเล็มเพื่อสร้างเมืองอันเป็นนิรันดร์ก็น่าสงสัยไม่ต่างกันว่าในอนาคตอีกเพียงไม่กี่ร้อยปีข้างหน้า โลกจะยังมีประเทศที่ชื่ออิสราเอลหรือเปล่า… เรื่องเล่าทางความเชื่อของศาสนาต่างๆที่ไม่ครอบคลุมถึงการกำเนิดจักรวาลและหลักการฟิสิกส์ควอนตัมนั้นดูเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นเรื่องเล่าที่ถูกต้องเพียงเรื่องเดียวในจักรวาล

เรื่องเล่าที่สามารถให้คำตอบของความหมายของชีวิตที่ดีนั้นต้องประกอบไปด้วย 2 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ “บทบาทหน้าที่ของตัวบุคคล” และ “จุดหมายระยะยาวที่ใหญ่กว่าเพียงแค่ตัวบุคคลหนึ่ง” แต่สิ่งที่เรื่องเล่าเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีก็คือ “ความจริง” [ลองนั่งคิดดูดีๆว่า พระเจ้าผู้สร้างจักรวาลนั้นจะส่งลูกชายมาเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตคาร์บอนอายุสั้นๆในดาวเคราะห์เล็กๆดวงหนึ่งทำไม] ขอเพียงแค่ผู้คิดค้นเรื่องเล่าสามารถสร้างความเชื่อให้กับประชาชนผ่านกรรมวิธีต่างๆซึ่งเครื่องมือที่ใช้ได้ผลดีที่สุดก็คือ “พิธีกรรม” เช่น พิธีศีลมหาสนิทที่ช่วยทำให้ชาวคริสต์เข้าใกล้กับพระเยซูมากขึ้นด้วยการรับประทานขนมและไวน์ที่เปรียบเสมือนเนื้อและเลือดของพระเยซู [อะไรจะจริงไปกว่าการมีส่วนหนึ่งของพระเยซูอยู่ในปาก] หรือ พิธีกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของ “ชาติ” อย่างการยืนตรงเคารพเพลงชาติและการให้เกียรติกับธงชาติที่เป็นเพียงผ้าผินสี่เหลี่ยมผืนหนึ่งเท่านั้น… อีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้ได้ผลดีก็คือ “การเสียสละ” ที่เป็นการออกแรงหรือทนทุกข์ทรมานเพื่อศาสนาและความเชื่อ เช่น การถือศีลอดที่ชาวมุสลิมต่างต้องทนทรมานทำกันทุกปี หรือ การทำบุญตักบาตรของชาวพุทธที่ต้องยอมสูญเสียเงินที่มีค่าของตัวเองเพื่อแลกกับการทำความดีตามความเชื่อของพวกเขา

และด้วยความที่ความเชื่อเหล่านั้นไม่ได้เป็นจริงเสมอไปในแต่ละสถานการณ์ มนุษย์โดยปกติจึงมักยึดถือเรื่องเล่าทางความเชื่อเป็นพอร์ตโฟลิโอมากกว่าหนึ่งเรื่องอยู่เสมอ อาทิ กลุ่มผู้ก่อการร้าย ISIS ที่ก่อเหตุฆ่าตัวตายในปี 2015 โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการล้างแค้นต่อการทิ้งระเบิดของกองทัพฝรั่งเศสในซีเรียนั้นช่างขัดแย้งกับคำประกาศของพวกเขาที่ว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดนั้นจะได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์สิ้นดี ถ้ากลุ่ม ISIS มีความเชื่อในเรื่องเล่าเดียว พวกเขาจะต้องขอบคุณประเทศฝรั่งเศสที่เป็นคนพาพวกเขาขึ้นสวรรค์สิ !! หรือ อีกกรณีศึกษาก็คือการทำสงครามระหว่างสองอาณาจักรอย่างพม่าและสยามที่ต่างก็นับถือศาสนาพุทธที่สอนเรื่องการไม่ทำบาปอย่างเคร่งครัดแต่ก็ยังตัดสินใจทำสงครามรบราฆ่าฟันกันเป็นเวลายาวนานในช่วงศตวรรษที่ 18

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นั้นได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวทางการตอบคำถามถึงความหมายของชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมนุษย์ทราบแล้วว่าทุกกระบวนความคิดและความรู้สึกที่เราต่างได้สัมผัสในจิตใจของเรานั้นเกิดขึ้นจากกระแสประสาทที่ได้รับอิทธิพลจากการเลี้ยงดูและสภาพพื้นฐานของสังคม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พวกเราควรรำลึกถึงเลยก็คือ “พวกเราไม่ใช่เรื่องเล่า” และหากพวกเราสามารถทิ้งเรื่องเล่าทั้งหมดออกจากจิตใจของตัวเองได้ พวกเราจะมีความสามารถในการมองเห็นความจริงของตนเองและโลกมากขึ้น ซึ่งแนวทางในการแยกเรื่องเล่าออกจากความจริงนั้นสามารถวิเคราะห์ได้โดยการตั้งคำถามว่า “สิ่งเหล่านั้นสามารถทุกข์ทรมานได้หรือไม่”

การตามหาความหมายของชีวิตจึงต้องเริ่มที่การตั้งคำถามถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจริงบนโลกและหนีห่างจากเรื่องเล่าสวยหรูอันแสนหลอกลวง

 

21st Lesson – MEDITATION : just observe

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำให้มนุษย์สามารถทำความเข้าใจกลไกของสมองได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ความเข้าใจถึงกลไกของ “จิตใจ” อันเป็นศูนย์กลางของอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเราสัมผัสได้จริงๆนั้นยังถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก เครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยให้มนุษย์ทำความเข้าใจจิตใจของตัวเองได้ดีที่สุดในปัจจุบันคือ “การทำสมาธิ” อาทิ การทำวิปัสสนาอย่างที่ผู้เขียน Yuval Noah Harari ฝึกฝนอยู่ทุกวัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ละทิ้งความคิดต่างๆที่อยู่นอกกายเพื่อหันมาสนใจกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจและร่างกายของตัวเอง เช่น การรู้ถึงการหายใจเข้าออกและการสัมผัสถึงร่างกายเวลาเกิดอารมณ์ต่างๆ

การทำความเข้าใจจิตใจของพวกเราเองนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในศตวรรษที่ 21 เพื่อป้องกันไม่ให้จิตใจของเราต้องตกอยู่ในการควบคุมของ A.I. ที่อาจมีความสามารถในการเข้าใจจิตใจของมนุษย์ได้ในเร็ววันนี้




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*