News Ticker

[สรุปหนังสือ] Shoe Dog : A Memoir by the Creator of NIKE

 

 

Shoe Dog: A Memoir by the Creator of NIKE (2016)

by Phil Knight

 

“Let everyone else call your idea crazy . . . just keep going. Don’t stop. Don’t even think about stopping until you get there, and don’t give much thought to where “there” is. Whatever comes, just don’t stop.”

 

Phil Knight มหาเศรษฐี Top 50 ของโลกเจ้าของบริษัทเครื่องกีฬายักษ์ใหญ่อย่าง Nike เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองในวัยเพียง 24 ปีด้วยการนำเข้ารองเท้าวิ่งจากประเทศญี่ปุ่นก่อนจะขยายธุรกิจออกไปอย่างต่อเนื่องจนทำให้สัญลักษณ์ “Swoosh” กลายเป็นแบรนด์ที่ทุกคนทั่วโลกรู้จัก

Shoe Dog มีความหมายว่า “ผู้ที่หลงไหลในรองเท้าดั่งลมหายใจ” และหนังสือ Shoe Dog ของ Phil Knight เล่มนี้ก็คือบันทึกเรื่องราวในช่วงเริ่มต้นธุรกิจของเด็กหนุ่มนักวิ่งผู้หลงรักรองเท้าอย่างบ้าคลั่งที่ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆนานาจนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด นี่คือหนึ่งในหนังสือที่ “ผู้ประกอบการ” ทุกคนต้องอ่าน !!!

 

Phil Knight ผู้ก่อตั้งบริษัท Nike (ขอบคุณภาพจาก It’s Your Turn Blog)

 

<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>

1962

  • Phil Knight หรือ “Buck” เด็กหนุ่มชาวอเมริกันในครอบครัวชนชั้นกลางในรัฐธรรมดาๆอย่าง Oregon เดินทางกลับมาที่เมือง Portland บ้านเกิดหลังจากเรียนจบจาก Stanford Graduate School of Business และรับราชกาลทหารมาเป็นเวลา 1 ปี
  • Phil Knight ชื่นชอบการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ เขาฝันว่าการได้เป็นนักกีฬาจะทำให้เขามีความสุข แต่เขาก็รู้ตัวดีว่าตัวเองเก่ง แต่ไม่ได้เก่งที่สุด และสิ่งที่เขาเกลียดมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “ความพ่ายแพ้” เขาจึงตัดสินใจเดินตามความฝันที่เขาเรียกมันว่า “Crazy Idea” ที่เขาคิดขึ้นตอนทำโปรเจ็คในคอร์สเรียน entrepreneurship นั่นคือการเปิดธุรกิจนำเข้ารองเท้าวิ่งจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำมาขายให้กับชาวอเมริกันแข่งกับแบรนด์ยุโรปอย่าง Adidas หลังจากที่เขาเห็นความสำเร็จในการตีตลาดของแบรนด์กล้องสัญชาติญี่ปุ่น
  • Phil Knight ตัดสินใจขายรถและขอเงินพ่อเพื่อออกเดินทางไปรอบโลกโดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เขาเริ่มออกเดินทางไปเกาะฮาวายกับเพื่อนคนหนึ่งและตัดสินใจทำงานอยู่ซักพักโดยเริ่มที่งานขายสาราณุกรมก่อนจะปิดท้ายด้วยงานขายหลักทรัพย์ที่วุฒิ MBA ของเขาช่วยกลบความขี้อายของเขาได้และสร้างเงินให้เขาได้ดีที่เดียว แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเดินทางตามแผนของตัวเองมุ่งสู่ประเทศญี่ปุ่น (ขณะนั้นเป็นช่วงที่สงครามเย็นผ่านจุดพีคไปพอดี)
  • ท่ามกลางซากปรักหักพังของเมืองที่ถูกระเบิดโจมตี ณ ประเทศญี่ปุ่น Phil Knight ได้รับคำแนะนำจากอดีตทหารอเมริกันที่เปิดบริษัทอยู่ที่ญี่ปุ่นและในที่สุดก็ตัดสินใจขอเข้าพบกับบริษัท Onitsuka เจ้าของแบรนด์รองเท้า Tiger ที่เขาชื่นชอบ หลังจากได้รับการต้อนรับอย่างดี Phil Knight ก็เริ่มพรีเซ็นต์แผนการนำเข้ารองเท้ากีฬาไปเจาะตลาดประเทศอเมริกาให้กับผู้บริหารฟังโดยเขาอ้างว่าตัวเองมาจากบริษัท Blue Ribbon (เชือกเส้นชัยที่เขาติดไว้ที่ผนังห้องนอน) และสามารถซื้อใจทีมผู้บริหารที่กำลังต้องการเปิดตลาดที่อเมริกาอยู่พอดี Phil Knight ตัดสินใจยืมเงินพ่อ 50 ดอลลาร์เพื่อซื้อรองเท้าชุดแรกจาก Onitsuka ก่อนตัดสินใจออกท่องเที่ยวต่อ
  • Phil Knight เดินทางต่ออีก 4 เดือนเพื่อตามหาแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม เนปาล อินเดีย อียิปต์ อิสราเอล ตุรกี อิตาลี่ ฝรั่งเศส เยอรมันี ออสเตรีย อังกฤษและปิดท้ายทริปที่ประเทศกรีซ เป้าหมายหลักของทริปเนื่องจากว่าตัวเขาชื่นชอบมหาวิหาร Acropolis ที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของอารยธรรมตะวันตกมากและที่แห่งนั้นก็มีวิหารเล็กๆอีกแห่งชื่อ Temple of Athena Nike (Nike แปลว่า “ชัยชนะ”)

1963

  • ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบ 25 ปี Phil Knight ก็ได้เดินทางกลับมาที่บ้านของตัวเอง เขาค้นพบว่ารองเท้าที่เขาสั่งจาก Onitsuka ยังไม่มาถึงแม้ว่าเวลาผ่านมาแล้วหลายเดือน
  • หลังจากได้รับคำแนะนำจากนักธุรกิจเพื่อนพ่อของเขาเรื่องการหางานทำ Phil Knight ตัดสินใจลงเรียนเพื่อสอบ CPA (วิชาชีพบัญชี) และต่อมาได้ทำงานให้กับบริษัทบัญชีรายใหญ่อย่าง Lybrand , Ross Bros. & Montgomery ที่ที่เขาทำงานอย่างหนักพร้อมกับได้รับประสบการณ์มากมาย แต่ขณะเดียวกันไฟแห่งความทะเยอทะยานของเขาก็เริ่มที่จะมอดดับลง

1964

  • ในที่สุด รองเท้า Tiger จาก Onitsuka จำนวน 12 คู่ก็เดินทางมาถึง Oregon (ใช้เวลารวมกันเป็นปีกว่าๆ)
  • สิ่งที่ Phil Knight ทำอย่างแรกคือการส่งตัวอย่างไปให้ Bill Bowerman โค้ชวิ่งของเขาผู้ที่ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของ Phil Knight สูงที่สุดไม่แพ้พ่อของเขา … Bill Bowerman เป็นโค้ชวิ่งที่ให้ความสำคัญกับรองเท้าวิ่งมาก เขามักจะทดลองสร้างรองเท้าชนิดใหม่ๆ (ทั้งจากหนังจิงโจ้และหนังปลาค้อด) และเขาก็เลือก Phil Knight นักวิ่งที่ไม่ได้เก่งที่สุดในทีมเป็นหนูทดลองให้เขาเสมอ
  • Bill Bowerman สร้างความประหลาดใจให้ Phil Knight หลังจากที่เขาชื่นชอบรองเท้า Tiger เป็นอย่างมาก เขาตัดสินใจขอลงทุน 49% ในธุรกิจใหม่ของ Phil Knight ซึ่ง Phil Knight ก็ตกลงแต่โดยดี (เขาให้ความเห็นว่าใครจะกล้าไม่ลงทุนร่วมกับ “God”)
  • หลังจากนั้น Phil Knight ก็ติดต่อกับ Onitsuka เพื่อทำการซื้อรองเท้าทั้งหมด 300 คู่มูลค่า 1000 เหรียญ (ยืมเงินจากพ่ออีกรอบ คราวนี้มีแม่คอยสนับสนุน) และได้รับการอนุญาตจาก Onitsuka ให้บริษัทของเขาเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในฝั่ง west coast
  • หลังจากรองเท้าเดินทางมาถึง Phil Knight ก็เริ่มออกขายทันที ช่วงแรกเขาไม่สำเร็จในการขายสินค้าเข้าร้านค้า แต่พอเขาเอารองเท้าไปขายตรงให้กับเหล่านักกีฬาวิ่ง ทุกคนต่างชื่นชอบและปากต่อปาก (มีคนวิ่งมาขอซื้อถึงบ้าน) พร้อมกับการเริ่มโฆษณาหาตัวแทนจำหน่ายรองเท้าจากญี่ปุ่นคุณภาพดีราคาถูก ทำให้เขาสามารถขายรองเท้าวิ่ง 300 คู่หมดภายในเวลาเพียง 3 เดือน
  • Phil Knight ได้รับความช่วยเหลือจากพ่อในการกู้เงินจากธนาคารเพื่อสั่งซื้อรองเท้าลอตถัดไปกว่า 900 คู่ แต่แล้ววันนี้ความฝันของเขาก็เริ่มสั่นคลอนเมื่อเขาได้รับจดหมายจากโค้ชกีฬาคนหนึ่งที่อ้างว่าตัวเองคือผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวของ Onitsuka และขอให้ Phil Knight หยุดขายรองเท้า … Phil Knight ติดต่อกลับไปทาง Onitsuka แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปพบกับผู้บริหารที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง
  • หลังจาก Phil Knight ได้เข้าพบกับ Onitsuka เจ้าของบริษัท เขาก็สามารถซื้อใจ Mr. Onitsuka ได้และได้รับสิทธิในการขายรองเท้าวิ่งใน 13 รัฐทาง west coast แต่เพียงผู้เดียวเป็นระยะเวลาทดลอง 1 ปี พร้อมกับการสั่งออเดอร์ครั้งใหญ่กว่า 3,500 ดอลลาร์
  • Phil Knight ออกทริปปีนภูเขาไฟฟูจิเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของดีล ระหว่างทริปเขาได้พบกับหญิงสาวอเมริกันลูกเจ้าของบริษัทขนมหวานยักษ์ใหญ่ ทั้งคู่ได้สานต่อความสัมพันธุ์เป็นเวลาเกือบปี แต่สุดท้ายก็ไปกันไม่รอด … Phil Knight อกหักและหมดแรงทำงานอยู่ซักพัก ก่อนกลับมาตั้งสติและลุยการขายรองเท้าของบริษัท Blue Ribbon ของเขาอีกครั้ง โดยครั้งนี้ เขาได้จ้าง Jeanne น้องสาวของเขาเป็นพนักงานคนแรกในตำแหน่งเลขาธิการ

1965

  • กิจการ Blue Ribbon ของ Phil Knight เริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เขาได้จ้าง Jeff Johnson เพื่อนของเขาจาก Stanford เป็นพนักงานขายแบบ full time คนแรก (หลังจากโดนตามตื๊ออยู่นาน เพราะเขาต้องการออกจากงานประจำมาขายรองเท้าที่เขาคลั่งไคล้ ซึ่งก่อนหน้านั้น Jeff เคยปฏิเสธ Phil มาแล้วรอบหนึ่ง) แต่ถึงกระนั้น ความกังวลของธนาคารผู้ปล่อยกู้ให้กับ Blue Ribbon ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทุกครั้งที่ Phil Knight นำเข้ารองเท้าและขายได้หมดลอต เขาจะสั่งซื้อสินค้าลอตใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นหากยอดขายเกิดไม่เป็นไปตามแผนเมื่อไหร่ บริษัทของเขาจะมีปัญหาขาดสภาพคล่องทันที (ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้นหลังจากที่ Onitsuka มักจะส่งสินค้ามาอเมริกาช้ากว่ากำหนด)
  • Phil Knight ตัดสินใจกระจายความเสี่ยงด้วยการหันกลับไปทำงานประจำเป็นพนักงานตรวจสอบบัญชีอีกครั้งที่ Price Waterhouse และงานครั้งนี้ก็เปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสกับธุรกิจหลากหลายประเภทมากขึ้น ขณะเดียวกันเขาก็ต้องกลับไปรับใช้ชาติเป็นทหารในทุกคืนวันอังคารด้วย
  • ทางด้าน Bill Bowerman พาร์ทเนอร์ของ Blue Ribbon ก็กำลังเริ่มโด่งดังหลังจากที่เขาได้คุมนักกีฬาวิ่งไปแข่งขัน Olympic ที่ประเทศญี่ปุ่น เขายังได้เข้าพบกับบริษัท Onitsuka และต่อมายังได้ช่วยออกแบบรองเท้าที่เหมาะกับคนอเมริกันมากขึ้น

1966

  • และแล้วความบ้าของพนักงานคนแรกอย่าง Jeff Johnson ผู้ชื่นชอบส่งจดหมายรายงาน Phil Knight เรื่องการขายและลูกค้าทุกๆวันก็เกิดดอกผล Jeff สร้างฐานลูกค้านักวิ่งขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง (เขาถึงกับส่งจดหมายอวยพรลูกค้าแต่ละรายและคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวิ่งด้านต่างๆอีกด้วย) แถมยังได้โอกาสจาก Phil Knight ให้เปิดร้านขายรองเท้าแห่งแรกขึ้นที่ Santa Monica รัฐ California ที่ซึ่งเขาได้จัดการออกแบบร้านให้เป็นจุดนัดพบของผู้ชื่นชอบการวิ่งได้เป็นอย่างดี (Phil Knight เห็นใจ Jeff Johnson หลังจากเขาขายรองเท้าหนักมากจนเผลอหลับไประหว่างขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เขายอมให้ Jeff เปิดร้านของตัวเองถ้า Jeff สามารถทำยอดขายรองเท้าที่สูงมากๆได้ถึง ซึ่งแน่นอนว่า Jeff ทำได้ )
  • Jeff Johnson เป็นคนทราบข่าวจากลูกค้าว่าอดีตคู่แข่งการค้ารองเท้า Tiger ได้กลับมาเริ่มตีตลาดอีกครั้งและเริ่มมีการซ้อนทับพื้นที่ของ Blue Ribbon (ซึ่งจริงๆ Jeff ก็มีลูกค้าเกือบทั้งประเทศเหมือนกัน) ทำให้ Phil Knight ตัดสินใจบินไปญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อเข้าพบกับผู้บริหาร Onitsuka อีกครั้ง ซึ่งตอนแรกท่าทีของผู้บริหารไม่เชื่อว่า Blue Ribbon จะสามารถทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายรองเท้าวิ่ง Tiger แต่เพียงผู้เดียวทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แต่ Phil Knight ก็ได้หลอกว่าเขาก็มีออฟฟิซที่ฝั่ง East Coast เหมือนกันและกำลังแพลนจะขยายไปยังฝั่ง Central ด้วย จนในที่สุด Phil Knight ก็ได้สิทธิ์การเป็นผู้จัดจำหน่ายรองเท้าวิ่ง Tiger แต่เพียงผู้เดียว เป็นระยะเวลา 3 ปีโดยเขาได้ตกลงสั่งซื้อรองเท้าลอตใหญ่กว่า 5,000 คู่ด้วยเงินที่เขาไม่มีเพื่อจัดส่งไปยังออฟฟิซที่เขาไม่มี

1967

  • Phil Knight ได้เกลี่ยมกล่อมให้พนักงานขายคนแรกอย่าง Jeff Johnson ย้ายไปประจำออฟฟิซที่ฝั่ง East Coast ได้สำเร็จหลังจากมีการต่อรองที่จบลงด้วยการขึ้นเงินเดือนจาก 400 เป็น 450 ดอลลาร์ (Phil Knight ปฏิเสธการขอหุ้นจาก Jeff Johnson ว่าจำนวนหุ้นที่ลดลงจะทำให้เขาไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเกิน 50% ของบริษัทและบริษัทก็ยังเต็มไปด้วยหนี้ไม่มีกำไรเลย) … Jeff Johnson หาออฟฟิซใหม่ได้ที่เขต Wellesley เมือง Boston ที่ซึ่งเต็มไปด้วยนักวิ่งและยังเป็นทางผ่านของเส้นทางการวิ่งมาราธอน
  • Phil Knight ยังได้เริ่มจ้างพนักงานเข้ามาอีก 3 คนที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวของกับวงการวิ่งทั้งนั้น ตั้งแต่ โค้ชไปจนถึง Bob Woodell อดีตนักกีฬาที่พิการจากอุบัติเหตุ (Bill Bowerman เป็นคนแนะนำมา) ซึ่งต่อมาได้มาประจำอยู่ที่ออฟฟิซใหม่ที่ใหญ่ขึ้น (สภาพโทรม กำแพงเป็นรู) ของ Blue Ribbon กับ Phil Knight กันสองคน
  • ผลของการดีไซน์รองเท้าใหม่ของ Bill Bowerman ก็สัมฤทธิ์เมื่อ Onitsuka ได้นำดีไซน์ของเขามาทำเป็นรองเท้าที่ต่อมาได้ชื่อว่า Cortez (ก่อนหน้าที่ชื่อ Aztec แต่โดน Adidas ฟ้องว่านี่คือชื่อของรองเท้าใหม่ของบริษัท) ที่เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการเติบโตของแบรนด์ Nike ผ่านนวัตกรรมรองเท้าที่ล้ำกว่าแบรนด์คู่แข่ง … Bill Bowerman ยังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการวิ่งซึ่งต่อมาขายได้หลักล้านเล่มซึ่งแน่นอนว่าส่งผลดีต่อการขายรองเท้าวิ่งแน่นอน
  • Blue Ribbon ปิดการขายได้ตามเป้ากว่า 84,000 ดอลลาร์

1968

  • Phil Knight ทำงานเป็นนักบัญชีที่ Price Waterhouse 6 วันต่อสัปดาห์ส่วนเวลาที่เหลือทั้งเช้าและเย็นเขาก็ทุ่มเทให้กับการขายรองเท้าของ Blue Ribbon อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดเขาก็ได้ตัดสินใจลาออกเพื่อหางานที่ทำให้เขามีเวลามากขึ้น ซึ่งในที่สุดเขาก็สมัครเป็นอาจารย์วิชาบัญชีให้กับมหาวิทยาลัย Portland State (พ่อไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่) ด้วยเงินเดือน 700 ดอลลาร์
  • ในคลาสสอน เขาได้พบกับนักเรียนหญิงผู้เงียบเชียบนามว่า Penelope “Penny” Parks ซึ่งต่อมาเธอก็ได้เซอร์ไพรส์เขาด้วยคะแนนสอบที่เป็นที่หนึ่งของคลาสตลอดเวลา หลังจบคอร์สเรียน Phil Knight ตัดสินใจชวน Miss Parks มาทำงานบัญชีให้กับ Blue Ribbon ซึ่งเธอก็ตอบตกลงทันที … หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ของ Penelope Parks กับ Phil Knight ก็ผลิบานจนทั้งสองคนได้แต่งงานกันภายในเวลาเพียงหนึ่งปี
  • ระหว่างนั้น Phil Knight ยังได้เดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อพูดคุยกับผู้บริหารของ Onitsuka ชื่อ Kitani ซึ่งทั้งสองคนเริ่มสนิทกันมากขึ้น … ด้วยยอดขายที่เติบโตสองเท่าติดต่อกันหลายปี ความสัมพันธ์ระหว่าง Blue Ribbon กับแผนกส่งออกของ Onitsuka นั้นแน่นแฟ้นแข็งแรงกว่าเดิมมาก (เขายังได้คุยกับ Fujimoto พนักงาน Onitsuka ที่บ้านพึ่งถูกถล่มไปจากพายุ ซึ่ง Phil Knight ก็ได้ส่งเงินให้กับ Fujimoto เพื่อให้เขาสามารถนำไปซื้อจักรยานคันใหม่ที่พังไปได้ ต่อมา Fujimoto ก็เลยกลายมาเป็นเหมือน “สปาย” ใน Onitsuka ให้กับ Blue Ribbon)

1969

  • ยอดขายสิ้นปี 1968 ของ Blue Ribbon ปิดที่ 150,000 ดอลลาร์ และในปี 1969 ก็ยังสามารถเติบโตได้เกือบ 2 เท่า
  • Blue Ribbon รับพนักงานใหม่เพิ่มเข้ามารวมๆกว่า 40 คน โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานขายที่กระจายตามรัฐต่างๆ รายได้ของพวกเขาคือค่าคอมมิชชั่น 2 ดอลลาร์ต่อคู่ … ในที่สุด Phil Knight ตัดสินใจลาออกจากงานสอนและหันมาทำงานอย่างเต็มตัว โดยมีกำลังหลักของบริษัทอีก 3 คน ได้แก่ Bob Woodell อดีตนักกีฬาพิการที่รับหน้าที่งานขายประจำออฟฟิซกลางกับ Phil Knight (ถึงแม้จะพิการแต่ Bob Woodell ก็สามารถเดินทางไปขายรองเท้าได้ทั่วประเทศ), Jeff Johnson ผู้รับผิดชอบการขายฝั่ง East Coast และ John Bork ผู้รับหน้าที่คุมการขายฝั่ง LA แทน Jeff
  • Blue Ribbon ยังเริ่มให้ความสำคัญกับการโฆษณามากขึ้นเรื่อยๆ … ในงานโอลิมปิกปี 1968 ที่แม็กซิโก โค้ช Bill Bowerman ก็ได้คุมทีมวิ่งของเขาไปแข่ง และพบว่านักกีฬาแทบทุกคนถูก Adidas หรือ Puma (ซึ่งเจ้าของชาวเยอรมันเป็นพี่น้องกัน) แย่งกันขอสปอนเซอร์ ส่วน Blue Ribbon ได้แต่คอยดูเนื่องจากไม่มีงบขนาดนั้น
  • ด้านชีวิตคู่ Penny Knight ก็ได้หันมาช่วยงานที่ Blue Ribbon อย่างเต็มตัว หลังจากที่ทั้งสองคนตัดสินใจซื้อบ้านหลังใหม่เป็นของตัวเองโดยใช้เงินเก็บทั้งหมดเป็นค่าดาวน์ (ถ้า Blue Ribbon ล้มเมื่อไหร่ บ้านหลังนี้ปลิวด้วยแน่นอน) … Penny Knight ตั้งครรภ์และคลอดลูกชายคนแรกชื่อ Matthew
  • หลังจากย้ายออฟฟิซเป็นครั้งที่สามไปยังตึกที่ดูมีระเบียบมากยิ่งขึ้น Bob Woodell ที่กลายมาเป็นคนสนิทของ Phil Knight ก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น Operation Manager เพื่อดูแลกระบวนการหลังบ้านทั้งหมด ซึ่งต่อมาได้จ้างแม่ของตัวเองมาเป็นคนบริหารคลังสินค้าแรกของ Blue Ribbon

1970

  • Phil Knight เดินทางไปที่ญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อเจรจาต่อสัญญากับ Onitsuka ซึ่ง Kitami และ Onitsuka ก็ให้ Blue Ribbon เป็นผู้จัดจำหน่ายรองเท้าวิ่งต่ออีก 3 ปี (แต่ Phil ก็เริ่มสังเกตเห็นความไม่แน่นอนของสัญญาครั้งนี้หลังจากที่ Onitsuka ปฎิเสธการต่อสัญญาที่นานกว่านั้น)
  • ปัญหาด้านสภาพคร่องของ Blue Ribbon เริ่มรุนแรงขึ้นหลังจากที่ยอดขายเติบโต 2 เท่าทุกปีจนน่าจะสามารถทะลุ 1 ล้านดอลลาร์ได้ในปีหน้า ทางธนาคารที่ให้เครดิตกับ Blue Ribbon เริ่มมีท่าทีรัดกุมการให้เครดิตมากขึ้น พร้อมๆกับปัญหาการส่งสินค้าของ Onitsuka ที่ทั้งช้าและผิดลอต (Woodell ทราบทีหลังว่า Onitsuka ให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศก่อน) ทำให้ Blue Ribbon เริ่มไม่สามารถจ่ายเงินค่ารองเท้าได้
  • Phil Knight ตัดสินใจเปิดขายหุ้นแก่สาธารณะชนผ่านประกาศที่สุดท้ายก็ไม่มีใครสนใจ (Woodell เป็นเพียงคนเดียวที่ขอซื้อหุ้นบางส่วน) เขาเริ่มออกขายหุ้นให้กับเพื่อนซึ่งก็ไม่มีใครสนใจ จนสุดท้ายครอบครัวของ Woodell ก็ตัดสินใจให้ Blue Ribbon ยืมเงินเก็บทั้งหมดในชีวิตจำนวน 8000 ดอลลาร์
  • และแล้วสิ่งที่ Phil Knight กลัวที่สุดก็เกิดขึ้น เมื่อเขาทราบข่าวว่า Onitsuka เริ่มทำการคัดเลือกผู้จัดจำหน่ายในอเมริการายใหม่มาแทน Blue Ribbon ทำให้เขาตัดสินใจวางแผนเชิญ Kitami ผู้ที่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของ Onitsuka มาเยือน Portland

1971

  • Kitani รับคำเชิญมาเยือนอเมริกาอีกครั้งโดยมี Phil และ Penny Knight ต้อนรับอย่างดีตลอดระยะเวลาหลายวัน ถึงกระนั้น Kitani ก็มาที่อเมริกาพร้อมจุดประสงค์แฝงนั่นคือการเข้าไปพบกับว่าที่ผู้จัดจำหน่ายรองเท้า Tiger รายอื่นๆที่อาจจะเข้ามาแทน Blue Ribbon (Phil Knight แอบขโมยแฟ้มเอกสารของ Kitani จนพบความลับนี้) … ความไม่ไว้วางใจของ Blue Ribbon กับ Onitsuka ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (Kitani ด่า Phil Knght ว่ายอดขายที่ทำได้เติบโตปีละ 2 เท่ามันน้อยเกินไป !!) … หลังจาก Kitani เดินทางไปเยี่ยมผู้จัดจำหน่ายรายอื่น เขาก็เดินทางกลับมาที่ Portland อีกครั้งเพื่อเสนอซื้อกิจการ Blue Ribbon ซึ่งแน่นอนว่า Phil Knight ปฎิเสธ
  • ปัญหาทางการเงินของ Blue Ribbon ก็แย่ลงเมื่อธนาคารที่ให้เครดิต Phil Knight ตั้งแต่เริ่มบริษัทตัดสินใจยกเลิกการทำธุรกิจกับ Blue Ribbon จนทำให้ Phil ต้องดิ้นรนหาธนาคารแห่งใหม่ไปเรื่อยๆและได้ริเริ่มคิดที่จะทำสัญญากับ Nissho บริษัท Trading สัญชาติญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ที่พร้อมจะให้เครดิตกับ Blue Ribbon (Onitsuka ไม่พอใจ Nissho มากๆเนื่องจากเกรงว่า Nissho จะเข้ามาล้วงความลับและหันไปเปิดธุรกิจรองเท้าแข่ง)
  • Phil Knight ตัดสินใจหาซัพพลายเออร์รองเท้ารายใหม๋ โดยเขาได้นึกถึงโรงงานชื่อ Canada ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตรองเท้า Adidas ที่แม็กซิโกในช่วงกีฬา Olympics 1968 ที่ Mexico City (Adidas จ้างผลิตเพื่อลดต้นทุน) และได้เข้าไปเยี่ยมโรงงานพร้อมตัดสินใจสั่งผลิต “รองเท้าฟุตบอล” ซึ่งไม่ได้อยู่ในสัญญาที่ทำร่วมกับ Onitsuka ที่ระบุห้ามไม่ให้ Blue Ribbon ขายรองเท้าวิ่งแบรนด์อื่น
  • Blue Ribbon ต้องหาชื่อและสัญลักษณ์ให้กับแบรนด์รองเท้าฟุตบอลใหม่ เริ่มจากสัญลักษณ์ที่ Phil Knight ว่าจ้าง Carolyn Davidson อดีตนักศึกษาที่เขาเจอตอนเขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย Portland State โดยให้โจทย์สัญลักษณ์ที่สื่อถึง “การเคลื่อนไหว” ที่หลังจากแก้ไขมาหลายรอบ Phil Knight และทีมงานก็ตัดสินใจเลือกสัญลักษณ์ที่คล้ายๆกับ “ปีก” และ “ลม (swoosh of air)” แบบลังเล แต่ก็ตัดสินใจส่งแบบให้กับ Canada เนื่องจากกำลังจะถึงกำหนดส่งแล้ว … ส่วนชื่อของแบรนด์ใหม่ Phil Knight ก็ถูกใจกับชื่อ Dimension Six มากๆแต่พนักงานคนที่เหลือต่างค้านกันหัวชนฝาเพราะว่าชื่อมันยาวเกินไป จนคืนวันสุดท้าย Jeff Johnson ได้รีบโทรหาออฟฟิซ Portland เพื่อแจ้งชื่อที่เขาอ้างว่าเขาฝันถึง นั่นก็คือ “Nike” หรือเทพธิดากรีกแห่งชัยชนะซึ่ง Phil Knight เคยมีประสบการณ์ชื่นชอบอยู่แล้วและยังตรงกับปรัชญาบ้าคลั่งชัยชนะของเขาด้วย จนในที่สุด Phil Knight ก็ได้ตัดสินใจแบบลังเลว่าชื่อของแบรนด์รองเท้าใหม่ที่เป็นของ Blue Ribbon เองก็คือ “Nike”
  • Phil Knight เริ่มคิดระดมทุนอีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาได้รับความช่วยเหลือจากหัวหน้าเก่าที่ Price Waterhouse ในการออกหุ้นกู้พร้อมสิทธิแปลงเป็นหุ้นจำนวน 200,000 ดอลลาร์ซึ่งขายหมดภายในระยะเวลาอันสั้น
  • รองเท้าแบรนด์ Nike รุ่นแรกที่ผลิตจากโรงงาน Canada ล้มเหลวไม่เป็นท่าเนื่องจาก Phil Knight เอารองเท้าฟุตบอลไปขายเป็นรองเท้าอเมริกันฟุตบอลซึ่งทำให้รองเท้าเสียเร็ว
  • ความสัมพันธ์ระหว่าง Blue Ribbon กับ Nissho บริษัท Trading สัญชาติญี่ปุ่นก็แน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจาก Nissho จะช่วยให้เครดิตและเงินกู้ในการสั่งซื้อรองเท้าโดยแบ่งส่วนต่างกำไรกับดอกเบี้ยแล้ว (Phil Knight ทำสัญญาห้าม Nissho ขอซื้อหุ้นกับ Blue Ribbon อย่างเด็ดขาด) Nissho ยังได้ช่วยเชื่อมต่อ Blue Ribbon กับ Jonas Senter ชายผู้ที่ได้รับฉายา “Shoe Dog” หรือผู้ที่รักการสร้างสรรค์รองเท้าดุจชีวิต ซึ่ง Senter ได้ส่งมือเขวาของเขามาช่วย Blue Ribbon หาซีพพลายเออร์ผู้ผลิตรองเท้ารายอื่นที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง Phil Knight ก็ได้เดินทางไปกับทีมงานเพื่อตามหาซัพพลายเออร์นานกว่า 3 เดือนจนได้เลือกซัพพลายเออร์ที่เขาถูกใจที่สุดชื่อ Nippon Rubber ผู้สร้างความประทับใจให้กับ Phil Knight ด้วยการผลิตรองเท้าตัวอย่างตามแบบที่เขากำหนดให้เขาได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ซึ่ง Phil Knight ก็ตัดสินใจสั่งซื้อรองเท้า Nike ลอตใหม่หลายรุ่นทันที
  • หลังจากกลับจากญี่ปุ่น Phil Knight และ Bob Woodell ก็ได้นัดประชุมกับ Bill Bowerman เรื่องการไม่มีนวัตกรรมในวงการรองเท้ามานานแล้วหลายสิบปี หลังจบการประชุม โค้ช Bill Bowerman ก็กลับบ้านไปคิดทบทวนการสร้างรองเท้ารุ่นใหม่ที่ดีกว่าเดิม โดยเขาก็ได้ริเริ่มการสร้างฐานรองเท้าวิ่งใหม่ที่ได้รับแรงบรรดาลใจจากเครื่องทำวาฟเฟิลที่ต่อมาจะกลายมาเป็นนวัตกรรมครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงวงการรองเท้ากีฬาไปตลอดกาล

 

Phil Knight และ Bill Bowerman กับรองเท้า NIKE รุ่นแรกๆ (ขอบคุณภาพจาก Shelflife)

 

1972

  • Phil Knight เอารองเท้า Nike ลอตแรกไปเปิดตัวในงานอุปกรณ์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ หลังจากที่พวกเขาแกะกล่องรองเท้าที่พึ่งได้รับมาสดๆจาก Nippon Rubber พวกเขาก็ถึงกับตะลึงเพราะคุณภาพของรองเท้านั้นต่ำกว่าที่กำหนดไว้มาก แต่พอจบวัน พวกเขาก็ต้องตะลึงอีกครั้งเมื่อพวกเขาได้รับออเดอร์จำนวนมากจากบรรดาเซลส์ต่างๆที่ตัดสินใจซื้อเพราะความเชื่อมั่นใน Blue Ribbon
  • Kitami แห่ง Onitsuka ทราบข่าวอย่างรวดเร็วจึงได้เดินทางมาตรวจสอบกับ Phil Knight ซึ่งเขาก็อ้างว่าพวกเขาขายรองเท้า Nike เป็นทางเลือกเพื่อป้องกันความเสี่ยงหาก Onitsuka ตัดสินใจทำตามที่ขู่ไว้ว่าจะเลิกส่งรองเท้าให้ Blue Ribbon … ต่อมา Kitami ได้เดินทางไปที่ร้านใน LA ซึ่ง John Bork ดูแลอยู่ Bork ได้แอบซ่อนรองเท้า Nike ตามที่ Phil แจ้งไว้แต่สุดท้าย Kitami ก็ตรวจเจอรองเท้า Nike จำนวนมาก (หลังจากนั้นไม่นาน Bork ก็ลาออกไปทำงานกับ Onitsuka) ทำให้ Kitami กลับมาที่ Oregon อีกครั้งพร้อมกับทนายที่จบลงด้วยการตัดขาดสัญญาระหว่าง Onitsuka กับ Blue Ribbon พร้อมกับการขู่ฟ้องกันไปมา
  • Phil Knight นัดประชุมพนักงานทั้งหมดเพื่อแจ้งข่าวการยกเลิกสัญญาของ Onitsuka ซึ่งเบื้องต้นพนักงานแต่ละคนต่างพากันตระหนกและกังวลกันหมด แต่ Phil Knight ก็แก้สถานการณ์ได้อย่างดีด้วยการประกาศว่านับตั้งแต่วันนี้ Blue Ribbon จะหลุดพ้นจากการพึ่งพาและปัญหาของ Onitsuka เพื่อเอาพลังมาสร้างแบรนด์ใหม่ที่เป็นของตัวเอง พร้อมๆกับการคิดกลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์และการหาซัพพลายเออร์หลายๆรายเพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างกันจนทำให้ได้รองเท้าคุณภาพสูงที่สุด
  • เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในการแข่งขันกีฬา Olympics เมื่อมือปืนสวมหน้ากาก 8 คนก่อเหตุลักพาตัวและฆาตกรรมนักกีฬาชาวอิสราเอลกว่า 11 คนอย่างโหดเหี้ยม ซึ่ง Bill Bowerman ในฐานะโค้ชวิ่งของอเมริกาก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย เหตุการณ์นี้เปลี่ยนแปลงชีวิตของ Bill Bowerman เป็นอย่างมากและเขาก็ได้ตัดสินใจลาออกในที่สุด
  • กิจการของ Blue Ribbon ก็ดีต่อเนื่องอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากที่พวกเขาสามารถทำยอดขายได้ตามต้องการ พวกเขายังสามารถคว้าสัญญาให้ Illi Nastase หรือ Nasty นักกีฬาเทนนิสชื่อดังใช้รองเท้า Nike ได้สำเร็จ ด้วยค่าจ้างที่สูงมากถึง 10,000 ดอลลาร์ (Phil ได้รับข่าวก่อนว่า Nasty ใช้รองเท้า Nike แข่ง) ซึ่งต่อมา Nike ก็เริ่มเป็นที่นิยมของนักกีฬาต่างๆมากยิ่งขึ้น

1973

  • Blue Ribbon ได้ Steve Profontaine หรือ “Pre” นักวิ่งโอลิมปิกทีมชาติชาว Oregon มาเป็นนักกีฬาสปอนเซอร์คนที่สอง จากการแนะนำของ Bill Bowerman (Pre ก็ช็อคกับเหตุการณ์ลักพาตัวนักกีฬาไปนานหลายเดือนเหมือนกับโค้ช Bowerman) ซึ่ง Pre คนนี้ก็ได้สร้างการรับรู้ของแบรนด์ Nike ได้เป็นอย่างดี
  • Phil Knight เริ่มเห็นความสามารถในการดีไซน์รองเท้าของ Jeff Johnson จนทำให้เขาตัดสินใจสลับตำแหน่งและที่ทำงานของ Jeff Johnson กับ Bob Woodell ที่มีความเหมาะสมในการบริหารงานออฟฟิซฝั่ง East Coast มากกว่า ซึ่งทั้งสองคนก็ตัดสินใจยอมตามความคิดของ Phil ในที่สุด
  • ปี 1972 เป็นปีแรกที่ Blue Ribbon มีผลประกอบการขาดทุนกว่า 57,000 ดอลลาร์จากยอดขายที่สูงถึง 3.2 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ Phil Knight ได้รับการกดดันเป็นอย่างมากจากกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้จำนวน 30 คน … ถึงแม้ว่าตลาดรองเท้าวิ่งจะเติบโตอย่างรวดเร็วขนาดที่ไม่ว่า Adidas หรือ Pume ก็มีปัญหาสินค้าไม่เพียงพอไม่ต่างกับ Blue Ribbon แต่ปัญหารุนแรงของ Blue Ribbon ก็ยังคงเป็นเรื่องเดิมๆนั่นก็คือ “สภาพคล่อง” ที่กดดันให้ Blue Ribbon ต้องเร่งขายรองเท้า Nike อย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้ Phil Knight เริ่มกลยุทธ์การทำสัญญาสั่งซื้อรองเท้าล่วงหน้ากับผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ด้วยราคาลดพิเศษซึ่งช่วงแรกๆก็ไม่มีคนสนใจ แต่ด้วยเสน่ห์ของรองเท้า Nike รุ่นใหม่ๆที่ออกแบบมาได้ตรงใจนักวิ่งก็ทำให้ผู้จัดจำหน่ายเริ่มตกลงเข้าร่วมโปรแกรมนี้
  • และแล้วการฟ้องร้องของ Onitsuka กับ Blue Ribbon ก็ได้เริ่มต้นขึ้นพร้อมๆกับลูกชายคนที่ 2 ของ Phil และ Penny Knight ชื่อ Travis … ความมั่นคงของครอบครัว Knight และ Blue Ribbon เริ่มสั่นคลอนอีกครั้ง

1974

  • การฟ้องศาลเริ่มต้นขึ้น โดยทีม Blue Ribbon นำโดย Phil Knight และทนายลูกพี่ลูกน้องของเขา (ที่ฟ้องความให้ในราคาพิเศษ) ยอมรับว่าพวกเขาแอบล่วงลับข้อมูลของ Onitsuka จริงจนพบว่า Kitami กำลังเตรียมยกเลิกสัญญากับ Blue Ribbon และนำพยานเอกอย่างผู้ช่วยของ Kitami ที่ออกมายืนยัน แถม Blue Ribbon ยังเอาผู้เชี่ยวชาญมายืนยันว่ารองเท้า Nike ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นั้นไม่ได้ก็อปปี้รองเท้า Tiger แต่อย่างใดแถมยังมีคุณสมบัติที่ดีกว่ามาก (สะท้อนถึงยอดขายที่กำลังจะแซงหน้า Onitsuka แล้วโดยเฉพาะรองเท้าฐานวาฟเฟิลที่ Bill Bowerman คิดค้นขึ้น) ส่วนทีม Onitsuka ก็นำโดย Kitami ที่อ้างว่า Blue Ribbon เป็นผู้ทำลายสัญญาเองทั้งหมด … ในที่สุดศาลก็ตัดสินให้ Blue Ribbon ชนะหลังจากมองเห็นว่าเรื่องราวในมุมของ Blue Ribbon น่าเชื่อถือกว่า (เทียบกับ Kitami ที่พูดอังกฤษได้แต่กลับให้การเป็นภาษาญี่ปุ่น) และทั้งสองบริษัทก็ตกลงเงินชดเชยกัน 400,000 ดอลลาร์ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นค่าทนาย อีกครึ่งหนึ่งเป็นเงินหมุนก้อนใหม่ให้กับ Blue Ribbon
  • หลังจบคดี Blue Ribbon ยังได้ Rob Strasser ทนายบริษัทคนแรกซึ่งเป็นทนายผู้ช่วยของบริษัทของญาติของ Phil Knight เอง … ก่อนหน้านี้ Phil Knight ก็สามารถเกณฑ์ Delbert J. Hayes นักบัญชีหัวหน้าเก่าของเขาที่ Pricewater House มาร่วมทีมได้ … บุคคลเหล่านี้ทิ้งงานดีๆมาอยู่เพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณของตัวเอง นี่มันยัคแรกเริ่มของ Startup ชัดๆ
  • หลังจากประธานาธิบดี Nixon ประกาศลอยตัวค่าเงิน ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นก็แปรปรวนอย่างรุนแรงจนทำให้ Phil Knight ตัดสินใจหาซัพพลายเออร์ในประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่หาอยู่นานก็ไม่ได้ซัพพลายเออร์ดีดีที่ยอมรับงานให้กับบริษัทที่ยังไม่ดังระดับโลก จนทำให้ Phil Knight ตัดสินใจเปิดโรงงานของตัวเองขึ้นที่ New England ในอาคารโรงงานเก่าๆโดยมอบหมายให้ Jeff Johnson ผู้ไม่รู้เรื่องการบริหารโรงงานเลยและพึ่งถูกย้ายมาอยู่ที่ Oregon ไม่นานไปเป็นผู้จัดการโรงงาน ซึ่งสุดท้าย Jeff Johnson ก็ยอมที่จะไป … Blue Ribbon เกิดขึ้นได้จากผู้ที่มีความเชื่อและความรักต่อรองเท้าอย่างแท้จริง

1975

  • ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ Blue Ribbon เข้าขั้นวิกฤติสูงสุดหลังจากที่ Phil Knight ตัดสินใจเอาเงินส่วนหนึ่งจาก Nissho ไปลงทุนเปิดโรงงานแห่งใหม่ (โดยไม่บอก Nissho) ถึงแม้ว่า 8 ใน 10 ของออเดอร์ที่ Blue Ribbon สั่งผลิตและสั่งซื้อแต่ละครั้งจะเป็นออเดอร์แบบจ่ายเงินล่วงหน้าแล้วก็ตาม
  • ปัญหาเริ่มต้นขึ้นจากการที่ Blue Ribbon หมุนเงินไม่ทันจ่ายให้กับเจ้าหนี้รายต่างๆ เริ่มตั้งแต่ Nissho ทำให้ Blue Ribbon ต้องรวบรวมเงินจากทุกสาขาและโรงงานมารวมกันเพื่อใช้หนี้ 1 ล้านดอลลาร์ให้กับ Nissho ที่ Phil Knight ให้ความสำคัญสูงสุด จากนั้นไม่นานธนาคารแห่งที่สองที่ให้บริการเครดิตกับ Blue Ribbon ตัดสินใจถอนการสนับสนุนแถมยังดำเนินการขู่ฟ้องกับ FBI ว่า Blue Ribbon อาจมีการทุจริตเกิดขึ้น ส่งผลให้ Blue Ribbon ต้องไปกู้เงินมาจ่ายให้กับแรงงานและเกิดการจ่ายเงินเจ้าหนี้รายรองๆช้า (จนเจ้าหนี้ 2 รายบินมาที่ Oregon ซึ่ง Blue Ribbon ก็ทำทุกวิถีทางไม่ให้เจ้าหนี้ 2 รายเจอหน้ากันเพื่อไม่ให้เรื่องราวดูเลวร้ายกว่าเดิม)
  • Ito เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Nissho ที่เริ่มเข้ามารับหน้าที่บริหารแอคเคาท์ Blue Ribbon หลังจากที่ยอดขายเริ่มโตหลายล้านดอลลาร์ตัดสินใจตรวจสอบบัญชีของ Blue Ribbon ใหม่ ซึ่งสุดท้ายเขาก็พบว่าปัญหาด้านเครดิตของ Blue Ribbon ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปิดโรงงานแต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจาก Sumeragi ผู้รับผิดชอบคนก่อนหน้าที่เป็นลูกน้องของเขาตัดสินใจขึ้นเงินของ Blue Ribbon ช้าเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องโดย Sumeragi ผู้ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับทีมงาน Blue Ribbon บอกว่าเขาทำไปเพราะเขาเห็นว่า Blue Ribbon คือลูกรักของเขา … Ito ตัดสินใจดูแล Blue Ribbon ต่อไปโดยเขายอมจ่ายเงินที่ Blue Ribbon ติดหนี้ธนาคารให้ทั้งหมดและเจรจาแกมขู่ให้ธนาคารถอนเรื่อง FBI ออกไป … Blue Ribbon มีผู้ช่วยชีวิตเพิ่มอีกคนแล้ว
  • หลังจากตามหาธนาคารแห่งใหม่อยู่ซักพัก Blue Ribbon ก็ได้ธนาคารแห่งใหม่
  • ข่าวเศร้าส่งท้ายปี เมื่อ Pre นักวิ่งขวัญใจชาว Oregon ที่มี Nike สปอนเซอร์เกิดเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชน ข่าวนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อจิตใจของ Phil Knight และ Bill Bowerman รวมถึงพนักงานของ Blue Ribbon

1976

  • Phil Knight นัดประชุมปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เริ่มจากกลยุทธ์ทางการเงินที่เขายืนยันว่าจะไม่เปิดขายหุ้นแก่สาธารณะชนเป็นอันขาด (หลังจากเข็ดตอนโดนผู้ถือหุ้นกู้รุมด่า) และสุดท้ายได้หาช่องทางการกู้เงินผ่านธนาคารแห่งใหม่และจากองค์กรรัฐที่กำลังสนับสนุนธุรกิจเกิดใหม่ … Bill Bowerman ตัดสินใจขายหุ้นส่วนใหญ่คืนให้กับ Phil Knight (ต้องทยอยจ่าย 5 ปี) หลังจากเขาตัดสินใจเกษียณอย่างถาวรทั้งจากข่าวร้ายหลายๆด้าน
  • Phil Knight เริ่มทำตลาดรองเท้าทั่วไป หลังจากรองเท้าพื้นวาฟเฟิลสีแดงเขียวฉูดฉาดที่ดีไซน์โดย Bill Bowerman เริ่มติดตลาด จุดพลิกเกมคือการออกรองเท้าสีน้ำเงินที่เข้าคู่กับกางเกงยีนส์ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
  • แบรนด์ Nike เริ่มติดตลาดอย่างมาก จน Phil Knight ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Nike Inc.
  • Phil Knight เริ่มหาซัพพลายเออร์โรงงานรองเท้าในไต้หวันแทนโรงงานรองเท้าที่ญี่ปุ่นที่ค่าเงินเยนแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เขาได้เดินทางไปเยี่ยมโรงงานหลายสิบรายพร้อมกับ Jim Gorman หนึ่งในพนักงานฝีมือดีของ Nike และสุดท้ายเขาก็ได้ชายชาวไต้หวันเป็นผู้ประสานงานระหว่างโรงงานผลิตต่างๆให้
  • Phil Knight จัดตั้งคณะประชุมที่ Jeff Johnson ตั้งชื่อไว้กวนๆว่า “Buttface” ซึ่งที่ประชุมแห่งนี้คือการรวมตัวของทีมหลักของ Nike ได้แก่ Phil Knight ซีอีโอ, Bob Woodell สาย operation, Jeff Johnson สาย sales และโรงงาน, Delbert J. Hayes สายบัญชีและ Rob Strasser สายกฎหมาย ซึ่งพวกเขาจะนัดรวมกันในบ้านพักร้อนเพื่อพูดคุยกันแบบจัดหนักเกี่ยวกับกลยุทธ์การเดินต่อของ Nike โดยที่ประชุมแห่งนี้ สมาชิกทุกคนจะเท่าเทียมกันหมด ใช้คำหยาบคาย อยากด่า อยากพูดอะไรก็ได้แต่สุดท้ายทุกคนจะจับมือกันร่วมกันทำงานต่อ

1977

  • Frank Ruby ได้เดินทางมานำเสนอนวัตกรรมรองเท้ากีฬารุ่นใหม่ที่ติดถุงอากาศเข้าไปที่บริเวณพื้นรองเท้าที่ Nike หลังจากเขาถูก Adidas ปฏิเสธ … ตอนแรก Phil Knight ก็มีความรู้สึกไม่เชื่อถือ แต่พอเขาและ Jeff Johhnson ได้เอารองเท้าไปลองวิ่งดู Phil Knight ก็รีบเซ็นต์สัญญาซื้อลิขสิทธิ์การผลิตรองเท้ารุ่น Air ทันที
  • ช่วง 2-3 ปีล่าสุด Nike สามารถคว้านักกีฬาระดับโลกหลายคนมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ (ถึงแม้จะผิดหวังจากปีที่แล้วที่นักวิ่งโอลิมปิกทีมชาติตัดสินใจไม่ใส่รองเท้า Nike วิ่งในสนามจริง) รวมถึงการได้ดารานักแสดงหลายคนมาใส่รองเท้า Nike ด้วย กรณีโดดเด่นมากคือตอนที่ Nike สามารถให้ Farrah Fawcett ใส่รองเท้าผู้หญิงรุ่น Senorita Cortezes ที่ต่อมาสร้างยอดขายถล่มทลายจนหมดขาดตลาดภายในเที่ยงวันถัดไป
  • Nike ยังได้ออกโฆษณา “There is no finish line.” ที่ได้รับการชื่นชมอย่างมากในสมัยที่โฆษณาส่วนใหญ่เป็นเพียงการโฆษณาผลิตภัณฑ์ไม่ใช่จิตวิญญาณของแบรนด์เหมือนที่ Nike ทำ ถึงกระนั้น Phil Knight ก็ยังไม่ให้ความสำคัญกับโฆษณาอยู่ดี
  • ยอดขายของ Nike ปี 1977 ทะยานขึ้นไปอยู่ในระดับ 70 ล้านดอลลาร์อย่างฉุดไม่อยู่ พร้อมๆกับปัญหาสภาพคล่องที่ยังแก้ไม่หาย (90% ของสินทรัพย์คือหนี้สิน) … Phil Knigh ได้ปรึกษา Chuck Robinson นักธุรกิจระดับท็อปของประเทศ (ที่ต่อมาได้เข้ามาเป็นบอร์ด) ได้แนะนำให้ Phil Knight รีบเอา Nike ไปขายในตลาดหุ้นด้วยความจำเป็น ซึ่งค้านกับความเชื่อของ Phil Knight และทีมพนักงานหลายคนมาก
  • แต่แล้วปัญหาครั้งรุนแรงก็เกิดขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ผลิตรองเท้าในสหรัฐนำโดย Converse ได้ทำการล็อบบี้รัฐบาลเรื่องกฎ American Selling Price (ASP) ได้สำเร็จ … ASP กำหนดให้ผู้นำเข้ารองเท้าที่มีผู้ผลิตในประเทศผลิตได้เหมือนกันต้องเสียภาษีมากขึ้นกว่าเดิมมาก และกฎนี้ทำให้ S. Customs Service ได้ประกาศตามเก็บภาษีย้อนหลัง 25 ล้าน ซึ่งแน่นอนว่า Nike ไม่มีทางเลือกนอกจากไม่สู้ก็ตายจากไป
  • ขณะเดียวกัน ปัญหาครอบครัวของ Phil Knight ก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อ Matthew ลูกชายคนโตเริ่มไม่พอใจ Phil Knight ที่มัวแต่ทำงานไม่ยอมกลับบ้านและเกิดปัญหาระหองระแหงกันตลอดเวลา

1978

  • Phil Knight และ Rob Strasser ได้ว่าจ้างนักล็อบบี้ไปทำหน้าที่เจรจาต่อรองเรื่อง American Selling Price กับทางเจ้าหน้าที่รัฐในวอชิงตัน
  • ยอดขายของ Nike ทะลุ 140 ล้านดอลลาร์มาพร้อมกับการยอมรับจากตลาดรองเท้าวิ่งด้าน “คุณภาพ” ที่สูงกว่าคู่แข่งทุกราย
  • Phil Knight เริ่มวางแผนกลยุทธ์การเปิดตัวสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายเพื่อให้แบรนด์ Nike เข้าถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น (Adidas ขณะนั้นมียอดขายเครื่องแต่งกายมากกว่ารองเท้าด้วยซ้ำ) โดยตอนแรกเขาได้มอบหมายให้นักบัญชีอายุอายุน้อยเป็นคนรับผิดชอบแต่ผลงานก็เละไม่เป็นท่าเพราะนักบัญชีคนนั้นแต่งตัวไม่เป็นเอาซะเลย เขาจึงมอบหมายให้ Woodell รับผิดชอบและแน่นอนว่าสินค้าเสื้อผ้าแบรนด์ Nike ก็ได้ถือกำเนิดอย่างเต็มภาคภูมิ
  • Phil Knight มอบหมายให้ Rob Strasser เป็นผู้จัดการด้านการตลาดแทนงานกฎหมายเดิมหลังจากมองเห็นแววในการประชุม Buttface แต่ละครั้ง ผลงานแรกของ Rob Strasser คือรองเท้า Tailwind ที่เป็นรองเท้าใส่ถุงอากาศรุ่นแรกของ Nike ที่ทำยอดขายได้อย่างถล่มทลาย แต่ต่อมา Nike ก็ต้องเรียกคืนรองเท้า Tailwind ทั้งหมดเนื่องจากรองเท้านั้นฉีกขาดง่ายเกินไป … เหตุการณ์นี้กับคดีฟ้องร้องที่นักล็อบบี้ทำการเจรจาได้ไม่สำเร็จทำให้สถานการณ์ทำงานของ Nike นั้นหดหู่อย่างสุดๆ

1979

  • Phil Knight ตัดสินใจเดินทางไปวอชิงตันด้วยตัวเอง โดยเขาได้ขอนัดเจรจากับเจ้าหน่าที่ S. Custom ผู้ส่งคำฟ้องซึ่งไม่เป็นผลสำเร็จ ทำให้เขาเริ่มทำการออกล็อบบี้วุฒิสมาชิกที่มาจาก Oregon สองคนให้ช่วยเจรจากับทาง U.S. Custom ซึ่งทั้งสองคนก็ให้ความช่วยเหลืออย่างดีจน Nike เริ่มมองเห็นทางสว่าง
  • ด้วยความแปรปรวนทางค่าเงิน ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นและสถาณการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน Nike กำลังเริ่มมีแผนขยับขยายการผลิตและตลาดออกจากญี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวันไปยังประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่ซึ่งมีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนซึ่งหมายถึงรองเท้า 2 พันล้านข้าง โดยได้รับความช่วยเหลือจาก David Chang ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำตลาดในเมืองจีนจากคำแนะนำของ Chuck Robinson นักธุรกิจมือเก๋าเจ้าเก่าที่ดำรงตำแหน่งเป็นบอร์ดของ Nike ด้วย

 

Phil Knight ในวัยหนุ่ม (ขอบคุณภาพจาก Nosey Folk)

 

1980

  • ในที่สุดด้วยการกดดันจากทางวุฒิสมาชิกพร้อมด้วยกลยุทธ์ต่างๆของ Nike ทั้งการโฆษณาที่พูดถึงนักวิ่งที่โดนรัฐบาลชั่วร้ายหลังแกและการตั้งฐานผลิตรองเท้าในอเมริกาเพื่อขายรองเท้าในราคาถูก S. Custom ก็ได้เริ่มทำการหาข้อตกลงใหม่กับ Nike ซึ่งหลังจากการเจรจาหลาบรอบ Phil Knight ก็ยอมจ่ายเงิน 9 ล้านดอลลาร์เพื่อให้เรื่องจบ
  • David Chang พา Phil Knight และ Nike บุกตลาดจีนผ่านการติดต่อทางรัฐบาลจีนซึ่งยินดีพา Phil Knight และสหายเดินทางไปเที่ยวและพบกับโรงงานรองเท้าหลายราย (ซึ่งส่วนใหญ่ซกมกมากๆ) พร้อมกับการเข้าพบกับทั้งผู้แทนนักกีฬาที่รับเงินสนับสนุนจาก Nike เป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกและกระทรวงการค้าระหว่างประเทศที่ยอมให้ Nike เปิดโรงงานและขายรองเท้าในจีนได้ … การบุกตลาดจีนนี้ส่งผลต่อการเติบโตของ Nike ในเวลาต่อมาอย่างมากทั้งทางด้านยอดขายที่เป็นรองเพียงแค่ในอเมริกาและการเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ Nike
  • หลังการจบลงของการฟ้องร้อง Nike ได้เตรียมตัวเปิดขายหุ้น IPO ตามคำแนะนำของ Chuck Robinson เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านสภาพคล่องของบริษัท โดยเขาได้คลายความกังวลเรื่องการสูญเสียพลังอำนาจการตัดสินใจให้กับผู้ถือหุ้นด้วยการออกหุ้นที่จำกัดอำนาจของผู้ถือหุ้นสาธารณะ … Phil Knight ยังคงถือหุ้นสูงถึง 46%
  • หุ้น IPO เปิดขายในราคา 22 ดอลลาร์ต่อหุ้น … Bill Bowerman มีหุ้นมูลค่า 9 ล้านดอลลาร์ … Johnson, Woodell, Hayes และ Strasser มีหุ้นมูลค่าคนละ 6 ล้านดอลลาร์
  • Phil Knight ถือหุ้นรวมมูลค่า 178 ล้านดอลลาร์

NIGHT

  • Phil Knight ถอนตัวออกจากตำแหน่ง CEO ของ Nike ในปี 2006 หลังเริ่มต้นธุรกิจมานานกว่า 42 ปี ในช่วงเวลาที่ Nike มียอดขายสูงถึง 16 พันล้านดอลลาร์ (Adidas ทำยอดขายได้ 10 ล้านดอลลาร์) พร้อมด้วยจำนวนสาขาของร้านขายรองเท้าและเสื้อผ้ารวมกว่า 5000 แห่งทั่วโลกและจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นคน
  • Nike ได้เซ็นต์สัญญาสนับสนุนนักกีฬาดังมากมายทั้ง Michael Jordan, Tiger Wood, Andre Agassi และ LeBron James ซึ่งนักกีฬาและโค้ชชื่อดังเหล่านี้ก็กลายมาเป็นเพื่อนสนิทของ Phil Knight ที่คอยให้กำลังใจกันและกันเสม อมา
  • ปมเรื่องความภาคภูมิใจของพ่อที่ค้านการทำธุรกิจของ Phil Knight ตั้งแต่ต้นได้สลายไปจนหมดสิ้น หลังจากที่ Phil Knight ได้พาพ่อของเขาเดินทางไปชมการแข่งขันกีฬารอบโลกและในทุกๆที่พ่อของเขาก็จะเห็นสัญลักษณ์ Swoosh ทั้งในรองเท้าและเครื่องกีฬาอื่นๆของเหล่านักกีฬา
  • Matthew Knight ลูกชายคนโตเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะดำน้ำ ความสูญเสียครั้งนี้คือความสูญเสียที่รุนแรงที่สุดของครอบครัว Knight โดยเฉพาะตัว Phil Knight เองที่เขายังไม่สามารถปรับความเข้าใจกับ Matthew ได้
  • Bill Bowerman เสียชีวิตในปี 1999 ในบ้านของเขาและภรรยา
  • Rob Strasser เสียชีวิตในปี 1993 จากโลกหัวใจ ก่อนหน้านั้นเขาได้สร้างปรากฎการณ์ Michael Jordan คู่กับรองเท้า Nike Air ได้อย่างเปรี้ยงปร้างก่อนที่เขาและ Phil Knight ได้ทะเลาะกันจน Strasser ตัดสินใจลาออกไปทำงานให้กับ Adidas ซึ่งทำให้ Phil Knight ไม่พอใจและไม่ยอมให้อภัยกันจนถึงวาระสุดท้าย ถึงกระนั้น Phil Knight ก็ได้จ้างลูกสาวของ Strasser มาทำงานให้กับ Nike ในเวลาต่อมา
  • Delbert J. Hayes เกษียณอายุไปอยู่ในคฤหาสน์ในฟาร์มที่เต็มไปด้วยรถแทร็คเตอร์ไถดินที่เป็นของสะสมที่เขาโปรดปรานที่สุด
  • Bob Woodell เกษียณอายุไปรับตำแหน่งผู้บริหารท่าเรือ Port of Portland และโรงเบียร์ขนาดเล็กที่เขาคลั่งใคล้ ใครจะไปคิดว่าคนที่พิการเดินไม่ได้กลับกลายมาเป็นผู้ที่คอยควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าที่ซับซ้อนสุดๆได้อย่างสบายๆ
  • Jeff Johnson พนักงานคนแรกของ Nike เกษียณอายุไปสร้างคฤหาสน์ขนาดใหญ่พร้อมด้วยห้องสมุดส่วนตัวที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปใช้บริการได้
  • Nike และ Nissho เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมาโดยตลอด ซึ่ง Phil Knight ก็มักได้รับคำแนะนำดีๆจาก Masuro Hayami อดีต CEO ของ Nissho อย่างสม่ำเสมอ
  • วิกฤติรุนแรงที่สุดของ Nike คือข่าว “โรงงานนรก” ในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้รับจ้างผลิตให้กับ Nike ซึ่งข่าวเหล่านี้สร้างความโมโหให้กับ Phil Knight อย่างสุดๆเพราะเขามองว่า Nike ได้ทำการพัฒนาโรงงานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องแล้วและในหลายๆกรณี Nike ก็ไม่สามารถช่วยเหลือเราแรงงานได้ (Nike เคยคิดจะขึ้นเงินเดือนแรงงานในประเทศหนึ่งแต่ถูกรัฐบาลเรียกไปคุยว่า Nike กำลังจะสร้างความโกลาหลให้กับระบบเศรษฐกิจถ้า Nike ขึ้นค่าแรงให้กับแรงงานจะส่งผลให้แรงงานในโรงงานรองเท้ามีรายได้สูงกว่าหมอด้วยซ้ำ) … ในที่สุด Nike ก็พลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการเดินหน้าปรับปรุงโรงงานผู้ผลิตอย่างจริงจังมากขึ้นจนได้รับการยกย่องจาก UN ในเวลาต่อมา … Nike ยังได้สร้างแคมเปญ the Girl Effect ที่คอยพัฒนาผู้หญิงในประเทศด้อยพัฒนาต่างๆทั้งด้านการศึกษา ความปลอดภัยและการพัฒนาอาชีพ
  • Phil และ Penelope Knight ได้ตั้งเป้าการเป็นผู้บริจาคเงินเพื่องานการกุศลปีละกว่า 100 ล้านดอลลาร์และหากพวกเขาเสียชีวิตลง เงินส่วนใหญ่ก็จะถูกบริจาคด้วยเช่นกัน
  • ปิดท้าย Phil Knight อยากบอกกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่า “จงทำในสิ่งที่ตัวเองรัก (หากเจอความลำบากจะได้ทนได้) และจงอย่าหยุด (แต่ควรรู้ว่าควรยอมแพ้จากธุรกิจหนึ่งเพื่อเริ่มธุรกิจใหม่เมื่อไหร่) ” เขายังเชื่อว่า “โชค” หรือสิ่งที่คนอื่นอาจจะเรียกว่า “เต๋า”, “บุญ” หรือ “พระเจ้า” นั้นมีผลกับทุกการกระทำอยู่เสมอ (เชื่อหรือไม่ รองเท้าที่เก่าแก่ที่สุดในโลกถูกค้นพบใน Oregon ในปี 1938 ซึ่งเป็นปีเกิดของ Phil Knight)

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*