News Ticker

[สรุปหนังสือ] Liftoff : Elon Musk and the Desperate Early Days That Launched SpaceX

 

 

[สรุปหนังสือ] Liftoff : Elon Musk and the Desperate Early Days That Launched SpaceX (2021)

by Eric Berger

 

“The last thing Musk ever wanted to hear from an employee was ‘But that’s how it’s always been done.’”

 

ในปัจจุบัน ชื่อของ SpaceX บริษัทอวกาศภาคเอกชนของ Elon Musk มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยเป็นอันดับ 1 ของโลกนั้นคงเป็นชื่อที่ไม่มีใครไม่รู้จักหลังจากที่บริษัทผู้ผลิตจรวดที่มีเป้าหมายในการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารเพื่อ “ความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติในระยะยาว” นั้นได้สร้างปรากฏการณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาจรวด Falcon 9 ที่สามารถลงจอดกลับมายังพื้นโลกเพื่อใช้ซ้ำอย่างคุ้มค่าได้สำเร็จเมื่อปี 2016, การพัฒนาจรวด Falcon Heavy ที่สามารถขนน้ำหนักได้มากที่สุดในบรรดาจรวดที่ปฏิบัติการอยู่ทั้งหมดเมื่อปี 2018, การสร้างระบบดาวเทียม Starlink ที่ให้บริการ wi-fi แก่คนบนพื้นโลกที่เริ่มต้นในปี 2019, การส่งพลเรือนไปยังอวกาศบนยานอวกาศ Crew Dragon ที่ติดกับจรวด Falcon 9 ได้สำเร็จในปี 2021 ที่ผ่านมาและล่าสุดกับโครงการพัฒนา Starship ยานอวกาศขนาดใหญ่แบบใช้ซ้ำได้ที่มีความสามารถในการส่งมนุษย์หลายคนไปยังดวงดาวที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลอง

แต่เอาเข้าจริงแล้ว คนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้เลยว่าความสำเร็จอันรุ่งโรจน์ที่เป็นดั่งความหวังของมนุษยชาติของ SpaceX นั้นมีจุดเริ่มต้นที่ขรุขระและเต็มไปด้วยความล้มเหลวที่เกือบทำให้ SpaceX ต้องปิดกิจการไปเมื่อจรวด Falcon 1 ซึ่งเป็นจรวดตั้งต้นของบริษัทนั้นล้มเหลวในการขึ้นไปสู่ชั้นอวกาศถึง 3 ครั้งติดต่อกัน… ในสถานการณ์ที่คับขันขนาดนี้ Elon Musk และพนักงานในยุคบุกเบิกนั้นสามารถเอาตัวรอดและพัฒนา SpaceX ให้กลายมาเป็นบริษัทอวกาศชั้นนำระดับโลกในปัจจุบันได้อย่างไร ?!?

Liftoff คือ หนังสือเล่มล่าสุดของ Eric Berger นักข่าวสายอวกาศที่ว่าด้วยเรื่องราว ณ จุดเริ่มต้นของ SpaceX และ Elon Musk ตั้งแต่สมัยก่อตั้งบริษัทในปี 2002 ไปจนถึงปี 2008 ที่ SpaceX สามารถปล่อยจรวด Falcon 1 เที่ยวที่ 4 ซึ่งถือเป็นจรวดลำสุดท้ายไปสู่อวกาศได้เป็นผลสำเร็จอันเต็มไปด้วยเรื่องราวความทุ่มเทของบรรดาวิศวกรอัจฉริยะผู้เต็มไปด้วยความฝันและภาวะผู้นำของ Elon Musk ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ที่สนใจในวงการอวกาศและผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจวิธีคิดของ “Tony Stark แห่งโลกความเป็นจริง” คนนี้ ขอเชิญทุกท่านอ่านสรุปหนังสือ Liftoff สุดระทึกและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจเล่มนี้กันได้เลยครับ

 

Elon Musk ในงานเปิดตัวยานอวกาศ Crew Dragon (source: NBC)

 


 

1 | EARLY YEARS : September 2000 – December 2004

จุดกำเนิดของ SpaceX นั้นเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ผลุดขึ้นมาในหัวของ Elon Musk ระหว่างขับรถเล่นกับเพื่อนในช่วงปลายปี 2000 ที่เขาตระหนักได้ว่าความใฝ่ฝันในด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศของโลกนั้นเริ่มถดถอยลงเรื่อยๆและ NASA เองก็ไม่มีแผนการในการนำพามนุษยชาติไปตั้งถิ่นฐานในดาวดวงใหม่ที่ Elon Musk มองว่าเป็นความจำเป็นอย่างมากต่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติในระยะยาว พร้อมกันนั้น Elon Musk ยังมองเห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอวกาศปัจจุบันที่สหรัฐอเมริกาต้องพึ่งพิงบริษัทอวกาศของรัสเซียที่สามารถโก่งราคาทุกอย่างได้ตามใจชอบ

เมื่อโอกาสอันบ้าบิ่นมาถึง Elon Musk จึงพร้อมแบ่งเงิน 50% กว่า 90 ล้านดอลลาร์ที่เขาได้มาจากการขายกิจการ PayPal มาจัดตั้งบริษัท Space Exploration Technologies ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น SpaceX ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2002 พร้อมด้วยวิศวกรอวกาศมากฝีมือ 3 คนที่เชื่อในวิสัยทัศน์และกำลังทรัพย์ของเขา ได้แก่ Tom Mueller ผู้รับหน้าที่เป็น VP ดูแลการออกแบบเครื่องยนต์ไอพ่น, Chris Thompson ผู้รับหน้าที่เป็น VP ดูแลวิศวกรรมด้านโครงสร้างของจรวดและ Hans Koenigsmann ผู้รับหน้าที่เป็น VP ดูแลด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยวัตถุประสงค์แรกเริ่มในการพัฒนาจรวด Falcon 1 ที่เป็นการผสมชื่อของยานอวกาศในภาพยนตร์ Star Wars เข้ากับตัวเลข 1 ที่แสดงถึงจำนวนไอพ่น 1 เครื่องยนต์ให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าจรวดทุกชนิดในตลาด

โดยแน่นอนว่าพันธกิจของ SpaceX นั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีบริษัทเอกชนรายใดประสบความสำเร็จมาก่อนในสมัยนั้น แต่ด้วยวิสัยทัศน์ระยะยาวในการนำพามนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานที่ดาวอังคารของ Elon Musk และความเป็นบริษัท startup ที่ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วโดยไร้ข้อจำกัดเมื่อเทียบกับ NASA หรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อย่าง Boeing และ Lockheed Martin ก็ทำให้ SpaceX สามารถดึงคนเก่งๆมาทำงานที่ก็ไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนดีเท่าไหร่และใช้งานอย่างหนักหน่วงแบบ 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้จำนวนมาก

การสร้างวัฒนธรรมแบบ move fast, break things ตามวิถี startup ของ SpaceX นั้นถือเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอุตสาหกรรมอวกาศที่สามารถทำให้เป็นจริงได้จากหลายองค์ประกอบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การที่ Elon Musk เลือกพัฒนาจรวดแบบเน้นการทดลองจรวดต้นแบบ (prototype) อย่างรวดเร็วและยอมให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขได้แทนวิธีการขององค์กรอื่นๆที่มักแยกพัฒนาองค์ประกอบของจรวดทีละชิ้นแล้วค่อยมาประกอบทดลองในทีเดียวที่ใช้เวลานานและอาจผิดพลาดจนต้องล้มเลิกใหม่ทั้งหมด การที่ Elon Musk เองเป็นผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมที่มากพอจนสามารถตัดสินใจทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วและมักชักชวนให้วิศวกรคิดออกนอกกรอบเพื่อหาความเป็นไปได้ตามหลักฟิสิกส์พื้นฐานจริงๆโดยไม่อิงตามหลักปฏิบัติมาตรฐานขององค์กรอื่นๆ การสร้างทีมสุดแกร่งที่ Elon Musk เป็นคนสัมภาษณ์ด้วยตัวเองทุกคนและเขายังมักชอบเลือกวิศวกรอายุน้อยที่ไม่แต่งงานซึ่งพร้อมทุ่มเทลุยงานหนักได้แบบสุดตัว ไปจนถึง การสร้างความเป็นทีมผ่านการลุยทำงานหนักร่วมกันและกิจกรรมสนุกๆมากมายของวิศวกรที่ต่างก็เชื่อในความฝันอันยิ่งใหญ่ของ SpaceX กันทั้งหมด จนทำให้ SpaceX สามารถทำสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง

 

ทีมงาน SpaceX และกองทัพอากาศในฐานปล่อยจรวด (source: SpaceX)

 


 

2 | MERLIN : August 2002 – March 2003

โดยปกติแล้ว องค์ประกอบสำคัญที่สุดในการสร้างจรวดนั้นก็คือ “เครื่องยนต์” ที่มีหน้าที่หลักๆในการสันดาปออกซิเจนเหลวกับเชื้อเพลิงจนเกิดเป็นแก๊สความร้อนสูงที่ถูกปล่อยเพื่อขับดันให้จรวดพุ่งขึ้นไปบนฟ้าพร้อมกับน้ำหนักบรรทุกหลายสิบตันได้ ซึ่งหน้าที่การออกแบบเครื่องยนต์จรวดของ SpaceX นั้นก็ตกเป็นของ Tom Mueller วิศวกรเครื่องยนต์ที่มีประสบการณ์ในการออกแบบจรวดอย่างโชกโชนกว่า 15 ปีให้กับบริษัท TWR และเขาเองก็ยังผลิตเครื่องยนต์จรวดแบบสมัครเล่นเองเป็นกิจกรรมยามว่างอีกด้วย [สาเหตุที่ต้องใช้ออกซิเจนเหลวในเครื่องยนต์จรวดเพราะออกซิเจนในสถานะของเหลวที่อุณหภูมิติดลบกว่า 297 องศาฟาเรนไฮต์นั้นใช้พื้นที่น้อยกว่าออกซิเจนแบบแก๊สมากซึ่งช่วยให้ถังเก็บออกซิเจนมีขนาดเล็กลง]

ซึ่งแน่นอนว่าปรัชญาการออกแบบจรวดของ SpaceX นั้นคือการ “เริ่มต้นใหม่จากศูนย์” และเน้นประสิทธิภาพแบบไร้ข้อจำกัดแบบเก่าๆที่เปิดโอกาสให้ Tom Mueller และทีมงานสามารถสรรหาวิธีการพัฒนาเครื่องยนต์ที่พวกเขาตั้งชื่อว่า Merlin สำหรับเครื่องยนต์ลำดับแรกที่ใช้ขับเคลื่อนจรวดจากพื้นดินและ Kestrel สำหรับเครื่องยนต์ลำดับที่ 2 ที่ใช้ดันจรวดต่อขึ้นสู่วงโคจรตามชื่อสายพันธุ์นกเหยี่ยว (falcon) ให้มีต้นทุนที่ต่ำลงได้มาก อาทิ การทดลองอย่างต่อเนื่องตลอดการพัฒนาเพื่อค้นพบปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆและรีบแก้ไขไม่ต่างจากการพัฒนา software แบบ agile, การเลือกซื้อชิ้นส่วนจาก supplier คนอื่นเฉพาะองค์ประกอบที่ SpaceX ไม่มีองค์ความรู้จริงๆเท่านั้น ไปจนถึง การซื้อตัวช่างเครื่องที่เป็น supplier มาทำงานใน SpaceX ไปเลยเพื่อลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการส่งมอบ จนท้ายที่สุด เครื่องยนต์แบบออกแบบใหม่ทั้งหมดของ SpaceX ก็สามารถใช้งานได้จริงภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น

 


 

3 | KWAJ : January 2003 – May 2005

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้การปล่อยจรวด Falcon 1 สามารถเกิดขึ้นได้จริงก็คือ “ฐานปล่อยจรวด” ที่รับผิดชอบโดย Tim Buzza ผู้รับหน้าที่เป็น VP ฝ่ายการปล่อยจรวด (launch) และ Anne Chinnery วิศวกรฝ่ายจัดหาฐานปล่อยจรวด ซึ่งพวกเขาก็ได้เริ่มต้นตั้งฐานปล่อยจรวดที่แรกที่ศูนย์ปล่อยจรวด Vanderberg ของกองทัพอากาศสหรัฐใน Los Angeles ที่อยู่ห่างจากที่ตั้งและโกดังก่อสร้างของบริษัท SpaceX ใน El Segundo เพียง 3 ชั่วโมง โดยภายใน 3 ปี ทีมพัฒนาเครื่องยนต์ของ SpaceX ก็สามารถทดลองเครื่องยนต์ Merlin แบบที่ยังไม่ได้ติดเข้ากับโครงจรวดได้สำเร็จในวันที่ 27 พฤษภาคม 2005

แต่ปัญหาใหญ่ของ SpaceX ก็ได้เกิดขึ้นเมื่อกองทัพอากาศไม่อนุมัติให้ SpaceX ปล่อยจรวด Falcon 1 ที่ยังไม่เคยได้รับการทดลองมาก่อนเพราะเกรงว่าหากจรวดระเบิดจะสร้างความเสียหายให้กับจรวดของบริษัทอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงกันได้และบอกให้ SpaceX รอจนกว่าจรวดลำอื่นที่ไม่กำหนดเวลาถูกปล่อยออกไปก่อน จนท้ายที่สุด Elon Musk จึงตัดสินใจย้ายฐานการปล่อยจรวดไปยังเกาะ Omelek Island ใน Kwajalein Atoll กลางมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่พร้อมต้อนรับวิศวกรและรายได้จาก SpaceX เป็นอย่างดี นอกจากนั้น เกาะเล็กๆแห่งนี้ยังอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรซึ่งเอื้อต่อการปล่อยจรวดไปสู่วงโคจรจากแรงเหวี่ยงของการหมุนรอบตัวเองของโลกและยังไม่มีข้อจำกัดเหมือนการปล่อยจรวดในสหรัฐอเมริกาที่ห้ามจรวดเดินทางข้ามพื้นที่อยู่อาศัยโดยเด็ดขาด [ซึ่งมักจะทำให้การปล่อยจรวดทำได้แค่ทิศทางหันออกไปทางทะเล]

 

จรวด Falcon 1 ในเกาะ Omelek Island (source: universetoday)

 


 

4 | FLIGHT ONE : May 2005 – June 2006

ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 4 เดือน ทีมงานฝ่ายการปล่อยจรวดของ SpaceX ก็สามารถสร้างฐานการปล่อยจรวด Falcon 1 บนเกาะ Omelek Island ที่อยู่ห่างออกไปจาก Kwajalein Atoll ที่มีฐานบัญชาการของ SpaceX อยู่ได้สำเร็จท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ขั้นตอนการเดินทางจาก Los Angeles มายัง Omelek Island ที่ใช้เวลานานนับวัน สภาพอากาศร้อนอบอ้าวแบบขั้นสุด ไปจนถึง การขาดแคลนทรัพยากรที่รวมไปถึงอาหารจนเกิดการประท้วงของพนักงาน แต่สุดท้าย ทีมงานที่เต็มไปด้วยแรงไฟในการส่งจรวดขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศก็สามารถก้าวผ่านทุกอุปสรรคและทำงานอย่างบ้าคลั่งได้สำเร็จ

จนในที่สุด SpaceX ก็มีโอกาสได้ทดลองปล่อยจรวด Falcon 1 เป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2005 แต่ก็ต้องเผชิญกับโลกเลื่อนสารพัดจากปัญหาที่พบเจอระหว่างขั้นตอนการปล่อยจรวด อาทิ การพบเจอกับปัญหลายจุดพร้อมกันที่ไม่สามารถแก้ได้ทันเวลาการปล่อยจรวดในครั้งแรก และ การยุบตัวของถังเก็บเชื้อเพลิงระหว่างการดูดเชื้อเพลิงออกที่เกือบทำลายโครงสร้างของจรวด Falcon 1 ไปทั้งหมดในครั้งถัดมา แต่สุดท้าย SpaceX ก็ได้โอกาสปล่อยจรวดอีกครั้งในเดือนมีนาคมปี 2006 ซึ่งทีมวิศวกรก็เจอปัญหาเช่นเดียวกันแต่สามารถแก้ได้อย่างทันท่วงทีด้วยการส่งวิศวกรบินกลับไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนที่มีมูลค่าประมาณแค่ 5 ดอลลาร์ในแผงควบคุมไฟฟ้าและเดินทางกลับมาด้วยเครื่องบินส่วนตัวของ Elon Musk !!

แต่อย่างไรก็ตาม จรวด Falcon 1 ที่ทีมงาน SpaceX ทุกคนทุ่มเทเวลานานกว่า 4 ปีในการพัฒนาก็ไปไม่ถึงฝันเมื่อเครื่องยนต์ Merlin เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นไม่นานหลังจากการปล่อยตัวจนทำให้จรวดหวนตกกลับมาระเบิดในชายหาดของเกาะ Omelek Island ในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที [ดูวิดิโอได้ที่นี่] แน่นอนว่ากำลังใจของทีมงาน SpaceX นั้นแย่มาก โดยเฉพาะ Hans Koenigsmann ผู้รับหน้าที่ดูแลวงจรควบคุมของจรวดที่เขาเล่าว่าเขาเครียดจนไม่พูดกับภรรยาเป็นเดือนๆ แต่ความล้มเหลวครั้งนี้นั้นเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของวิธีการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดของ SpaceX ที่อาศัยการ “เร่งทดลอง” และ “เรียนรู้จากความผิดพลาด” อย่างรวดเร็วที่สุด… แต่แน่นอนว่าถ้า Elon Musk ไม่ได้เป็นมหาเศรษฐี SpaceX ก็คงทำแบบนี้ไม่ได้…

 


 

5 | SELLING ROCKETS : August 2002 – August 2006

การว่าจ้างที่สำคัญที่สุดของ SpaceX นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2002 หลังจากที่ Hans Koenigsmann ได้แนะนำ Elon Musk ให้มารู้จักกับ Gwynne Shotwell ผู้ตัดสินใจรับหน้าที่เป็น VP ฝ่ายขายที่ต่อมาเธอก็ได้กลายมาเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการทำธุรกิจของ SpaceX ทั้งหมดที่ไม่ใช่งานด้านวิศวกรรมที่ Elon Musk และ VP ฝ่ายวิศวกรรมทั้ง 4 คน

โดยตั้งแต่เริ่มต้น Gwynne Shotwell ได้เข้ามาเติมเต็มงานในฟากฝั่งที่ Elon Musk คาดการณ์ไม่ถึงว่าจะต้องมีนั่นก็คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่องค์กรภาครัฐและงานด้านระเบียบกฎหมายต่างๆ ในขณะเดียวกัน Gwynne Shotwell ก็ได้ทำหน้าที่เป็นเซลส์ขายจรวด Falcon 1 ให้กับภาครัฐและเอกชนจนทำให้การปล่อยจรวดครั้งแรกที่ล้มเหลวของ SpaceX นั้นมีผู้สนับสนุนอย่าง DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) องค์กรภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านความมั่นคงของประเทศสหรัฐ ในช่วงเวลาที่ NASA เริ่มมีความกังวลต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงมากขึ้นของโครงการ Space Shuttle ที่ก็กำลังจะถูกยกเลิกในปี 2011 นอกจากนั้น SpaceX ยังได้รัฐบาลมาเลเซียมาเป็นลูกค้าอีกรายอีกด้วย

แต่จุดเปลี่ยนของ SpaceX นั้นอยู่ที่การตัดสินใจเสี่ยงครั้งใหญ่ของ Elon Musk ในการฟ้องศาล NASA ในข้อหาเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทอวกาศเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่ NASA มอบสัญญาการขนส่งซัพพลายไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) โดยไม่เป็นธรรมและไม่ยอมให้บริษัทเอกชนรายอื่นๆอย่าง SpaceX เข้าร่วมในการเสนอราคา จนท้ายที่สุด NASA ก็ต้องเปิดให้บริษัทเอกชนกว่า 21 แห่งและ SpaceX ก็สามารถคว้าสัญญามูลค่ากว่า 278 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการต่อลมหายใจของ SpaceX ได้เป็นผลสำเร็จจากแนวคิดในการปล่อยจรวดแบบใช้ซ้าได้ที่ราคาต่ำกว่าบริษัททุกเจ้าที่เคยมีมา

 

Gwynne Shotwell, President ของ SpaceX (source: teslarati)

 


 

6 | FLIGHT TWO : March 2006 – March 2007

ในเวลาไม่นานให้หลังจากการตรวจสอบเศษซากของจรวด Falcon 1 ที่แตกกระจายอยู่ริมหาดของเกาะ Omelek Island และการศึกษาข้อมูลที่เก็บได้ระหว่างการปล่อยจรวดครั้งแรก ทีมงาน SpaceX ก็ค้นพบว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ในเครื่องยนต์ Merlin นั้นเกิดขึ้นจาก “สภาพอากาศ” แบบริมทะเลของฐานปล่อยจรวดที่เต็มไปด้วยไอน้ำทะเลที่สามารถกรัดกร่อนชิ้นส่วนต่างๆของจรวด Falcon 1 ผนวกกับความเร่งรีบของทีมวิศวกรในการเดินทางกลับบ้านช่วงคริสต์มาสจนปล่อยให้จรวด Falcon 1 ถูกปล่อยทิ้งไว้บนฐานปล่อยจรวดโดยไม่ได้รับการปกป้องจากสภาพอากาศเป็นเวลาถึง 1 เดือน จนทำให้ชิ้นส่วนน็อตตัวหนึ่งแตกออกจนทำให้เชื้อเพลิงรั่วไหลและติดไฟ [ก่อนหน้าการค้นพบก็มีดราม่าที่ Elon Musk ออกสื่อกล่าวโทษทีมวิศวกรที่ดูแลน็อตตัวนั้นจนทำให้วิศวกรสำคัญคนหนึ่งขู่ลาออกและขอไม่พูดกับ Elon Musk อีกเลย]

แต่อย่างไรก็ตาม หากเครื่องยนต์ Merlin ไม่ถูกทำร้ายจากสภาพอากาศ จรวด Falcon 1 ก็ยังคงไม่สามารถเดินทางไปสู่อวกาศได้อยู่ดีเพราะทีมวิศวกรค้นพบอีกหนึ่งปัญหาที่ทีมงานไม่ได้ปิดวาล์วปล่อยเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ Kestrel ที่ยังไม่ได้รับการติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบความผิดปกตินี้

การค้นพบปัญหาทั้งสองจุดนั้นได้ทำให้ Elon Musk ตระหนักถึงความยากของการปล่อยจรวดรุ่นใหม่ไปสู่ห้วงอวกาศอย่างแท้จริงและทำให้ SpaceX ทำการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางวิศวกรรมแบบยกแผง ตั้งแต่ การติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆในทุกจุด การเก็บข้อมูลชิ้นส่วนทั้งหมดอย่างละเอียด ไปจนถึง การทำการประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียด โดย Elon Musk นั้นยอมให้การปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 2 นั้นสามารถยืดเวลาออกไปได้เป็นปีเพื่อให้วิศวกรทำงานได้อย่างเต็มที่ [Elon Musk ได้พยายามดึงมือโปรจากข้างนอกมาเป็น COO เพื่อช่วยสร้างมาตรฐานให้กับทีมงาน SpaceX แต่สุดท้ายก็อยู่ได้ไม่นานเพราะเขาไม่พอใจระบบการตัดสินใจของ SpaceX ที่สุดท้ายต้องยึดตาม Elon Musk ทั้งหมด]

ท้ายที่สุด การปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 2 ก็ได้เกิดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2007 โดยในครั้งนี้ ทีมงาน SpaceX ไม่ได้คาดหวังว่าจรวดจะไปถึงอวกาศได้ในรอบนี้จากความเข้าใจแล้วว่าการเร่งทดลองและเรียนรู้นั้นสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาจรวดที่เต็มไปด้วยปัจจัยมากมายที่วิศวกรอาจคาดไม่ถึง ซึ่งการปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งนี้ก็ดีเกินคาดเพราะจรวดทำงานได้สมบูรณ์แบบถึง 95% ตั้งแต่ การขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยเครื่องยนต์ Merlin ที่แยกตัวออกในเวลาต่อมา ไปจนถึง การจุดติดของเครื่อง Kestrel ที่เป็นเครื่องยนต์ลำดับที่ 2 ที่ทำหน้าที่ผลักดันจรวดและพัสดุทดลองไปสู่อวกาศ แต่สุดท้าย ความผิดพลาดก็ได้เกิดขึ้นและทำให้ Falcon 1 หมุนควงและตกกลับมายังพื้นโลกอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการตกลงของ Falcon 1 รอบที่ 2 นั้นถือเป็นความเสี่ยงที่ Elon Musk เลือกที่จะรับเพราะทีมงาน SpaceX รู้อยู่แล้วว่าจรวด Falcon 1 มีความเสี่ยงจากการหมุนวนของเชื้อเพลิงในจรวดตอนบนระหว่างการใช้งานจากช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างการปล่อยเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็น “ความเสี่ยงลำดับที่ 11” ที่ทีมวิศวกรนำเสนอและทางแก้นั้นก็ง่ายดายด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการหมุนของเชื้อเพลิง แต่ในตอนนั้น Elon Musk เลือกที่จะไม่ติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับจรวดเพื่อลดความเสี่ยงที่พวกเขาคิดว่าไม่ได้เสี่ยงมากนัก [ยิ่งจรวดเบาเท่าไหร่ น้ำหนักที่จรวดขนได้ก็มากขึ้น ดังนั้น SpaceX จึงต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้จรวดเบาที่สุดด้วยความเสี่ยงที่พวกเขารับได้]

บทเรียนครั้งนี้ได้ทำให้ Elon Musk ออกกฏ “always go to eleven” ที่ทุกคนต้องมั่นใจว่าความเสี่ยง 11 ข้อแรกได้รับการตรวจสอบและป้องกันอย่างถี่ถ้วนแล้วเสมอ !! และทีมงานก็ได้ทำการแก้ไขและมั่นใจมากว่าการปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งถัดไปจะไปถึงอวกาศได้อย่างแน่นอน !!

 


 

7 | TEXAS : January 2003 – August 2008

นอกจาก Kwajalein Atoll และ El Segundo ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่แล้ว บริษัท SpaceX ยังมีฐานทดสอบการเครื่องยนต์อยู่ใน McGregor รัฐ Texas ที่ทีมงานของ Tom Mueller ใช้ในการทดลองการออกแบบและประสิทธิภาพของจรวด Merlin และ Kestrel ตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งแนวทางการพัฒนาจรวดของ SpaceX นั้นเน้นไปที่การลองผิดลองถูกอยู่ตลอดเวลา อาทิ การทดลองเปรียบเทียบแบบจรวดที่สามารถทนความร้อนสูงจากไอพ่นได้เป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้จรวดไปสู่ชั้นบรรยากาศได้ระหว่างการติดตั้งระบบระบายความร้อนที่ซับซ้อนและการบุจรวดด้วยชนวนที่จะค่อยๆแตกตัวไประหว่างการโดนความร้อนจนที่ต้องทดสอบหลายรอบมากๆจนกว่าจะได้วิธีการที่ทนทานและมีสมดุลที่ดีระหว่างน้ำหนักของจรวดและประสิทธิภาพของเครื่องยนต์

ฐานปล่อยจรวดที่ Texas แห่งนี้ยังถือเป็นที่ฝึกงานแรกของ Zach Dunn นักศึกษามหาวิทยาลัย Stanford ที่มีเป้าหมายอย่างแรงกล้าในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของ SpaceX ที่ตัวเขาเองก็ได้เข้ามาช่วยงานทีมวิศวกรของ Tom Mueller ในปี 2005 และกลับมาเป็นพนักงานเต็มเวลาในหนึ่งปีถัดมา ซึ่ง Zach Dunn คนนี้เองคือ “ฮีโร่” ที่ช่วยให้ SpaceX รอดพ้นจากวิกฤติในเวลาต่อมา

 

การทดสอบ test fire เครื่องยนต์ Merlin ในฐาน McGregor (source: cgtn)

 


 

8 | FLIGHT THREE : May 2008 – August 2008

บริษัท SpaceX ในช่วงปี 2008 นั้นไม่ใช่บริษัทเล็กๆอีกต่อไปแล้ว พวกเขามีพนักงานเพิ่มขึ้นจากหลักสิบเป็นหลักร้อย มีฐานบัญชาการที่ไม่ใช่เพียงโกดังรกๆอีกต่อไป มีเงินสนับสนุนจาก NASA และ Elon Musk ก็เริ่มวางแผนในการพัฒนาจรวดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่าง Falcon 9 ที่ประกอบด้วยเครื่องยนต์ 9 เครื่องและ Falcon Heavy ที่เป็นการรวมพลังของเครื่องยนต์ของ Falcon 9 ถึง 3 ลำ

แต่อนาคตอันสดใสทั้งหมดของ SpaceX นั้นขึ้นอยู่กับหนึ่งปัจจัยเดียวก็คือ “ความสำเร็จ” ของการปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 3 ที่พนักงานทุกคนของ SpaceX ต่างมั่นใจว่าจะต้องเป็นไปอย่างยอดเยี่ยมและ SpaceX เองก็มีลูกค้าถึง 3 รายในการปล่อยจรวดครั้งนี้ ทั้งดาวเทียมทดลองของทหารอากาศสหรัฐ ดาวเทียมทดลองของ NASA และพัสดุเชิงพาณิชย์อย่าง “เถ้าอัฐิ” ของผู้คนที่จ่ายเงินเพื่อให้เถ้าของตัวเองได้อยู่ท่ามกลางดวงดาว

แต่แล้ว เหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า “เจ็บปวด” ที่สุดในประวัติศาสตร์ของ SpaceX ก็ได้เกิดขึ้นเมื่อจรวด Falcon 1 ลำที่ 3 ที่ถูกปล่อย ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2008 นั้นเกิดความผิดพลาดขึ้นระหว่างการแยกตัวของจรวดท่อนล่างที่เครื่องยนต์ Merlin ที่ได้รับการออกแบบด้วยระบบใหม่เกิดแรงพุ่งจากเชื้อเพลิงที่คงค้างอยู่ในถังไปชนเข้ากับจรวดตอนบนจนทำให้เครื่องยนต์ Kestrel เสียหายและตกกลับมาสู่พื้นโลก ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นเป็นปัญหาที่ตรวจจับได้ยากมากในพื้นโลกเพราะแรงพุ่งที่เกิดขึ้นนั้นน้อยนิดมากในห้องทดลอง แต่แรงพุ่งที่น้อยนิดเมื่อเกิดขึ้นในอวกาศที่ไร้แรงต้านกลับสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรงและวิธีการแก้ไขก็ง่ายมากเพียงแค่ “เว้นระยะ” การแยกตัวของจรวดหลังจากเครื่องยนต์ Merlin หยุดทำงาน 4 วินาทีเท่านั้นเอง !!

ความล้มเหลวครั้งที่ 3 นี้เป็นเหมือนตอกฝังโลงของ SpaceX ที่แทบจะไม่มีเงินเหลือแล้วและ Elon Musk เองก็เคยบอกไว้ว่าเขามีเงินลงทุนให้เฉพาะจรวด 3 ลำแรกเท่านั้น…

 


 

9 | EIGHT WEEKS : August 2008 – September 2008

8 สัปดาห์ที่กำหนดชะตากรรมว่าจะอยู่หรือไปของ SpaceX ที่แสดงให้เห็นถึง “แรงใจ” อันเต็มเปี่ยมของพนักงานทุกคนของ SpaceX นั้นได้เริ่มต้นขึ้น ให้หลังจากความล้มเหลวของการปล่อยจรวดครั้งที่ 3 เพียงหนึ่งวัน เมื่อ Elon Musk ตัดสินใจเรียกทีมงานมาประชุมเพื่อประกาศให้ทุกคนรู้ว่า SpaceX นั้นยังมี “โอกาสสุดท้าย” ในการประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดที่หลงเหลืออยู่ในคลังขึ้นมาเป็น Falcon 1 ลำที่ 4 และเร่งปล่อยจรวดให้ได้ภายใน 8 สัปดาห์ก่อนที่ SpaceX จะเงินหมด [ในช่วงเวลานั้น Elon Musk ก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในบริษัท Tesla ที่ก็พึ่งเริ่มเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกและยังมีปัญหาส่วนตัวอย่างการหย่าร้างกับภรรยาคนแรกอีกด้วย]

ซึ่งแน่นอนว่าวิศวกรของ SpaceX ทุกคนต่างก็พร้อมใจกันทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยจนประกอบจรวด Falcon 1 ได้สำเร็จ แต่แล้วเหตุการณ์ที่เป็นเสมือน “ฉากระทึก” ในภาพยนตร์แอคชั่นก็ได้เกิดขึ้นระหว่างการเร่งขนจรวดช่วงแรกที่มีขนาดใหญ่บนเครื่องบิน C-17 ที่ SpaceX ไม่เคยทำมาก่อน [ปกติ SpaceX จะขนจรวดผ่านทางเรือซึ่งต้องใช้เวลานานเกือบเดือนซึ่งเงินของบริษัทนั้นรอไม่ได้] เมื่อตัวจรวด Falcon 1 เริ่มยุบตัวลงกลางอากาศขณะที่เครื่องบิน C-17 ค่อยๆลงจอดในฮาวายจากการคำนวณความดันอากาศจากข้อมูลของกองทัพอากาศสหรัฐที่ไม่ได้อัพเดท จนทำให้ Zach Dunn ผู้รับหน้าที่เป็น “ผู้กอบกู้ SpaceX” มุดเข้าไปในจรวดที่กำลังยุบตัวเพื่อเปิดทางให้อากาศไหลผ่านเข้ามาในจรวดได้สำเร็จกลางอากาศ !! ในขณะที่เครื่องบินต้องบินขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศตอนบนเพื่อรักษาระดับความดันระหว่างซ่อมโดยมีระยะเวลาให้เพียงแค่ 10 นาทีก่อนที่น้ำมันจะหมด !! [โชคดีมากที่พนักงาน SpaceX ตัดสินใจขึ้นเครื่องบินไปด้วย ไม่อย่างนั้นนักบินคงตัดสินใจปล่อยจรวดลงสู่มหาสมุทรเพื่อความปลอดภัย]

แต่อย่างไรก็ตาม ความระทึกนั้นยังไม่จบเมื่อทีมงาน SpaceX ต่างค้นพบว่าจรวดมีความเสียหายอยู่มากและทำให้พวกเขาตัดสินใจถอดประกอบจรวดทั้งหมดใน Omelek Island ทั้งหมดและทำการซ่อมแซมชิ้นส่วนที่เสียหายทั้งหมดท่ามกลางสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ซึ่งพวกเขาก็ทำได้สำเร็จในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน !! และจรวด Falcon 1 ลำสุดท้ายที่ใช้เวลาเพียงแค่ 8 สัปดาห์ในการประกอบและแก้ปัญหาสุดท้าทายก็พร้อมที่จะนำพาความฝันของ SpaceX เดินทางไปสู่ห้วงอวกาศอีกครั้ง

 

ภาพระหว่างที่ Zach Dunn เสี่ยงตายเพื่อช่วยชีวิต SpaceX กลางอากาศ (source: SpaceX)

 


 

10 | FLIGHT FOUR : 29th September 2008

ในที่สุด ความฝันของพนักงานทุกคนของบริษัท SpaceX ก็กลายเป็นความจริงเมื่อการปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 4 นั้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ การทำงานของจรวดตอนล่างโดยเครื่องยนต์ Merlin, การแยกตัวออกของจรวดตอนล่างหลังเครื่องยนต์หยุดทำงาน 6 วินาทีเพื่อป้องกันปัญหาจากครั้งก่อนหน้า, การจุดติดของเครื่องยนต์ Kestrel ต่อเนื่องอีกเกือบ 10 นาทีจนถึงอวกาศและท้ายที่สุดการปล่อยดาวเทียมจำลองเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ

แน่นอนว่าความสำเร็จครั้งนี้ได้นำมาสู่การเติบโตอย่างมหาศาลของ SpaceX ที่เปลี่ยนจากบริษัทอวกาศที่พยายามสร้างจรวดที่ใช้งานได้จริงไปสู่บริษัทอวกาศที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าพวกเขาสามารถส่งพัสดุขึ้นไปยังวงโคตรอวกาศได้จริง นอกจากนั้น ความสำเร็จครั้งนี้ก็กลายเป็แรงดันครั้งใหญ่ให้กับทั้งพนักงานของ SpaceX และ Elon Musk ที่เริ่มหายใจได้สะดวกจากภาวะการเงินที่คับขันและหันมาเริ่มตั้งความหวังในการพามนุษย์ไปยังดาวอังคารได้อีกครั้ง !! [พนักงานของ SpaceX หลายคนยังเริ่มทำพิธีกรรมเลียนแบบเหตุการณ์ก่อนการปล่อยจรวดครั้งที่ 4 ในการปล่อยจรวดครั้งถัดๆไปเพื่อเพิ่มโชคให้การปล่อยจรวดนั้นๆสำเร็จ อาทิ Elon Musk ที่พาลูกไปเล่น Space Mountain ก่อนการปล่อยจรวดในอีก 2 ครั้งถัดมา หรือ Gwynne Shotwell ที่จะต้องนำเอากระดาษที่เขียนคำว่า “สกอตแลนด์” ไปใส่ในรองเท้าของเธอเหมือนกับวันปล่อยจรวดครั้งที่ 4 ที่เธออยู่ในประเทศสกอตแลนด์]

 

Elon Musk และ Tom Mueller ระหว่างการปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 4 (source: SpaceX)

 

จรวด Falcon 1 ที่บินไปสู่ดวงดาว (source: SpaceX)

 


 

11 | ALWAYS GO TO ELEVEN : September 2008 – May 2020

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความสำเร็จของจรวด Falcon 1 ลำที่ 4 นั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะต่อลมหายใจของ SpaceX และ Elon Musk ที่เหลือเงินสดเพียงแค่ 30 ล้านดอลลาร์กับสองบริษัทที่กำลังจะจมน้ำท่ามกลางวิกฤติทางการเงิน subprime crisis ที่ทำให้แหล่งเงินทุนของบริษัท startup เหือดแห้งลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่ง อัศวินขี่ม้าขาวอย่าง NASA ก็ได้มอบสัญญาการขนส่งซัพพลายให้กับสถานีอวกาศนานาชาติมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ด้วยยานอวกาศ Dragon ที่ SpaceX กำลังลงทุนพัฒนาไปพร้อมๆกับ Falcon 9 อยู่ ซึ่งความดีความชอบนี้ก็ตกเป็นของ Gwynne Shotwell ที่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น president ของ SpaceX ในปีนั้น

เมื่อ SpaceX มีเริ่มสร้างความน่าเชื่อถือจากความสำเร็จอย่างต่อเนื่องและมีกำลังทรัพย์ที่เพียบพร้อมและทีมงานระดับหัวกะทิของอุตสาหกรรมแล้ว พวกเขาก็ได้พิสูจน์ให้โลกได้รับรู้ถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้จริงจากความร่วมมืออันเป็นประโยชน์ของบริษัทเอกชนและภาครัฐและเริ่มสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ในอุตสาหกรรมอวกาศที่ช่วยลดต้นทุนการปล่อยจรวดได้หลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 5 เพื่อปล่อยดาวเทียมของรัฐบาลมาเลเซียได้อย่างสำเร็จในปี 2009 ก่อนที่โครงการ Falcon 1 จะปิดตัวลงเพื่อทุ่มเทให้กับ Falcon 9 ที่มีน้ำหนักมากกว่าเดิมถึง 12 เท่า ซึ่งการทดลองปล่อยจรวด Falcon 9 ครั้งแรกก็ทำได้อย่างสำเร็จในปี 2010 ตามมาด้วยการพัฒนาจรวดแบบใช้ซ้ำได้ที่ทดลองสำเร็จในปี 2016 ท่ามกลางความอึ้งทึ่งเสียวของบริษัทจรวดรายอื่นๆที่ต่างต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีลักษณะเดียวกันเพื่อความอยู่รอด ไปจนถึง การปล่อยจรวด Falcon Heavy ที่ใหญ่กว่า Falcon 9 อีก 3 เท่าอย่างสำเร็จในปี 2018 และการปล่อยจรวดที่มีนักบินอวกาศเป็นๆไปยังสถานีอวกาศได้อย่างปลอดภัยในปี 2020

ความสำเร็จของ SpaceX ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ความเป็นผู้นำ” และ “วิธีคิดในการบริหารจัดการ” ของ Elon Musk นั้นมีส่วนสำคัญอย่างมาก ตั้งแต่ วิสัยทัศน์อันน่าหลงใหลในการผลักดันให้มนุษย์กลายมาเป็นเผ่าพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนดวงดาวมากกว่า 1 แห่งในจักรวาลได้อย่างแท้จริงที่ชักชวนให้วิศวกรยอดฝีมือต่างพร้อมใจกันทำงานอย่างหนัก ความสามารถในการคัดเลือกยอดฝีมืออย่างทีม vice president รุ่นแรกที่ปูพื้นฐานของ SpaceX จนถึงทุกวันนี้ ความพร้อมในการลงมือลุยงานร่วมกับพนักงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ ไปจนถึง แนวคิดการทำงานที่มีกระบวนการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและเน้นไปที่การทดลองอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าเป้าหมายในการไปยังดาวอังคารของ Elon Musk นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลและยังมีอุปสรรคอีกมาก แต่เป้าหมายที่บ้าคลั่งนี้ก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป องค์กร SpaceX ที่มีพื้นฐานอันแข็งแกร่งจากประสบการณ์ตลอด 6 ปีของการพัฒนา Falcon 1 ไปสู่อวกาศนั้นมีความพร้อมที่สุดในการพามนุษย์ไปยังโลกใบใหม่ได้อย่างแน่นอน

 

การลงจอดจรวด Falcon 9 ตอนบนแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้สำเร็จ (source: satellitetoday)

 

การปล่อยจรวด Falcon Heavy ของ Space X (source: SpaceX)

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*