News Ticker

[สรุปหนังสือ] How to Avoid a Climate Disaster : The Solutions We Have and the Breakthroughs We Need

 

 

[สรุปหนังสือ] How to Avoid a Climate Disaster : The Solutions We Have and the Breakthroughs We Need (2021)

by Bill Gates

 

“We need to accomplish something gigantic we have never done before, much faster than we have ever done anything similar.”

 

51 พันล้านตัน คือ ปริมาณ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่มนุษย์ปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในแต่ละปีผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวันของพวกเราและทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “climate change” นั้นเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆในทุกๆวัน

หากเปรียบโลกเป็นอ่างอาบน้ำที่ภัยพิบัติทางสภาพอากาศจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำทะลักล้นออกมาจากอ่าง ความพยายามในการชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ช้าลงจึงไม่ใช่ทางออก แต่มนุษย์จะต้องหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดให้เหลือ “ศูนย์” อย่างรวดเร็วที่สุด ก่อนที่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในชั้นบรรยากาศจะมากเกินจนไม่อาจควบคุมความเสียหายได้อีกต่อไป

How to Avoid a Climate Disaster คือ หนังสือเล่มล่าสุดของ Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft และ Bill & Melinda Gates Foundation ที่ทุ่มเทเวลานับทศวรรษในการทำความเข้าใจกลไกของปัญหา climate change ในโลกยุคปัจจุบันและแนวทางในการป้องกันวิกฤติครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นผ่านความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและนโยบายที่เต็มไปด้วยความท้าทายแต่ก็ยังสามารถทำได้ทันหากผู้นำทุกคนบนโลกใบนี้ร่วมมือกัน

หนังสือเล่มนี้เหมาะแก่ผู้ที่มีความสนใจในศาสตร์ที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคตและต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกของเรา ขอเชิญทุกท่านอ่านสรุปหนังสือ How to Avoid a Climate Disaster เล่มนี้กันได้เลยครับ

 

ผู้เขียน Bill Gates (source: geek wire)

 


 

1 | Why Zero?

สาเหตุที่ทำให้ “ก๊าซเรือนกระจก” อย่าง carbon dioxide, nitrous oxide หรือ methane นั้นกลายมาเป็นตัวร้ายประจำวิกฤติ climate change นั้นเกิดขึ้นจากคุณสมบัติของก๊าซเหล่านั้นบนชั้นบรรยากาศของโลกที่ทำตัวเป็นเหมือน “เรือนกระจก” ที่ปล่อยให้พลังงานแสงจากดวงอาทิตย์ผ่านเข้าไปยังพื้นโลกได้แต่ดันกักเก็บพลังงานความร้อนบางส่วนที่สะท้อนคืนกลับมาไม่ให้หลุดออกไปยังนอกโลกได้ [ซึ่งเกิดจากการที่ความยาวคลื่นของพลังงานความร้อนที่รอยตัวจากพื้นโลกนั้นอยู่ในระดับที่พอเหมาะและทำให้โมเลกุลของก๊าซเรือนกระจกสั่นจนเกิดความร้อนเมื่อถูกกระทบ] ทั้งนี้ การที่ก๊าซเรือนกระจกมีคุณสมบัติดังกล่าวนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้โลกอบอุ่นและมีสิ่งมีชีวิตอาศัยได้อย่างอุดมสมบูรณ์ดั่งเช่นปัจจุบัน แต่ก๊าซเรือนกระจกที่เริ่มมีมากจนเกินไปตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นเริ่มทำให้โลกอันแสนอบอุ่นของเราร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินไปและก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้นก็สามารถค้างอยู่บนชั้นบรรยากาศโลกนับพันนับหมื่นปีได้หากไม่มีการจัดการอะไร

Bill Gate และทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ให้ความรู้แก่เขาประมาณการว่าโลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 1.5 ถึง 3 องศาเซลเซียสในกลางศตวรรษที่ 21 และเพิ่มขึ้น 4 ถึง 8 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 18 โลกก็มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นแล้วอย่างน้อย 1 เซลเซียส ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยนั้นสามารถสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงรุนแรงกว่าที่คนทั่วไปจะคาดถึงมากมาย อาทิ

  • การทำให้อากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆจนทำให้อุณหภูมิบางวันอาจสูงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
  • การเกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศที่นำมาสู่ภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้น เช่น พายุ ภัยแล้งและน้ำท่วม
  • การเพิ่มโอกาสการเกิดไฟป่าจากต้นไม้แห้งที่กลายมาเป็นเชื้อฟืนกับอากาศที่ร้อนขึ้น
  • การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลจากการขยายตัวของน้ำและการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก
  • การเพาะปลูกที่ยากลำบากขึ้นของพืชพรรณที่ไม่สามารถทนความร้อนได้
  • การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากจากความร้อนทั้งบนบกและในน้ำ
  • การขาดแคลนอาหารจากผลิตภาพทางการเกษตรและภัยพิบัติ
  • การเกิดโรคระบาดใหม่จากการย้ายถิ่นฐานของพาหะ เช่น ยุง

โดยถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถคาดคะเนถึงความร้ายแรงของความเสียหายจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างชัดเจน แต่พวกเราก็คงพบเห็นปัญหาเหล่านั้นตามข่าวรอบโลกมากขึ้นเรื่อยๆอยู่แล้ว อาทิ พายุเฮอริเคน Maria ที่ซัดถล่มประเทศ Puerto Rico จนสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานอย่างรุนแรง ไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของรัฐ California ในปี 2020 หรือ ภัยแล้งในซีเรียระหว่างปี 2007 ถึงปี 2010 ที่นำมาสู่การอพยพครั้งใหญ่ของประชากรกว่า 1.5 ล้านคน

หนทางในการบรรเทาและแก้ไขสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากวิกฤติ climate change นี้มีทางออกเดียวคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์โดยอาศัยการรักษาสมดุล (net zero emission) ระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดกับการดึงก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้นกลับลงมาจากชั้นบรรยากาศ ดั่งเช่นพืชที่คอยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้นไว้บนพื้นโลกมาโดยตลอด

 

วิกฤติไฟป่าในรัฐ California ปี 2020 (source: CNBC)

 


 

2 | This Will Be Hard

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปี 2020 ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกชะลอตัวและหยุดชะงักลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกนั้นลดลงจากปีก่อนหน้าเพียงแค่ประมาณ 5% เท่านั้น !! ถึงแม้ว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์นั้นมีความเป็นไปได้จริง แต่การสร้าง net zero emission นั้นก็ถือเป็นภารกิจระดับโลกที่ต้องเผชิญกับความท้าทายสุดหินมากมายที่เกิดขึ้นจากความเป็นจริงในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

  • Fossil fuels are like water : เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติในการสร้างเผาไหม้เพื่อสร้างพลังงานความร้อนอันมหาศาลพร้อมกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่ชั้นบรรยากาศโลกนั้นคือแหล่งพลังงานที่มี “ราคาถูกมาก” เมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานอื่นๆ [น้ำมันหนึ่งลิตรที่หลายคนบ่นว่าแพงนั้นจริงๆแล้วมีต้นทุนที่ถูกกว่าน้ำอัดลมหนึ่งลิตรซะอีก] ดังนั้น การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน (renewable energy) ที่มีราคาแพงกว่าและยังต้องลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ เช่น เครื่องยนต์ แบตเตอรี่และระบบการจ่ายไฟฟ้า สำหรับพลังงานใหม่ๆเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ยากที่จะทำได้อย่างรวดเร็วและคุ้มค่า
  • It’s not just the rich world : พัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในปัจจุบันกำลังผลักดันให้ประชากรโลกจำนวนมากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ใช้พลังงานมากยิ่งขึ้นและปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมเหล่านั้นของพวกเขามากยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ความท้าทายของโลกจึงต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรโลกที่ยังยากจนจำนวนมากกับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศเหล่านั้น
  • History is not on our side : ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการค้นพบแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ๆนั้นต้องใช้เวลานานมากกว่าที่พลักงานเหล่านั้นจะเป็นที่ยอมรับ เช่น ถ่านหินที่ใช้เวลาถึง 60 ปีในการเป็นแหล่งพลังงานหลักกว่า 50% ของทั้งโลกในช่วงปี 1840 ถึงปี 1900 หรือ พลังงานนิวเคลียร์ที่ต้องใช้เวลา 27 ปีถึงจะกลายมาเป็นแหล่งพลังงาน 10% ของโลก ดังนั้น มนุษย์จะต้องหาทางเร่งการใช้งานพลังงานสะอาดให้รวดเร็วอย่างมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต
  • Coal plants are not like computer chips : แตกต่างจากพัฒนาการทางคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 2 เท่าในทุกๆ 2 ปี พัฒนาการด้านเทคโนโลยีพลังงานตามความเป็นจริงนั้นเป็นไปอย่าง “เชื่องช้า” กว่ามาก อาทิ สมรรถภาพการกินน้ำมันของเครื่องยนต์รถในยุคปัจจุบันนั้นดีกว่า Ford Model T รุ่นแรกในปี 1908 เพียงแค่ประมาณ 3 เท่าเพียงเท่านั้นเอง หรือ ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานของโซลาร์เซลล์นั้นพัฒนาขึ้นจาก 15% ในช่วงปี 1970 มาเป็นเพียงแค่ 25% ในปัจจุบันเท่านั้นเอง
  • Our laws and regulations are outdated : กฎหมายของประเทศแทบทุกประเทศทั่วโลกนั้นเป็นกฎหมายที่ล้าหลังและมีอำนาจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียงแค่ไม่กี่ % เท่านั้นเอง รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องยกเครื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ climate change ใหม่ทั้งหมดซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายแต่อย่างใด
  • There isn’t as much of a climate consensus as you might think : ถึงแม้ว่าผู้นำโลกจะแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าปัญหา climate change นั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความร่วมมือของผู้นำโลกอย่างแข็งขันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์เลยนั้นยังไม่เกิดขึ้น สนธิสัญญา Paris Agreement ของ 190 ประเทศนั้นมีขีดความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ประมาณ 12% ภายในปี 2030 เท่านั้นเอง

กล่าวโดยสรุป มนุษยชาติต้องร่วมมือกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างที่พวกเราไม่เคยร่วมกันทำมาก่อน ด้วยความเร็วที่มากกว่าพัฒนาการที่ใกล้เคียงกันที่เกิดขึ้นมาก่อนในอดีตเป็นอย่างมาก แต่พวกเราก็ยังมีความหวังและปัญหา climate change ยังมีทางออก

 

กลุ่มก๊าซพวยพุ่งจากโรงกลั่นน้ำมัน (source: reuters)

 


 

3 | Five Questions to Ask in Every Climate Conversation

หัวข้อการสนทนาและแนวทางในการแก้วิกฤติ climate change นั้นกลายมาเป็นประเด็นฮอตฮิตที่องค์กรและภาครัฐแทบทุกแห่งหยิบนำมาพูดกันอย่างทั่วหน้า แต่ Bill Gates ก็ได้ประสบกับตัวเองว่าคนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้เข้าใจถึงระดับความรุนแรงของปัญหาเหล่านั้นอย่างแท้จริงและสิ่งต่างๆที่คนพูดกันก็มักฟังดูดีกว่าความเป็นจริงไปมากหากผู้ฟังไม่มีความรู้ที่มากพอ ดังนั้น Bill Gates จึงแนะนำคำถาม 5 ข้อและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องที่พวกเราทุกคนต้องคิดถึงทุกครั้งเมื่อพูดถึงวิกฤติ climate change อันได้แก่

ข้อที่ 1. How much of the 51 billion tons are we talking about ? : หากคุณอ่านข่าวพบว่าบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งได้คิดค้นนวัตกรรมที่ทำให้เขาปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1 ล้านตันต่อปี คุณก็คงคิดว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงนั้นมันช่างเยอะจริงๆ แต่ 1 ล้านตันนั้นคิดเป็นเพียงแค่ 0.002% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดเท่านั้นเอง กองทุน Breakthrough Energy ของ Bill Gates จึงเลือกระดมทุนให้กับบริษัทที่หากประสบความสำเร็จจะต้องสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 500 ล้านตันต่อปีเป็นอย่างต่ำเท่านั้น ปัญหาก๊าซเรือนกระจกนั้นใหญ่กว่าที่คนทั่วไปคาดคิดไว้มากจริงๆ [จำนวน 51 พันล้านตัน คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สร้างผลเสียต่อโลกเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซ carbon dioxide จำนวน 51 พันล้านตัน อาทิ methane หนึ่งตันเทียบเท่ากับ carbon dioxide ถึง 28 ตันและ nitrous oxide หนึ่งตันเทียบเท่ากับ carbon dioxide ถึง 265 ตัน]

ข้อที่ 2. What’s your plan on cement ? : เมื่อพูดถึงก๊าซเรือนกระจก คุณก็คงนึกถึงเฉพาะการลดการใช้พลังงานอย่างไฟฟ้าและน้ำมันเป็นหลัก แต่จริงๆแล้ว ก๊าซเรือนกระจกนั้นเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด 5 ประเภทที่มนุษย์จะต้องช่วยกันแก้ไขด้วยกันทั้งสิ้น ตั้งแต่ การผลิตสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ (31%), การผลิตไฟฟ้า (27%), การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ (19%), การคมนาคม (16%) และการรักษาอุณหภูมิ (7%) ดังนั้น ถึงแม้ว่าการพัฒนาพลังงานทดแทนจะเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่มีผลมากที่สุดและสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมอื่นๆได้ อาทิ การใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดสำหรับขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์น้ำมัน แต่มนุษย์ก็ต้องตระหนักถึงปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากด้านพลังงานด้วย

ข้อที่ 3. How much power are we talking about ? : โลกของเราใช้พลักงงานไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 5 ล้านล้านวัตต์ในปัจจุบัน โดยหัวเมืองใหญ่อย่างโตเกียวแห่งเดียวใช้พลังงานโดยเฉลี่ยประมาณ 23,000 ล้านวัตต์ ส่วนบ้านหนึ่งหลังใช้พลังงานประมาณ 1,000 วัตต์ ดังนั้น การสรรหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่นั้นต้องคำนึงด้วยว่าแหล่งพลังงานนั้นสามารถทดแทนพลังงานไฟฟ้าแบบดั้งเดิมได้มากขนาดไหน

ข้อที่ 4. How much space do you need ? : การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมันและถ่านหินนั้นสามารถได้ปริมาณกำลังไฟฟ้าที่มากถึง 500 ถึง 10,000 วัตต์ต่อตารางเมตร ส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนนั้นต้องใช้พื้นที่ที่มากกว่ามาก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีกำลังเพียง 5 ถึง 20 วัตต์ต่อตารางเมตร หรือ พลังงานกังหันลมนั้นสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 1 ถึง 2 วัตต์ต่อตารางเมตร ดังนั้น การทดแทนพลังงานฟอสซิลต้องอย่าลืมคำนึงถึงพื้นที่ที่ต้องใช้ด้วยเสมอ

ข้อที่ 5. How much is this going to cost ? : การพัฒนาพลังงานทดแทนหรือวัสดุทดแทนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันนั้นมักมีต้นทุนที่สูงกว่าการใช้พลังงานหรือวัตถุดิบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากแทบทั้งสิ้น ดังนั้น นักนวัตกรรมและผู้ออกนโยบายทุกคนจะต้องเข้าใจถึง “green premium” หรือ ส่วนต่างของราคาที่ยอมจ่ายเพื่อพลังงานหรือวัตถุดิบที่สะอาดกว่าอยู่เสมอและหาทางลดส่วนต่างเหล่านั้นให้มากพอที่ทุกประเทศในโลกจะสามารถยอมจ่ายได้ นอกจากนั้น ความพยายามในการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เช่น เทคโนโลยี Direct Air Capture (DAC) ที่ดูดก๊าซ carbon dioxide ออกจากอากาศนั้นก็ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ว่าประเทศทุกประเทศจะยอมลงทุนเพื่อการนี้หรือไม่อีกด้วย โดย Bill Gates ประเมินคร่าวๆแล้วว่าหากเทคโนโลยี DAC ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพสูงสุด การดักจับ carbon dioxide ทั้งหมดนั้นต้องใช้เงินประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อตันหรือประมาณ 5.1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี [คิดเป็น 6% ของ GDP โลก] หากต้องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์เลยต่อปี ซึ่งก็ดูเป็นไปได้ยากและอาจไม่คุ้มเท่ากับแนวทางอื่นๆที่จะกล่าวถึงในบทถัดๆไป

 

Orca โครงการดักจับ carbon dioxide ในประเทศไอซ์แลนด์ (source: goodnewsnetwork)

 


 

4 | How We Plug In : 27 percent of 51 billion tons per year

ถึงแม้ว่ากิจกรรมการผลิตไฟฟ้านั้นจะมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 27% จาก 51 พันล้านตัน แต่การพัฒนาเทคโนโลยีและขีดความสามารถของพลังงานไฟฟ้าทดแทนนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการผลิตไฟฟ้าแบบดั้งเดิมแล้ว พลังงานไฟฟ้าก็กำลังเข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิลในกิจกรรมอื่นๆ เช่น การผลิตและการคมนาคม ของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย โดยปัจจุบัน ไฟฟ้ากว่า 36% ผลิตจากถ่านหิน, 23% จากก๊าซธรรมชาติ, 16% จากเขื่อนพลังงานน้ำ, 10% จากนิวเคลียร์และมีเพียง 11% เท่านั้นที่ผลิตจากพลังงานทดแทน

แน่นอนว่าอุปสรรคสำคัญของพลังงานทดแทนก็คือ green premium ที่ปัจจุบันราคาของพลังงานทดแทนจาก solar cell หรือ wind turbine (กังหันลมผลิตไฟฟ้า) ก็ยังสูงกว่าราคาของพลังงานจากฟอสซิลอยู่พอสมควร แต่การพัฒนาเทคโนโลยีของมนุษย์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็ทำให้ส่วนต่างราคานั้นลดลงไปมากแล้ว [ราคาของ solar cell ถูกลงเกือบ 10 เท่าระหว่างปี 2010 กับ 2020] โดยเฉพาะประเทศที่มีแสงอาทิตย์และลมแรงๆก็เริ่มที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนได้ในราคาที่สูสีกับพลังงานฟอสซิลแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกาที่ green premium นั้นเหลือเพียงแค่ 15% เท่านั้นเอง

แต่ความท้ายทายในการใช้งานพลังงานทดแทนทั้งสองชนิดนี้นั้นก็มีเรื่องที่นอกเหนือจากราคาอยู่มาก โดยเฉพาะจุดด้อยสำคัญอย่าง “ความไม่ต่อเนื่อง (intermittency)” ในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และลมที่มักเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาของวันและฤดูกาลจนทำให้เมืองส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถพึ่งพิงพลังงานทดแทนเหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่องตลอดปีและต้องอาศัยการพลังงานประเภทอื่นๆเป็นตัวช่วยชดเชย ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหานี้ที่หลายคนพูดถึงกันมากก็คือการใช้ “แบตเตอรี่” กักเก็บพลังงานในช่วงที่แดดออกแรงหรือลมแรงจัดๆมาใช้ในฤดูที่แดดน้อยหรือลมสงบแทน แต่การใช้งานแบตเตอรี่เหล่านั้นก็มีต้นทุนการผลิต กักเก็บและเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ตอนนี้มีราคาสูงกว่าพลังงานเหล่านั้นอีก 1-2 เท่าตัว นอกจากนั้น การใช้พลังงานทดแทนประเภทนี้ในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นมากยังต้องอาศัยการออกแบบระบบสายส่งพลังงานจากเมืองที่ผลิตได้มากไปสู่เมืองที่ผลิตได้น้อยใหม่ทั้งหมดอีกด้วย

Bill Gates ประเมินว่าหากสหรัฐอเมริกาเลือกที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นพลังงานหลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 ได้สำเร็จ ชาวอเมริกันจะต้องเร่งติดตั้งและใช้งาน solar cell กับ wind turbine ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 3 เท่าต่อเนื่องกันทุกปี !! ซึ่งแน่นอนว่าการที่เราจะหวังให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆสามารถดำเนินรอยตามอเมริกานั้นคงแทบจะเป็นไปไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่าโลกจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีก้าวกระโดดใหม่ๆซึ่ง Bill Gates เองก็เห็นความหวังในเทคโนโลยี ดังต่อไปนี้

  • Nuclear fission : โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบ fission ที่ใช้วิธีการแตกอะตอมของสารกัมมันตรังสี เช่น uranium นั้นถือเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก แต่พลังงานนิวเคลียร์กลับถูกท้าทายจากความกังวลที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมใน Chernobyl หรือ Fukushima จนทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆหยุดชะงักลงชั่วคร่าว อย่างไรก็ตาม Bill Gates ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามผลักดันการใช้พลังงานนิวเคลียร์นี้ผ่านบริษัท TerraPower ของเขาที่กำลังเตรียมสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ต้นแบบที่มีระบบการทำงานแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คน มีเทคโนโลยีที่ป้องกันไม่ให้เกิดการ overheat หลากหลายขั้นตอนและฝังอยู่ใต้ดินเพื่อความปลอดภัย พลังงานนิวเคลียร์แบบ fission นี้คืออีกหนทางรอดสำคัญของโลกอนาคต ซึ่งตอนนี้ประเทศฝรั่งเศสก็ได้เดินหน้านำไปแล้วด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ที่คิดเป็นกว่า 70% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ
  • Nuclear fusion : นวัตกรรมการผลิตพลังงานจากกระบวนการ fusion ของอะตอมอย่าง hydrogen ด้วยความร้อนสูงเพื่อปลดปล่อยพลังงานอันมหาศาลเหมือนดั่งที่กำลังเกิดขึ้นบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์นั้นคืออีกหนึ่งพลังงานสะอาดสำคัญที่มีจุดเด่นอยู่ที่เชื้อเพลิงอย่าง hydrogen ที่หาได้ง่าย โดย Bill Gates ประเมินว่าพลังงานชนิดนี้จะเริ่มมีบทบาทอย่างมากในอีก 10 ปีข้างหน้าโดยเริ่มจากโรงงานต้นแบบชื่อ ITER ในประเทศฝรั่งเศส
  • Offshore wind : การสร้าง wind turbine นอกชายฝั่งนั้นมีข้อดีอยู่มากทั้งจากเสถียรภาพของกำลังลมที่คงที่กว่าในแผ่นดินและความสะดวกในการจ่ายพลังงานจากการที่เมืองใหญ่ส่วนใหญ่นั้นอยู่ติดกับชายฝั่งอยู่แล้ว โดยข้อจำกัดสำคัญของแหล่งพลังงานชนิดนี้อยู่ที่นโยบายภาครัฐที่ยังไม่เอื้ออำนวยและแรงต้านจากประชาชนที่อาศัยริมทะเลที่อาจไม่พอใจกับการก่อสร้างกังหันลมในพื้นที่ของพวกเขา
  • Geothermal : แหล่งความร้อนภายใต้พื้นดินของโลกโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้เคียงกับภูเขาไฟที่มีความร้อนสูงนั้นถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานสะอาดชั้นดี แต่เทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันที่อาศัยการขุดหลุมเพื่อยิงน้ำเข้าไปในชั้นหินร้อนเหล่านั้นและปล่อยน้ำร้อนออกจากอีกด้านหนึ่งยังมีกำลังการผลิตที่ต่ำและใช้พื้นที่มหาศาลอยู่
  • Electricity storage : ปัจจุบันมีนักนวัตกรรมจำนานมากกำลังเร่งพัฒนาแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและราคาถูกด้วยการทดลองใช้งานวัสดุใหม่ๆมากมายอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน บริษัทหลายแห่งก็เริ่มคิดวิธีการแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องของการผลิตพลังงานทดแทนด้วยวิธีการใหม่ๆ อาทิ การใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีการผลิตได้มากในการขนย้ายน้ำหรือวัสดุต่างๆขึ้นที่สูงเพื่อปล่อยลงมาสร้างกระแสไฟฟ้าในช่วงที่ผลิตได้น้อย การนำเอาพลังงานไฟฟ้าตอนราคาถูกไปเพิ่มอุณหภูมิให้กับวัสดุอย่างสารละลายเกลือ (molten salt) ที่กักเก็บความร้อนได้นาน หรือ การกักเก็บ hydrogen ความดันสูงสำหรับใช้ใส่ในแบตเตอรี่ชนิด fuel cell เพื่อผลิตไฟฟ้าตามเวลาที่ต้องการ
  • Carbon capture : อุปกรณ์กักเก็บก๊าซเรือนกระจกตามโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหลักนั้นยังมีโอกาสในการพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้นได้อีกมากและยังมีโอกาสเชิงนโยบายให้การบังคับให้โรงงานต่างๆต้องติดตั้งเครื่องเหล่านั้นเพื่อตรวจจับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกไม่ให้ปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศอีกมหาศาล นอกจากนั้น เทคโนโลยีอย่าง DAC ที่กล่าวไปในบทก่อนหน้าก็ยังเติบโตได้อีกมากเช่นกัน

 

แบบ prototype ของโรงงานนิวเคลียร์ TerraPower (source: geekwire)

 


 

5 | How We Make Things : 31 percent of 51 billion tons per year

กิจกรรมการผลิตคือกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในปัจจุบันและถือเป็นกิจกรรมที่มีความท้าทายที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน !! โดย Bill Gates ได้ให้ความสำคัญเฉพาะกับการผลิต 3 วัตถุดิบที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่สุดในชีวิตของมนุษย์ยุคใหม่และก็เป็นตัวการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล อันได้แก่

  • Concrete : วัตถุดิบมหัศจรรย์ที่มีความสำคัญอย่างมากที่สุดในการก่อสร้างแทบทุกสรรพสิ่ง โดยองค์ประกอบของคอนกรีตนั้นประกอบไปด้วยกรวด ทราย น้ำและ “ซีเมนต์” ซึ่งกระบวนการผลิตซีเมนต์นี้เองคือตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลจากกรรมวิธีการเผาหินปูนด้วยความร้อนสูงเพื่อแยก calcium ออกจาก carbon และ oxygen ที่มักจะรวมตัวกันกลายเป็น carbon dioxide ลอยไปยังชั้นบรรยากาศ
  • Steel : เหล็กกล้าคืออีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญที่ใช้เสริมกับคอนกรีตในการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ที่แข็งแรงและยังใช้เป็นองค์ประกอบของสินค้านานาชนิด ซึ่งกระบวนการผลิตเหล็กกล้านั้นก็ปล่อยก๊าซ carbon dioxide ออกมาในทำนองเดียวกันกับซีเมนต์ผ่านการเผาแร่เหล็กที่มีองค์ประกอบของเหล็กและ oxygen กับถ่านหิน coke ในอุณหภูมิสูงเพื่อให้เหล็กแท้จับตัวกับ carbon กลายมาเป็นเหล็กกล้า แต่โมเลกุลของ oxygen ที่หลุดออกมาก็มักจะไปจับตัวกับ carbon ที่เหลือจนกลายมาเป็น carbon dioxide อีกเช่นเคย
  • Plastic : พลาสติกคือนวัตกรรมเชิงวัตถุดิบที่สำคัญอย่างมากในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โดยพลาสติกนั้นมีหลากหลายชนิดแต่ทุกชนิดล้วนมีองค์ประกอบของ carbon, hydrogen และ oxygen ผ่านกระบวนการผลิตที่มักใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลราคาถูกที่มีองค์ประกอบของธาตุทั้งสามเป็นวัตถุดิบหลัก แน่นอนว่าระหว่างกระบวนการผลิตนั้นก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก แต่พลาสติกเองก็ถือเป็นสารที่กักเก็บ carbon ในโมเลกุลของมันได้นานเช่นเดียวกันจนทำให้เกิดปัญหาขยะย่อยสลายยากที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมต่ออีกทอดหนึ่ง

วัตถุดิบทั้ง 3 ชนิดนั้นมีความสำคัญอย่างมากกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ก็คงผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความคิดของ Bill Gates ที่พอเป็นไปได้ก็คือการเปลี่ยนพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในกระบวนการผลิตให้เป็นพลังงานสะอาดที่มีความต่อเนื่อง [ตามเทคโนโลยีของบทที่ 4] การพยายามดักจับก๊าซ carbon dioxide จากกระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด การเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตให้เป็นวัตถุดิบสะอาดมากยิ่งขึ้นและเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตวัตถุดิบเหล่านั้นใหม่ ซึ่งในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีอยู่จำนวนหนึ่งที่กำลังทดลองอยู่ อาทิ เทคโนโลยีการดักจับ carbon dioxide ระหว่างการผลิตและฉีดกลับเข้าไปเก็บในช่องว่างของเนื้อซีเมนต์ การใช้ไฟฟ้าในการแยก oxygen ออกจากแร่เหล็กเหลวโดยไม่ต้องใช้วัตถุดิบที่มี carbon เพื่อป้องกันการเกิด carbon dioxide หรือ การใช้พืชที่กักเก็บ carbon ในการผลิตพลาสติกแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

 

โรงงานซีเมนต์ที่ปล่อยก๊าซ carbon dioxide ระหว่างการผลิต (source: recharge news)

 


 

6 | How We Grow Things : 19 percent of 51 billion tons per year

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมทางการเกษตรอย่างการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์นั้นเป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน แต่นวัตกรรมทางการเกษตรอย่างการเพาะพันธุ์ข้าวสาลีที่กลายมาเป็นอาหารสำคัญของโลกและการคิดค้นปุ๋ยเคมีที่ช่วยเร่งผลิตผลของฟาร์มเกษตรกรรมก็ได้ทำให้มนุษย์ขยายจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็วโดยไม่อดตาย เมื่อจำนวนประชากรมากขึ้น พื้นที่ป่าก็ถูกทำลายแปรเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น และเมื่อประชากรร่ำรวยขึ้น อาหารที่แต่เดิมมีแต่พืชก็เริ่มมีสัดส่วนของเนื้อสัตว์ที่ต้องใช้พลังงานและอาหารในการเลี้ยงดูมากขึ้นเรื่อยๆ [วัวกินอาหารที่คิดเป็นพลังงานมากถึง 6 เท่าของพลังงานที่มนุษย์ได้จากเนื้อวัว ยิ่งมีการรับประทานเนื้อสัตว์มากขึ้น ความต้องการอาหารสัตว์ที่ทำจากพืชก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย]

กิจกรรมทางการเกษตรจึงกลายมาเป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆจากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย Bill Gates ได้ยกกิจกรรมทางการเกษตรกลุ่มใหญ่ๆที่เป็นตัวการสำคัญและแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมเหล่านั้น ดังต่อไปนี้

  • Cow burps and pig manure : สัตว์จำพวกเคี้ยวเอื้อง อย่าง วัว แกะ หรือ กวาง นั้นมีกระเพาะสี่ห้องที่ภายในมีแบคทีเรียช่วยย่อยใบหญ้าที่พวกมันกินให้กลายมาเป็นพลังงานได้ ซึ่งกระบวนการย่อยนี้เองที่สร้าง methane จำนวนมหาศาลที่ถูกปล่อยออกจากการ “เรอ” และ “ตด” ของสัตว์เหล่านั้น นอกจากนั้น มูลของปศุสัตว์แทบทุกชนิดโดยเฉพาะหมูและวัวมักปล่อยก๊าซ nitrous oxide ออกมาเมื่อย่อยสลายอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมในปัจจุบันที่มีโอกาสในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้นก็มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ การคัดสรรพันธุ์สัตว์ที่แปลงพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ทั้งโตเร็วและปล่อยก๊าซ methane น้อยลง การผลิตเนื้อที่ทำมาจากพืชที่เริ่มมีรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงและมีราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ ไปจนถึง การเพาะเนื้อในห้องแล็บจากเซลล์ของสัตว์จริงๆที่ตอนนี้ยังแพงมากอยู่
  • Food waste : ชาวอเมริกันทิ้งอาหารประมาณ 40% ของที่พวกเขาผลิตทั้งหมดไปอย่างน่าเสียดายและทำให้เกิด methane จำนวนมหาศาลเมื่ออาหารเหล่านั้นย่อยสลายลง การเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้พอเหมาะนั้นคงทำได้ไม่ง่ายนัก อีกแนวทางหนึ่งก็คือการทำให้วัตถุดิบเน่าเสียช้าลง อาทิ นวัตกรรมสารเคลือบผลไม้ที่ทำจากพืชแบบรับประทานได้เพื่อช่วยให้ผลไม้เหล่านั้นมีอายุนานขึ้น หรือ ถังขยะที่คอยสแกนว่าอาหารที่ถูกทิ้งมีอะไรบ้างเพื่อให้เจ้าของสามารถวางแผนการซื้ออาหารและวัตถุดิบได้ดีขึ้น
  • Synthetic fertilizer : การเติบโตของพืชนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณ nitrogen ใต้ผืนดินที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งมนุษย์ก็สามารถผลิต “ปุ๋ยเคมี” ที่สามารถเติม nitrogen ให้พืชสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่กระบวนการผลิตปุ๋ยนั้นก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากและ nitrogen จากปุ๋ยที่อยู่ในชั้นดินเกินครึ่งก็ทำปฏิกิริยากับอากาศกลายเป็น nitrous oxide ลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศอีกด้วย โดยปัจจุบันก็มีนวัตกรรมหลายอย่างที่พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ อาทิ การใช้แบคทีเรียที่ผลิต nitrogen แทนปุ๋ยเคมี การทำการเกษตรแบบแม่นยำที่ใช้ปริมาณปุ๋ยอย่างพอเหมาะที่สุด หรือ การเติมสารเติมแต่งเข้าไปในปุ๋ยเพื่อให้พืชดูดกลืน nitrogen มากขึ้น
  • Deforestation : ผืนป่าคือแหล่งกักเก็บ carbon ที่สำคัญของโลก การทำลายพื้นที่ป่าอย่างการเผาต้นไม้และการพลิกหน้าดินล้วนเป็นการปล่อยก๊าซ carbon dioxide ที่สะสมอยู่ในต้นไม้และดินออกสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก ผู้คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าแนวทางในการแก้ปัญหาที่ดีก็คือการปลูกต้นไม้ทดแทนเพื่อกักเก็บก๊าซ carbon dioxide เหล่านั้นกลับคืนมา แต่วิธีการดังกล่าวนั้นมีประสิทธิภาพที่น้อยมาก [หากชาวอเมริกันต้องการปลูกป่าเพื่อทดแทนก๊าซเรือนกระจกที่พวกเขาปล่อยไปให้ได้ทั้งหมดต่อปี พวกเขาจะต้องปลูกป่าบนพื้นดินครึ่งหนึ่งของโลก] ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดการเผาไม้ทำลายป่าให้ได้มากที่สุดผ่านนโยบายของรัฐและการสร้างแรงจูงใจต่างๆให้การทำลายป่านั้นไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอีกต่อไป เช่น การจ่ายเงินให้กับเมืองหรือประเทศที่ดูแลพื้นที่ป่าได้สำเร็จ การเพิ่มผลิตภาพของผลิตผลทางการเกษตร การส่งเสริมการหารายได้ผ่านช่องทางใหม่ๆ ไปจนถึง การตรวจจับกิจกรรมทำลายป่าแบบ 24 ชั่วโมงผ่านกล้องความละเอียดสูงบนดาวเทียม

 

เนื้อสัตว์จากพืชของ Beyond Meat (source: Green Queen)

 


 

7 | How We Get Around : 16 percent of 51 billion tons per year

น้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็น เบนซิน ดีเซลและน้ำมันอากาศยาน (jet fuel) ล้วนเป็นแหล่งพลังงานที่มีความหนาแน่นสูงและมีราคาที่ “โคตรถูก” จนทำให้ยานพาหนะทั้งหมดในโลกยุคปัจจุบันต่างพึ่พิงน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเสพย์ติดและนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก โดยรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีปริมาณกว่า 1 พันล้านคันทั่วโลกนั้นเป็นต้นตอหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 47% ตามมาด้วยรถขนส่งขนาดใหญ่ อย่าง รถบัส รถบรรทุกและรถเก็บขยะกว่า 30% เรือโดยสารและเรือบรรทุกสินค้า 10% และเครื่องบินอีก 10%

แน่นอนว่าแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งที่เริ่มเป็นที่แพร่หลายแล้วก็คือ “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่เริ่มมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและราคาที่ถูกลงจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านแบตเตอรีและวัสดุศาสตร์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้านั้นก็มีความลำบากอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ราคาซื้อที่ยังคงสูงกว่ารถยนต์เชื้อเพลิง การต้องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นระยะเวลานานกว่าการเติมน้ำมันและการถูกจำกัดโดยขนาดแบตเตอรี่ที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถวิ่งทางไกลได้นานโดยไม่ต้องชาร์จ ทั้งนี้ก็เพราะว่าแบตเตอรีที่ดีที่สุดในปัจจุบันนั้นสามารถบรรจุพลังงานได้เพียงแค่ 1 ใน 35 เท่าเมื่อเทียบกับน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น การใช้งานพาหนะไฟฟ้าจึงเหมาะกับแค่รถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารประจำทางเท่านั้น ส่วนรถบรรทุกทางไกล เครื่องบินและเรือที่ต้องอาศัยพลังงานมหาศาลในการขับเคลื่อนไปถึงจุดหมายนั้นยังไม่สามารถทำได้จริงจากประสิทธิภาพของเทคโนโลยีแบตเตอรีในปัจจุบัน [เครื่องบินโดยสารในปัจจุบันต้องบรรจุเชื้อเพลิงประมาณ 20-40% ของน้ำหนัก ซึ่งแบตเตอรีที่สามารถให้พลังงานได้เท่าเทียมกันนั้นจะต้องมีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักเครื่องบินถึง 7-14 เท่า !!] นอกจากนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จแบตเตอรีนั้นก็ต้องเป็นพลังงานไฟฟ้าสะอาดที่กล่าวไปในบทที่ 4 เท่านั้น ไม่งั้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

อีกมุมหนึ่ง นวัตกรรมที่จะเข้ามาแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลของยานพาหนะทางไกลได้นั้นจึงต้องเป็น “เชื้อเพลิงสะอาด” แทน อาทิ เครื่องยนต์นิวเคลียร์ที่ปัจจุบันก็มีใช้อยู่แล้วในเรือดำน้ำ เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) ที่ทำจากพืช เช่น หญ้า switchgrass หรือ เชื้อเพลิง electrofuel ที่ผลิตจากการทำปฏิกิริยาระหว่าง hydrogen ในน้ำกับ carbon dioxide ในอากาศด้วยไฟฟ้า ซึ่งเชื้อเพลิงสองอย่างหลังนั้นถือเป็นเชื้อเพลิงแบบ drop-in ที่สามารถใช้ในเครื่องยนต์ปัจจุบันของพาหนะต่างๆได้เลยอีกด้วย โดยปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงเหล่านี้ยังสูงกว่าต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่พอสมควรแต่ก็มีแนวโน้มที่จะต่ำลงเรื่อยๆ

ดังนั้น มนุษย์ควรต้องร่วมมือกันเปลี่ยนรถยนต์ทางใกล้มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ทั้งหมดในอีก 10-20 ปีข้างหน้าและเร่งพัฒนาเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับยานพาหนะที่ต้องเดินทางระยะไกลที่ยังคงจำเป็นต่อเศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบัน

 

เมืองเซินเจิ้นที่ลงทุนเปลี่ยนรถบัสทั้งหมดเป็นรถบัสไฟฟ้ากว่า 16,000 คัน (source: potevio)

 


 

8 | How We Keep Cool and Stay Warm : 7 percent of 51 billion tons per year

ต้นตอของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลำดับสุดท้ายนั้นก็หนีไม่พ้นกิจกรรมการอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีตัวการหลักเลยก็คือการทำ “ความเย็น” และการทำ “ความร้อน” ไม่ว่าจะเป็นแอร์ ตู้เย็น ฮีตเตอร์ เตาผิงและเครื่องครัวทำอาหารต่างๆที่กินพลังงานไฟฟ้าแทบจะทั้งหมดของครัวเรือน ยิ่งประชากรโลกขยายตัวขึ้นและร่ำรวยขึ้น การใช้พลังงานต่อหัวของมนุษย์ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆและก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตพลังงานเหล่านั้นก็จะมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน

แน่นอนว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดจะช่วยบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมนี้ได้อย่างมาก แต่ในปัจจุบัน มนุษย์ก็มีแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทันทีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานที่ปัจจุบันยังไม่ถูกกระจายไปอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร [ในไทยก็มีโครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดี] การพัฒนาสารทำความเย็นในตู้เย็นแทนก๊าซที่มีองค์ประกอบของ fluorine ที่เป็นอีกหนึ่งก๊าซเรือนกระจกร้ายแรง การเลิกใช้เตาผิงที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ช่วยกักเก็บอุณหภูมิภายในให้ไม่ร้อนหรือไม่เย็นจนเกินไปโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ

 

Bullitt Center ณ รัฐ Seattle อาคารสีเขียวที่สามารถรักษาอุณหภูมิภายในได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า (source: bullittcenter)

 


 

9 | Adapting to a Warmer World

นอกจากความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแนวทางในบทที่ผ่านมาแล้ว อีกหัวข้อสำคัญที่มนุษยชาติต้องร่วมมือกันทำให้สำเร็จก็คือการ “ปรับตัว” เพื่ออยู่อาศัยในโลกที่กำลังร้อนขึ้นและมีความแปรปรวนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆจากวิกฤติ climate change ที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วและยังไงก็คงรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ

โดยกลุ่มคนที่ Bill Gates มีความเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ “คนจน” ในประเทศที่กำลังพัฒนาโดยเฉพาะในแถบทวีปแอฟริกาที่ส่วนใหญ่ยังคงยึดอาชีพเกษตรกรรมเพื่อประทังชีวิตอยู่ ซึ่งภาวะ climate change นั้นมีแนวโน้มที่จะสร้างความปั่นป่วนให้กับเกษตรกรอย่างมากและอาจทำให้พวกเขาอดตายได้อย่างง่ายดายหากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลร้ายต่อพืชผลทางการผลิต ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งขึ้น ไปจนถึง การเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ดังนั้น หนึ่งในกิจกรรมที่ผู้นำโลกต้องร่วมมือกันก็คือการเสริมความเข้มแข็งของประชากรเหล่านั้นให้มี “ภูมิต้านทาน” ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น อาทิ การเร่งเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรด้วยการกระจายนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วไปให้ทั่วถึงที่สุด การพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความทนทานมากขึ้น เช่น ข้าว scuba rice ที่สามารถอยู่ใต้น้ำได้นาน 2 สัปดาห์ หรือ การออกนโยบายเชิงสวัสดิการเพื่อปกป้องกลุ่มคนเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

มากไปกว่านั้น มนุษย์โลกทุกคนในอีก 20-30 ปีข้างหน้าต่างก็ต้องเผชิญกับผลกระทบจาก climate change ไม่มากก็น้อย ซึ่ง Bill Gates เองได้แนะนำแนวทางสำคัญ 5 ประการที่มนุษย์ควรเริ่มเตรียมตัวในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ได้แก่

  • Create early warning systems : การสร้างระบบเตือนภัยทางธรรมชาติล่วงหน้าที่มีความแม่นยำสูงเพื่อให้ผู้คนเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างดีที่สุด พร้อมกับการสร้างทีมกู้ภัยช่วยเหลือและสนับสนุนการอพยพที่มีประสิทธิภาพ
  • Build climate-resilient infrastructure : การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เช่น น้ำทะเลหนุนสูง และภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งอาจรวมไปถึง ที่หลบภัยติดแอร์สำหรับวันที่อากาศร้อนจัดจนคนส่วนใหญ่ไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองได้
  • Manage water : การพัฒนาระบบจัดเก็บน้ำสะอาดให้สามารถรองรับต่อภาวะน้ำแล้งที่อาจรุนแรงมากขึ้นได้เรื่อยๆ ไปจนถึง การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนน้ำธรรมชาติให้กลายมาเป็นน้ำดื่มต้นทุนต่ำ
  • Shore up our natural defences : การฟื้นฟูพื้นป่าและปะการังที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ป่าชายเลน” ที่ถือเป็นปราการชั้นดีในการป้องกันน้ำท่วมและการเกิดพายุ
  • Unlock new money : การออกนโยบายเพื่อระดมทุนวิจัยพัฒนาและลงทุนสร้างระบบต่างๆที่ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นและบรรเทาความรุนแรงของภัยธรรมชาติให้ได้มากที่สุด โดยปัญหาการขาดแคลนเงินทุนนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากจากธรรมชาติของมนุษย์ที่พวกเรามักไม่ค่อยยอมควักเงินมาจ่ายเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่ง Bill Gates มองว่าการลงทุนในด้านนี้คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่จะไม่เกิดขึ้น

ปิดท้าย หากมนุษย์ต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน อาทิ การที่แหล่งก๊าซ methane ในชั้นน้ำแข็งละลายจากความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น มนุษย์เองก็ยังมีทางเลือกอีกหนึ่งทางที่ค่อนข้างเป็นที่โต้แย้งกันอย่างมากอย่าง geoengineering หรือ การปรับปรุงภูมิอากาศของโลกเพื่อสะท้อนความร้อนบางส่วนจากดวงอาทิตย์ให้ออกไปนอกโลก อาทิ การปล่อย particle ขนาดเล็กไปบนชั้นบรรยากาศ หรือ การฉีดสเปรย์เกลือลงไปบนก้อนเมฆเพื่อเพิ่มความสว่างที่สามารถช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ อย่างไรก็ตาม ศาสตร์ด้าน geoengineering นั้นยังคงอยู่ในขั้นตอนการทดลองเป็นหลักและการนำไปปฏิบัติใช้จริงคงเป็นเรื่องปวดหัวทางการเมืองระดับโลกอย่างแน่นอน

 

ทฏษฎีการทำ geoengineering วิธีการต่างๆ (source: NOAA research)

 


 

10 | Why Government Policies Matter

เหตุการณ์หมอกควันพิษ (smog) ที่เกิดขึ้นที่ Los Angeles ในปี 1943 และที่ London ในปี 1952 ได้กลายมาเป็นชนวนจุดประกายให้รัฐบาลลงทุนวิจัยพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษร้ายนี้และออกนโยบาย Clean Air Act เพื่ออากาศที่สะอาดขึ้นของทั้งสองประเทศ จนทำให้การปล่อยก๊าซพิษ อย่าง carbon monoxide, sulfur dioxide และสารตะกั่วลดลงไปอย่างมากในเวลาต่อมา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “นโยบาย” ของภาครัฐนั้นคือหนึ่งในกุญแจสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ที่ผู้นำของทุกประเทศควรต้องร่วมมือกันเร่งออกนโยบายที่เอื้ออำนวยให้เทคโนโลยีและตลาดของพลังงานหรือสินค้าสะอาดสามารถเติบโตและแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดย Bill Gates ได้แนะนำหลักการการออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหา climate change ดังต่อไปนี้

  • Mind the investment gap : รัฐบาลควรทำหน้าที่เป็นนายทุนหลักในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดที่ส่วนใหญ่นั้นยังไม่มีความสามารถในการทำกำไรได้จนทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าที่จะลงทุนด้วยตัวเอง
  • Level the playing field : รัฐบาลควรลดช่องว่าง green premium ของพลังงานหรือสินค้าสะอาดลง ทั้งจากการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและการนำเอาต้นทุนผลกระทบต่อโลกของพลังงานหรือสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาสะท้อนเข้าไปในราคาอย่างแม่นยำมากขึ้น อาทิ การขึ้นภาษีพลังงานจากถ่านหิน
  • Overcome nonmarket barriers : รัฐบาลควรช่วยกระจายเทคโนโลยีที่มีความสะอาดมากกว่า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟ หรือ ปศุสัตว์ที่โตเร็วโดยไม่ใช้พลังงานมาก ให้กับประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุดเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจและนำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นที่มีอยู่แล้วไปใช้งาน
  • Stay up to date : รัฐบาลควรต้องหมั่นอัพเดทนโยบายของตัวเองให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสะอาดที่เริ่มเกิดขึ้นในอัตราเร่งและต้องห้ามเป็นกำแพงคอยต้านทานเทคโนโลยีเหล่านั้นซะเอง
  • Plan for a just transition : รัฐบาลควรต้องเตรียมแผนสำรองให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี เช่น การหาแหล่งรายได้ใหม่ให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันเมื่อพลังงานสะอาดเริ่มมีบทบาทมากขึ้น
  • Do the hard stuffs too : รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่ยากที่เอกชนไม่กล้าที่จะเข้าไปจัดการด้วยตัวเองที่ยังมีอยู่มากมาย อาทิ การผลิตปุ๋ย เหล็กกล้าและซีเมนต์สะอาด หรือ การพัฒนาเชื้อเพลิงชนิดใหม่ๆ
  • Work on policy, technology and markets at the same time : รัฐบาลควรต้องวางแผนการที่คำนึงถึงทั้งตัวนโยบาย เทคโนโลยีและตลาดเพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีใหม่ๆจะได้รับการตอบรับที่ดีและมีการนำไปใช้จริงในภาคเอกชนด้วยการสร้างแรงจูงใจต่างๆ อาทิ รัฐบาลเดนมาร์กในช่วงปี 70 ที่ต้องนำเข้าน้ำมันราคาแพงจากต่างประเทศมีการออกนโยบายส่งเสริมการผลิตพลังงานลมภายในประเทศด้วยการร่วมลงทุนวิจัยพัฒนากับภาคเอกชน การสนับสนุนเงินลงทุนตั้งต้น การออกสัญญาซื้อพลังงานระยะยาวและการขึ้นภาษีพลังงานจาก carbon ก่อนประเทศอื่น จนทำให้ประเทศเดนมาร์กในปัจจุบันมีการใช้พลังงานจากลมถึงครึ่งหนึ่งของพลังงานทั้งหมดและสามารถส่งออก wind turbine ได้มากที่สุดในโลก

 

โครงการ offshore wind ที่ถือเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานหลักของเดนมาร์ก (source: bufab)

 


 

11 | A Plan for Getting to Zero

วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ “เซอร์ไพรส์” แต่อย่างใด นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมถึงตัวของ Bill Gates เองก็ได้ออกมาเตือนถึงจุดบกพร่องของระบบสาธารณสุขของโลกในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสความรุนแรงสูงได้ แต่อย่างที่ทุกคนเห็นในปัจจุบันว่ารัฐบาลทั่วโลกต่างก็ยังคงล้มเหลวในการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่ดีพอจนไม่สามารถรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างน่าเสียดาย และอีกไม่นาน วิกฤติลูกใหญ่กว่าอย่าง climate change ก็กำลังจะเข้าโจมตีมนุษยชาติอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

โอกาสเดียวที่มนุษย์จะรอดพ้นจากหายนะทางสภาพอากาศได้ก็คือการสร้าง “ความร่วมมือ” ของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนของทุกประเทศอย่างจริงจังอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยประเทศที่ร่ำรวยแล้วทั้งหมดต้องจับมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 และส่งผ่านองค์ความรู้ทั้งด้านนโยบาย เทคโนโลยีและการสร้างตลาดให้กับประเทศกลุ่มอื่นๆอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะหากประเทศกำลังพัฒนาอย่างไนจีเรียและอินเดียยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ ประเทศพัฒนาแล้วที่มี net zero emission แล้วก็ยังคงต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ดี

โดย Bill Gates ได้เสนอแนะแผนการภาพใหญ่ในการทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จได้โดยแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่

Expand the supply of innovation : รัฐบาลของประเทศที่ร่ำรวยควรเร่งจับมือและส่งเสริมภาคเอกชนในการลงทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดที่ Bill Gates ประเมินอย่างคร่าวๆว่าต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าเทียบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทั้งหมดที่กล่าวมาในหนังสือเล่มนี้ให้มี green premium ต่ำที่สุด โดยนักการเงินฝีมือดีควรรวมตัวกันคิดค้นแนวทางการระดมทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทุกคนเห็นตรงกันแล้วว่าจะคุ้มค่าอย่างแน่นอนในระยะยาว

Accelerate the demand for innovation : รัฐบาลยังมีหน้าที่เร่งความต้องการของตลาดต่อเทคโนโลยีเหล่านั้นเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรกเริ่ม (proof phase) ที่รัฐบาลสามารถช่วยอุ้มชูเทคโนโลยีใหม่ๆในช่วงตั้งไข่ด้วยการออกนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดและสร้างแรงจูงใจให้กับตลาด พร้อมกับการรับหน้าที่เป็นผู้ซื้อผลผลิตจากเทคโนโลยีสะอาดด้วยตัวเองด้วยสัญญาระยะยาวและเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านั้น เช่น สถานีชาร์จพลังงานรถยนต์ไฟฟ้า หรือ ท่อส่งพลังงานจากพลังงานสะอาด
  • ระยะเติบโต (scale-up phase) ที่รัฐบาลสามารถสนับสนุนการเติบโตของเทคโนโลยีใหม่ๆด้วยการสร้าง “มาตรฐานใหม่” ของระบบเศรษฐกิจที่สนับสนุนเทคโนโลยีสะอาดและเพิ่มต้นทุนให้กับเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การกำหนดอัตราการใช้พลังงานสะอาดขั้นต่ำ การเปิดตลาดการซื้อขายเครดิตเทคโนโลยีสะอาดและการคิดต้นทุนการดักจับ carbon dioxide แฝงเข้าไปในต้นทุนของเชื้อเพลิงฟอสซิล

ปิดท้าย รัฐบาลของประเทศที่ร่ำรวยแล้วควรมองการแก้ปัญหา climate change เป็นหนึ่งในคลื่นการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต ดั่งเช่น การพัฒนาเทคโนโลยีในอดีตอย่าง internet หรือ คอมพิวเตอร์ ที่เริ่มต้นขึ้นจากการส่งเสริมของรัฐบาลที่สุดท้ายก็ถูกภาคเอกชนนำไปต่อยอดจนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้คิดค้นได้อย่างมหาศาล [วิกฤติเศรษฐกิจจาก COVID-19 เปิดโอกาสให้รัฐบาลทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดที่ช่วยเพิ่มปริมาณการจ้างงานในตลาดได้ อาทิ ประธานธิบดี Joe Biden ก็เตรียมทุ่มงบประมาณ 555 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดการปล่อย carbon ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การให้เครดิตภาษีแก่บริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีสะอาดและการลดราคา solar cell กับรถยนต์ไฟฟ้า]

 

Joe Biden ในงานประชุมผู้นำโลก COP26 (source: The Herald)

 


 

12 | What Each of Us Can Do

ประชาชนคนธรรมดาอย่างพวกเราทุกคนเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจ net zero emission ได้เช่นเดียวกัน

ในฐานะของ “ผู้บริโภค” ที่พวกเราสามารถสร้างอุปสงค์ของเทคโนโลยีสะอาดและเรียกร้องให้ธุรกิจมีความรักษ์โลกมากยิ่งขึ้นด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง ประหยัดพลังงานมากขึ้นและการเลือกบริโภคสินค้าทางเลือกที่สะอาดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ เบอเกอร์เนื้อจากพืช

ในฐานะของ “พนักงาน” หรือ “บริษัทเอกชน” ที่พวกเราสามารถผลักดันการวิจัยพัฒนาเพื่อเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจของบริษัทตัวเองให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงและการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น บริษัทเอกชนยังสามารถเป็นผู้บริโภคกลุ่มแรกๆ (early adopter) ของเทคโนโลยีใหม่ๆได้อีกด้วย

ปิดท้าย ในฐานะของ “ประชาชน” ที่พวกเราทุกคนมีสิทธิในการเลือกผู้แทนที่ให้ความสำคัญกับปัญหา climate change และสามารถรวมตัวกันแสดงพลังให้ผู้มีอำนาจได้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการเห็นโลกที่ยังคงอยู่อาศัยได้ในรุ่นลูกของพวกเรา

 

Greta Thunberg กับประโยค “how dare you” ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก (source: The New York Times)




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*