News Ticker

[สรุปหนังสือ] No Rules Rules : Netflix and the Culture of Reinvention

 

สรุปหนังสือ No Rules Rules ของ Reed Hastings ซีอีโอของ Netflix

 

No Rules Rules : Netflix and the Culture of Reinvention (2020)

by Reed Hastings & Erin Meyer

 

“Netflix treats employees like adults who can handle difficult information.”

 

ในช่วงต้นปี 2000 ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัท Blockbuster ผู้เป็นเจ้าตลาดอุตสาหกรรม home entertainment ที่มีร้านเช่า DVD รวมกันทั่วโลกกว่า 9,000 แห่งและมูลค่ากิจการที่สูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์ ข้อเสนอในการขายบริษัท startup เล็กๆผู้ให้บริการเช่า DVD ผ่านไปรษณีย์ที่มีชื่อว่า Netflix ในมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ของ Reed Hastings และ Marc Randolph สองผู้ก่อตั้งที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักก็ได้ถูกปฏิเสธไปอย่างไร้ใยดี

ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและความเร็วของอินเตอร์เน็ต บริษัท Blockbuster ที่มีเงินทุนอย่างมหาศาลและพนักงานที่เก่งๆมากมายกลับต้องล้มละลายไปตั้งแต่ในช่วงปี 2010 ขณะที่ บริษัทน้องใหม่อย่าง Netflix ที่ประสบปัญหามากมายในตอนนั้นกลับเติบโตมาเป็นบริษัทผู้ให้บริการ video streaming อันดับหนึ่งของโลกด้วยมูลค่าธุรกิจกว่า 250 พันล้านดอลลาร์และจำนวนสมาชิกผู้ใช้งานกว่า 200 ล้านบัญชีจากทั่วทุกมุมโลกที่ต่างก็หลงใหลใน original content หลากสัญชาติที่มีให้เลือกรับชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Stranger Things, The Crown, Dark, Money Heist รวมไปถึง ภาพยนตร์ที่สามารถชนะรางวัลออสการ์มาได้หลากหลายรายการอย่าง Roma

Netflix สามารถ “ปฏิรูปองค์กร” ด้วยนวัตกรรมที่สอดรับกับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดช่วงระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ถึง 4 ระลอกใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น

  • การเปลี่ยนจากการให้บริการเช่า DVD ผ่านไปรษณีย์มาเป็นการให้บริการ video streaming ผ่านอินเตอร์เน็ต
  • การเปลี่ยนจากการนำเสนอ content ของค่ายอื่นมาสู่การจ้างผลิต original content ของตัวเอง
  • การเปลี่ยนจากการจ้างผลิตมาสู่การพัฒนาสตูดิโอเพื่อผลิตซีรี่ย์และภาพยนตร์เป็นของตัวเอง
  • การเปลี่ยนจากการเป็นบริษัทอเมริกันมาเป็นบริษัทระดับโลกที่ให้บริการความบันเทิงในกว่า 190 ประเทศ

คำตอบของคำถามที่ว่า “ทำไม Netflix ถึงสามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง” ก็คือ “วัฒนธรรมแห่งอิสรภาพและความรับผิดชอบ (culture of freedom and responsibility)” ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านการลองผิดลองถูกมานานหลายปีของ Reed Hastings หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนปัจจุบันของ Netflix

No Rules Rules คือ สุดยอดคัมภีร์การบริหารองค์กรในแบบฉบับของ Netflix ที่อธิบายถึงวิธีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถปฏิรูปตัวเองได้ตลอดเวลาแบบ step-by-step ที่ฉีกตำราการบริหารแบบเดิมๆขาดกระจุยกระจาย โดยฝีมือของ Reed Hastings และ Erin Meyer อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรของ INSEAD ที่เต็มไปด้วยแนวคิดที่น่าสนใจและอาจจะเรียกได้ว่า “สุดโต่ง” ได้ในหลายๆเรื่อง

แนวคิดของ Netflix อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ในการบริหารทีมงานหรือองค์กรได้ทันทีในปัจจุบัน แต่ผมก็เชื่อว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบ Netflix นี้จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอเชิญทุกท่านอ่านสรุปหนังสือ No Rules Rules สุดมันส์เล่มนี้กันได้เลยครับ

 

Reed Hastings ผู้ก่อตั้ง Netflix และ Erin Meyer ศาสตราจารย์แห่ง INSEAD ผู้เขียนหนังสือ No Rules Rules

Reed Hastings ผู้ก่อตั้ง Netflix และ Erin Meyer ศาสตราจารย์แห่ง INSEAD (ขอบคุณภาพจาก CBS)

 


 

SECTION ONE

First Steps to a Culture of Freedom and Responsibility

 

Chapter 1 : FIRST BUILD UP TALENT DENSITY … A Great Workplace Is Stunning Colleagues

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ Netflix ในช่วงยุคปี 90 ที่อุตสาหกรรมความบันเทิงที่บ้านนั้นถูกปกครองโดยสมบูรณ์โดยร้านเช่าวิดิโอ Blockbuster ซึ่ง Reed Hastings ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าผู้เช่าวิดิโอขาประจำมาโดยตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขาลืมนำวิดิโอหนึ่งม้วนไปคืนร้านตรงตามเวลาและต้องเสียค่าปรับมากถึง 40 เหรียญ !!

Reed Hastings ค้นพบว่า Blockbuster นั้นทำกำไรเกือบทั้งหมดจากค่าปรับที่เก็บกับลูกค้าที่นำวิดิโอมาคืนช้ากว่ากำหนด พูดในอีกมุมหนึ่งก็คือ Blockbuster อยู่ได้ด้วยการพึ่งพา “ความสะเพร่า” ของลูกค้าที่คงรู้สึกไม่ดีกับความโง่เง่าของตัวเองซักเท่าไหร่ ซึ่งโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้ดูไม่น่ายั่งยืนเอาซะเลย จนทำให้ Reed Hastings กับคู่หูอย่าง Marc Randolph ตัดสินใจเปิดธุรกิจให้เช่าวิดิโอออนไลน์ผ่านไปรษณีย์ในปี 1997 หลังจากที่พวกเขาขายธุรกิจแรกที่ทำร่วมกันก่อนหน้านั้นได้สำเร็จ

ธุรกิจของ Netflix ในยุคสมัยแรกเริ่มนั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง ฟองสบู่ธุรกิจ dotcom แตกในปี 2001 และนำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนเงินทุนอย่างรุนแรงจนทำให้ Reed Hastings ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในการคัดเลือกพนักงาน 40 คนจากพนักงานทั้งหมด 120 คนที่มีความเก่งน้อยที่สุดหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการทำงานเป็นทีมให้ออกจากงาน การไล่พนักงานออกครั้งใหญ่นี้สร้างความหวาดกลัวให้กับตัวของ Reed Hastings เป็นอย่างมากต่อปัญหาที่จะตามมามากมายโดยเฉพาะเรื่องขวัญกำลังใจของพนักงานที่เหลืออยู่ที่อาจจะถดถอยไปอย่างรุนแรงจากการสูญเสียเพื่อนร่วมงานและการต้องรับผิดชอบปริมาณงานที่เยอะขึ้น

แต่แล้ว เหตุการณ์ที่ Reed Hastings คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น เมื่อภายในไม่กี่สัปดาห์ถัดมา บรรยากาศการทำงานของ Netflix นั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าอัศจรรย์ พนักงานระดับหัวกะทิที่หลงเหลืออยู่ 80 คนรวมทั้งตัวของ Reed Hastings เองต่างก็ทำงานกันอย่างทุ่มเท เต็มไปด้วยพลังอันแรงกล้าและมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นมากกว่าสมัยก่อนการไล่ออกครั้งใหญ่นี้เป็นอย่างมาก

ความอัศจรรย์ครั้งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?!?

Reed Hastings และ Patty McCord (ผู้เขียนหนังสือ Powerful) มือขวาผู้รับผิดชอบงานด้าน HR ของ Netflix ได้ร่วมกันไขปริศนานี้จนค้นพบองค์ประกอบสำคัญที่เป็น “ฐานราก” ของวัฒนธรรมแห่งอิสรภาพและความรับผิดชอบที่ Netflix ยังคงรักษาไว้ได้อย่างยั่งยืนในปัจจุบันนั่นก็คือ “Talent Density” หรือ “ความหนาแน่นของคนเก่ง” ที่เกิดขึ้นจากการมีจำนวนประชากร “คนเก่ง” ในสัดส่วนที่มากต่อจำนวนพนักงานทั้งหมด ซึ่งในกรณีของ Netflix นั้น พนักงานทุกคนต้องเป็นคนเก่งเท่านั้นถึงจะสามารถอยู่รอดในองค์กร super productive นี้ได้ !!

Reed Hastings ให้ความเห็นว่าองค์กรที่ยอมแบกรับ “คนไม่เก่ง”, “คนกลางๆ” หรือ “คนเก่งแต่พฤติกรรมไม่ดี” ไว้นั้นมีแต่จะทำให้ Talent Density มีความหนาแน่นลดลงไปเรื่อยๆ จากการที่คนไม่เก่งมักทำให้การทำงานของคนเก่งลำบากมากยิ่งขึ้น [จะมา brainstorm กันก็ไม่ได้ประโยชน์ จะทำงานยากๆก็ต้องทำแทน] ทำให้คนเก่งที่ต้องการเพื่อนร่วมงานดีๆอยากลาออกมากยิ่งขึ้น ทำให้คนเก่งประพฤติตัวแย่ลงตามพฤติกรรมของคนไม่เก่งและทำให้คนเก่งรู้สึกว่าการไม่เก่งนั้นเป็นสิ่งที่ “ยอมรับได้”

ตรงกันข้าม องค์กรที่เต็มไปด้วยคนเก่งนั้นคือองค์กรที่คนเก่งคนอื่นๆอยากเข้ามาร่วมทำงานด้วย ที่ทำงานที่พนักงานทุกคนล้วนเป็นยอดฝีมือในสายงานของตัวเองนั้นจะผลักดันให้คนเก่งแต่ละคนเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างรวดเร็วและกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แรงบันดาลใจและนวัตกรรมใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้นำองค์กรที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมแบบ Netflix นั้นจึงเป็นการสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วย “เพื่อนร่วมงานที่ยอดเยี่ยม” ที่พร้อมจะทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากผู้นำไม่สามารถสร้างฐานรากที่สำคัญนี้ขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็งแล้ว ขั้นตอนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบ Netflix ลำดับถัดๆไปก็แทบจะไม่สามารถเป็นไปได้เลย

 

Reed Hastings ในสมัยที่ Netflix ยังให้บริการเช่าดีวีดีแบบออนไลน์ (ขอบคุณภาพจาก The People)

 

Chapter 2 : THEN INCREASE CANDOR … Say What You Really Think (with Positive Intent)

เมื่อองค์กรเต็มไปด้วยพนักงานชั้นเลิศที่มีทั้งศักยภาพการทำงานอันยอดเยี่ยมและพฤติกรรมการทำงานเป็นทีมที่ดีแล้ว เมื่อนั้นองค์กรก็จะสามารถดำเนินการขั้นต่อไปในการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรตามแนวทางของ Netflix นั่นคือการเพิ่ม Candor หรือ “การพูดความจริง” อย่างตรงไปตรงมาที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี

Reed Hastings และทีมผู้บริหารของ Netflix ได้นำเอา Candor มาใช้เป็นพื้นฐานในการผลักดันให้พนักงานที่มีศักยภาพยอดเยี่ยมอยู่แล้วให้ยิ่งยอดเยี่ยมมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมผ่านการสร้างวัฒนาธรรมที่พนักงานทุกคนสามารถให้ feedback ที่เป็นประโยชน์ได้กับทุกคนในทุกที่และทุกเวลาที่เห็นควร [หากผู้บริหารระดับสูงกำลังนำเสนอแผนการอยู่ แต่พนักงานระดับล่างคนหนึ่งมีความเห็นต่างและอยากให้คำแนะนำที่คิดว่าเป็นประโยชน์จริงๆ พนักงานคนนั้นมีสิทธิ์ให้ feedback แก่ผู้บริหารได้ทันที !!] ซึ่งแนวทางนี้ขัดแย้งกับความเชื่อพื้นฐานทางจิตวิทยาที่มนุษย์มักจะป้องกันตัวเองจากคำวิพากษ์วิจารณ์โดยสัญชาติญาณและมักเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่เสมอเมื่อพบว่าผู้อื่นไม่เห็นชอบกับการกระทำหรือความคิดของตนเอง

Netflix ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานต้องรับผิดชอบต่อการให้ feedback ที่เป็นประโยชน์ทุกครั้งเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กรผ่านเทคนิคการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและพฤติกรรมของพนักงาน ดังต่อไปนี้

  • Tell The Emperror When He Has No Clothes : องค์กรที่พนักงานไม่กล้าพูดถึงข้อผิดพลาดของผู้บริหารระดับสูงก็เปรียบดั่งนิทานเรื่อง The Emperor’s New Clothes ที่ว่าด้วยพระราชาที่เชื่อมั่นว่าตัวเองกำลังใส่เสื้อที่สวยที่สุดทั้งๆที่พระองค์กำลังแก้ผ้าอยู่แต่ไม่มีใครกล้าทักท้วงใดๆ แนวทางในการแก้ปัญหาใหญ่ข้อนี้ของ Netflix ก็คือการสร้างวัฒนธรรมให้ผู้นำทีมเรียกร้อง feedback จากพนักงานใต้สังกัดอยู่ตลอดเวลา อาทิ การใส่ feedback เป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาในการประชุมอยู่เสมอ เพื่อตอกย้ำถึงวัฒนธรรมที่สนับสนุนความตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยและส่งเสริมให้พนักงานกล้าให้ feedback และกล้าน้อมรับ feedback ที่คนอื่นให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น หัวหน้าจะต้องให้สัญญาณ (belonging cue) ต่อพนักงานว่าการกระทำของเขาคือสิ่งที่ดีและน่ายกย่องเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่พนักงานทุกคน
  • Teach All Employees To Give and Receive Feedback Well : การสร้างองค์กรที่มีระบบการให้และรับ feedback อย่างสม่ำเสมอและมีคุณภาพนั้นต้องเริ่มจากการสร้างทักษะที่ดีให้แก่พนักงานทุกคน โดยแนวทางการให้ feedback นั้นประกอบไปด้วย 2 องค์ประกอบสำคัญได้แก่ Aim to Assist (การมีเป้าหมายในการสนับสนุนผู้รับให้สร้างประโยชน์ต่อตัวของเขาเองและองค์กรให้มากยิ่งขึ้น) และ Actionable (การให้ feedback พร้อมกับคำแนะนำที่ผู้รับสามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาได้จริง) ส่วนแนวทางการรับ feedback นั้นก็ประกอบไปด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่ Appreciate (การน้อมรับ feedback อย่างจริงใจด้วยความเปิดกว้าง) และ Accept or Discard (การเลือกยอมรับหรือปฏิเสธ feedback นั้นอยู่ที่ตัวของผู้รับเองเท่านั้น) [Netflix เรียกหลักการนี้ว่า “4A”]
  • Preach Feedback Anywhere, Anytime : การให้ feedback ที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือการให้ feedback แบบ “ทันที” ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้รับสามารถปรับปรุงได้ในทันที
  • Get Rid of Brilliant Jerks : อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้เลยในการสร้างวัฒนธรรมแห่งการ feedback ก็คือการคอยกำจัด “พนักงานปากเสีย” ที่ใช้โอกาสการ feedback ในการสร้างความเสียหายหรือทับถมผู้อื่น พนักงานที่อยู่รอดใน Netflix นั้นต้องมีความสามารถในการให้ feedback ด้วยความจริงใจและสามารถชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาของผู้รับได้โดยไม่ต้องทำร้ายจิตใจพวกเขา

เมื่อองค์กรมี Talent Density ที่เปิดอกให้ feedback ระหว่างกันอย่างจริงใจเพื่อพัฒนากันและกันและองค์กรไปข้างหน้าแล้ว เมื่อนั้นองค์กรก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีกฎระเบียบและการควบคุมจัดการที่เข้มงวดเหมือนกับองค์กรทั่วๆไปอีกต่อไป

 

Chapter 3 : NOW BEGIN REMOVING CONTROLS …

3A. Remove Vacation Policy

Netflix ให้ความสำคัญเพียงแต่กับ “ผลลัพธ์” ของงานโดยไม่สนใจว่าพนักงานแต่ละคนจะทุ่มเททำงานไม่หลับไม่นอนหรือนั่งทำงานจิบชาชิลๆอยู่ที่เกาะฮาวาย ดังนั้น เมื่อ Netflix สามารถสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพสูงและวัฒนธรรมการให้ feedback เมื่อเพื่อนร่วมงานเริ่มออกนอกลู่นอกทางจากความสำเร็จสูงสุดขององค์กรอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว การให้ “อิสรภาพ” เพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่ง “ความรับผิดชอบ” จึงได้เริ่มต้นขึ้น

อิสรภาพลำดับแรกที่ Reed Hastings และผู้บริหารของ Netflix เริ่มทดลองก่อนก็คือการให้อิสระต่อการลางานให้เป็นไปตามความเหมาะสมและการตัดสินใจของพนักงานแต่ละคนเองโดยไม่มีเงื่อนไข โดย Reed Hastings ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงว่าการพักผ่อนมักช่วยเสริมสร้างไอเดียความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆให้แก่องค์กรได้มากมาย

ในช่วงแรกเริ่มของการทดลองนั้น ผู้บริหารของ Netflix ต่างหวาดกลัวกับผลลัพธ์ที่จะตามมาใน 2 ทิศทาง ในทางหนึ่ง พนักงานของ Netflix อาจเลือกลางานกันจนไม่มีใครเข้ามาทำงานและสร้างความปั่นป่วนให้แก่ระบบปฏิบัติการอย่างถึงขีดสุด ส่วนในอีกทาง พนักงานก็อาจเลือกที่จะไม่ลางานเลยเพราะหวาดกลัวว่าการลางานเยอะจะถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจจนทำให้ขวัญกำลังใจและจินตนาการขององค์กรแย่ลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น Netflix จึงต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารนโยบายใหม่นี้ 2 ประการ

  • Leaders Must Model Big Vacation-Taking : ผู้บริหารระดับสูงต้อง “ลางานเป็นตัวอย่าง” เพื่อส่งเสริมให้พนักงานทุกคนลางานตามโดยไม่ต้องกังวล เหมือนดั่งที่ Reed Hastings มักจะลางานอย่างต่ำ 6 สัปดาห์ต่อปี ซึ่งนอกนั้น ผู้บริหารเองก็ควรนำประสบการณ์ในการลางานมาเล่าสู่กันฟังเป็นระยะๆอีกด้วย
  • Set and Reinforce Context to Guide Employee Behavior : การปล่อยให้พนักงานทุกคนลางานอย่างอิสระโดยขาดการวางแผนนั้นอาจสร้างปัญหาในการดำเนินธุรกิจได้ ดังนั้น ผู้บริหารทุกคนจึงต้องวางนโยบายที่เหมาะสมกับลักษณะงานของตัวเองและอธิบายให้พนักงานทุกคนเข้าใจ เช่น แผนกบัญชีไม่ควรลางานในช่วงปิดงบการเงิน หรือ พนักงานแผนกเดียวกันไม่ควรลายาวพร้อมกันเกิน 1-2 คน เป็นต้น

 

3B. Remove Travel and Expense Approvals

อิสรภาพในลำดับถัดมาที่ทาง Netflix ตัดสินใจมอบให้แก่พนักงานก็คือ “อิสรภาพของการใช้จ่าย” ผ่านการออกนโยบายยกเลิกกฎเกณฑ์และกระบวนการอนุมัติค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากองค์กรขนาดใหญ่ทั่วไปเป็นอย่างยิ่งที่มักมีการกำหนดกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่เบิกได้ เบิกได้เท่าไหร่และใครเป็นคนอนุมัติอย่างละเอียดยิบเพื่อให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้นได้อย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับนโยบายการให้วันหยุดอย่างอิสระ นโยบายการให้อิสรภาพในการเบิกค่าใช้จ่ายนั้นต้องมาพร้อมกับแนวทางและวิธีการควบคุมที่ชัดเจนผ่านหลักเกณฑ์สั้นๆที่ว่า “Act in Netflix’s Best Interest” หรือ การใช้จ่ายโดยอิงเอาผลประโยชน์สูงสุดของ Netflix เป็นหลัก [ก่อนหน้านั้น Netflix เคยใช้กฎการ “ใช้เงินเหมือนกับว่ามันเป็นเงินของคุณ” ซึ่งทำให้พนักงานบางคนประหยัดอย่างเต็มที่แต่พนักงานบางคนก็ใช้จ่ายอย่างบ้าคลั่งเช่นกัน จนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ Netflix อย่างเช่น พนักงานระดับกลางนั่ง Business Class ในไฟลต์เดียวกับหัวหน้าที่ตัดสินใจนั่ง Economy Class] พร้อมๆกับการวางระบบตรวจสอบที่หัวหน้างานและแผนกการเงินจะสุ่มตรวจค่าใช้จ่ายของพนักงานอยู่เป็นประจำและถ้าหากพบพนักงานที่ “ข่มเหง” อิสรภาพในด้านนี้มากเกินไป การไล่พนักงานคนนั้นออกแบบป่าวประกาศให้ทุกคนรับทราบก็สามารถเกิดขึ้นได้เพื่อย้ำเตือนว่าอิสรภาพนั้นต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบเสมอ [Netflix จะทำโทษเฉพาะคนที่ทำผิดเป็นรายกรณี โดยจะไม่เพิ่มกฎเกณฑ์ใดๆเพิ่มเติมซึ่งเป็นการทำโทษพนักงานที่เหลือให้ทำงานยุ่งยากมากยิ่งขึ้นโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด]

การให้อิสรภาพด้านค่าใช้จ่ายนี้ส่งผลดีต่อ Netflix ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ การตัดสินใจของพนักงานที่รวดเร็วฉับไวไม่ต้องรออนุมัติจนทำให้ประสิทธิภาพขององค์กรเพิ่มสูงขึ้น [เคยมีกรณีที่พนักงานคนหนึ่งตัดสินใจซื้อทีวี 4K ราคา 2,500 ดอลลาร์ทันทีเพื่อใช้ในการโชว์เคสซีรี่ย์ House of Cards แบบ 4K ให้กับนักวิจารณ์คนสำคัญหลังจากที่เขาพบว่าทีวีเครื่องเก่าถูกนำไปทิ้งโดยบังเอิญในคืนวันก่อนการโชว์] ไปจนถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากพนักงานที่น้อมรับความรับผิดชอบที่ได้มาอย่างจริงจัง [แต่ Netflix ก็ยอมรับว่าค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางด้วย Business Class นั้นเพิ่มขึ้นจริง แต่ก็คุ้มค่ากับสิ่งอื่นๆที่ได้มาอยู่ดี]

การให้อิสรภาพต่อการเลือกวันทำงานและการเลือกใช้จ่ายอย่างเหมาะสมนั้นยังถือเป็นการส่งสัญญาณว่าบริษัทได้ให้ “ความไว้วางใจ” และอิสรภาพในการควบคุมชีวิตการทำงานของตัวเองของพนักงานทุกคนอย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลให้พนักงานของ Netflix ที่เป็นระดับหัวกะทิอยู่แล้วทุกคนมี “ความรับผิดชอบ” และ “ความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ (ownership)” ของงานที่ตัวเองรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นอย่างยิ่งยวด แถมนโยบายเหล่านี้ยังดึงดูดพนักงานที่ต้องการอิสรภาพสูงเข้ามาสมัครงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย

 

House of Cards ซีรี่ย์ original เรื่องแรกของ Netflix (ขอบคุณภาพจาก Netflix Life)

 


 

SECTION TWO

Next Steps to a Culture of Freedom and Responsibility

 

Chapter 4 : FORTIFY TALENT DENSITY … Pay Top of Personal Market

ในวงการโปรแกรมเมอร์นั้น ทุกคนต่างรู้ว่าโปรแกรมเมอร์ระดับท็อปผู้มีความสามารถในการเขียน code และแก้ bug ได้อย่างรวดเร็วนั้นสามารถสร้างผลิตภาพที่มากกว่าโปรแกรมเมอร์แบบธรรมดาๆทั่วไปได้นับร้อยนับพันเท่า ซึ่ง Reed Hastings และ Netflix เองก็มีความเชื่อที่ว่าพนักงานที่ทำงานเชิงสร้างสรรค์ได้ในระดับสุดยอดนั้นสามารถสร้างคุณค่าให้กับบริษัทได้มากกว่าพนักงานระดับกลางๆทั่วๆไปได้เป็นสิบๆเท่าเช่นกัน มากไปกว่านั้น การที่พนักงานระดับท็อปสามารถทำงานแทนพนักงานได้เป็นสิบๆคนนั้นยังช่วยให้องค์กรสามารถเป็น lean organization ที่มีเฉพาะพนักงานประสิทธิภาพสูงในจำนวนที่ไม่มากเกินไปซึ่งช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปได้อีกด้วย

ดังนั้น Netflix จึงต้องมีความสามารถในการดึงดูดพนักงานระดับสุดยอดเหล่านั้นให้เข้ามาทำงานและอยู่ทำงานกับ Netflix ไปเรื่อยๆ ผ่านแนวทางในการดึงดูดและรักษาพนักงานระดับหัวกะทิด้วยการ “Pay Top-of-Personal-Market Salaries” หรือ “การจ่ายเงินเดือนตามเงินเดือนที่สูงที่สุดในตลาดงานตามความสามารถของพนักงานแต่ละคน” ซึ่งก็แปลว่าพนักงานทุกคนที่ของ Netflix นั้นไม่จำเป็นต้องกังวลถึงเรื่องผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมและสามารถเอาเวลาไปมุ่งมั่นทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดให้คุ้มค่ากับค่าแรงราคาสูงดีกว่า

ซึ่งแนวทางดังกล่าวยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจมากมาย ดังต่อไปนี้

  • Bonuses are Bad for Flexibility : องค์กรส่วนใหญ่มักแบ่งค่าจ้างส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็นโบนัสที่มักอิงตามตัวชี้วัดบางอย่างโดยมีความเชื่อว่าพนักงานจะมีแรงจูงใจในการทำงานเพื่อให้ได้ตามเป้าเหล่านั้นเพื่อรับโบนัสแบบเต็มจำนวน ซึ่ง Reed Hastings มองว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดโบราณที่ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง [ผู้บริหารบริษัทสื่อดั้งเดิมมักมีโบนัสผูกกับผลกำไร ทำให้พวกเขาไม่ค่อยอยากปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจที่กระทบกับผลกำไรระยะสั้น] และเขายังเชื่อว่าพนักงานระดับหัวกะทิจะทำงานหนักอยู่เสมอโดยไม่สนว่าจะมีหรือไม่มีโบนัสที่อิงกับผลงานของเขา ดังนั้น ผลตอบแทนทั้งหมดของ Netflix จะอยู่ในรูปของเงินเดือน 100% [ถ้าให้เลือกเงินเดือน 200,000 บวกโบนัส 15% ปลายปี หรือ เงินเดือน 230,000 ทันที เป็นใครก็เลือกตัวเลือกหลังอยู่แล้ว !!]
  • Staying on Top : องค์กรส่วนใหญ่มักมีปัญหาการลาออกของพนักงานเนื่องจากบริษัทอื่นให้เงินเดือนที่ดีกว่าซึ่งมักเป็นผลมาจากระบบกระบอกเงินเดือนที่ทำให้องค์กรไม่สามารถขึ้นเงินเดือนพนักงานเก่งๆได้เท่ากับคู่แข่งเหล่านั้นได้ ตรงกันข้ามกับองค์กรส่วนใหญ่ Netflix มีความเชื่อว่าการรักษายอดฝีมือไว้ให้ได้ด้วยการเพิ่มเงินเดือนให้ “สูงที่สุดในตลาดอย่างสม่ำเสมอ” นั้นคุ้มค่ากว่าการต้องจ้างและฝึกฝนพนักงานใหม่อยู่เรื่อยๆมาก ดังนั้น หนึ่งในหน้าที่สำคัญของผู้บริหารทุกคนของ Netflix ก็คือการรู้ข้อมูลเงินเดือนสูงสุดในตลาดของลูกน้องอยู่ตลอดเวลาและพยายามปรับเงินเดือนให้พวกเขาอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการลาออกของพนักงานระดับหัวกะทิที่อุตส่าห์ไขว่คว้ามาได้ โดยถ้าหากหน่วยงานไม่มีงบประมาณที่เพียงพอในการจ่ายเงินเดือนตามราคาตลาดดังกล่าวได้ แนวทางปฏิบัติของ Netflix ก็คือการไล่พนักงานที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุดออกเพื่อเอาเงินไปเพิ่มให้กับพนักงานที่เก่งๆแทน [โหดได้ใจดีแท้]
  • When Recruiters Call, Ask “How Much?” : หนึ่งในเทคนิคสำคัญในการล่วงรู้ถึงเงินเดือนที่เหมาะสมในตลาดงานอย่างสม่ำเสมอก็คือการออกนโยบานสนับสนุนให้พนักงานทุกคนพูดคุยกับบริษัทคู่แข่งที่ติดต่อมาเรียกไปสัมภาษณ์งานอยู่ตลอดเวลาและอย่างเปิดเผยเพื่อตรวจเช็คเงินเดือนที่เหมาะสมของตัวเองอยู่เสมอ หากพนักงานรู้ว่าบริษัทคู่แข่งให้เงินเดือนที่มากกว่า พวกเขาก็สามารถทำเรื่องขอขึ้นเงินเดือนได้ทันที !!

ไม่ว่าองค์กรจะน่าทำงานด้วยแค่ไหน “เงินเดือน” ก็คือปัจจัยอันดับหนึ่งในการเลือกงานหรือการเปลี่ยนงานของคนส่วนใหญ่ การออกนโยบายในการจ่ายเงินให้กับพนักงานระดับหัวกะทิอย่างยุติธรรมที่สุดจึงถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้าง Talent Density ที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สุดของวัฒนธรรมแห่งอิสรภาพและความรับผิดชอบแบบ Netflix

 

Dark สุดยอดซีรี่ย์ไซไฟสัญชาติเยอรมันที่เป็นซีรี่ย์อันดับ 1 ในดวงใจของผมเอง (ขอบคุณภาพจาก New on Netflix)

 

Chapter 5 : PUMP UP CANDOR … Open the Books

เมื่อพนักงานทุกคนมีความรับผิดชอบและความเป็นเจ้าของที่มากขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลาที่องค์กรจะสามารถ “เร่งสปีด” ของความรับผิดชอบและความเป็นเจ้าของด้วยการสร้างวัฒนธรรมแห่งความ “โปร่งใส” ขั้นสูงสุดด้วยการเปิดเผยข้อมูลแทบทุกสิ่งอย่างให้กับพนักงานทุกคน โดยแนวคิดนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อของ Reed Hastings และผู้บริหารของ Netflix ที่ว่าการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดแก่พนักงานของ Netflix ที่มีความรับผิดชอบอย่างสูงสุดอยู่แล้วนั้นจะสามารถส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้พุ่งสูงขึ้นจากความเข้าใจต่อสถานการณ์และกลยุทธ์ขององค์กรในปัจจุบันอย่างชัดเจน [การรู้ข้อมูลทั้งหมดจะทำให้พนักงานตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำตรงตามสถานการณ์มากยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาขอความเห็นจากผู้บังคับบัญชาที่ก็อาจจะต้องขอข้อมูลจากคนอื่นต่อไปเป็นทอดๆ] และยังเป็นการตอกย้ำถึง “ความไว้ใจ” ที่ Netflix มอบให้แก่พนักงานทุกคนอีกด้วย [ตรงกันข้าม บริษัทที่เก็บทุกอย่างเป็นความลับและเปิดเผยข้อมูลออกมาเมื่อถึงคราวจำเป็นนั้นมีโอกาสสูงมากในการทำลายความเชื่อใจของพนักงาน]

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมจึงขอยกตัวอย่างแนวทางในการเปิดเผนข้อมูลอย่างขั้นสุดของ Netflix ดังต่อไปนี้

  • การเปิดเผยข้อมูลงบการเงินและแผนกลยุทธ์ให้แก่พนักงานทุกคนก่อนที่จะเปิดเผยให้กับ Wallstreet โดยที่ Netflix เชื่อมั่นว่าพนักงานทุกคนจะไม่นำเอาข้อมูลเหล่านั้นไปเผยแพร่ต่อหรือเอาไปซื้อขายหุ้น (insider trading) ที่มีโทษถึงจำคุก มากไปกว่านั้น Netflix ยังมีนโยบายส่งเสริมให้พนักงานทุกคนอ่านงบการเงินและทำความเข้าใจกลยุทธ์ทั้งหมดขององค์กรอย่างสมบูรณ์ที่สุดเพื่อสร้างความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างแท้จริงให้แก่พนักงานทุกคนอีกด้วย [พนักงานทุกคนรู้ได้ทันทีว่างานที่ตัวเองทำนั้นมีผลกระทบต่อตัวเลขตัวไหนและมีกลยุทธ์อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา]
  • การเปิดเผยแผนการปรับโครงสร้างองค์กรทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้แผนงานเสร็จสมบูรณ์เพื่อแจ้งให้พนักงานทุกคนรู้ล่วงหน้าถึงโอกาสในการโยกย้ายที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ในอนาคต ซึ่งถึงแม้ว่าแนวทางนี้จะสร้างความกังวลและสับสนให้กับพนักงานที่โดนผลกระทบได้ แต่การเลือกไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆเลยจนกระทั่งวันที่องค์กรได้ข้อสรุปว่าจะโยกย้ายพนักงานออกแล้วนั้นจะส่งผลร้ายต่อความเชื่อใจของพนักงานมากกว่ามาก
  • การเปิดเผยสาเหตุของการโยกย้ายหรือไล่พนักงานทุกคนออกอย่างโปร่งใสแบบหมดเปลือกถ้าหากข้อมูลเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน เพื่อป้องกันปัญหาความสับสนหรือการ gossip ที่อาจเกิดขึ้นตามมาหากข้อมูลเหล่านี้ไม่ชัดเจน [ลองคิดดูว่าหากหัวหน้าของคุณโดนไล่ออกโดยไม่บอกสาเหตุใดๆ ทีมของคุณจะวุ่นวายขนาดไหน]
  • การเปิดเผยถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ผู้อื่นได้เรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้น งานวิจัยยังพบว่าหากผู้นำที่ได้รับการยอมรับในด้านฝีมืออยู่แล้วออกมาเปิดเผยข้อผิดพลาดของตัวเองอย่างโปร่งใสนั้นจะสามารถสร้างความเชื่อใจจากพนักงานได้เพิ่มมากขึ้นอีกมาก แต่แนวทางนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่ยังไม่ได้รับการยอมรับซักเท่าไหร่

 

The Witcher ซี่รี่ย์ที่มีจำนวนคนดูมากที่สุดในปัจจุบันกว่า 76 ล้านบัญชี (ขอบคุณภาพจาก New on Netflix)

 

Chapter 6 : NOW RELEASE MORE CONTROLS … No Decision-Making Approval Needed

เมื่อองค์กรมี Talent Density ที่เข้มข้นและมีวัฒนธรรมแห่ง Candor ที่พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญได้อย่างสมบูรณ์แบบและสามารถแลกเปลี่ยน feedback กันได้อย่างเป็นกิจวัตรแล้ว เมื่อนั้นองค์กรก็จะสามารถปลดล็อก “ประสิทธิภาพขั้นสูงสุด” ผ่านนโยบาย “อิสรภาพแห่งการตัดสินใจ” ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นแนวคิดที่สุดโต่งที่สุดของหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้

วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรส่วนใหญ่นั้นล้วนให้ความสำคัญกับความคิดเห็นและอำนาจการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงอย่างเป็นเรื่องปกติ แต่ Reed Hastings และ Netflix กลับมีความเชื่อที่แตกต่างจากองค์กรส่วนใหญ่อย่างสิ้นเชิงว่า “องค์กรที่จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วที่สุดนั้นคือองค์กรที่ปล่อยให้พนักงานตัดสินใจและมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของพวกเขาด้วยตัวเอง” ดังนั้น การตัดสินใจทั้งหมดของพนักงานแต่ละคนจึงตกอยู่ในมือของพวกเขาเหล่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหรือเชื่อตามคำแนะนำของหัวหน้างานแต่อย่างใด [นโยบายนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพนักงานไม่เก่งพอและองค์กรไม่โปร่งใสพอ] และตัวผู้บริหารเองก็ควรมีความภาคภูมิใจที่ตัวเองไม่ต้องตัดสินใจแทนพนักงานแต่ละคนที่ทุ่มเทและเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาเลือกทำมากที่สุด จนเป็นที่มาของคำขวัญในการทำงานของพนักงาน Netflix อีกหนึ่งข้อสำคัญได้แก่ “Don’t Seek to Please Your Boss. Seek to Do What is Best to Your Company.” หรือ “จงอย่าพยายามตามใจเจ้านาย แต่จงพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับองค์กร

แต่แน่นอนว่าการผลักภาระการตัดสินใจที่อาจเกี่ยวข้องกับเวลาหรือเงินลงทุนจำนวนมหาศาลให้กับพนักงานแต่ละคนนั้นถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การตัดสินใจแต่ละครั้งของพนักงานของ Netflix จึงต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “The Netflix Innovation Cycle” ที่ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนสำคัญ ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1. Farm for Dissent or Socialize the Idea : ในช่วงปี 2007 ที่ Netflix เริ่มนำเสนอบริการ streaming ควบคู่ไปกับการเช่าดีวีดีแบบออนไลน์ Reed Hastings ได้ตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ด้วยการแยกบริษัทเช่าดีวีดีออกจาก Netflix โดยมีจุดประสงค์ให้ลูกค้าต้องจ่ายเงินสำหรับบริการแต่ละอย่างแยกกัน [จากเดิมที่คิดราคารวม 2 บริการที่ 10 ดอลลาร์กลายเป็นแยกเป็นบริการละ 8 ดอลลาร์] ซึ่งทำให้ลูกค้าหลายคนไม่พอใจและยกเลิกการเป็นสมาชิกจำนวนมากและยังส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ลดลงจากการที่ลูกค้าสามารถจ่ายเงินถูกลงเพื่อรับบริการ streaming ที่กำลังมาแรงเพียงอย่างเดียว ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ Reed Hastings นี้เป็นที่มาของบทเรียนในการตัดสินใจที่ผู้ตัดสินใจต้องกล้าที่จะขอรับฟังความคิดเห็นของเพื่อร่วมงานคนอื่นๆก่อนการตัดสินใจเสมอ [ผู้บริหารหลายคนเห็นต่างจาก Reed Hastings มากแต่ก็ไม่มีใครกล้าขัด CEO ซักคน] จนถูกพัฒนามาเป็นระบบเปิดรับความคิดเห็นต่อไอเดียต่างๆที่พนักงานเจ้าของไอเดียสามารถตั้งกระทู้ในระบบภายในของ Netflix เพื่อให้พนักงานคนอื่นมาออกความเห็นได้ นอกจากนั้น Netflix ยังสนับสนุนให้พนักงานทุกคนเรียกประชุมกับเพื่อนร่วมงานเพื่อช่วยกันแสดงความเห็นต่อไอเดียของพนักงานแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอด้วย แต่สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจทั้งหมดก็ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าของโครงการเช่นเดิม

ขั้นตอนที่ 2. For a Big Idea, Test It Out : สำหรับไอเดียขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยงบประมาณหรือทรัพยากรคนจำนวนมากแล้ว การทดสอบไอเดียด้วยเวลาอันรวดเร็วและงบประมาณที่จำกัดก่อนนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้การตัดสินใจแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมการทดลองของ Netflix นั้นยังครอบคลุมไปถึงการทดลองที่ท้าทายแนวคิดของผู้อื่นรวมถึงตัวของ Reed Hastings ดังกรณีที่ เขาเชื่อว่า Netflix ไม่จำเป็นต้องมี content download feature เหมือนกับคู่แข่งรายอื่นๆจนกระทั่งพนักงานคนหนึ่งต้องจัดทำแบบทดสอบผู้ใช้งานในหลายประเทศทั่วโลกเพื่อพิสูจน์ว่าการ download หนังหรือซีรี่ย์มาเก็บไว้ก่อนเพื่อรับชมในภายหลังนั้นถือเป็นเรื่องปกติอย่างมากของผู้ใช้งาน streaming นอกประเทศอเมริกาโดยเฉพาะในประเทศที่ความเร็วอินเตอร์เน็ตไม่ดี

ขั้นตอนที่ 3. As the Informed Captain, Make Your Bet : เมื่อพนักงานทุกคนนำเอาไอเดียของตัวเองไปทดสอบกับเพื่อนร่วมงานและทดลองในสนามกันมาแล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็เปรียบดั่ง “กัปตัน” ของโครงการที่มีความรู้ที่มากพอในการตัดสินใจที่จะทำโครงการนั้นต่อหรือยุติโครงการนั้นลง ซึ่ง Netflix ก็มีวัฒนธรรมในการเปิดให้พนักงานกล้าเสี่ยงตัดสินใจด้วยตัวเองและยอมรับต่อการเสี่ยงที่ล้มเหลวโดยไม่ลงโทษพนักงานคนนั้นๆแต่อย่างใด พนักงานแต่ละคนของ Netflix จะถูกประเมินจากการตัดสินใจทั้งหมดของพวกเขาไม่ใช่เพียงแค่ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเพียงแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น

ขั้นตอนที่ 4. If It Succeeds, Celebrate. If It Fails, Sunshine It : เมื่อการตัดสินใจของพนักงานประสบความสำเร็จ การแสดงความยินดีนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อการตัดสินใจนั้นเกิดล้มเหลวขึ้นมา สิ่งที่พนักงานของ Netflix ผู้เป็นเจ้าของการตัดสินใจเหล่านั้นต้องทำก็คือการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลวและเปิดเผยบทเรียนให้กับพนักงานทุกคนให้ทราบอย่างทั่วถึงกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นควรได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงที่เข้าใจอย่างชัดเจนถึงธรรมชาติของการกล้าเสี่ยงที่มีโอกาสทั้งล้มเหลวและประสบความสำเร็จได้อยู่เสมอ

เมื่อองค์กรสามารถปฏิบัติตาม 6 ขั้นตอนใน 6 บทแรกได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว องค์กรเหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นสุดยอดองค์กรที่มีนวัตกรรมและประสิทธิภาพที่เหนือกว่าองค์กรในรูปแบบดั้งเดิมเป็นอย่างมาก แต่เมื่อองค์กรเหล่านั้นเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ การรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมแห่งอิสรภาพและความรับผิดชอบจึงต้องมีตัวช่วยเพื่อเสริมความแข็งแกร่งขององค์กรอย่างยั่งยืนซึ่งสามารถศึกษาได้จาก 3 บทถัดไปได้เลยครับ

 

Stranger Things หนึ่งในซีรี่ย์แจ้งเกิดเรื่องแรกๆของ Netflix (ขอบคุณภาพจาก New on Netflix)

 


 

SECTION THREE

Techniques to Reinforce a Culture of Freedom and Responsibility

 

Chapter 7 : MAX UP TALENT DENSITY … The Keeper Test

วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแต่ก็เป็นศัตรูตัวฉกาจของความยอดเยี่ยมและนวัตกรรมก็คือ “การทำงานแบบเป็นครอบครัว” ที่องค์กรส่วนใหญ่มักมองพนักงานทุกคนเป็นเหมือนญาติมิตรที่สนิทชิดเชื้อและพร้อมอุ้มชูกันไปอย่างยาวนาน [แน่นอนแหละว่าคงไม่มีพ่อคนไหนไล่ลูกออกไปจากครอบครัว…] ซึ่งนั่นก็นำมาสู่ปัญหาใหญ่อย่างการเก็บพนักงานไม่เก่งไว้เป็นจำนวนมากและทำให้พนักงานฝีมือดีต้องทำงานหนักขึ้น ขี้เกียจตามไปด้วยหรือยอมแพ้และลาออกไปในที่สุด จนท้ายที่สุด องค์กรที่ทำงานกันแบบครอบครัวจึงมี Talent Density ที่เบาบางอย่างยิ่งยวด

ตรงกันข้ามกับองค์กรส่วนใหญ่ Netflix เปรียบเทียบตัวเองเป็นดั่ง “ทีมกีฬามืออาชีพ” ที่มีเป้าหมายในการคว้าแช้มป์โลกให้ได้ในทุกสมัย ซึ่งทีมนักกีฬาระดับแช้มป์โลกนั้นจะต้องสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้อย่างเหนียวแน่นและมีความทุ่มเทต่อทีมอย่างมากที่สุด แต่โค้ชของทีมนักกีฬามืออาชีพนั้นก็ต้องสามารถเปลี่ยนผู้เล่นและคัดเฉพาะผู้เล่นชั้นยอดเพื่อลงเป็นตัวจริงในสนามอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทีมนั้นแข็งแกร่งที่สุด

Netflix เชื่อว่างานนั้นไม่ใช่สิ่งถาวรแต่เป็นเพียงแค่สิ่งชั่วคราวที่ควรเกิดขึ้นเมื่อพนักงานแต่ละคนมีความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นมากที่สุดและตำแหน่งงานนั้นเป็นตำแหน่งงานที่ดีที่สุดจริงๆกับพนักงานคนนั้น ณ ช่วงเวลานั้นๆ เมื่อเวลาเปลี่ยน งานที่เคยเหมาะสมกับพนักงานคนนั้นก็เริ่มเปลี่ยนไป พนักงานที่เคยเป็นยอดฝีมือก็อาจจะกลายเป็นคนที่ไม่เหมาะสมต่อองค์กรอีกต่อไป [ยกตัวอย่างเช่น Leslie Kilgore อดีต CMO ของ Netflix ผู้สร้างผลงานอย่างมหาศาลให้กับ Netflix ในยุคบริการเช่าดีวีดีออนไลน์ก็ต้องโดนเปลี่ยนตัวเมื่อ Netflix เริ่มหันมามุ่งเน้นการสร้าง content ของตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยที่เธอได้หันมารับหน้าที่ที่เหมาะสมกว่าในฐานะกรรมการบริษัทแทน]

ซึ่งการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบทีมกีฬามืออาชีพที่มี Talent Density สุดเข้มข้นอย่างสม่ำเสมอนั้นจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญในการช่วยรักษาระดับความยอดเยี่ยมของพนักงานทุกคนอยู่เสมออย่าง “Keeper Test” หรือ “บททดสอบว่าเราควรเก็บพนักงานคนนี้ไว้หรือไล่ออกไปเลยดี” ด้วยการตั้งคำถามสำคัญหนึ่งข้อต่อหัวหน้างานว่า “ถ้าหากพนักงานคนนี้ตัดสินใจจะลาออก คุณจะทุ่มเทอย่างหนักเพื่อเปลี่ยนใจเขาให้อยู่ต่อหรือไม่” ซึ่งถ้าคำตอบคือไม่ การไล่พนักงานคนนั้นออกพร้อมกับการจ่ายค่าชดเชย (severance payment) เป็นจำนวนเงินที่มากพอ [Netflix จ่ายขั้นต่ำอย่างน้อย 4 เท่าของเงินเดือนเพื่อแลกกับการยอมลาออกโดยไม่ฟ้องร้องบริษัท] เพื่อเปิดทางให้พนักงานที่เก่งกว่าเข้ามาเพิ่มความเข้มข้นของ Talent Density ของทีมแทนนั้นเป็นสิ่งที่หัวหน้าทีมต้องมีความรับผิดชอบที่จะทำ

Netflix เชื่อว่าถ้าพนักงานไม่ผ่าน Keeper Test เมื่อไหร่ หัวหน้างานต้องไล่พนักงานคนนั้นออกทันที [เพราะพนักงานคนนั้นมีโอกาสปรับปรุงตัวจาก feedback ที่ได้รับตลอดเวลามานานมากพอแล้ว] ซึ่งดีกว่าแนวทางขององค์กรทั่วไปที่มักจัดทำ Performance Improvement Plan (PIP) ที่เป็นเหมือนโครงการที่ให้พนักงานได้รับรู้ feedback และรีบเร่งแก้ไขตัวเองให้ทันซึ่งทั้งกินเวลา น่าอับอาย ไร้ประสิทธิภาพและไม่ค่อยได้ผล หรือ การสร้างระบบประเมินพนักงานประจำปีเพื่อคัดพนักงานท้ายตารางออกทุกปีที่มักส่งผลให้เกิดการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันของพนักงานในแต่ละแผนก [Netflix ไม่มีข้อจำกัดว่าพนักงานแต่ละตำแหน่งต้องมีกี่คน เมื่อพนักงานหัวกะทิมารวมตัวกันมากๆ ธุรกิจก็จะขยับขยายขึ้นและมีที่ว่างให้กับพนักงานหัวกะทิเข้ามาเติมได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแข่งกันหนีการโดนไล่ออก]

หลักการ Keeper Test นั้นอาจดูน่ากลัวและมีความเสี่ยงในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานแต่ละคนต่างหวาดกลัวว่าตัวเองจะถูกไล่ออกได้ทุกเมื่อ แต่ด้วยความที่ Netflix นั้นเต็มไปด้วยสุดยอดฝีมือตั้งแต่แรกเริ่มและยังมีวัฒนธรรมองค์กรแบบเปิดเผยที่พนักงานสามารถพูดคุยและขอ feedback จากหัวหน้างานได้ตลอดเวลาเพื่อปรับปรุงตัวก่อนสายเกินไป จึงทำให้แนวทางนี้ประสบความสำเร็จได้และยังเป็นที่ชื่นชอบของพนักงานยอดฝีมือของ Netflix ส่วนใหญ่ที่ล้วนอยากทำงานกับคนเก่งๆอยู่ตลอดเวลา [ซึ่งสามารถตีความได้จากการที่ Netflix มีอัตราการลาออกโดยสมัครใจที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก]

 

Money Heist ซีรี่ย์แนวจารกรรมสัญชาติสเปนที่โด่งดังไปทั่วโลก (ขอบคุณภาพจาก New on Netflix)

 

Chapter 8 : MAX UP CANDOR … The Circle of Feedback

เมื่อองค์กรเริ่มมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ วัฒนธรรมในการให้และรับ feedback เชิงสร้างสรรค์อาจไม่สามารถแทรกซึมไปได้ในทุกระดับชั้นของทุกหน่วยงานแยกย่อยได้อย่างสมบูรณ์เหมือนสมัยก่อน ดังนั้น Netflix จึงได้คิดค้นแนวทางที่ช่วยย้ำเตือนและฝังรากลึกของหลักการ Candor ให้เข้าไปอยู่ในชีวิตการทำงานของพนักงานทุกคนผ่านเครื่องมือ 2 อย่าง ได้แก่

เครื่องมือที่ 1. 360 : การให้ feedback แบบ 360 องศาแก่พนักงานทุกคนในทุกๆปีที่พนักงานแต่ละคนจะต้องเลือกผู้ที่พวกเขาอยากได้รับ feedback อย่างตรงไปตรงมาและผู้ให้ feedback ก็จะต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่านกรอบแนวคิดสำคัญอย่าง “Start, Stop, Continue” หรือ การระบุว่าพนักงานผู้รับ feedback นั้นควรต้องเริ่มทำอะไร ควรต้องหยุดทำอะไรและควรทำอะไรต่อพร้อมระบุเหตุผลที่ชัดเจนและลงชื่อของตัวอย่างโปร่งใส [Netflix เคยทดลองการเขียน 360 แบบนิรนามแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะ feedback ที่เกิดขึ้นมักกำกวม ไม่สามารถใช้งานได้จริงและขัดต่อหลักการ Candor ขององค์กร] ซึ่งวัตถุประสงค์ของการให้ feedback ประจำปีนี้ก็คือเพื่อการพัฒนาตัวเองของพนักงานแต่ละคนเท่านั้น ข้อมูลทั้งหมดจะไม่ถูกนำมาใช้ตัดสินใจเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนแต่อย่างใด [อย่าลืมว่าเงินเดือนของ Netflix นั้นแปรผันตามเงินเดือนสูงสุดในตลาดเท่านั้น]

เครื่องมือที่ 2. 360 Live : การจัดทำ feedback แบบกลุ่มที่ส่วนใหญ่มักจัดในรูปแบบของการทานข้าวเย็นร่วมกัน โดยผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะผลัดกันให้ feedback ระหว่างกันโดยเน้นตามหลักการ 4A ในบทที่ 2 และ “Start, Stop, Continue” ซึ่งการให้ feedback แบบกลุ่มนี้ควรมีผู้คอยดูแลกระบวนการให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และนำไปใช้งานต่อได้ให้มากที่สุด

 

Kingdom ซีรี่ย์สัญชาติเกาหลีที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก (ขอบคุณภาพจาก New on Netflix)

 

Chapter 9 : AND ELIMINATE MOST CONTROLS … Lead with Context, Not Control

Reed Hastings แบ่งแนวทางในการบริหารจัดการของผู้นำองค์กรออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • Lead with Control : การนำโดยอาศัยการควบคุมที่ทุกการตัดสินใจจะต้องถูกกำหนดและได้รับอนุมัติโดยหัวหน้าหรือเป็นไปตามสิ่งที่หัวหน้าสร้างกรอบข้อกำหนดเอาไว้แล้ว เช่น การตั้งเป้า KPI อย่างชัดเจนให้กับพนักงานแต่ละคน
  • Lead with Context : การนำโดยอาศัยการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดให้กับพนักงานแต่ละคนเพื่อให้พวกเขามองเห็นเป้าหมายขององค์กรอย่างชัดเจนโดยให้อิสรภาพและอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดเป็นของพนักงานเหล่านั้นโดยปราศจากการควบคุมใดๆทั้งสิ้น

ซึ่งแน่นอนว่า แนวทางในการบริหารจัดการของ Netflix นั้นยึดเอาหลักการ Lead with Context ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ปฏิบัติจริงได้ยากมากเมื่อเทียบกับแนวทาง Lead with Control ที่องค์กรแทบทุกองค์กรเลือกนำมาปฏิบัติ แต่ทุกคนอ่านมาถึงจุดนี้แล้วก็คงเห็นตรงกันแล้วว่า Netflix สามารถ Lead with Context ได้อย่างยอดเยี่ยมผ่านองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่ทำให้หลักการบริหารจัดการสุดท้าทายนี้เป็นจริงขึ้นมาได้

  • องค์ประกอบที่ High Talent Density : ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้การ Lead with Context เป็นไปได้นั้นต้องเริ่มจากการที่พนักงานทุกคนล้วนเป็นผู้ที่มีความสามารถยอดเยี่ยมและมีความรับผิดชอบที่สูงมากก่อนเท่านั้น หากคุณภาพของพนักงานยังไปไม่ถึงในจุดที่หัวหน้างานไว้วางใจได้ การสร้างกรอบควบคุมบางอย่างอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า
  • องค์ประกอบที่ Innovation Goal (Not Error Prevention) : องค์กรที่เหมาะสมต่อหลักการ Lead with Context นั้นคือองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วยิ่งขึ้นเรื่อยๆมากกว่าการให้ความสำคัญกับการป้องกันข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงาน องค์กรที่ทำธุรกิจที่ความผิดพลาดสามารถสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงได้ เช่น ธุรกิจสร้างเครื่องบิน ธุรกิจขุดเจาะบ่อน้ำมันและธุรกิจโรงพยาบาล ควรยึดหลักการ Lead with Control เพื่อลดโอกาสในการผิดพลาดให้ต่ำที่สุด [ตำแหน่งงานบางส่วนของ Netflix เช่น การตรวจสอบบัญชีและการรับเรื่องร้องเรียนของพนักงาน ก็ยังคงมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนอยู่เช่นกัน]
  • องค์ประกอบที่ Loosely Coupled System : โครงสร้างองค์กรที่สามารถทำให้หลักการ Lead with Context ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีความยืดหยุ่นที่มากพอและมีการกระจายอำนาจไปยังพนักงานแต่ละคนดั่งเช่นโครงสร้างของ Netflix เท่านั้น องค์กรที่ทุกอย่างเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดและรวมศูนย์ไปที่ศูนย์กลางนั้นไม่สามารถปล่อยให้พนักงานคนใดคนหนึ่งตัดสินใจอะไรต่างๆเองได้ด้วยตัวเองเพราะว่าการตัดสินใจดังกล่าวอาจกระทบต่อส่วนอื่นๆขององค์กรที่เชื่อมโยงกันโดยที่พนักงานคนนั้นไม่ได้รับรู้

เมื่อองค์กรมีความพร้อมต่อหลักการ Lead with Context แล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่องค์กรเหล่านั้นต้องสร้างให้เกิดขึ้นก็คือการเป็น Highly Aligned Organization หรือ องค์กรที่พนักงานทุกคนมองเห็น “ดาวเหนือ” หรือ เป้าหมายและทิศทางขององค์กรที่ตรงกันอย่างสมบูรณ์ผ่านการส่งมอบข้อมูลเป็นทอดๆตั้งแต่ CEO ลงมาถึงพนักงานชั้นล่างสุด ซึ่ง Netflix เปรียบแนวคิดการสร้าง alignment (ความเข้าใจที่ตรงกัน) เป็นดั่งต้นไม้ใหญ่ที่มีผู้บริหารระดับสูงทำหน้าที่กำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กรซึ่งเปรียบได้กับรากของต้นไม้ที่เชื่อมต่อไปสู่ผู้บริหารลำดับถัดๆมาและเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาไปเป็นชั้นๆไปจนถึงปลายของกิ่งไม้แต่ละกิ่งที่เป็นตัวแทนของพนักงานระดับปฏิบัติการที่รับหน้าที่เป็น “กัปตัน” ของแต่ละโครงการผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจให้ตรงกับยุทธศาสตร์ขององค์กรโดยอิงจากข้อมูลที่ได้รับจากวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ผู้นำทุกคนที่ทำหน้าที่เป็นราก ลำต้นและก้านส่งต่อมาให้ [Reed Hastings เลือกใช้เวลาประมาณ 25% ของเขาในการพูดคุยกับพนักงานระดับ Director ขึ้นไปอย่างน้อยคนละครึ่งชั่วโมงในทุกๆปีเพื่อสร้างความมั่นใจว่าพนักงานระดับสูงทุกคนเห็นดาวเหนือดวงเดียวกันและเข้าใจแนวทางการทำงานของ Netflix อย่างชัดเจน]

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างการตัดสินใจของ Aram Yacoubian กัปตันผู้รับผิดชอบการซื้อ content สำหรับเด็กของประเทศอินเดียที่เกิดขึ้นจากการต่อยอดวิสัยทัศน์ของผู้นำที่อยู่เหนือจากเขาไปเป็นทอดๆ ดังต่อไปนี้

  • ราก : Reed Hastings เป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ในการเติบโตของ Netflix ที่จะมุ่งเน้นไปสู่การเติบโตจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้นหลังจากที่จำนวนผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาเริ่มอิ่มตัว โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ประเทศขนาดใหญ่ซึ่งมีอินเดียเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์หลัก
  • โคนต้นไม้ : Ted Sarandos (chief content officer) ได้วางวิสัยทัศน์ที่ต่อยอดจาก Reed Hastings ว่าทีม content นั้นสามารถทำการทดลองในตลาดต่างประเทศได้อย่างเต็มที่เพื่อการเรียนรู้อย่างรวดเร็วที่สุดเนื่องจากว่า Netflix ในขณะนั้นยังไม่มีความเข้าใจที่มากพอในตลาดต่างประเทศ
  • กิ่งใหญ่ : Melissa Cobb (VP Kids & Family, อดีต producer ของ Kung Fu Panda) ได้ต่อยอดวิสัยทัศน์ของ Reed Hastings และ Ted Sarandos ออกมาเป็นกลยุทธ์การสร้างให้ Netflix เป็น global platform ของ content สำหรับเด็กที่เด็กจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึง content ของประเทศอื่นๆได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน [แต่เดิมเด็กๆของแต่ละประเทศคงรับชม content เด็กแค่เฉพาะของประเทศตัวเอง ญี่ปุ่นและอเมริกาเท่านั้น] ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ใหม่มากและมีความเสี่ยงสูงแต่ก็มีโอกาสอีกมากมายเช่นเดียวกัน
  • กิ่งกลาง : Dominique Bazay (Director of Kid Content Acquisition) ก็ได้ต่อยอดจากแนวคิดของ Melissa Cobb โดยที่เธอเล็งเห็นว่า content จากต่างประเทศที่เหมาะสมต่อการรับชมของผู้ชมวัยเด็กจากทั่วโลกนั้นต้องเป็น animation ที่สามารถแก้ปัญหาด้านภาษาด้วยการพากย์เสียงเข้าไปในตัวละครทุกตัวได้อย่างแนบเนียน [แตกต่างจาก content แบบคนแสดงที่การพากย์เสียงภาษาหนึ่งใส่ตัวละครที่พูดอีกภาษานั้นมันช่างไม่กลมกลืนเอาซะเลยและเด็กๆก็ไม่ชอบอ่าน subtitle ซะด้วย] และ animation เหล่านั้นต้องมีคุณภาพงานโปรดักชั่นที่สูงพอจนทำให้เด็กอยากดู
  • กิ่งสุดท้าย : Aram Yacoubian (Senior Content Acquisition Manager) ก็ได้นำเอาแนวคิดของหัวหน้าทุกคนมาประกอบร่างกันจนทำให้เขาตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ animation เรื่อง Mighty Little Bheem ซึ่งเป็น animation สัญชาติอินเดียแท้ที่มีเนื้อหาที่เด็กทั่วโลกเข้าถึงได้แต่ก็มีเอกลักษณ์แบบอินเดียแฝงอยู่ โดยที่เขายังตัดสินใจลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนา animation เรื่องนี้ให้มีภาพที่สวยงามมากยิ่งขึ้นเพื่อดึงดูดเด็กจากทั่วโลก จนทำให้ Mighty Little Bheem กลายมาเป็น content สำหรับเด็กยอดนิยมของ Netflix ที่มีคนดูแล้วกว่า 27 ล้านคนภายในเวลาเพียงประมาณ 1 ปี !!

ความสำเร็จของการตัดสินใจของ Aram Yacoubian ถือเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของหลักการ Lead with Context ของ Netflix ที่ผู้บริหารระดับสูงจะเป็นคนกำหนดทิศทางและงบประมาณของหน่วยงานแต่ละแผนกพร้อมกับการให้ข้อมูลอย่างครบสมบูรณ์แก่พนักงานที่อยู่ปลายกิ่งไม้เพื่อให้พวกเขาเป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเองเพราะ Netflix เชื่อว่าพนักงานที่อยู่ตรงหน้างานคือผู้ที่มึความรู้ความเข้าใจมากที่สุดในหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ

 

Mighty Little Bheem ซีรี่ย์ animation สัญชาติอินเดีย (ขอบคุณภาพจาก New on Netflix)

 


 

SECTION FOUR

Going Global

 

Chapter 10 : Bring It All to The World!

กลยุทธ์สำคัญที่สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Netflix ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก็คือ “Grow Global” หรือ การเติบโตนอกเหนือจากประเทศสหรัฐอเมริกาไปสู่กว่า 190 ประเทศทั่วโลก ทั้งการนำเสนอบริการ video streaming ที่รวบรวม content ชั้นเลิศจากทั่วโลกและการลงทุนสร้าง content สัญชาติต่างประเทศโดยมีต้นทุนและคุณภาพงานโปรดักชั่นในระดับเดียวกับ Hollywood จนทำให้ภาพยนตร์และซีรี่ย์ต่างชาติอย่าง Money Heist (จากสเปน), Dark (จากเยอรมนี), Kingdom (จากเกาหลีใต้), Alice in Borderland (จากญี่ปุ่น), Lupin (จากฝรั่งเศส) และ Roma (จากแม็กซิโก) ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

แต่แน่นอนว่าการเติบโตไปยังต่างประเทศนั้นต้องรวมไปถึงการขยายออฟฟิศและทีมงานที่แต่เดิมมีความเป็นอเมริกันชนสูงไปยังสำนักงานใหญ่ทั่วโลกอย่างเนเธอร์แลนด์ บราซิล ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ซึ่งล้วนมีความแตกต่างกันในเชิงวัฒนธรรมและวิถีการทำงานเป็นอย่างมาก การเชื่อมประสานวัฒนธรรมการทำงานแบบ Netflix ที่ส่งเสริม Talent Density, Candor และ Freedom and Responsibility จึงต้องได้รับการประนีประนอมและปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะ Candor ที่พนักงานในประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือไทยที่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้านั้นไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมการให้ feedback แบบตรงไปตรงมาของ Netflix [การให้อิสรภาพแก่พนักงานอย่างเต็มที่และการสร้างทีมแบบนักกีฬามืออาชีพนั้นได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากพนักงานทั่วโลก]

ณ ปัจจุบันนี้ Netflix ยังคงพยายามเรียนรู้ในการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ Netflix สามารถเป็น global company ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่สิ่งหนึ่งที่ Netflix ได้เรียนรู้แล้วก็คือการทำงานร่วมกันระหว่างคนหลายวัฒนธรรมนั้นต้องอาศัยการทำความเข้าใจความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรม การฟัง การถ่อมตนและการพยายามปรับปรุงเข้าหากันอย่างเข้าอกเข้าใจให้มากที่สุด [ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพนักงานในออฟฟิศญี่ปุ่นไม่สะดวกใจให้ feedback กันเองแบบไม่เป็นทางการอยู่บ่อยๆ หัวหน้าทีมก็สามารถจัด 360 Live ที่มีความถี่มากยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้พนักงานเหล่านั้นยังคงสามารถให้ feedback กันได้ด้วยความถี่ที่ใกล้เคียงกับออฟฟิศอื่นๆมากที่สุด]

 

Roma ภาพยนตร์ของ Netflix ที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์ได้ 2 รายการ (ขอบคุณภาพจาก New on Netflix)

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

1 Trackbacks & Pingbacks

  1. Best stranger things สรุป 2022 New - Charoenmotorcycles.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*