News Ticker

[สรุปหนังสือ] Factfulness : Ten Reasons We’re Wrong About the World and Why Things Are Better Than You Think

 

 

Factfulness: Ten Reasons We’re Wrong About the World and Why Things Are Better Than You Think (2018)

by Hans Rosling

 

“While the world has changed, the worldview has not.”

 

ทำไมมนุษย์ส่วนใหญ่ถึงเข้าใจสภาวะปัจจุบันของโลกได้อย่างผิดมหันต์ ?!? ก่อนจะเริ่มตอบคำถามนี้ ผมขอให้ทุกท่านลองทำแบบทดสอบ (ฉบับย่อ) ด้านล่างนี้ก่อนครับ

ข้อ 1. สัดส่วนของ “เด็กหญิง” ที่จบการศึกษาระดับประถมในประเทศที่มีรายได้ต่ำทั่วโลกนั้นคือเท่าไหร่

A. 20%     B. 40%     C. 60%

ข้อ 2. ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนจำนวนประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ยากจนที่สุด (extreme poverty) มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

A. เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า     B. เท่าๆเดิม     C. ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง

ข้อ 3. จำนวนการตายของประชากรจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาตินั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา

A. เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า     B. เท่าๆเดิม     C. ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง

ข้อ 4. สัดส่วนของเด็กอายุหนึ่งขวบที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างน้อยบางชนิดในปัจจุบันนั้นคือเท่าไหร่

A. 20%     B. 50%     C. 80%

ข้อ 5. สัดส่วนของประชากรที่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้นั้นคิดเป็นเท่าไหร่ต่อประชากรทั้งหมดของโลก

A. 20%     B. 50%     C. 80%

[คำตอบที่ถูกต้องของทุกข้อคือ “ซี” ครับ]

 

ชุดคำถามนี้เป็นเพียง 5 จาก 13 ข้อที่ผู้เขียน Hans Rosling ใช้ในการทดลองเพื่อตรวจวัด “ความไม่รู้” เกี่ยวกับสภาวการณ์ของโลกของผู้ตอบแบบทดสอบกว่า 12,000 คนใน 14 ประเทศในปี 2017 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็ช่างน่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผู้ตอบแบบทดสอบนั้นทำคะแนนเฉลี่ยได้เพียงแค่ 2 คะแนนจาก 12 คำถามแรกเท่านั้น [คำถามข้อที่ 13. ถามเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกที่คนส่วนใหญ่รู้แล้วว่ามันจะร้อนขึ้น] ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า โดยเฉลี่ยแล้ว มนุษย์นั้นรับรู้ถึงสภาวะของโลกในปัจจุบัน “แย่กว่าลิงชิมแพนซี” ที่ถ้าพวกมันเลือกคำตอบแบบสุ่ม พวกมันจะต้องถูก 4 ข้อจาก 12 ข้อโดยเฉลี่ยอย่างแน่นอน [ไม่ใช่แค่คนธรรมดาเท่านั้น กลุ่มผู้นำโลกในการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2015 ยังตอบคำถามหลายข้อได้แย่กว่าลิงชิมแพนซีด้วยเช่นกัน]

ซึ่งการที่มนุษย์โดยเฉลี่ยตอบคำถามได้คะแนนน้อยกว่าลิงชิมแพนซีนั้นแสดงให้เห็นว่าปัญหาความผิดพลาดของมนุษย์ในปัจจุบันนั้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยแบบสุ่ม แต่มันคือ “ความผิดพลาดเชิงโครงสร้าง (systematic error)” ทางความคิดของมนุษย์ที่มักจะยึดติดกับ “สัญชาตญาณ” ที่ช่วยให้สมองสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วทันใจที่มีความจำเป็นอย่างมากในยุคล่าสัตว์ แต่สัญชาตญาณเดียวกันนี้กลับทำให้มนุษย์มองโลกในยุคปัจจุบันเลวร้ายกว่าความเป็นจริงไปอย่างมีนัยสำคัญ

การค้นพบถึง “ความเขลาอย่างรุนแรง” ของผู้คนต่อโลกที่จริงๆแล้วนั้นดีขึ้นในทุกวันๆ ได้ทำให้ผู้เขียน Hans Rosling หันมาให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาอันใหญ่หลวงนี้ร่วมกับลูกชาย Ola Rosling และลูกสะใภ้ Anna Rosling Ronnlund จนได้ออกมาเป็นสุดยอดหนังสือเล่มนี้ที่นำเสนอปรัชญาการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริง (factfulness) ผ่านการทำความเข้าใจปัญหาทั้ง 10 ประการของสัญชาตญาณของมนุษย์ อันถือเป็นทักษะที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในโลกที่เอ่อล้นไปด้วยข้อมูลอันมหาศาลอย่างในปัจจุบัน

[ผู้เขียน Hans Rosling ได้ฝากหนังสือเล่มนี้เป็นมรดกทางความรู้ชิ้นสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิตไปในปี 2017 ก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะได้รับการตีพิมพ์ครับ]

 

ผู้เขียน Hans Rosling (ขอบคุณภาพจาก TED)

 

<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>

 

Chapter One : The Gap Instinct

หนึ่งในต้นเหตุสำคัญของการเข้าใจโลกแบบผิดๆของมนุษย์ก็คือ “สัญชาตญาณแห่งช่องว่าง” ที่มนุษย์มักจะมองสิ่งต่างๆแยกออกจากกันเป็น 2 กลุ่มใหญ่ อาทิ กลุ่มคนดีและกลุ่มคนเลว หรือ กลุ่มร่ำรวยและกลุ่มยากจน ที่ระหว่างกลางของทั้งสองกลุ่มนั้นมี “ช่องว่างขนาดใหญ่” ที่แบ่งแยกพวกเขาเหล่านั้นออกจากกันอย่างสมบูรณ์

ซึ่งแนวความคิดของการแบ่งแยกประเทศออกเป็นประเทศที่ร่ำรวยเหมือนชาติตะวันตกและประเทศที่ยากจนในภูมิภาคอื่นๆนั้นถือเป็นความคิดที่ถูกต้องทางสถิติ “เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว” สังเกตได้จากกราฟด้านล่างที่นำเสนอช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีจำนวนบุตรเฉลี่ยต่อครัวเรือนและอัตราการเสียชีวิตของเด็กเล็กต่ำกว่ากับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างชัดเจนในปี 1965

แต่ในปัจจุบัน แนวคิดดังกล่าวนั้นไม่เหลือความเป็นจริงอีกต่อไป ดูได้จากกราฟอัพเดทใหม่ประจำปี 2017 ที่ประเทศเกือบทั้งหมดนั้นได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรอบของประเทศพัฒนาแล้วเมื่อ 52 ปีก่อนเรียบร้อยแล้ว [ปัจจุบันมีประชากรเพียง 9% เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและมีเพียงเศษเสี้ยวเดียวที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีสภาพเลวร้ายสุดๆอย่างอัฟกานิสถานและโซมาเลีย ขณะที่มีประชากรกว่า 75% นั้นอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางซึ่งมีสถานะความเป็นอยู่ที่ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนภาพความทรงจำในอดีตอีกต่อไป]

แนวทางแบบ factfulness ในการเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อต่อกรกับสัญชาตญาณแห่งช่องว่างนั้นมีด้วยกัน 3 แนวทางหลักได้แก่

  • จงระวังการเปรียบเทียบด้วย “ค่าเฉลี่ย” เพราะการยึดติดเพียงค่าเฉลี่ยเพียงตัวเลขเดียวในการเป็นตัวแทนของข้อมูลทั้งหมดนั้นทำให้ “การกระจายตัว” ของข้อมูลเหล่านั้นถูกละเลยไปจนทำให้อาจคิดไปได้ว่าช่องว่างตรงกลางระหว่างสองค่าเฉลี่ยที่ต่างกันนั้นคือช่องว่างจริงๆ
  • จงระวังการเปรียบเทียมระหว่าง “จุดสูงสุด-จุดต่ำสุด” ที่ถึงแม้ว่ามันจะทำให้เห็นภาพของความแตกต่างอย่างสุดขั้วที่มีอยู่จริง แต่มันก็อาจทำให้หลงลืมไปว่ากลุ่มของข้อมูลส่วนใหญ่นั้นกองกันอยู่ที่ตรงระหว่างจุดสุดขั้วทั้งสองด้าน
  • จงระวังการมองเห็นจาก “มุมสูง” ไม่ต่างกับการที่เวลาเราขึ้นไปอยู่บนยอดตึกเสียดฟ้านั้นได้ทำให้เรามองเห็นตึกที่เตี้ยกว่านั้นเตี้ยพอๆกันหมด การที่เราอาศัยอยู่ได้อย่างสุขสบายก็ทำให้เราแยกไม่ออกว่าจริงๆแล้วคนที่อยู่อย่างยากลำบากกว่าเรานั้นก็มีหลายระดับ

การศึกษาข้อเท็จจริงทางสถิติของสถานการณ์โลกในปัจจุบันอย่างครบสมบูรณ์ได้ทำให้ผู้เขียนเลือกที่จะแบ่งระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชากรโลกออกเป็น 4 ระดับที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงของปัจจุบันตามรูปภาพด้านล่าง

 

Chapter Two : The Negativity Instinct

อีกหนึ่งต้นเหตุสำคัญในการสร้างความเข้าใจผิดว่า “โลกช่างเลวร้ายขึ้นทุกวัน” ของมนุษย์นั้นก็คือ “สัญชาตญาณแห่งแง่ลบ” ที่มนุษย์มักมองเห็นเรื่องแย่ๆมากกว่าเรื่องดีๆ ทั้งๆที่จริงๆแล้วโลกของเรานั้นดีขึ้นอย่างเงียบๆในทุกๆวัน

ประชากรโลกที่ตกอยู่ในฐานะยากจนขั้นสุด ณ level 1 ของรูปประกอบในบทที่ 1 นั้นมีสัดส่วนมากถึง 85% ในปี 1800 ก่อนที่จะลดเหลือ 50% ในปี 1966 และในระดับปัจจุบันที่เพียง 9% เท่านั้น มีคนจำนวนมากเลื่อนระดับของตัวเองมาสู่ level 2 และ 3 โดยที่คน level 4 อย่างพวกเราไม่แม้แต่คิดจะสังเกต ซึ่งการพัฒนาการของโลกอย่างต่อเนื่องยังรวมไปถึงด้านอื่นๆอีกมากมาย อาทิ

  • อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์เพิ่มขึ้นจาก 60 ปีในปี 1973 เป็น 72 ปีในปี 2017
  • สัดส่วนการเสียชีวิตของเด็กเล็กลดลงจาก 44% ในปี 1800 เหลือเพียง 4% ในปี 2016
  • ปริมาณการใช้สารที่ทำลายก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศลดลงจาก 1,663 กิโลตันเหลือ 22 กิโลตัน
  • จำนวนขีปนาวุธนิวเคลียร์ลดลงจาก 64,000 หัวในปี 1986 เหลือ 15,000 หัวในปี 2017
  • สัดส่วนพื้นที่ป่าสงวนเพิ่มขึ้นจาก 03% ในปี 1900 เป็น 14.7% ในปี 2016

และถ้ามองว่าเป้าหมายของการพัฒนาการของมนุษย์ก็คือการสร้างอิสรภาพที่เปิดให้มนุษย์ทุกชีวิตสามารถทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำได้ตามใจต้องการนั้น จำนวน “กีต้าร์” ที่เพิ่มขึ้นจาก 200 ตัวในประชากร 1 ล้านคนในปี 1962 มาอยู่ที่ 11,000 ตัวในปี 2014 น่าจะเป็นหนึ่งในดัชนีที่สามารถบ่งบอกถึงพัฒนาการนี้ได้เป็นอย่างดี

แล้วทำไมมนุษย์ถึงมองว่าโลกในปัจจุบันนั้นเลวร้ายลงหละ ?!? ตัวการสำคัญในการส่งอิทธิพลต่อสัญชาตญาณแห่งแง่ลบนั้นประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  • การที่มนุษย์มักลืมสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีตและแทนที่มันด้วย “ความทรงจำอันหอมหวาน” จนมักคิดไปว่าอดีตนั้นช่างดีเหลือเกิน
  • ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารทำให้มนุษย์ได้รับข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้นและด้วยความที่มนุษย์นั้นให้ความสนใจกับเรื่อง “ดราม่า” มากกว่าการพัฒนาการของโลกอย่างช้าๆ ทำให้ข่าวเครื่องบินตกหนึ่งลำนั้นสำคัญกว่าข่าวการทำงานเป็นปกติของเครื่องบินลำที่เหลือทั้งหมด
  • การสูญเสีย “ความหวัง” เพราะปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน [เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม เผด็จการทหารและความขัดแย้งทางนิวเคลียร์] จนทำให้คนสิ้นหวังและมองว่าโลกนั้นเลวร้ายมาก

แนวทางแบบ factfulness ที่สามารถเข้ามาควบคุมสัญชาตญาณแห่งแง่ลบนั้นก็คือ “การระลึกไว้เสมอว่าโลกของเรานั้นดีกว่าที่คิด เพียงแต่ข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปของโลกนี้มันน่าเบื่อเกินไปแค่นั้นเอง”

 

Chapter Three : The Straight Line Instinct

สัญชาตญาณสุดท้ายที่ผู้เขียนกำหนดให้เป็นหนึ่งใน “3 ต้นเหตุใหญ่” ของความเข้าใจผิดต่อโลกของมนุษย์ก็คือ “สัญชาตญาณแห่งเส้นตรง” ที่มนุษย์มักมองแนวโน้มของสิ่งต่างๆเป็นเรื่องคงที่เหมือนสมการเส้นตรงที่ตัวแปรตามจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าๆกันตามตัวแปรต้น

ซึ่งสัญชาตญาณที่ผิดมหันต์นี้ได้ส่งผลต่อความเข้าใจผิดที่ว่า “จำนวนประชากรของโลกนั้นจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเหมือนกับในอดีต” ที่กว่าโลกจะมีประชากรถึง 1 พันล้านคนนั้นก็ต้องใช้เวลานานเป็นล้านๆปีจนสำเร็จในปี 1800 แต่ต่อมาเพียงแค่ 130 ปี ประชากรของโลกก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคน และในปัจจุบันเพียงแค่ไม่ถึง 90 ปีต่อมา ประชากรของโลกก็มีจำนวนทะลุ 7 พันล้านคนแล้ว !! ซึ่งนั่นก็คงไม่แปลกใจที่คนอาจจะคิดว่าประชากรโลกนั้นจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีก 3-4 เท่าตัวในอีก 100 ปีข้างหน้า ทั้งๆที่จริงๆแล้ว UN ได้ประเมินว่าประชากรโลกจะมีอัตราการเติบโตช้าลงอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 12 พันล้านคนในปี 2100 ต่างหาก

[เหตุการณ์การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วจาก 1.5 พันล้านคนในปี 1900 ไปเป็น 6 พันล้านคนภายใน 100 ปีนั้นสามารถอธิบายได้จากหลักการ “สมดุล” ระหว่างการเกิดและการตายของมนุษย์ ที่ในช่วงก่อนปี 1900 พ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่สองคนมักมีค่านิยมในการมีลูกมากเรื้องจากลูกส่วนใหญ่ของพวกเขานั้นมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนมีบุตรเป็นของตัวเอง ขณะที่ในศตวรรษที่ 20 นั้น ค่านิยมในการมีลูกมากนั้นยังคงเดิมแต่อัตราการตายของลูกนั้นลดต่ำลงไปมากจนเกิดความไม่สมดุลที่พ่อแม่ 1 คู่สามารถสร้างลูกในวัยผู้ใหญ่ได้มากกว่า 2 คนที่ถูกเรียกกันว่า “ยุค baby boom” จนกระทั่ง ปัจจุบันที่มนุษย์กำลังจะเข้าสู่จุดสมดุลอีกครั้งด้วยการมีลูกโดยเฉลี่ยเหลือเพียง 2 ถึง 3 คน]

UN คาดการณ์ว่าปริมาณประชากรมนุษย์ในวัยเด็กต่ำกว่า 15 ปีนั้นจะคงตัวอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านคนเท่ากับในปัจจุบัน โดยที่ประชากรส่วนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไปที่เติบโตจากเด็กในยุคปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มผู้ใหญ่นี้โดยเฉลี่ยแล้วจะมีความต้องการมีบุตรในปริมาณที่ลดลงซึ่งเป็นแนวโน้มที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วมาตั้งแต่ปี 1965 อันเป็นผลพวงของการก้ามผ่านฐานะความเป็นอยู่อย่างยากจนสุดขีดใน level 1 ไปยังระดับที่สูงขึ้น อันส่งผลให้

  • พ่อแม่ไม่ต้องสร้างครอบครัวใหญ่เพื่อเอาเด็กไปใช้ทำงานหรือเพื่อเป็นประกันว่าลูกหลายคนอาจเสียชีวิตไปก่อนโตเป็นผู้ใหญ่อีกต่อไป
  • พ่อแม่ที่มีการศึกษาดีมักจะมีแนวโน้มการมีบุตรน้อยเพื่อเพิ่มคุณภาพของการเลี้ยงดูของบุตรของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้น
  • การพัฒนาของเพศศึกษาและกรรมวิธีการการควบคุมการตั้งครรภ์ต่างๆที่ช่วยลดอัตราการเกิดอย่างไม่ตั้งใจได้

แนวทางแบบ factfulness ที่สามารถเข้ามาควบคุมสัญชาตญาณแห่งเส้นตรงได้ก็คือ การเตือนสติตัวเองว่าแนวโน้มนั้นมีหลากหลายรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรงเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น อัตราการฟันผุของเด็กที่มีสัดส่วนสูงในกลุ่มฐานะ level 2 และ level 3 ที่เด็กๆเหล่านั้นเริ่มเข้าถึงการรับประทานของหวานได้แต่ยังไม่มีความรู้หรือบริการการรักษาฟันที่ดีพอ

 

Chapter Four : The Fear Instinct

การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลนั้นถือเป็นเรื่องที่ยากในสถานการณ์ปกติ แต่กระบวนการเดียวกันนี้ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากมนุษย์ตกอยู่ในสภาวะ “หวาดกลัว” ที่ระบบสมองส่วนการประเมินผลแบบยึดหลักการตามข้อเท็จจริงนั้นถูกแย่งพื้นที่โดย “เรื่องเล่าอันแสนเลวร้าย” ไปจนหมด

สัญชาตญาณที่สร้างความเข้าใจผิดต่อโลกลำดับที่ 4 ของมนุษย์ก็คือ “สัญชาตญาณแห่งความกลัว” ที่ฝังรากลึกในกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์มาอย่างช้านาน [top 4 ความกลัวของมนุษย์ ได้แก่ งู แมงมุม ความสูงและการถูกขังในที่แคบ] ซึ่งความรู้สึกกลัวสิ่งต่างๆนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในการอยู่รอดของมนุษย์ในฐานะ level 1 แต่กลับกลายมาเป็นโทษแก่มนุษย์ในฐานะ level 3 และ 4 ที่ความกลัวมีส่วนสำคัญที่ทำให้มุมมองต่อโลกนั้นถูกบิดเพี้ยนไป ทั้งๆที่การเสียชีวิตจากเหตุการณ์อันน่าหวาดกลัวของมนุษย์ เช่น สงคราม ภัยธรรมชาติ โรคระบาดและอุบัติเหตุ นั้นลดลงไปอย่างมหาศาลแล้วในปัจจุบันนี้ [ในปี 2016 นั้นมีเที่ยวบินเพียงแค่ 10 เที่ยวบินที่ประสบอุบัติเหตุจากเที่ยวบินทั้งหมด 40 ล้านเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.000025% เท่านั้นเอง] และการดำเนินนโยบายด้วยสัญชาตญาณแห่งความกลัวนั้นมักจะทำให้มนุษย์ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่ดูอันตรายโดยหลงลืมปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์บางส่วนอย่างช้าๆ เช่น ปัญหาการเสียชีวิตของเด็กใน level 1 จากการที่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้นั้นคร่าชีวิตคนบนโลกมากกว่าการเสียชีวิตจากการก่อการร้ายเป็นสิบๆเท่า

แนวทางแบบ factfulness ที่สามารถลดความกลัวที่เกินกว่าเหตุนั้นสามารถทำได้โดยการตั้งสติต่อความกลัวที่เกิดขึ้นซึ่งมักจะถูกทำให้รู้สึกว่ามันมีอันตรายที่เกินจริงจากสื่อต่างๆและลองคำนวณความเสี่ยงของเหตุการณ์นั้นๆที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราจริงๆ

 

Chapter Five : The Size Instinct

สัญชาตญาณลำดับที่ 5 ที่สร้างปัญหาความเข้าใจผิดต่อโลกให้กับมนุษย์คือ “สัญชาตญาณแห่งขนาด” ที่มนุษย์มักจะเข้าใจขนาดหรือปริมาณของเหตุการณ์ต่างๆผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ซึ่งการเข้าใจขนาดของปัญหาต่างๆแบบผิดๆนั้นสามารถส่งผลให้เกิดการทุ่มเทแรงกายและทุนไปกับสิ่งที่ไม่ได้สร้างประโยชน์สูงสุดได้อย่างน่าเสียดาย เหมือนกับที่ผู้เขียนสมัยตอนทำงานเป็นแพทย์อาสาในประเทศโมซัมบิกที่เขาต้องประสบขณะที่เขาต้องเลือกระหว่างการทุ่มเทแรงกายของเขาในการรักษาเด็กทารกคนหนึ่งที่อยู่ตรงหน้ากับการเอาเวลานั้นไปหาทางป้องกันเด็กที่เหลือในเขตที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตอีกเป็นพันๆคน [งานวิจัยพบว่าแนวทางการลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กในประเทศระดับ level 1 และ 2 ที่ดีที่สุดนั้นคือการให้การศึกษาระดับประถม การสร้างพยาบาลชุมชนและการฉีดวัคซีน ไม่ใช่การสร้างโรงพยาบาลและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ]

แนวทางแบบ factfulness ในการแก้สัญชาตญาณแห่งขนาดนั้นเป็นวิธีการพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่พวกเราทุกคนรู้อยู่แล้ว ได้แก่

  • การเปรียบเทียบขนาดของปัญหาที่ได้รับรู้กับปัญหาอื่นๆเพื่อให้เห็นภาพความรุนแรงที่แท้จริงและสามารถจัดลำดับความสำคัญได้ถูกต้อง [ตัวเลขเพียงตัวเดียวมักดูมีความสำคัญเสมอ] ตัวเลขการเสียชีวิตของเด็กทารกทั่วโลกในปี 2016 ที่ 2 ล้านคนนั้นอาจดูเลวร้ายมาก แต่ตัวเลขนี้ก็ฉายภาพโลกที่ดีมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับยอดการเสียชีวิตของเด็กทารกกว่า 14.4 ล้านคนในปี 1950
  • การใช้กฎ 80/20 ที่ว่าด้วยการให้ความสำคัญกับปัจจัยเพียงไม่กี่ปัจจัย (20%) ที่ส่งผลกระทบในสัดส่วนที่รุนแรง (80%) ของความเสียหายทั้งหมด
  • การหารขนาดของปัญหาเป็นสัดส่วนต่อปัจจัยต่างๆเพื่อให้เห็นภาพความรุนแรงที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น จำนวนการเสียชีวิตของเด็กทารกก่อนหน้านี้ถ้าถูกนำมาการเป็นสัดส่วนระหว่างอัตราการเสียชีวิตกับอัตราการเกิดแล้วจะยิ่งเห็นภาพว่าจำนวนเด็กทารกที่เสียชีวิตต่อเด็กทารกที่เกิดในปีเดียวกันนั้นลดลงจาก 15% เหลือเพียง 3% เท่านั้น

 

Chapter Six : The Generalization Instinct

สัญชาตญาณตัวสร้างปัญหาลำดับที่ 6 ของมนุษย์ก็คือ “สัญชาตญาณแห่งการเหมารวม” ที่มนุษย์มักจะใช้วิธีการรวมกลุ่มของสิ่งต่างๆเข้าไว้ด้วยกันเพื่อความสะดวกสบายในการคิดตัดสินใจ ทั้งๆที่จริงๆแล้ว สิ่งนั้นๆอาจจะไม่ได้เหมือนกันในทุกด้าน หรือแย่ไปกว่านั้น สิ่งเหล่านั้นอาจมีความแตกต่างกันมากจนทำให้มุมมองของมนุษย์นั้นผิดพลาดไปอย่างรุนแรงได้ [สัญชาตญาณแห่งช่องว่างสร้างให้มนุษย์แยก “พวกเขา” ออกจาก “พวกเรา” และสัญชาตญาณแห่งการเหมารวมทำให้พวกเราคิดว่าพวกเขานั้น “เหมือนกันหมด”] ซึ่งปัญหาความเข้าใจผิดนี้ก็พบมากในหมู่คนใน level 4 ที่มองคนที่อยู่ในประเทศ level ต่ำกว่าทั้งหมดว่ายากจนข้นแค้นเหมือนกับที่พวกเขาเห็นในข่าวต่างๆ [จงอย่าลืมว่าข่าวส่วนใหญ่เลือกที่จะนำเสนอเหตุการณ์สุดโต่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปกติเท่านั้น]

แนวทางแบบ factfulness ในการป้องกันความผิดพลาดของสัญชาตญาณแห่งการเหมารวมนั้นสามารถทำได้โดยการ

  • การเสาะหาวิธีการแบ่งกลุ่มที่ดีกว่าเดิม เหมือนกับที่ผู้เขียนแบ่งระดับสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ออกเป็น 4 ระดับที่สามารถพิสูจน์ถึงความเหมือนกันภายในระดับและความแตกต่างกันระหว่างระดับได้อย่างชัดเจต
  • การตั้งข้อสังสัยกับวิธีการแบ่งกลุ่มของตัวเอง เช่น การมองหาความแตกต่างกันภายในกลุ่ม การมองหาความเหมือนกันระหว่างกลุ่ม การพิสูจน์ทางสถิติว่าตัวแทนของกลุ่มนั้นเป็นกรณีพิเศษหรือไม่และการตระหนักว่าวิธีการคิดของมนุษย์ในคนละ level นั้นอาจมีความแตกต่างกัน [ลูกศิษย์ชาวสวีเดนของผู้เขียนเคยเกือบโดนลิฟต์ในอินเดียหนีบขาขาดเพราะเธอเหมารวมว่าลิฟต์ในสังคม level 2 นั้นต้องมีเซนเซอร์เหมือนกับลิฟต์ในสังคม level 4]

 

Chapter Seven : The Destiny Instinct

สัญชาตญาณที่ปั่นป่วนมันสมองมนุษย์ลำดับที่ 7 คือ “สัญชาตญาณแห่งโชคชะตา” ที่สร้างให้เกิดความเชื่อที่ว่าโชคชะตาของมนุษย์หรือประเทศนั้นถูกกำหนดโดยคุณสมบัติที่มีมาตั้งแต่กำเนิดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อันส่งผลให้มนุษย์นั้นมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆในสังคมอีกฟากหนึ่งของโลก [ชาวตะวันตกมักคิดว่าประเทศในทวีปแอฟริกานั้นไม่มีวันที่จะมีความเจริญก้าวหน้าได้เหมือนพวกเขา ทั้งๆที่หลายๆประเทศในทวีปแอฟริกานั้นมีการพัฒนาการอย่างรวดเร็วไม่ต่างกับประเทศในทวีปเอเชียยุค 40-50 ปีก่อนที่ไม่มีใครเคยคิดว่าญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้จะเจริญได้เหมือนในปัจจุบัน]

แนวทางแบบ factfulness ที่ช่วยให้มนุษย์มองข้ามสัญชาตญาณแห่งโชคชะตาไปที่ความเป็นจริงของโลกนั้นได้แก่

  • จงอย่าสับสนระหว่างการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยกับการย่ำอยู่กับที่ [การเติบโตปีละ 3% ก็ทำให้ประเทศมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวได้ในเวลาแค่ 24 ปี]
  • จงอัพเดทองค์ความรู้ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา [ผู้เขียนแนะนำให้คนที่อยากพิสูจน์ว่าสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาหรือไม่ให้ลองเปรียบเทียบความคิดตัวเองกับความคิดของปู่ย่าตายายดูว่ามันช่างแตกต่างกันขนาดไหน]

 

Chapter Eight : The Single Perspective Instinct

สัญชาตญาณลำดับถัดมาคือ “สัญชาตญาณแห่งทัศนคติเดียว” ที่ความขี้เกียจของสมองของมนุษย์มักจะผลักดันให้เราเชื่อในสิ่งต่างๆจากสิ่งที่เราเห็นเพียงด้านเดียว ทั้งๆที่โลกในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อนอันยากหยั่งถึง ไม่ต่างกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายหรือประชาธิปไตยกับเผด็จการต่างเชื่อว่าแนวทางของตัวเองนั้นคือแนวทางเดียวในการแก้ปัญหาของประเทศ

แนวทางแบบ factfulness ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณแห่งทัศนคติเดียวก็คือการมองปัญหานั้นๆในหลายๆทัศนคติและการหมั่นวิเคราะห์ความถูกต้องของทัศนคติของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ปัญหาของโลกในปัจจุบันนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยปัจจัยเดียว ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ทั้งนั้น

 

Chapter Nine : The Blame Instinct

สัญชาตญาณสุดอันตรายลำดับที่ 9 ของมนุษย์ก็คือ “สัญชาตญาณแห่งการตำหนิ” ที่มนุษย์มักชี้นิ้วไปยัง “คนชั่ว” ผู้เป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลอย่างง่ายๆโดยไม่มีหลักฐานใดๆมายืนยันกับแนวความคิดของตัวเอง [เหมือนกับคนอเมริกันที่โทษประเทศรัสเซียว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะของ Donald Trump ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันมีหลายปัจจัยมากกว่านั้น] ซึ่งการรีบมองหา “แพะรับบาป” ในลักษณะนี้นั้นจะทำให้ความสนใจต่อการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุหรือที่ระบบนั้นสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย

[ต้นเหตุของการที่ผู้อพยพจำนวนมากจากซีเรียเลือกวิธีการอพยพแบบผิดกฎหมายด้วยการเสี่ยงชีวิตนั่งเรือข้ามทวีปมาในทวีปยุโรปนั้นไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไม่มีเงิน ค่าเรือข้ามทวีปแบบผิดกฎหมายนั้นแพงกว่าค่าตั๋วเครื่องบินเยอะ แต่เป็นเพราะระบบการดูแลผู้อพยพในทวีปยุโรปนั้นใช้เวลายาวนานเกินไปจนทำให้พวกเขาไม่สามารถรอเป็นๆปีเพื่อให้ได้เอกสารรับรองที่อนุญาตให้พวกเขาขึ้นเครื่องบินอย่างถูกกฎหมายได้ นอกจากนั้น กฎหมายการยึดเรือผู้อพยพที่ถูกจับได้นั้นยังผลักดันให้กลุ่มผู้ลักลอบเลือกที่จะใช้เรือเก่าๆที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเรือล่มที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากมาแล้วหลายครั้ง]

แนวทางแบบ factfulness ในการรับมือกับสัญชาตญาณแห่งการตำหนิก็คือการทำความเข้าใจปัญหานั้นอย่างเป็นระบบและมองไปที่ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงเพื่อมุ่งแก้ปัญหาให้ถูกจุด

 

Chapter Ten : The Urgency Instinct

สัญชาตญาณอันเป็นต้นเหตุของการตัดสินใจที่บิดเบือนของมนุษย์ลำดับสุดท้ายก็คือ “สัญชาตญาณแห่งความเร่งรีบ” ที่ผลักดันให้มนุษย์ตัดสินใจผิดพลาดเวลาที่พวกเราถูกกดันด้วยความกลัวและข้อจำกัดเรื่องเวลาต่างๆที่ทำให้มนุษย์ทิ้งตรรกะความคิดอันมีเหตุผลไปเพื่อสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแต่ไม่มีประสิทธิภาพและยังส่งผลให้ปัญหาที่มีความสำคัญจริงๆที่ต้องแก้ไขในระยะยาว เช่น การออมเงินเพื่อเกษียณ การรักษาสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาความยากจน นั้นถูกลดบทบาทความสำคัญลงไป ในอีกมุมหนึ่ง การกระตุ้นด้วยคำว่า “ไม่ทำตอนนี้จะสายเกินไป” ของการรณรงค์แก้ปัญหาระดับโลกที่เกินความจริงนั้นอาจย้อนกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือของการกระทำเหล่านั้นได้ในภายหลัง

แนวทางแบบ factfulness ในการบรรเทาสัญชาตญาณแห่งความเร่งรีบนั้นทำได้โดยการตั้งสติและมองไปที่ข้อเท็จจริงของปัญหาเหล่านั้นก่อนตัดสินใจลงมือทำเสมอ

ปิดท้าย ผู้เขียนได้ฝากสองคุณสมบัติที่สำคัญของการสร้างความสามารถการมองโลกตามความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ “ความถ่อมตน” ที่กล้ายอมรับถึงความไม่รู้ของตัวเองและ “ความสงสัย” ที่จะทำให้เราไม่หยุดที่จะเรียนรู้และอัพเดทองค์ความรู้ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผู้เขียนทั้งสามคนก็ได้สร้างมูลนิธิ Gapminder.org ขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโลกมนุษย์ที่สามารถเข้าถึงได้แบบฟรีๆสำหรับผู้ที่สนใจครับ

แผนภูมิ Bubble chart แสดงสภาพความเป็นอยู่ของทุกประเทศในโลกปี 2017 (ขอบคุณภาพจาก Gapminder)

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*