News Ticker

[สรุปหนังสือ] CHINA 5.0 : สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่และแผนการใหญ่ AI

 

 

CHINA 5.0: สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่และแผนการใหญ่ AI (2018)
by อาร์ม ตั้งนิรันดร

 

“หนึ่งปีของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน”

 

Stephen Schwarzman ประธานบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ Blackstone ได้กล่าวให้ข้อคิดกับคนรุ่นใหม่ไว้ว่า “ไม่ว่าคุณจะทำงานสาขาใด คุณจะไม่สามารถขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของสาขานั้นได้เลยถ้าคุณไม่เข้าใจประเทศจีน” เพราะโลกยุคใหม่นั้นไม่ได้เป็นของอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป “จีน” ได้กลายมาเป็น “วิชาบังคับ” ของโลกในยุคปัจจุบันไปเรียบร้อยแล้ว

China 5.0 คือ สุดยอดหนังสือไทยแห่งปีโดยคุณ “อาร์ม ตั้งนิรันดร” อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ “สีจิ้นผิง” ท่านผู้นำรุ่นที่ 5 ของจักรวรรดิจีนสมัยใหม่และ “แผนการใหญ่” ของเขาในการนำพาจีนเข้าสู่ยุคแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดเพื่อขึ้นมาผู้นำในการท้าทายระเบียบโลกในยุคปัจจุบัน

 

<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>

 

Wikileaks เปิดปูมสีจิ้นผิง: ตามธรรมเนียมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน การสืบค้นประวัติความเป็นมาของผู้นำประเทศนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ จนกระทั่ง Wikileaks ได้นำบทสัมภาษณ์ลับของรัฐบาลสหรัฐกับเพื่อนในวัยเด็กของสีจิ้นผิงมาเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ โดยสรุปสั้นๆได้ว่า “สีจิ้นผิง” คือผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในการสร้างความก้าวหน้าภายในพรรคคอมมิวนิสต์ที่พ่อของเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกรุ่นแรกๆด้วยการสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายให้กับตัวของเขาเอง ตั้งแต่ การรับราชการทหาร การตัดสินใจรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่พรรคในจังหวัดชนบทที่ไม่มีลูกผู้นำระดับสูงคนไหนอยากไป ก่อนที่จะได้เลื่อนตำแหน่งไปยังหัวเมืองที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆทั้งมณฑลยุทธศาสตร์และมณฑลทางเศรษฐกิจ จนในที่สุด สีจิ้นผิงก็ได้กลายมาเป็น “ลูกของผู้นำรุ่นแรก” ที่มีประสบการณ์รอบด้านและเหมาะสมที่สุดในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีน

 

กลยุทธ์ครองอำนาจของสีจิ้นผิง: การขึ้นมารับตำแหน่งประธานธิบดีของสีจิ้นผิงในช่วงแรกนั้นอาจถือว่าเกิดขึ้นจากการประนีประนอมระหว่างสองขั้วการเมืองในพรรคที่เลือกเขาผู้ที่ไม่ได้สังกัดค่ายใดและไม่ได้มีพรรคพวกมากนัก แต่ที่ไหนได้ หลังเข้ารับตำแหน่งไม่นาน สีจิ้นผิงก็ได้ออกนโยบายปราบปรามคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางจนสามารถซื้อใจประชาชนได้อย่างล้นหลาม (ประชาชนเห็นผลการเปลี่ยนแปลงของระบบบริการของภาครัฐอย่างชัดเจน) พร้อมๆกับการจับกุมเจ้าหน้าที่พรรคระดับสูงที่โกงกินบ้านเมืองอย่างยาวนานซึ่งเป็นเหมือนการ “สลายสองขั้วอำนาจเก่า” ลงอย่างสิ้นเชิง (หลายฝ่ายมองว่าสีจิ้นผิงใช้คอรัปชั่นเป็นข้ออ้างในการกำจัดศัตรูทางการเมือง) เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัวในสเกลระดับมหากาฬ

นอกจากนั้น สีจิ้นผิงยังมีความสามารถในการทำ marketing และ market research ได้อย่างเหนือชั้น ทั้งจากการควบคุมสื่อที่อาศัยวิธีการ “วิจารณ์ตนเอง” ก่อนเสมอว่ายังมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง การสร้างเสน่ห์และวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำที่มีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งของตัวสีจิ้นผิงเอง รวมไปถึงการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่องพร้อมระบบประมวลผลข้อมูล Big Data อย่างมีประสิทธิภาพ (จีนรู้ตัวว่าจุดอ่อนของระบอบคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมาก็คือ การขาดกลไกรับทราบข้อมูลความต้องการของประชาชน) โดยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นก็สามารถเอื้ออำนวยให้สีจิ้นผิงสามารถสั่งการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าระบอบ “เผด็จการเบ็ดเสร็จยุคใหม่” นั้นสามารถเกิดขึ้นจริงและมีประโยชน์ต่อประเทศได้ (คนจีนทั่วไปสนใจเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจที่ดีมากกว่าการได้เสรีภาพทางการเมือง พวกเขายังนึกภาพไม่ออกด้วยว่าระบบการปกครองแบบเสรีจะนำมาใช้งานในประเทศขนาดใหญ่อย่างจีนได้อย่างไร)

หากเพียงแต่ว่าระบอบนี้ก็ได้นำพาซึ่งความเสี่ยงทางการเมืองจากทั้งการต่อยกลับของกลุ่มก้อนที่เสียผลประโยชน์ การดิ้นรนของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ไม่อาจไต่เต้าขึ้นมาในระบบได้เหมือนแต่ก่อนและความเสี่ยงของ “ผู้สืบทอด” เผด็จการคนต่อไปที่อาจไม่ใช่คนที่เพียบพร้อมเหมือนสีจิ้นผิงก็เป็นได้ นักวิจารณ์การเมืองหลายคนยังคิดว่าสาเหตุที่สีจิ้นผิงต้องรวบอำนาจเบ็ดเสร็จแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตัวเองได้ดำรงตำแหน่งอย่างไม่มีกำหนดนั้นก็เพราะตอนนี้เขาไม่สามารถ “ลงจากหลังเสือ” ลูกใหญ่นี้ได้แล้ว

(ขอบคุณภาพจาก China Daily Asia)

 

ทำไมสีจิ้นผิงต้องรวมอำนาจ: สีจิ้นผิงกำลังค่อยๆรื้อถอนระบบการเมืองในรูปแบบเดิมให้สิ้นซากด้วยนโยบาย “รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง” ด้วยการใช้กลไกการปราบปรามคอรัปชั่นอย่างถอนรากถอนโคนโดยมีจุดประสงค์ในการสลายระบบทุนนิยมอุปถัมภ์พวกพ้อง (crony capitalism) ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มก้อนข้าราชการชุดเดิมโดยหันมาส่งเสริมภาคเอกชนให้เป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้นแทน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเขาเองพร้อมกับการรื้อฟื้นความเชื่อมั่นใน “ชาตินิยมจีน” และพรรคคอมมิวนิสต์ที่นับวันก็ยิ่งถดถอยจากนโยบายการเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิงไปยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง การควบคุมสื่อที่เข้มงวด การแบนหลักการปกครองแบบเสรีตะวันตก ไปจนถึงการ อุ้มหายนักสิทธิมนุษยชนและนักการเมือรฝ่ายปรปักษ์หลายราย

 

เคล็ดวิชารักษาอำนาจด้วยกองทัพนักโพสต์: ระบอบคอมมิวนิสต์เพื่อประชาชนของจีนในยุคปัจจุบันนั้นไม่ได้กระทำการเซ็นเซอร์ข้อวิจารณ์เชิงลบของประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จเหมือนในอดีต (ยกเว้นเรื่องความมั่นคงของชาติที่ยังเข้มงวดอยู่ อาทิ การรวบตัวชุมนุมของประชาชนและการต่อว่าท่านผู้นำอย่างรุนแรง) ถึงแม้ว่า social network จะทำให้การวิจารณ์รัฐบาลทำได้ง่ายขึ้น แต่รัฐบาลก็มีไม้เด็ดอย่าง “กองเชียร์” ที่เข้าไปโพสน์ข้อความชื่นชมรัฐบาลอย่างสุดพลังเพื่อใช้ปริมาณข่าวเชิงบวกมาลดความน่าเชื่อถือของข้อความเชิงลบเล็กๆน้อยๆ ที่สำคัญ กองทัพนักโพสต์ยังใช้หลักการ “ไม่สนใจ” ข่าวเชิงลบและ “ไม่เถียงแก้ตัว” ให้กับรัฐบาลเพราะตามหลักจิตวิทยาแล้ว “การเถียงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น สู้เปลี่ยนเรื่องไปเลยไม่ได้”

 

40 ปีของการปฏิรูป จีนทำได้อย่างไร: ความเจริญรุ่งเรืองของจีนในยุคปัจจุบันนั้นเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ 40 ปีก่อน เมื่อ “เติ้งเสี่ยวผิง” ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 2 พร้อมกับนโยบายการสร้าง “ความทันสมัย” ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วโดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการคอยเกื้อหนุ่นนโยบายนี้ ได้แก่

1. รัฐบาลจีนเป็นนักปฏิบัติและนักทดลองที่เลือกการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป

2. จีนตอนเริ่มต้นพัฒนายังไม่มีกลุ่มผลประโยชน์คอยขัดขวางการปฏิรูปที่ถือเป็นผลลัพธ์ของการปฏิวัติวัฒนธรรมของท่านประธานเหมา

3. การกระจายอำนาจการคลังให้รัฐบาลท้องถิ่นในระดับที่สูงที่สุดในโลกถึง 85% ของรายจ่ายภาครัฐส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นต่างแข่งขันและกระตือรือร้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ

แต่แน่นอนว่าเมื่อระบบของเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มอยู่ตัว การคอรัปชั่นของกลุ่มผลประโยชน์ก็ได้เกิดขึ้นจนถึงคราวที่สีจิ้นผิงต้องออกมาปราบปรามและหันมารวมอำนาจสู่ศูนย์กลางอีกครั้ง

 

รู้จัก “สีโคโนมิกส์”: หลังจากที่ประธานธิบดีหมายเลข 4 หูจิ่นเทาได้ใช้นโยบาย “เศรษฐศาสตร์อุปสงค์ (demand-side economics)” ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไปกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคอย่างล้นหลามที่ถึงแม้จะทำให้เศรษฐกิจจีนในช่วงนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

แต่ผลข้างเคียงอย่างทั้งปัญหาการผลิตเกินตัว โครงการก่อสร้างเกินความต้องการและปัญหาหนี้บานเบอะแถมด้วยการเพิ่มขึ้นของค่าแรงของแรงงานจีน ทำให้สีจิ้นผิงได้ปรับเปลี่ยนนโยบายเป็น “เศรษฐศาสตร์อุปทาน (supply-side economics)” หรือที่ได้รับขนานนามว่า “สีโคโนมิกส์ (Xiconomics)” ที่มีแกนหลักๆอยู่ 3 แกนได้แก่

1. การแก้ปัญหากำลังการผลิตและอสังหาริมทรัพย์ส่วนเกินผ่านนโยบายต่างๆ เช่น การควบรวมรัฐวิสาหกิจ การออกไปลงทุนในต่างประเทศ การเข้าซื้ออสังหาส่วนเกินเพื่อมาบริหารจัดการเอง การกระตุ้นการย้ายถิ่นฐานของคนชนบทมาในตัวเมืองและนโยบายลูกสองคนที่จะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในอนาคต

2. การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนโยบายที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจ SMEs มีต้นทุนที่ต่ำลง เช่น การเพิ่มโอกาสเข้าถึงเงินทุนและการลดอัตราภาษีในกลุ่มธุรกิจที่รัฐบาลส่งเสริม

3. การส่งเสริมนวัตกรรมและคุณภาพของผลิตภัณฑ์จีนซึ่งรัฐบาลจีนก็ได้ทำการศึกษาเทรนด์ในอนาคตและสรุปออกมาเป็นนโยบาย Made in China 2025 เพื่อส่งเสริมคุณภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมผ่านความช่วยเหลือต่างๆ พร้อมกับเป้าหมาย AI 2030 ที่ต้องการให้ประเทศจีนกลายเป็นผู้นำในวงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายในปี 2030

ซึ่งนอกจากนโยบายการส่งเสริมอุปทานแล้ว รัฐบาลในยุคสีจิ้นผิงก็ยังคงนโยบายการลงทุนจากภาครัฐที่เพิ่มเติมคือการเลือกลงทุนที่ “ตรงจุด” ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน การลงทุนในเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในอนาคต โดยทั้งหมดนี้ก็เพื่อการสร้างการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งผ่านระบบอุปทานที่มีผลิตผลและมูลค่าที่สูงขึ้น

 

เศรษฐกิจจีน นำโดยรัฐวิสาหกิจหรือนำโดยเอกชน: ถึงแม้ว่าปัจจุบันเอกชนจีนจะมีสัดส่วนผลผลิตสูงถึง 65% ของ GDP ประเทศ แต่เมื่อมองลึกลงไปจะพบว่าจริงๆแล้ว บริษัทเอกชนเกือบทั้งหมดนั้นเป็นเพียงบริษัทขนาดเล็ก ขณะที่รัฐวิสาหกิจยังยึดครองอุตสาหกรรมที่ใช้ต้นทุนการลงทุนสูงเกือบทั้งหมดของจีน ทั้งนี้ก็เป็นไปตามแผนของเติ้งเสี่ยวผิงที่แบ่งแยกรัฐวิสาหกิจจีนออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและภาคบริการที่รัฐบาลได้แปรรูปและเปิดให้เอกชนเป็นผู้เล่นหลักกับภาคอุตสาหกรรมต้นทุนสูงที่ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แต่ได้รับการปฏิรูปผ่านวิธีการแตกบริษัทที่เป็น monopoly ออกเพื่อให้เกิดการแข่งขัน การควบรวมกิจการที่แตกระแหงให้กลายเป็นบริษัทใหญ่และการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้กับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ซึ่งก็ดำเนินการมาได้ด้วยผลลัพท์ที่ดีทั้งการลดลงของจำนวนรัฐวิสาหกิจและการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไร จนกระทั่งถึงยุคหูจิ่นเทาที่เลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในรัฐวิสาหกิจจำนวนมหาศาลจนทำให้เกิดรัฐวิสาหกิจใหม่จำนวนมากที่ไร้ประสิทธิภาพและมีหนี้สิ้นท่วมตัวจากการลงทุนเกินความต้องการ นั่นจึงทำให้สีจิ้นผิงต้องใช้ไม้แข็งปฏิรูปอีกครั้งโดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมภาคเอกชนอย่างเต็มที่และการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจทั้งหมด

 

ยุทธศาสตร์ Jing-Jin-Ji: รัฐบาลจีนกำลังคิดการใหญ่ในการสร้าง “cluster” ของเมืองขนาดใหญ่ทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศจีน โดยมีไฮไลต์อยู่ที่โครงการ Jing-Jin-Ji (ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย) ที่รัฐต้องการเชื่อมโยงเมืองศูนย์กลางอย่าง “ปักกิ่ง” เข้ากับ “เทียนจิน” เมืองท่าสำคัญและหัวเมืองหลักอีก 11 เมืองในมณฆลเหอเป่ยผ่านระบบคมนาคมอย่างรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อให้ชาวจีนสามารถสัญจรไปมาระหว่างเมืองได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการขยับขยายความเป็นเมืองจากปักกิ่งออกไปยังเมืองที่ยังด้อยพัฒนาและค่าครองชีพต่ำกว่าจนกลายเป็น “อภิมหานคร” ที่มีพื้นที่ถึง 40% ของประเทศไทยและสามารถจุประชากรได้เพิ่มเป็น 130 ล้านคน พร้อมกันนั้น รัฐบาลยังได้ประกาศสร้างเมืองสงอันที่ตั้งอยู่ตรงใจกลางของอภิมหานครนี้ให้กลายมาเป็น “เมืองศูนย์กลางแห่งอนาคต” ซึ่งรัฐบาลจีนนั้นมีความสามารถในการโยกย้ายราชการและศูนย์กลางของแต่ละอุตสาหกรรมไปยังหัวเมืองใหญ่ต่างๆเพื่อสร้างความเจริญได้อย่างทั่วถึงไปยังทุกจุดที่ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างกันได้ในเวลาที่รวดเร็วไม่แพ้การเดินทางไปทำงานของคนกรุงเทพเลย !! (ปัญหาที่รัฐบาลจีนต้องแก้ให้ได้ก่อนคงเป็นเรื่องการเดินทางช่วง 5 กิโลเมตรสุดท้ายที่น่าจะมีความแออัดขึ้นหากไม่ได้รับการพัฒนา)

(ขอบคุณภาพจาก DocumentaryTube)

 

ยุทธศาสตร์ One Belt One Road: รัฐบาลจีนได้ประกาศความมุ่งมั่นในการฟื้นคืนชีพ “เส้นทางสายไหม” ผ่านยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จีนจะเข้าไปสนับสนุนและร่วมลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงจีนเข้ากับประเทศในทวีปเอเชียและยุโรปผ่านทั้งเส้นทางบนบก (Silk Road Economic Belt) และทางทะเล (Maritime Silk Road) ซึ่งเป็นการแสดงถึง “ความพร้อม” ของจีนในการเล่นบทบาทผู้นำของโลกโดยไม่ต้องพึ่งพิงชาติตะวันตก โดยที่กรรมวิธีการของจีนนั้นจะแตกต่างจากมหาอำนาจอเมริกาตรงที่จีนจะกำหนดเพียงแค่กรอบโครงการกว้างๆและพร้อมที่จะเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้องโดยยืนยันว่า “จีนจะไม่เข้าไปแทรกแซง” นโยบายของประเทศนั้นๆเหมือนสหรัฐและจีนยังไม่สนใจว่าประเทศนั้นจะมีการปกครองแบบไหนอีกด้วย ที่สำคัญยุทธศาสตร์นี้ยังเป็นการแก้ปัญหาภายในประเทศอย่างกำลังการผลิตส่วนเกินและการสร้างช่องทางการลงทุนใหม่

(ขอบคุณภาพจาก The Conversation)

 

แผนการใหญ่ AI 2030: องค์ประกอบสำคัญในการพัฒนา AI นั้นประกอบไปด้วย 1. พลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ 2. พลังของ algorithm 3. ปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาล (big data) ซึ่งถึงแม้ว่าจีนยังเป็นรองสหรัฐในข้อ 1 และข้อ 2 ในปัจจุบัน แต่สิ่งที่จีนมีเหนือกว่าก็คือปริมาณ big data อันมหาศาลซึ่งเกิดจากการที่จีนมีระบบออนไลน์ที่สมบูรณ์แบบและได้รับการควบคุมโดยรัฐบาลที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเหมือนชาติตะวันตก

รัฐบาลจีนได้วางยุทธศาสตร์ในการเป็นผู้นำการพัฒนา AI แบบรอบด้านภายในปี 2030 โดยอาศัยวิธีการร่วมมือระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่า AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจะนำพาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ การเพิ่มผลิตภาพการผลิตของจีนพุ่งสูงขึ้นสอดรับกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุรวมไปถึงการทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมและวางแผนเศรษฐกิจจากการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างตรงจุดมากขึ้น (ใครว่าเผด็จการจะมีปัญหาด้านการรับรู้ความต้องการของประชาชน) แต่นักวิชาการหลายฝ่ายก็มีความกังวลว่า AI ชั้นสูงจะนำพาไปสู่จุดจบของโลกเสรีนิยม ลองจินตนาการว่าถ้าจีนสามารถใช้ AI คอยตรวจสอบพฤติกรรมของประชาชนจีนผ่านระบบ facial recognition พร้อมๆกับการให้คะแนน social credit score อยู่ตลอดเวลาและการจัดการผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ประเทศจีนจะน่ากลัวขนาดไหน

 

วงการสตาร์ตอัพจีน: ฮีโร่ของคนจีนหนุ่มสาวรุ่นใหม่นั้นไม่ใช่สีจิ้นผิงแต่เป็น “แจ็คหม่า” ผู้ปั้น Alibaba จากบริษัทเล็กๆให้กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงติดอันดับโลก ซึ่งปัจจุบัน จีนนั้นได้มีบริษัทสตาร์ตอัพ Unicorn มูลค่าเกินหนึ่งพันล้านดอลลาร์เกิน 100 แห่งที่ได้ประโยชน์เต็มๆจากทั้งจากจำนวนประชากรที่เข้าถึงสมาร์ตโฟนที่มากกว่าสหรัฐถึง 3 เท่า จำนวนบัณฑิตที่จบทางด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมที่มีมากกว่าสหรัฐถึง 8 เท่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นชินกับเทคโนโลยี (คนจีนใช้ mobile payment มากที่สุดในโลกผ่านระบบจ่ายเงิน QR code ของ AliPay และ WeChat) และกองทุน venture capital ที่มีเงินลงทุนมหาศาลที่พร้อมอัดฉีดเงินตั้งต้นให้กับบริษัทใหม่ๆสูงกว่าในสหรัฐถึง 2-3 เท่า (เรียกว่าการแข่งขันเข้มข้นมากในทุกวงการ !!)

ปัจจุบัน โมเดลการทำสตาร์ทอัพของจีนนั้นได้หลุดกรอบจากการ “ลอกเลียนแบบ” บริษัทที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่จีนพยายามใช้ “กลยุทธ์บุกนอกเพื่อชนะใน” ในการลงทุนกับบริษัทต่างประเทศเพื่อคิดค้นและนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในตลาดภายในประเทศ วงการสตาร์ตอัพยังได้ประโยชน์จากวัฒนธรรมการส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวกล้าเสี่ยงลงมือสร้างธุรกิจใหม่ๆที่หากไม่ประสบความสำเร็จบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆก็พร้อมอ้าแขนรับเข้ามาทำงานเป็นพนักงานชั้นดี

 

จีน VS. สหรัฐ ใครครองอนาคต: การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและทางการเมืองในปัจจุบันกำลังตั้งคำถามต่อคนทั่วโลกว่าโมเดลผู้นำแห่งโลกเสรีอย่างอเมริกาและโมเดลคอมมิวนิสต์จีนนั้น ใครจะเป็นผู้ครองอนาคตของโลก ซึ่งนักวิชาการก็ได้สรุปไพ่ไม้ตาย 4 ประการที่เหนือกว่าของ 2 มหาอำนาจไว้ดังนี้

อเมริกา: ไพ่ใบที่ 1. ที่ตั้งของสหรัฐที่เข้าถึงมหาสมุทธทั้ง 2 ด้านและติดกับประเทศพันธมิตรอย่างแคนาดาและแม็กซิโก ขณะที่จีนนั้นถูกรอยล้อมไปด้วยประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ไพ่ใบที่ 2. ความมั่นคงทางพลังงานที่สหรัฐมีแหล่งน้ำมันเป็นของตัวเองขณะที่จีนต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียและประเทศในตะวันออกกลาง ไพ่ใบที่ 3. การค้าระหว่างประเทศที่จีนต้องพึ่งพิงการส่งออกไปยังสหรัฐมากกว่าที่สหรัฐพึ่งพิงจีน (Trump เลยจัดเต็มซะเลย..) ไพ่ใบที่ 4. ดอลลาร์สหรัฐที่เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศหลักของทั่วโลก

จีน: ไพ่ใบที่ 1. เงินทุนใหญ่ที่ควบคุมโดยรัฐบาลซึ่งสามารถนำมาใช้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติได้ ไพ่ใบที่ 2. การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จของจีนสามารถจัดการได้ดีกว่าประชาธิปไตยสหรัฐในปัจจุบันที่กำลังเละเทะ ไพ่ใบที่ 3. เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จีนตั้งเป้าในการพัฒนา AI อย่างชัดเจนผ่านความร่วมมือของรัฐและเอกชน ขณะที่สหรัฐนั้นถึ่งพาการพัฒนานวัตกรรมผ่านภาคเอกชนเท่านั้น ไพ่ใบที่ 4. อิทธิพลระหว่างประเทศของจีนที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งทั้งสองประเทศต่างก็รู้ว่าอีกฝ่ายมีจุดอ่อนและจุดแข็งอย่างไร ว่าแต่ประเทศไทยหละ ตอนนี้เป็นยังไงบ้างแล้วเอ่ย….

(ขอบคุณภาพจาก Sputnik International)

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*