News Ticker

[สรุปหนังสือ] Smart Growth : How to Grow Your People to Grow Your Company

 

 

[สรุปหนังสือ] Smart Growth : How to Grow Your People to Grow Your Company (2022)

by Whitney Johnson

 

“Grow yourself to grow your people to grow your company.”

 

พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็คือ “ศักยภาพของมนุษย์” ที่สรรสร้างความก้าวหน้าและสิ่งมหัศจรรย์ให้กับโลกใบนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยศักยภาพของมนุษย์นั้นล้วนเกิดขึ้นจากการ “เติบโต” ของมนุษย์แต่ละคนผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนประสบการณ์จากจุดเริ่มต้นของความไม่รู้ไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งควบคู่ไปกับการเริ่มต้นเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ

Smart Growth คือ หนังสือของผู้เขียน Whitney Johnson ที่ว่าด้วยศาสตร์ของ “การเติบโต” แบบ S-Curve ที่อธิบายกระบวนการเติบโตเป็นลักษณะเหมือนตัว S ที่ประกอบไปด้วย 6 กระบวนการย่อยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งกับการเติบโตของตัวเองและการเติบโตพนักงานเพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กร ขอเชิญทุกท่านที่มี growth mindset อ่านสรุปหนังสือเล่มนี้กันได้เลยครับ

 

 


 

PART ONE : LAUNCH POINT

 

1 | Explorer

กระบวนการแรกในการเติบโตแบบ S-Curve คือ “การสำรวจ” ที่มีเป้าหมายในการเลือกเส้นทางในการเติบโตของตัวเราเองอย่างชาญฉลาด ซึ่งนักสำรวจที่ดีก็ควรใช้เวลาในการตัดสินใจหาทางเดินที่ใช่อย่างเหมาะสมโดยไม่เร่งรีบจนเกินไปพร้อมๆกับการเตรียมความพร้อมทางจิตใจและอารมณ์ในการเริ่มต้นเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ โดยกระบวนการสำรวจนั้นมีคำถามสำคัญ 7 ข้อที่นักสำรวจทุกคนควรตอบตัวเองให้ได้ ดังต่อไปนี้

  • Is it achievable? : เรามีความเชื่อมั่นว่าเราจะทุ่มเทและสามารถทำให้เส้นทางที่เราเลือกนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่
  • Is it easy to test? : เราสามารถทำการทดลองก่อนและเก็บ feedback ว่าเส้นทางที่เราเลือกนั้นเหมาะสมแล้วจริงๆได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
  • Is it familiar yet novel? : เรามีความคุ้นชินกับเส้นทางใหม่มากพอจนมีความมั่นใจแต่ก็มีความแปลกใหม่มากพอจนได้เรียนรู้อย่างตื่นเต้นหรือไม่
  • Does it fit my identity? : เส้นทางที่เลือกนั้นสอดคล้องกับตัวตนของตัวเองและสิ่งที่ผู้อื่นมองตัวของเราหรือไม่
  • Is the reward worth the cost? : ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลือกเส้นทางนี้นั้นคุ้มค่ากับต้นทุนทั้งด้านเวลา ทรัพยากรและอารมณ์หรือไม่
  • Does it align with my values? : เส้นทางที่เลือกนั้นสอดคล้องกับคุณค่าและความเชื่อนี่ตัวเรายึดมั่นหรือไม่
  • Is this my why? : เส้นทางที่เลือกนั้นเป็นเส้นทางตรงกับเป้าประสงค์หรือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเรามีความหมายหรือไม่

 

2 | Collector

กระบวนการที่ 2 ในการเติบโตแบบ S-Curve คือ “การสะสมข้อมูล” ที่เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมทางด้านความคิดและทรัพยากรก่อนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังจากที่เรารู้ทางเดินที่เราเลือกได้แล้ว โดยข้อมูลที่นักสะสมควรเก็บนั้นก็ต้องควบคู่ทั้งข้อมูลเชิงตัวเลขและข้อมูลเชิงคุณภาพที่ควรได้รับการจดบันทึกเพื่อสามารถประเมินผลในภายหลังได้ โดยกระบวนการสะสมข้อมูลนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการตัดสินใจว่าเราควรจะเดินทางนี้ต่อไปหรือไม่และหากจะเดินต่อจะมีวิธีการปรับปรุงพัฒนาอย่างไรต่อได้บ้าง ซึ่งผู้เขียนก็แนะนำเทคนิคสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่

  • Audit your adult self : ตรวจสอบวิธีคิดของตัวเองว่ามีความเป็น fixed mindset ที่ยึดมั่นแต่กับสิ่งเดิมๆมากแค่ไหนและพยายามหวนกลับไปมีวิธีคิดแบบ growth mindset เสมือนเด็กที่ช่างสงสัยใคร่รู้ไปในทุกๆเรื่องและไม่ปล่อยให้ข้อจำกัดต่างๆมาเป็นอุปสรรคต่อการอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
  • Pay attention : การใช้เวลาและพลังงานทางความคิดอย่างมีกลยุทธ์โดยเริ่มจากการมองภาพใหญ่ก่อนแล้วจึงซูมเข้าไปยังจุดที่คิดว่าควรให้ความสำคัญเพื่อศึกษาเรื่องนั้นต่ออย่างละเอียด ผู้เขียนยังแนะนำให้ใช้รูปภาพที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่อยากทำหรือเป้าหมายของการเรียนรู้ซึ่งช่วยให้จดจำและจินตนาการถึงได้ดีกว่าตัวอักษร
  • Collect feedback : การเปิดใจและเก็บรวบรวม feedback ทั้งในด้านบวกและด้านลบจากคนอื่นที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเรียนรู้ของเราเพื่อหมั่นนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ตัวเองใน S-Curve ใหม่ดีขึ้นกว่าตัวเองแบบก่อน

 


 

PART TWO : SWEET SPOT

 

3 | Accelerator

กระบวนการที่ 3 ในการเติบโตแบบ S-Curve คือ “การเร่งความเร็ว” ที่เกิดขึ้นเมื่อเราผ่านจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และการลองผิดลองถูกมาแล้วจนเราสามารถที่จะสร้างผลลัพธ์ด้วยกำลังแรงที่ลดลงและเริ่มเห็นผลของการเติบโตอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการเร่งความเร็วนี้มักก่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเรียนรู้เพื่อเติบโตอย่างต่อเนื่องและความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองจากองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

  • Competence : ขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นจนเราเริ่มที่จะพยากรณ์ถึงผลลัพธ์ข้างหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้นและมีความเข้าใจในองค์ความรู้มากพอที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ๆได้
  • Autonomy : ความสามารถในการบริหารจัดการตัวเองได้ที่ทำให้เราสามารถรับความรับผิดชอบใหม่ๆ ตัดสินใจและแก้ไขปัญหาตรงหน้าด้วยตัวเองได้อย่างไม่ต้องพึ่งพิงใคร
  • Relatedness : ความสัมพันธ์กับเป้าหมายของเส้นทางและผู้ที่เดินร่วมทางที่เพิ่มพูนขึ้นจนทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคนคนใดคนหนึ่ง

 

4 | Metamorph

กระบวนการที่ 4 ในการเติบโตแบบ S-Curve คือ “การวิวัฒนาการ” ที่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ให้กลายมาเป็นตัวตนของเราจริงๆอย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งผู้ที่กำลังอยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการที่การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุดนั้นต้องหมั่นสะสมพลังงานและความมุ่งมั่นเพื่อทำให้โมเมนตัมของการเติบโตนี้ยังคงรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ผ่านเทคนิคดังต่อไปนี้

  • Stay in the moment : การดึงจิตและความคิดให้มีสมาธิอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุดเพื่อโฟกัสไปยังการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • Triumph over your triggers : การเอาชนะสิ่งที่ทำให้ไขว้เขวหรือความคิดที่ทำให้เจ็บปวดเพื่อดึงเอาโฟกัสมาอยู่กับสิ่งที่กำลังเรียนรู้
  • Healthy body, sharp mind : การสร้างร่างกายที่แข็งแรงผ่านการรับประทานอาหารที่ดี การนอนหลับอย่างเพียงพอและการออกกำลังกาย
  • Say no to yes : การรู้จักปฏิเสธต่อสิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อนำเอาเวลาและพลังงานมาจดจ่อกับสิ่งที่จำเป็นต่อการเติบโต
  • Pursue optimized tension : การแสวงหาความท้าทายที่พอดีที่ไม่ยากจนทำให้การเติบโตสะดุดแต่ก็ไม่ง่ายเกินไปจนน่าเบื่อ

 


 

PART THREE : MASTERY

 

5 | Anchor

กระบวนการที่ 5 ในการเติบโตแบบ S-Curve คือ “การทอดสมอเรือ” ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางของเส้นทางการเติบโตนี้แล้วด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เพิ่มพูนขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงตัวตนของตัวเองที่เติบโตขึ้น โดยกิจกรรมที่ควรกระทำเมื่อการเติบโตมาถึงจุดของความชำนาญแล้วก็มีดังต่อไปนี้

  • Pause and reflect : การหยุดเพื่อคิดทบทวนถึงการเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่ได้เรียนรู้ในตลอดกระบวนการเติบโตที่มีทั้งสุขและทุกข์ปะปนกันไป
  • Celebrate your achievement : การเฉลิมฉลองต่อความสำเร็จของตัวเองเพื่อสร้างทั้งความทรงจำและความรู้สึกที่ดีเพื่อปูทางสู่นิสัยแห่งการหมั่นเรียนรู้และเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • Prepare for the Next S Curve : การเตรียมความพร้อมในการออกเดินทางสู่เส้นทางการเรียนรู้ครั้งใหม่ด้วยตัวตนที่เติบโตขึ้นและมีประสบการณ์มากขึ้นไปกว่าการเดินทางครั้งที่แล้ว

 

6 | Mountaineer

กระบวนการที่ 6 ในการเติบโตแบบ S-Curve คือ “การปีนเขาลูกถัดไป” ที่เมื่อเรามาถึงจุดสูงสุดของเส้นทางและทำการมองย้อนกลับไปเรียนรู้และเก็บประสบการณ์จากการไต่ภูเขา S-Curve ลูกที่แล้วแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องเริ่มออกปีนเขาลูกถัดไปอีกครั้ง โดยมี 2 องค์ประกอบสำคัญที่นักปีนเขาต้องคำนึงถึง ได้แก่

  • The peril of stagnation : นักปีนเขาต้องอย่าหลงลืมความอันตรายที่เกิดจากการพอใจในยอดเขาลูกที่ปีนขึ้นมาสำเร็จแล้วจนไม่อยากที่จะเติบโตและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะการเรียนรู้คือออกซิเจนของชีวิตที่ทำให้มนุษย์เติบโตและทำให้ชีวิตกระชุ่มกระชวยไม่เหี่ยวเฉาไป
  • The thrill of the climb : นักปีนเขาต้องระลึกไว้เสมอถึงความระทึกใจในการปีนเขาแต่ละครั้งที่มักมีทั้งจุดแห่งการเรียนรู้อย่างก้าวกระโดดอันหอมหวานและจุดแห่งการล้มเหลวจนต้องหาเส้นทางเดินใหม่ จงอย่าลืมว่าชีวิตอันมีความหมายมักเกิดจากประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวได้ระหว่างทาง

สำหรับบริบทแบบองค์กร การที่องค์กรมีพนักงานที่อยู่ในจุดของผู้ชำนาญการในสายงานของตัวเองนั้นยังสามารถสนับสนุนพวกเขาให้ลองปีนเขาในรูปแบบของการเป็น mentor ให้กับพนักงานรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในภาวะเริ่มต้นของการเรียนรู้ซึ่งถือเป็นการใช้งานกลุ่มนักปีนเขาได้เป็นอย่างดีและยังทำให้พวกเขาได้พบเห็นคุณค่าใหม่ๆในการช่วยให้ผู้อื่นเติบโตขึ้นอีกด้วย

 


 

7 | Ecosystem

ปิดท้าย การเติบโตแบบ S-Curve อย่างมีประสิทธิภาพนั้นยังมีอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญก็คือ “ระบบนิเวศน์” ที่ช่วยเกื้อกูลให้การเติบโตเป็นไปได้และเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ ในช่วงเริ่มต้นของเส้นทางที่การมีคุณครูหรือผู้ที่คอยให้คำปรึกษาและแรงสนับสนุนจะช่วยให้การสำรวจและการเก็บสะสมข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในช่วงการเติบโตอันหอมหวานที่ต้องอาศัยความโฟกัสและการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญในเส้นทางนั้นๆที่พร้อมกวดขันและส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด ไปจนถึง ในช่วงปลายทางของการเรียนรู้ที่ก็ต้องการทั้งผู้ร่วมแสดงความยินดีและผู้ที่คอยผลักดันให้ปีนเขาลูกถัดไป

สำหรับบริบทแบบองค์กร การสร้างระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และการเติบโตในที่ทำงานนั้นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

  • Conductive : การมีทรัพยากรและเครื่องมือที่เพรียบพร้อมต่อการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • Connective : การมีวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการทำงานร่วมกันและการมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในองค์กร
  • Resilience : การมีความยืดหยุ่นอันแข็งแกร่งที่สามารถรับมือกับอุปสรรคหรือความล้มเหลวได้แบบล้มแล้วลุก
  • Nurturing : การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลากรในองค์กร

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*