News Ticker

[สรุปหนังสือ] The Subtle Art of Not Giving a F*ck : A Counter-intuitive Approach to Living a Good Life

 

 

The Subtle Art of Not Giving a Fuck: A Counterintuitive Approach to Living a Good Life (2016)

by Mark Manson

 

“You and everyone you know are going to be dead soon. And in the short amount of time between here and there, you have a limited amount of fucks to give.”

 

ในโลกปัจจุบันที่ความทุกข์ทรมาน “ทางกาย” ได้สูญหายกลายเป็นเรื่องราวในอดีตเกือบทั้งหมด มนุษย์อย่างเรากลับต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานในรูปแบบใหม่ภายใน “จิตใจ” ที่เกิดขึ้นท่ามกลางแรงผลักดันจากสังคมบริโภคนิยมและเครือข่าย social media ที่ต่างสอนสั่งให้มนุษย์ต้องรวย ต้องฉลาด ต้องประสบความสำเร็จ ต้องกินอาหารราคาแพง ต้องมีรถหรู ต้องมีบ้านขนาดใหญ่ ต้องมีคู่ชีวิตที่หุ่นเหมือนนางแบบและต้องอวดทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นนี้ใน Facebook ของตัวเอง จนพวกเราหลงลืมไปว่ามนุษย์ทุกคนนั้นล้วนมีโอกาสและขีดจำกัดที่แตกต่างกัน

The Subtle Art of Not Giving a Fuck หรือ ศิลปะอันแสนลุ่มลึกของ “การช่างแม่ง” คือ หนังสือของ Mark Manson บล็อกเกอร์ชาวอเมริกันชื่อดังที่ต้องการนำเสนอแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยการให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญและ “ช่างแม่ง” ไปกับสิ่งอื่นๆที่เราควรเลิกให้ความสนใจ ผ่านวิธีการเล่าเรื่องที่หยาบคาย จิกกัดและขำขันจนอยากให้ทุกท่านหาหนังสือเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมาอ่านกันให้ได้จริงๆ

 

ผู้เขียน Mark Manson (ขอบคุณภาพจาก Town Hall)

 

<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>

 

Chapter 1 : Don’t Try

ศาสตร์และศิลป์ของการ give a fuck (ซึ่งแปลว่า “การให้ความสำคัญกับอะไรบางอย่าง” แบบทะเล้นนิดหน่อย) นั้นมีที่มาจากสัจธรรมที่ว่า “มนุษย์ทุกคนนั้นจะต้องตายในวันใดวันหนึ่ง ในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่นั้น เรามี fuck ให้ give อย่างจำกัดเสมอ ดังนั้น เราทุกคนควรต้องเลือกที่จะ give a fuck ในสิ่งที่สำคัญๆเท่านั้น”

หลักการของการ give a fuck นั้นมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่

  • การเข้าใจว่าการไม่ give a fuck นั้นไม่ได้หมายถึงการช่างแม่งไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เป็นการเลือกที่จะช่างแม่งต่อเหตุการณ์ที่เราไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมันและกล้าที่จะเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นข้างหน้า
  • การรับรู้ว่าการที่เราเลือกที่จะไม่ give a fuck กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นหมายความว่าเรามีสิ่งที่สำคัญกว่าให้ give a fuck อยู่ก่อนหน้าแล้ว คนที่มักจะโวยวายจากเรื่องเพียงเล็กน้อยนั้นคือคนที่ไม่มีเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นให้พวกเขา give a fuck
  • การยอมรับว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาเพื่อ give a fuck กับเรื่องต่างๆอย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่างหากที่จะช่วยกล่อมเกลาให้เราเลือกที่จะ give a fuck ไปกับสิ่งที่มีคุณค่าเท่านั้น

ซึ่งหนึ่งในแนวคิดที่จะทำให้มนุษย์สามารถ give a fuck ในสิ่งที่มีความสำคัญจริงๆ ก็คือ การ “อย่าพยายาม” ที่จะเป็นให้ได้เหมือนกับคนที่ดีที่สุดในทุกๆด้าน [ซึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกหล่อหลอมอยู่ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน] และ “การยอมรับ” ในข้อบกพร่องและความเจ็บปวดของตัวเองเพื่อมองให้เห็นถึงสิ่งที่มีความสำคัญที่แท้จริงของพวกเราแต่ละคน

 

Chapter 2 : Happiness Is a Problem

“ความเจ็บปวด” ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจนั้นถือเป็นเสมือน feedback mechanism ทางธรรมชาติที่คอยแจ้งเตือนถึงภัยอันตรายที่ได้เกิดขึ้นเพื่อนำมาสู่การเรียนรู้และการวิวัฒนาการของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ยังคงมีชีวิตรอดอยู่ในโลกใบปัจจุบันนี้ ดังนั้น พวกเราทุกคนจึงควรต้องระลึกได้ว่าความเจ็บปวดนั้นถือเป็น “เรื่องปกติที่สำคัญ” ที่พวกเราทุกคนต้องเผชิญ

ภาพฝันของการออกตามหาความสุขของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่มักมองไปถึงเป้าหมายปลายทางที่จะได้มาซึ่งความร่ำรวย ชื่อเสียง อำนาจหรือความรัก นั้นได้ทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่หลงลืมถึง “เส้นทางแห่งความเจ็บปวด” ที่พวกเราจะต้องเผชิญเพื่อไปให้ถึงยอดภูเขาเอเวอเรสต์นั้น และสำหรับคนที่ได้ขึ้นไปยืนอยู่บนยอดเขาที่สูงใหญ่นั้นได้แล้วจริงๆ พวกเขาเหล่านั้นก็มักจะมองหายอดเขาที่สูงขึ้นลูกถัดไปอยู่ตลอดเวลา ทั้งคนจนและคนรวยต่างมีปัญหาด้านการเงินเหมือนกันทั้งคู่ เพียงแต่ปัญหาของทั้งสองคนนั้นไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง

ความสุขนั้นไม่ใช่สภาวะที่คงที่เหมือนโจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่เมื่อสามารถไขคำตอบได้จะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ แต่กลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตซึ่งมักมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ความสุขที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นจากการพบเจอกับปัญหาที่เรายอมรับและพร้อมที่จะต่อสู้กับมัน ดังนั้น คำถามที่น่าจะเหมาะสมกับการตั้งเป้าหมายของชีวิตนั้นน่าจะไม่ใช่คำถามที่ว่า “คุณต้องการอะไรถึงจะมีความสุข” แต่กลับเป็น “อะไรคือสิ่งที่คุณพร้อมที่จะต่อสู้และยอมรับกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นระหว่างทางได้” ต่างหาก

 

Chapter 3 : You Are Not Special

ในโลกปัจจุบันที่ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ถูกสร้างขึ้นมากมากมายในแต่ละวินาทีของชีวิต กลุ่มของข้อมูลที่มักจะ “เล็ดลอด” เข้ามาในความสนใจต่อสายตาของมนุษย์อย่างเราๆทุกคนนั้นจึงมักเป็นข้อมูลที่มีความ “สุดโต่ง” อย่างเป็นเรื่องปกติ ไล่ไปตั้งแต่ เรื่องราวอันแสนสวยหรูของคู่รักไฮโซหล่อสวย การประสบความสำเร็จทางธุรกิจของวัยรุ่นที่ลาออกจากการเรียนปริญญา ไปจนถึง ภาพเหตุการณ์นองเลือดในสงครามอันแสนโหดร้ายในซีเรีย

ซึ่งข้อมูลข่าวสารแบบสุดโต่งเหล่านี้ได้ทำให้ความเข้าใจใน “ความปกติ” ของมนุษย์นั้นแปรเปลี่ยนไปและเริ่มผลักดันให้มนุษย์มองว่าตัวเองคือ “ศูนย์กลางของจักรวาล” ที่ความทุกข์และความสุขของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่พิเศษและมีความสำคัญมากกว่าความทุกข์และความสุขของผู้อื่น ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ความคิดที่คิดว่าตัวเองมีความพิเศษกว่าคนปกติของมนุษย์ทุกคนทั้งในแง่บวกและแง่ลบนั้นเป็นเรื่องที่ผิดหลักการทางสถิติเป็นอย่างมาก [การที่ทุกคนคือคนพิเศษนั้นเท่ากับว่าทุกคนก็คือคนธรรมดาเช่นกัน]

โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เกือบทุกคนนั้นไม่ได้มีความพิเศษใดๆเหนือกว่าคนอีกเป็นพันๆล้านคนบนโลกใบนี้เลย พวกเราส่วนใหญ่คือคนที่อยู่ในช่วงของค่าเฉลี่ยตรงกลางที่มักจะมีคนเป็นพันๆล้านๆคนที่มีความสามารถหรือปัญหาที่ใกล้เคียงกับเราในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต เกือบทั้งหมดของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งมักจะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าเบื่อในสายตาของคนอื่นเสมอ [ไม่เช่นนั้นเราคงมีภาพยนตร์ชีวประวัติมนุษย์เกือบทุกคนบนโลกไปแล้ว]

ดังนั้น ชีวิตที่ดีจึงเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มที่จะตระหนักรู้และยอมรับถึงธรรมชาติของความเป็นคนธรรมดาของตัวเอง และเมื่อจิตใจเรามีความกระจ่างชัดต่อข้อเท็จจริงเหล่านั้นแล้ว เมื่อนั้นเราก็จะมีความพร้อมที่จะพัฒนาตัวของเราเองโดยปราศจากความกังวลหรือความคาดหวังที่สูงเกินความจริงอีกต่อไป

 

Chapter 4 : The Value of Suffering

เมื่อเราตระหนักรู้แล้วว่าการเลือกเส้นทางแห่งความ “ทุกข์ทรมาน” ที่เราเต็มใจที่จะเดินนั้นคือหนทางของการสร้างชีวิตที่ดีและมีความสุขที่สุดในระยะยาว เครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถเลือกทางเดินนั้นได้อย่างถูกต้องที่สุด ก็คือ การเรียงลำดับความสำคัญของ “คุณค่า” ที่เรายึดมั่นในตัวของตัวเอง

ส่วนหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความจำเป็นของมนุษย์ในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นจากการที่พวกเราเลือกที่จะ give a fuck ให้แก่คุณค่าแย่ๆที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น การกำหนดความสำเร็จของชีวิตด้วยความร่ำรวยมั่งคั่ง การต้องมีชื่อเสียงโด่งดัง การมองหาเพียงแต่ความสุขระยะสั้นทางกายและการหลอกตัวเอง

ดังนั้น เราทุกคนควรต้องมานั่งทบทวนตัวเองและจัดลำดับความสำคัญของคุณค่าที่มีค่าที่แท้จริงใหม่ ซึ่ง Chapter ที่เหลือของหนังสือเล่มนี้จะเป็นการตีแผ่ 5 คุณค่าสำคัญแห่งการมีชีวิตที่ดีและมีความสุขของมนุษย์

 

Chapter 5 : You Are Always Choosing

คุณค่าสำคัญแห่งการสร้างชีวิตที่ดีลำดับที่ 1 ที่พวกเราทุกคนควรระลึกถึงก็คือ “การมีความรับผิดชอบ” ต่อทุกจังหวะการก้าวเดินของชีวิตของตัวเอง ถึงแม้ว่าในบางครั้ง เราอาจไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ภายนอกต่างๆที่เข้ามากระทบกับชีวิตของพวกเราได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้เสมอก็คือการตีความต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นภายในจิตใจของเราและการเลือกที่จะตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวของตัวเอง [เปรียบเสมือนการเล่นไพ่โป๊กเกอร์ที่คนที่มีไพ่ที่ดีกว่านั้นไม่จำเป็นที่จะต้องชนะเสมอไป]

ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่รู้ตัว แต่มนุษย์ทุกคนนั้น “ตัดสินใจเลือก” การก้าวเดินไปข้างหน้าของตัวเองทุกขณะลมหายใจอยู่แล้ว ดังนั้น การรับรู้ถึงความรับผิดชอบต่อชะตาชีวิตของตัวเองคือก้าวแรกที่ดีที่สุดที่จะผลักดันให้เราจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองต้องการใหม่และเลือกที่จะ give a fuck ในสิ่งที่สำคัญจริงๆ [การมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนสองคนนั้นก็เกิดขึ้นจากการที่เขาเหล่านั้นเลือกที่จะรับผิดชอบกับปัญหาของตัวเองไม่ใช่รอคอยให้อีกคนหนึ่งมาแก้ปัญหาเหล่านั้นให้]

 

Chapter 6 : You’re Wrong About Everything

คุณค่าสำคัญแห่งการสร้างชีวิตที่ดีลำดับที่ 2 ที่พวกเราทุกคนควรทำความเข้าใจก็คือ “การยอมรับต่อความไม่แน่นอน” ที่เป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ พวกเราทุกคนมักเชื่อมั่นว่าสิ่งที่พวกเรารู้และสิ่งที่พวกเราเชื่อนั้นคือความจริงที่ถูกต้องและนั่นก็ทำให้ตัวเองมีความถูกต้องอยู่เหนือกว่าผู้อื่นเสมอ ทั้งๆที่จริงๆแล้ว สมองของมนุษย์นั้นไม่ได้ออกแบบมาได้อย่างสมบูรณ์ พวกเราทุกคนนั้น “เข้าใจผิดอยู่ตลอดเวลา” และการรับรู้ถึงความเข้าใจผิดนี้เองที่เป็นตัวกระตุ้นให้พวกเราเกิดการเรียนรู้และลดความผิดพลาดของตัวเองในอนาคต

การดำเนินชีวิตแบบวิทยาศาสตร์ด้วยการลดอัตตาของตัวเองลงและเปิดใจให้กว้างมากขึ้นต่อความไม่รู้คือแนวทางสำคัญในการสร้างชีวิตที่ดีทั้งในแง่ของการพัฒนาตัวเองและความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง [การยอมรับว่าเราไม่ได้รู้เรื่องของคนอื่นดีกว่าคนเหล่านั้นคือจุดเริ่มต้นในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี]

จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการยอมรับต่อ “ความไม่รู้” ของตัวเองนี้จึงเป็นเพียงแค่การตั้งคำถามต่อตัวเองว่า “ถ้าสิ่งที่เราคิดมันผิดหละ” อยู่ตลอดเวลา

 

Chapter 7 : Failure Is The Way Forward

คุณค่าสำคัญแห่งการสร้างชีวิตที่ดีลำดับที่ 3 ที่พวกเราทุกคนควรปฏิบัติตามก็คือ “การยอมรับต่อความผิดพลาด”

ค่านิยมของมนุษย์ในปัจจุบันนั้นส่งเสริมให้พวกเราทุกคนบูชากับความสำเร็จและเยาะเย้ยให้กับความล้มเหลวอันนำมาสู่ “ความกลัว” ต่อความผิดพลาดที่จบลงด้วยการที่มนุษย์จำนวนมากนั้นเลือกที่จะไม่ลงมือทำในสิ่งที่สำคัญกับตัวเองจริงๆ [ทั้งๆที่เด็กทารกทุกคนกล้าที่จะหัดเดินทั้งๆที่ต้องล้มเป็นพันๆครั้ง]

เมื่อพวกเราให้คุณค่ากับการการตัดสินใจลงมือทำของตัวเองมากขึ้นโดยไม่เกรงใจกลัวต่อความล้มเหลวและนำเอาความผิดพลาดเหล่านั้นที่อาจจะเกิดขึ้นมาใช้เป็นบทเรียน พวกเราก็จะพร้อมที่จะสร้างการกระทำในสิ่งที่เรา give a fuck ได้อย่างแท้จริงและเมื่อการกระทำเหล่านั้นก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจที่เป็นเสมือนเชื้อไฟให้กับการกระทำเหล่านั้นเป็นวงจรไปแบบไม่รู้จบ

 

Chapter 8 : The Importance of Saying No

คุณค่าสำคัญแห่งการสร้างชีวิตที่ดีลำดับที่ 4 ที่พวกเราทุกคนควรกระทำก็คือ “การรู้จักปฎิเสธ” ทั้งการที่เรากล้าที่จะบอก “ไม่” กับบางสิ่งบางอย่างและการที่เรายอมรับคำปฏิเสธจากผู้อื่น [ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การตัดสินใจหนึ่งๆของมนุษย์นั้นคือการปฏิเสธตัวเลือกที่เหลือทั้งหมดอยู่แล้ว]

การมีตัวตนเป็นของตัวเองของมนุษย์แต่ละคนจึงเกิดขึ้นจากการที่เราเลือกปฏิเสธต่อสิ่งหลายๆอย่างเพื่อที่จะ give a fuck กับสิ่งที่เราให้คุณค่าที่สุดเท่านั้น ซึ่ง “ความซื่อสัตย์” ทั้งต่อตัวเองและคนอื่นอย่างจริงใจนี้เองคือคุณค่าที่สำคัญที่สุดในการสร้างความเชื่อใจและความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างกัน

 

Chapter 9 : … And Then You Die

คุณค่าสำคัญแห่งการสร้างชีวิตที่ดีลำดับสุดท้ายก็คือ “การยอมรับกับความตาย” ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเผชิญในอนาคตข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในโลกที่สามารถจินตนาการถึงความตายของตัวเองได้และนั่นก็นำมาสู่ “ความกลัวต่อความตาย” ที่เข้ามาบิดเบือนคุณค่าที่สำคัญที่สุดของพวกเรา [มนุษย์หลายคนเลือกที่จะสร้างตัวตนหลังความตายของตัวเองให้มีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งนั่นก็อาจทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุขเลยแม้แต่วันเดียวเพียงเพื่อการตอบสนองต่อคุณค่าที่ไม่สามารถควบคุมได้]

ซึ่งเมื่อพวกเราเข้าใจและยอมรับต่อความจริงทางธรรมชาติของมนุษย์ข้อนี้แล้ว พวกเราก็จะสามารถเลือกคุณค่าที่พวกเราต้องการ give a fuck ไปกับมันได้อย่างแท้จริง




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

1 Comment on [สรุปหนังสือ] The Subtle Art of Not Giving a F*ck : A Counter-intuitive Approach to Living a Good Life

  1. ขอบคุณครับ…อ่านฉบับแปลไทย
    เป็นอีกหนึ่งเล่มที่อ่านมากกว่า 2 รอบ
    สงสัยคงถูกจริตผู้เขียนกับสไตล์การเขียนแบบนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*