News Ticker

[สรุปหนังสือ] Hidden Potential : The Science of Achieving Greater Things

 

 

[สรุปหนังสือ] Hidden Potential : The Science of Achieving Greater Things (2023)

by Adam Grant

 

“The true measure of your potential is not the height of the peak you’ve reached, but how far you’ve climbed to get there.”

 

พวกเราทุกคนอาศัยอยู่บนโลกที่เทิดทูนคนเก่งผู้มีพรสวรรค์ ไม่ว่าจะเป็น นั่งเรียนห้องคิงประจำโรงเรียน, นักกีฬาเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก, นักร้องชื่อดังที่มีผู้ติดตามเป็นล้านๆคน ไปจนถึง นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆให้กับโลกมนุษย์… แต่การชื่นชมอัจฉริยะระดับท็อป 0.001% ก็มักทำให้พวกเราทุกคนหลงลืมไปว่า แท้จริงแล้ว พวกเราทุกคนก็สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปได้ไกลกว่าต้นทุนเริ่มต้นของพวกเราแต่ละคนอย่างน่าอัศจรรย์เฉกเช่นเดียวกัน

Hidden Potential คือ หนังสือเล่มล่าสุดของ Adam Grant ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กรประจำ The Wharton School เจ้าของหนังสือระดับ bestseller อย่าง Give and Take และ Think Again ที่ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ในการปลดล็อก “ศักยภาพ” ที่ซ่อนเร้นของมนุษย์ผ่านการพัฒนาทักษะด้านคุณลักษณะ (character skill) อย่างต่อเนื่อง อาทิ ความคิดเชิงรุก (proactive), ความมุ่งมั่นตั้งใจ (determined), ความสามารถในการเข้าสังคม (prosocial) และความมีวินัย (disciplined) ไปพร้อมๆกับการวางโครงสร้างที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในทุกๆวันและการออกแบบระบบที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเค้นเอาศักยภาพของตัวเองออกมาสู่โลกได้มากที่สุด ขอเชิญทุกท่านที่เชื่อมั่นในแนวคิดที่ว่า “หน่วยวัดของศักยภาพที่ดีที่สุดของมนุษย์ ไม่ใช่จุดสูงสุดของสิ่งที่ทำได้ แต่เป็นระยะทางที่มนุษย์แต่ละคนปีนขึ้นมาได้จากจุดเริ่มต้นต่างหาก” อ่านสรุปหนังสือพลังบวกเล่มนี้กันได้เลยครับ

 

adam grant ผู้เขียนหนังสือ think again

Adam Grant ศาสตราจารย์แห่ง Wharton School (ขอบคุณภาพจาก CNBC)

 


 

Part I | Skills of Character : Getting Better at Getting Better

 

Chapter 1. Creatures of Discomfort : Embracing the Unbearable Awkwardness of Learning

การเติบโตที่มีความหมายที่สุดของมนุษย์แต่ละคนนั้นคือการเติบโตของทักษะด้านคุณลักษณะ (character skill) ที่เป็นทักษะที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่เป็นดั่งตัวตนของมนุษย์แต่ละคนที่ทำให้พวกเขาสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้สูงสุด โดยนอกจากสำคัญทักษะอย่าง ความคิดเชิงรุก (proactive), ความมุ่งมั่นตั้งใจ (determined), ความสามารถในการเข้าสังคม (prosocial) และความมีวินัย (disciplined) แล้ว อีกหนึ่งทักษะสำคัญที่มนุษย์ควรมึคือความสามารถในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวความคิดที่เชื่อว่ารูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือการสอนในรูปแบบที่เฉพาะเหมาะสมต่อความชอบในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน อาทิ หากผู้เรียนคิดเป็นภาพก็ควรสอนเป็นภาพเป็นหลักเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด นั้นไม่ใช่แนวคิดที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง แต่กลับเป็นเพียงการเพิ่มความรู้สึกสะดวกสบายในการเรียนการสอนเพียงเท่านั้น โดยงานวิจัยของ Adam Grant ได้พบข้อเท็จจริงสำคัญของการเรียนรู้ว่า แท้จริงแล้ว องค์ประกอบที่ช่วยให้การเรียนรู้นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลที่สุดนั้นก็คือการอยู่กับ “ความไม่สบาย (discomfort)” ของการลงมือทำโดยที่ยังมีความรู้ที่ไม่แน่นพอ

Adam Grant ได้พูดคุยกับผู้ที่มีความสามารถในการพูดได้หลายภาษาเพื่อเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้ของพวกเขาจนค้นพบว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่ผู้มีพรสวรรค์ด้านการพูดหลายภาษาโดยกำเนิดและมักทำผลงานด้านวิชาภาษาได้ไม่ดีเท่าไหร่ในโรงเรียนเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขากลายมาเป็นนักพูดหลายภาษาได้ในปัจจุบันนั้นก็คือ “ความกล้า” ที่จะเผชิญหน้ากับความไม่สบายหลากหลายรูปแบบเพื่อเร่งกระบวนการเรียนรู้ อาทิ หญิงคนหนึ่งเลือกวิธีการฝึกภาษาสเปนด้วยการย้ายไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่สเปนและอยู่อาศัยกับบ้านของคนสเปนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แบบหักดิบ หรือ ชายคนหนึ่งที่ตัดสินใจเดินทางไปยังหลายๆประเทศและพูดคุยกับคนแปลกหน้าด้วยภาษาท้องถิ่นทันทีที่ลงจากเครื่องบินโดยตั้งเป้าหมายว่าเขาต้องพูดผิดอย่างน้อยวันละ 200 ครั้ง

ดังนั้น พัฒนาการด้านการเรียนรู้อย่างรวดเร็วนั้นไม่น่าใช่วิธีคิดแบบเดิมๆที่เริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลจนเริ่มมีความมั่นใจก่อนที่จะเริ่มทำการปฏิบัติจริงที่ก็ไม่รู้จะได้เริ่มตอนไหน แต่กลับเป็นการเร่งปฏิบัติอย่างรวดเร็วที่สุดโดยกล้าเผชิญหน้ากับความไม่สบายและความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนที่จะเป็นแรงผลักดันให้หันกลับมาศึกษาและปฏิบัติใหม่อย่างต่อเนื่องจนเชี่ยวชาญในองค์ความรู้นั้นๆอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะมันคงเป็นไปได้ยากที่วันหนึ่งเราจะตื่นขึ้นมารู้สึกพร้อมกับอะไรบางอย่างอย่างฉับพลัน ความพร้อมเหล่านั้นมักเริ่มต้นจากความกล้าเดินออกจากความรู้สึกปลอดภัยเพื่อลงมือทำอย่างต่อเนื่องต่างหาก

 

Chapter 2. Human Sponges : Building the Capacity to Absorb and Adapt

การศึกษาถึงความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของมนุษย์ในช่วงปี 1500s ได้พบเห็นความเชื่อมโยงที่น่าสนใจระหว่างการเติบโตของความเชื่อทางศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่เข้ามาทดแทนความเชื่อตามนิกายคาทอลิกแบบดั้งเดิม โดยเมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียด การเติบโตของความก้าวหน้าของมนุษย์ในสังคมโปรเตสแตนต์นั้นไม่ได้แปรผันไปตามความเชื่อของการทำงานหนักที่มากขึ้นของชาวโปรเตสแตนต์แต่กลับเป็น “การเข้าถึงองค์ความรู้” ที่มากขึ้นจากการพัฒนาความสามารถในการอ่านและเขียนของประชาชนที่นำไปสู่กระบวนการสะสมความรู้ในแบบก้าวกระโดด

Adam Grant เลือกหยิบยกคุณสมบัติเด่นอีกข้อของมนุษย์ผู้มีความสามารถในการพัฒนาตัวเองได้สูงโดยเปรียบเปรยให้เป็นเหมือนกับ “ฟองน้ำ” ที่เป็นสิ่งมีชีวิตระดับดึกดำบรรพ์ที่สามารถดูดซับสสารรอบข้างเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆได้อยู่ตลอดเวลาและยังปลดปล่อยสสารที่ดีไปสู่ท้องทะเลเป็นวงกว้างเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆในระบบนิเวศน์ด้วยเช่นกัน

คุณสมบัติของมนุษย์แบบฟองน้ำนั้นมีแก่นอยู่ที่ความสามารถในการยอมรับในความไม่รู้ของตัวเองและการ “ขวนขวาย” หาองค์ความรู้ที่มีคุณภาพแบบ “เชิงรุก” เพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อ “การเติบโต” ของตัวเองอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ปล่อยให้อัตตามาขัดขวางการเรียนรู้และหมั่นรู้จัก “กรั่นกรอง” องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์จริงๆออกมาจากข้อมูลที่ซึมซับมาได้ในแต่ละวัน… โดย Adam Grant ได้ยกวิธีการพัฒนาตัวเองแบบฟองน้ำที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นก็คือการถามหา “คำแนะนำ” จากบุคคลที่มีคุณสมบัติ 3 ประการนี้ ได้แก่ “ความน่าเชื่อถือ (creditability)” ในด้านที่เราต้องการคำแนะนำ, “ความใกล้ชิด (familiarity)” จนพอรู้บริบทของตัวเราได้ดีและ “ความหวังดี (care)” อย่างแท้จริงต่อพัฒนาการของเรา … ไม่ใช่เพียงแค่การขอ feedback จากทุกคนแบบสุ่มที่มักเป็นเพียงคำวิจารณ์มากกว่าองค์ความรู้ที่สามารถเอาไปพัฒนาได้จริง… ปิดท้าย มนุษย์แบบฟองน้ำที่ดียังควรเผื่อแผ่องค์ความรู้ที่ศึกษารวบรวมมาให้แก่ผู้อื่นเพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นไปพร้อมๆกัน

 

Chapter 3. The Imperfectionists : Finding the Sweet Spot between Flawed and Flawless

ความเชื่อที่ว่าทุกคนนั้นควรโหยหาถึงความสมบูรณ์แบบอย่าง perfectionist ที่ทุกอย่างที่ทำนั้นต้องเต็มสิบไร้ข้อบกพร่องนั้นถือเป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาศักยภาพที่แท้จริง เพราะความคิดแบบ perfectionist นั้นมีปัญหาอยู่หลายประการ อาทิ คนแบบ perfectionist มักให้ความสำคัญกับการเก็บรายละเอียดแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่าไหร่ให้สมบูรณ์ที่สุดจนทำให้เสียเวลาและไม่ได้มองภาพใหญ่ถึงสิ่งที่สำคัญกว่าที่ควรจะต้องทำ, คนแบบ perfectionist มักต้องการความสมบูรณ์แบบอยู่เสมอจนทำให้พวกเขาไม่กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆจนสูญเสียโอกาสในการได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้กว้างมากยิ่งขึ้นและคนแบบ perfectionist มักกล่าวโทษตัวเองทุกครั้งที่เกิดความผิดพลาดและเอาตัวเองออกจากสิ่งที่พวกเขายังทำได้ไม่สมบูรณ์แทนที่จะนำเอาความผิดพลาดมาเรียนรู้และพัฒนาการให้ดีขึ้น จนท้ายที่สุด คนแบบ perfectionist ก็จะลดศักยภาพของตัวเองไปเรื่อยๆจนเหลือเพียงแค่จุดที่พวกเขามั่นใจว่าตัวเองจะทำได้อย่างสมบูรณ์แบบเท่านั้น

 

 

มนุษย์ส่วนใหญ่มักเกรงกลัวและจมปลักอยู่กับความผิดพลาดของตัวเอง แต่ก็จงอย่าหลงลืมไปว่าแท้จริงแล้ว ตัวเราเองก็มักไม่ค่อยได้มานั่งสนใจกับความผิดพลาดของผู้อื่นและมักจดจำแต่เรื่องราวความสำเร็จของพวกเขา… ผู้คนรู้จัก William Shakespeare จาก Romeo & Juliet และ Hamlet มากกว่าบทละครอีกหลายสิบเรื่องที่ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร… ดังนั้น พวกเราทุกคนก็ควรเลิกจำฝังใจต่อความผิดพลาดของตัวเองและหันมามีทัศนคดีที่ดีในการกล้าลองผิดลองถูกและความไม่สมบูรณ์แบบเพื่อพัฒนาผลงานชิ้นเอกของเราในอนาคต

Adam Grant แนะนำว่าผู้ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่นั้นต้องเป็นคนที่สามารถยอมรับกับความผิดพลาดและความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้เหมือนดั่งแนวคิด Wabi-sabi แบบญี่ปุ่นที่เชื่อในความสวยงามของสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบและเปลี่ยนจากการตามหาความสมบูรณ์แบบมาเป็นการพัฒนาตัวเองให้ได้มากที่สุดในแต่ละวันด้วยมาตรฐานที่สูงที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แทน ซึ่งก็รวมไปถึง การจัดลำดับความสำคัญว่าเราควรพัฒนาอะไรมากที่สุดและอะไรบ้างที่สามารถยอมมีข้อบกพร่องบ้างได้ การสร้างผลงานที่ดีมากเพียงพอให้คนรัก (minimum lovable product) โดยไม่ต้องสมบูรณ์แบบเสมอไปแต่ก็ต้องเป็นสิ่งที่เรายอมรับได้และภาคภูมิใจไปกับมัน การเก็บรวบรวม feedback ที่ Adam Grant แนะนำเป็นระบบคะแนน 0-10 คะแนนที่เราควรถามถึงกรรมการผู้ให้คะแนนแต่ละคนว่าเราต้องพัฒนาต่อไปอย่างไรถึงจะได้เต็ม 10 แต่ก็วางใจเอาไว้ว่าการได้คะแนนแค่ 8-9 คะแนนนั้นก็ยอดเยี่ยมมากแล้ว การยอมรับว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้และรู้ว่าใครบ้างที่เราควรทำให้พวกเขาพึงพอใจรวมถึงตัวของตัวเอง ไปจนถึง การนึกสะท้อนไปถึงการเติบโตจากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันของตัวเองอยู่เสมอว่ามาไกลมากเพียงใดแล้ว

 


 

Part II | Structures of Motivation : Scaffolding to Overcome Obstacles

 

Chapter 4. Transforming the Daily Grind : Infusing Passion into Practice

การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์นั้นยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากสังคมและระบบนิเวศน์รอบข้างที่เปรียบดั่ง “นั่งร้าน” แบบชั่วคราวที่คอยพาให้มนุษย์แต่ละคนเดินไปยังจุดที่สูงขึ้นได้อย่างตรงจุดและตรงเวลา โดยแนวทางแรกในการสร้างนั่งร้านของ Adam Grant นั้นก็คือการเปลี่ยนช่วงเวลาแห่งการฝึกฝนพัฒนาตัวเองที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อและซ้ำซากจนทำให้หลายๆคนเบื่อหน่าย (boreout) หรือล้มเลิกจากการ burnout ไประหว่างทางให้กลายมาเป็น “ช่วงเวลาแห่งความสนุก” และ “passion” ที่สามารถหล่อหลอมให้จิตใจพองโตและพร้อมที่จะลงมือทำได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการเปลี่ยนกิจวัตรในการพัฒนาตัวเองในแต่ละวันให้สนุกมากยิ่งขึ้น

Adam Grant แนะนำแนวคิดในการใส่ความสนุกและ passion ลงไปในการฝึกฝนที่เรียกว่า “deliberate play” หรือ “การเล่นโดยเจตนา” ที่ต้องอาศัยการออกแบบกระบวนการฝึกฝนให้มีความสนุก ท้าทายและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่จำเจโดยที่ยังคงรักษาเป้าหมายในการพัฒนาให้ตัวเองเก่งขึ้นอยู่เสมอ อาทิ การออกแบบของโค้ชบาสเก็ตบอลชื่อดังที่ฝึกความแม่นยำของการชู้ตลูกด้วยเกมส์ที่นักบาสจะต้องทำคะแนนให้ได้มากที่สุดภายใน 1 นาทีที่นอกจากจะสนุกกว่าการฝึกชู้ตลูกแบบซ้ำๆเป็นชั่วโมงๆแล้วยังทำให้เกิดการแข่งขันกับตัวเองเพื่อพัฒนาการที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ หรือ นักดนตรีชื่อดังที่พยายามเล่นเพลงเดียวกันผ่านเครื่องเล่นดนตรีหลากหลายชนิดแบบเดี่ยวที่ถือเป็นการท้ายทายขีดความสามารถในขณะเดียวกันก็มีความสนุกไม่ซ้ำซากจำเจ

นอกจากนั้น อีกหนึ่งแนวคิดสำคัญก็คือการให้ความสำคัญกับการ “พัก” ด้วยระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อปล่อยให้ตัวเองได้พักผ่อนอย่างพอเหมาะเพื่อเติมพลังลุยต่อและการพักนั้นยังเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองและได้คิดจนอาจทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆและยังทำให้การเรียนรู้ที่ผ่านมาฝังรากลึกในความทรงจำมากขึ้นกว่าการลุยอย่างหักโหมจนไม่มีเวลาว่างมานั่งคิดสะท้อนกับตัวเอง

 

Chapter 5. Getting Unstuck : The Roundabout Path to Forward Progress

คนส่วนใหญ่มักมีความคิดแบบผิดๆว่าเส้นทางในการพัฒนาตัวเองนั้นต้องเป็นเส้นตรงที่พวกเราแต่ละคนจะสามารถเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ เมื่อพวกเขาเดินทางไปสู่ทางตันที่เป็นตั่งยอดภูเขาลูกนั้นแล้ว การเติบโตก็จะหยุดชะงักจากการติดกับอยู่กับทางตันแห่งนั้นที่เดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้… Adam Grant สรุปว่าเส้นทางในการพัฒนาตัวเองนั้นแท้จริงแล้วเต็มไปด้วยทางคดเคี้ยวและภูเขาหลากหลายลูกที่มีขึ้นและมีลงเสมอ การพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืนนั้นจึงต้องคำนึงถึงการ “ดึงตัวเองออกจากทางตัน” ด้วยการยอมเดินถอยลงกลับทางเก่าเพื่อหาทางเดินใหม่ที่อาจนำพาไปสู่ภูเขาลูกที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้

การวางนั่งร้านที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจเดินทางลงจากเขาลูกเก่าเพื่อหาทางเดินใหม่นั้นก็คือการตามหา “เข็มทิศ” และ “ไกด์” ที่สามารถช่วยแนะนำการสำรวจเส้นทางใหม่ที่ไม่คุ้นชินกับเรา โดย Adam Grant แนะนำว่าการหาไกด์ที่ดีนั้นควรเลือกไกด์ที่เคยอยู่ในจุดที่เราอยู่มาก่อนและก้าวผ่านปัญหาที่เราเผชิญได้มาแล้ว นอกจากนั้น พวกเรายังควรออกตามหาไกด์หลายๆคนที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันบ้างเพื่อฟังมุมมองและเลือกรับเอาคำแนะนำที่มีประโยชน์ต่อเรามาปรับใช้โดยไม่พึ่งพิงไกด์เพียงคนเดียวที่อาจไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ปิดท้าย การเดินทางอ้อมอย่างการหันมาลองทำกิจกรรมอื่นๆชั่วคราวเพื่อสะสมชัยชนะเล็กๆยังช่วยเสริมให้เรามีกำลังใจและไอเดียใหม่ๆในการกลับไปปีนภูเขาลูกใหม่ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้

 

Chapter 6. Defying Gravity : The Art of Flying by Our Bootstraps

นอกจากการวางนั่งร้านที่ได้รับการสนับสนุนโดยผู้อื่นแล้ว พวกเราทุกคนยังสามารถ “สร้างนั่งร้านด้วยตัวเอง” เพื่อดึงให้ตัวเองสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองต่อไปได้ โดย Adam Grant แนะนำวิธีการสำคัญอย่างการลงมือ “สอน” ผู้อื่นในสิ่งที่เราต้องการพัฒนาที่การเตรียมการสอนและประสบการณ์ระหว่างสอนมักจะทำให้ตัวเราเข้าใจในแก่นความรู้ของเรื่องนั้นมากขึ้นและการ “ให้คำปรึกษา” แก่ผู้อื่นในหัวข้อที่เราต้องการพัฒนาที่นอกจากจะได้พัฒนาความคิดแล้วก็ยังเพิ่มความมั่นใจให้กับเราต่อไปได้

นอกจากนั้น Adam Grant ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงจูงในในการลงมือพัฒนาศักยภาพของตัวเอง โดยยกตัวอย่างแนวทางสำคัญอย่างการรับฟัง “คำชม” จากผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านนั้นที่มักเป็นแรงจูงใจที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นว่าเรามาถูกทางแล้วและการรับฟัง “คำสบประมาท” จากผู้ที่ไร้ประสบการณ์ในด้านนั้นที่ดูถูกดูแคลนเราซึ่งก็ถือเป็นฟืนในการจุดไฟให้เราพยายามพัฒนาศักยภาพเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดผิด ปิดท้าย การทำอะไรบางอย่างเพื่อเป้าประสงค์ที่ใหญ่กว่าตัวของเราเองนั้นก็สามารถสร้างแรงจูงใจให้เราไม่ย่อท้อในหนทางแห่งการเติบโตไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน

 


 

Part III | Systems of Opportunity : Opening Doors and Windows

 

Chapter 7. Every Child Gets Ahead : Designing Schools to Bring Out the Best in Students

เรื่องราวที่สั่นสะเทือนวงการการศึกษาโลกได้เกิดขึ้นในปี 2000 หลังจากการเปิดตัวแบบทดสอบศักยภาพด้านความรู้ของนักเรียนทั่วโลกในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อว่า PISA ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเล็กๆที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักอย่าง “ฟินแลนด์” ในฐานะประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

โดย Adam Grant ก็ได้ทำการวิเคราะห์ถึงความแตกต่างของระบบการศึกษาของฟินแลนด์กับประเทศอื่นๆจนค้นพบถึงหลักการสำคัญของฟินแลนด์ที่ ”เชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กทุกคน“ โดยมีเป้าหมายให้โรงเรียนนั้นสามารถเติบโตศักยภาพของนักเรียนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกันทั้งในระดับโรงเรียนเดียวกันและระหว่างแต่ละโรงเรียนที่ต้องมีมาตรฐานที่สูงเท่าเทียมกัน ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนของประเทศอื่นๆที่นักเรียนที่มีฐานะร่ำรวยมักมีโอกาสเข้าถึงโรงเรียนที่ดีกว่าและนักเรียนที่โชว์พรสวรรค์ตั้งแต่เนิ่นๆจะได้รับการให้ความสำคัญมากกว่านักเรียนหลังแถวที่มักถูกละเลย

โดยระบบการศึกษาของฟินแลนด์นั้นมีแนวคิดหลายอย่างที่น่าสนใจที่โรงเรียนของประเทศอื่นๆน่าจะนำมาปรับใช้ได้ ได้แก่

  • การสร้างวิชาชีพครูให้เป็นอาชีพที่มีเกียรติด้วยเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี การกำหนดวุฒิปริญญาโทเป็นขั้นต่ำและการพัฒนาบุคลากรแบบมืออาชีพที่คุณครูต้องหมั่นอัพเดทความรู้ต่างๆตลอดเวลา นอกจากนั้น คุณครูใหญ่ของโรงเรียนในฟินแลนด์ยังต้องทำการสอนหนังสือเองด้วยบางส่วนเพื่อให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์หน้างานตลอดเวลา
  • การวางระบบให้คุณครูกับนักเรียนอยู่ด้วยกันนานขึ้น (looping) อาทิ ให้คุณครูสอนนักเรียนห้องเดียวกันตั้งแต่เกรดหนึ่งถึงเกรดสาม เพื่อให้คุณครูเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีบริบทด้านการเรียนรู้และความสนใจที่แตกต่างกันอย่างไรซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ให้การสอนมีประสิทธิภาพตรงจุดโดยเฉพาะของนักเรียนแต่ละคนมากขึ้น
  • การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่นักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียนแบบรายบุคคลโดยเฉพาะเพื่อให้นักเรียนทุกคนมีพื้นฐานที่ดีเท่าเทียมกัน แต่นักเรียนที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านใดด้านหนึ่งเพิ่มเติมก็ได้รับการสนับสนุนแบบโดยเฉพาะเช่นเดียวกัน
  • การสร้างความรู้สึกสนุกในการเรียนด้วยการออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กสนใจมากขึ้น อาทิ การแจกหนังสือให้พ่อแม่อ่านและพาเด็กเข้าห้องสมุดโดยเปิดโอกาสให้เด็กเลือกหนังสือที่ตัวเองต้องการอ่านได้เพื่อสร้างความรักในการอ่านซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษา หรือ โครงการ Me & MyCity ที่โรงเรียนจะสร้างเมืองเสมือนจริงให้เด็กแต่ละคนเลือกว่าจะทำงานอะไรในเมืองและมีการทำการค้าระหว่างกันจริงๆ

 

Chapter 8. Mining for Gold : Unearthing Collective Intelligence in Teams

นอกจากศักยภาพในระดับบุคคลแล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบที่องค์กรและกระบวนการทำงานแบบทีมต้องคำนึงถึงก็คือการดึง “ศักยภาพของทีม” ออกมาให้ได้มากที่สุดด้วยความเชื่อที่ว่า “เราเพียงคนเดียวไม่มีทางเก่งเท่าพวกเราทุกคนร่วมมือกัน” โดยงานวิจัยหลายแห่งต่างเห็นตรงกันว่าศักยภาพของทีมนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของสมาชิกในทีมแต่ละคน แต่กลับเป็นขีดความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นทีมของสมาชิกที่มีทักษะเชิงคุณลักษณะด้านสังคม (prosocial) ที่สมาชิกทุกคนต่างต้องการร่วมมือกันในการทำตามเป้าหมายร่วมให้สำเร็จและสมาชิกแต่ละคนต่างมองว่าทุกคนในทีมนั้นมีส่วนสำคัญจนทำให้พวกเขาแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น การมีผู้นำที่เห็นความสำคัญของเป้าหมายของทีมก่อนผลประโยชน์ของตัวเองและมีความสามารถในการเป็น “กาว” ที่สามารถรับฟังและเชื่อมโยงสมาชิกในทีมให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการดึงศักยภาพสูงสุดของทีมออกมา… แต่ก็น่าเสียดายที่ทีมจำนวนมากมักเลือกผู้นำที่เสียงดังที่สุดหรือมีความมั่นใจในตัวเองมากที่สุดโดยที่พวกเขาอาจไม่ช่วยให้ทีมทำงานร่วมกันได้ดีที่สุด

Adam Grant ยังได้แนะนำวิธีการรวบรวมไอเดียจากสมาชิกทุกคนในทีมที่มีประสิทธิภาพอย่าง “brainwriting” ที่เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนคิดหาไอเดียด้วยตัวเองก่อนและส่งมอบไอเดียเหล่านั้นมาให้ผู้นำรวบรวมก่อนที่จะเริ่มทำการคัดสรรไอเดียเหล่านั้นร่วมกัน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพกว่าการประชุมแบบ brainstorming ที่คนเสียงดังหรือตำแหน่งใหญ่มักได้รับการได้ยินมากกว่าและทำให้ไอเดียดีๆจากกลุ่มคนที่เงียบกว่านั้นไม่ได้รับการได้ยินอย่างทั่วถึง ปิดท้าย Adam Grant ยังแนะนำการวางโครงสร้างองค์กรแบบตาข่าย (lattice) ที่พนักงานมีช่องทางในการนำเสนอไอเดียของตัวเองให้กับผู้นำหลายๆคนได้โดยไม่ต้องติดกับดักองค์กรแบบขั้นบันได (ladder) ที่ความอยู่รอดของไอเดียนั้นจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับหัวหน้างานของพนักงานแต่ละคนเพียงคนเดียว

 

Chapter 9. Diamonds in the Rough : Discovering Uncut Gems in Job Interviews and College Admissions

บทสุดท้ายของหนังสือที่ว่าด้วยศาสตร์แห่งศักยภาพที่ซ่อนเร้นนั้นก็หนีไม่พ้นแนวทางในการค้นหาผู้ที่มีศักยภาพซ่อนเร้นที่เปรียบได้ดั่งการค้นหาเพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่ในก้อนหิน โดย Adam Grant ได้ให้ความเห็นว่ากระบวนการคัดสรรผู้สมัครและการสัมภาษณ์ในปัจจุบันนั้นให้ความสำคัญแต่กับประสบการณ์และผลงานสูงสุดที่ผ่านมาของผู้สมัครที่มักทำให้ผู้ที่มีต้นทุนชีวิตที่ดีกว่าได้เปรียบ โดยละเลยถึงศักยภาพของกลุ่มผู้สมัครที่มีอุปสรรคในชีวิตที่มากกว่าและต้องอาศัยพัฒนาการที่มากกว่าในการก้าวมาอยู่ในจุดปัจจุบันได้… เพราะศักยภาพของมนุษย์นั้นไม่ควรวัดกันที่ความสำเร็จสูงสุด แต่ควรวัดที่ระยะทางที่พวกเขาแต่ละคนปีนขึ้นมาได้มากกว่า… และมนุษย์ผู้มีทักษะเชิงคุณลักษณะที่สามารถผลักดันให้พวกเขาก้าวข้ามผ่านอุปสรรคของชีวิตมาได้นั้นก็ควรได้รับการให้คุณค่าไม่แพ้กับผู้ที่ประสบความสำเร็จโดยมีจุดเริ่มต้นที่สูงกว่าอยู่ก่อนแล้ว

ดังนั้น กระบวนการคัดสรรผู้สมัครจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงเชิงวิธีคิดที่ต้องคำนึงถึงการเติบโตและการเรียนรู้ของผู้สมัครแต่ละคนที่มีบริบทที่แตกต่างกัน โดย Adam Grant ก็แนะนำแนวทางไว้มากมาย อาทิ

  • การเปรียบเทียบ “ความยาก” ของความสำเร็จของผู้สมัครแต่ละคนเพื่อให้มั่นใจว่าเราไม่ได้เลือกแต่ผู้สมัครที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในสิ่งที่ไม่ได้ยากอะไรโดยหลงลืมผู้สมัครที่ทำได้ดีแต่ไม่ถึงกับเลิศเลอในสิ่งที่มีความท้าทายสูงกว่ามาก… ถ้าเปรียบเป็นมหาวิทยาลัยก็คงเป็นการเลือกระหว่างนักศึกษาเกรด A ช้วนที่ลงแต่วิชาปล่อยเกรดกับนักศึกษาเกรด A บ้าง B บ้าง C บ้างที่เลือกลงวิชาที่ได้ความรู้โดยตรงต่อสายวิชาชีพของเขา
  • การเปรียบเทียบความสำเร็จตาม “ต้นทุนเริ่มต้น” ของผู้สมัครแต่ละคน อาทิ การแบ่งผู้สมัครที่อาศัยอยู่ในย่านที่ฐานะร่ำรวยออกจากผู้สมัครในย่านที่ฐานะยากจนและทำการเปรียบเทียบศักยภาพกันเองระหว่างผู้สมัครภายในกลุ่มเดียวกัน
  • การให้ความสำคัญกับ “แนวโน้มการเติบโต” ของผู้สมัครที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนาตัวเอง อาทิ การดูคะแนน GPA เป็นรายปีเพื่อดูว่าเกรดมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆหรือไม่ แทนการดูคะแนน GPA เฉลี่ยสี่ปีที่น้ำหนักส่วนใหญ่ถูกให้กับผลงานเมื่อหลายปีก่อนที่ไม่สะท้อนถึงศักยภาพในปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว
  • การลดน้ำหนักความสำคัญของผลงานและประสบการณ์ในอดีตลงและเพิ่มน้ำหนักของ “ขีดความสามารถในปัจจุบัน” ผ่านการออกแบบวิธีการสัมภาษณ์ที่ให้โอกาสพวกเขาได้โชว์ความสามารถได้อย่างเต็มที่และงดเว้นการสร้างแรงกดดันระหว่างการสัมภาษณ์ที่มีแต่จะทำให้ผู้สมัครกังวลจนไม่ได้โชว์ศักยภาพของตัวเองอย่างครบถ้วน

 

 

สั่งหนังสือ Hidden Potential ภาษาอังกฤษ : https://s.lazada.co.th/s.lnqrL?cc




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*